ธนาคารญี่ปุ่นในไทย (1)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

พัฒนาการธนาคารญี่ปุ่นในไทย สะท้อนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ได้ยกระดับขึ้น

ในห้วงเวลา ผู้คนสนใจ และเฝ้ามองบทบาทเครือข่ายธุรกิจญี่ปุ่นในประเทศไทยเป็นพิเศษ มีอีกบางภาพที่น่าสนใจ

นั่นคือปรากฏการณ์ธนาคารญี่ปุ่นในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ได้เดินหน้าพัฒนาอย่างจริงจังมาครบทศวรรษพอดี

จากจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เกิดขึ้นกลางปี 2556 ด้วยดีลใหญ่ Mitsubishi UFJ Financial Group, Inc. หรือ MUFG ลงทุนราว 1.77 แสนล้านบาท เพื่อเข้าถือหุ้นใหญ่ที่สุดในสัดส่วนถึง 75% ในธนาคารกรุงศรีอยุธยา (ชื่อย่อหลักทรัพย์ BAY)

MUFG กลุ่มธุรกิจการเงินที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น และถือว่ามีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก มีกิจการครอบคลุมธุรกิจบริการการเงินทุกประเภทอย่างครบวงจร

ธนาคารแห่งนี้มีประวัติศาสตร์ผ่านกระบวนการ Merger and acquisition หลายต่อหลายครั้งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จนถึงปี 2549 เมื่อมีการควบรวบกิจการครั้งใหญ่ ระหว่าง Bank of Tokyo-Mitsubishi กับ UFJ Bank จึงกลายเป็นบุคลิกธนาคารอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ในจังหวะ MUFG มีแผนการเชิงรุกภูมิภาคอาเซียน เป็นระลอกในช่วงคาบเกี่ยวกัน เปิดฉากที่ประเทศเวียดนามในปี 2555 เข้าถือหุ้น Vietinbank ในสัดส่วน 20% เป็นช่วงก่อนหน้าดีลธนาคารกรุงศรีอยุธยาไม่นาน

ตามมาที่ประเทศฟิลิปปินส์ในปี 2559 MUFG เข้าถือหุ้น 20% ของ Security Bank

ดีลต่อมาที่ประเทศอินโดนีเซีย ใช้เวลาพอสมควรจนในที่สุดปี 2562 MUFG เข้าถือหุ้นในสัดส่วนถึง 94% ใน Bank Danamon

 

ก่อนหน้านั้น ธนาคารญี่ปุ่นในประเทศไทยถึง 3 แห่ง (The Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ, Sumitomo Mitsui Banking Corporation และ Mizuho Bank) มีฐานะเป็นสาขาของธนาคารต่างประเทศ

เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า ในช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยหลังวิกฤตการณ์ปี 2540 กำแพงอันมั่นคงของธนาคารพาณิชย์ไทยได้พังทลายลง โดยธนาคารต่างประเทศเข้ามาเป็นขบวน ไม่ว่าธนาคารอังกฤษ สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ รวมไปถึงจีน

แต่ธนาคารญี่ปุ่นซึ่งมีเครือข่ายธุรกิจมากมายในประเทศไทย กลับไม่มีความเคลื่อนไหวสำคัญใดๆ

มีความเป็นไปได้ว่า เครือข่ายธนาคารญี่ปุ่นมีความเชื่อว่า ได้วางรากฐานธุรกิจแม้เป็นเพียงสาขาธนาคาร ยังคงสามารถรองรับและสนับสนุนความเคลื่อนไหวอันคึกคักของเครือข่ายธุรกิจญี่ปุ่นในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องหลายระลอกได้

ดีลสำคัญที่ว่ามาถึงในที่สุด จึงสะท้อนบริบทที่แตกต่างไป ว่าด้วยความสัมพันธ์ใหม่ ความเคลื่อนไหวเครือข่ายธุรกิจญี่ปุ่นอย่างหลากหลาย จากเครือข่ายรายใหญ่ ขยายตัวสู่รายย่อย คืบคลานจากภาคอุตสาหกรรมเข้าสู่ภาคบริการและอื่นๆ อย่างครอบคลุมบทบาทในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอย่างเต็มรูปแบบ

จึงเป็นความเคลื่อนไหว เป็นก้าวใหญ่ของธนาคารญี่ปุ่นอย่างแท้จริง

“The purchase of Bank of Ayudhya will give Mitsubishi UFJ a bigger foothold to expand retail and corporate banking in Southeast Asia’s second-biggest economy.” (http://www.bloomberg.com Jul 24, 2013) สื่อระดับโลกในช่วงนั้น มองอย่างนั้น แม้เป็นความเคลื่อนไหวก่อน MUFG มีดีลอื่นในภูมิภาค บทสรุปข้างต้นคงยังเป็นเช่นนั้น

 

ว่าไปแล้ว MUFG มีความสัมพันธ์กับสังคมไทยมานาน ตั้งแต่ช่วงหลังการเปลี่ยนการปกครอง (ปี 2479) ในนาม Yokohama Specie Bank (ชื่อในยุคต้นกำเนิดในตำนานธนาคารแห่งนี้ ย้อนไปในปี 2423) มีฐานะเป็นเพียงสำนักงานตัวแทน จนถึงปี 2505 จึงกลายเป็นสาขาธนาคาร (ตอนนั้นเปลี่ยนชื่อเป็น Bank of Tokyo ใช้ในช่วงปี 2489-2539) แล้วก็คงฐานะเช่นนั้นไว้นานถึง 5 ทศวรรษ

บริบทข้างต้น มีเกี่ยวเนื่องกับธนาคารกรุงศรีอยุธยาอยู่บ้าง ธนาคารไทยแห่งหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นจากผลพวงการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ในช่วงต้นๆ เป็นธุรกิจอ้างอิงและผันแปรตามการเมืองที่ผกผัน ก่อตั้งเมื่อปี 2488 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่อยุธยา โดยมีสำนักงานในกรุงเทพฯ แถวถนนราชวงศ์ เป็นที่รู้กันว่าธนาคารก่อตั้งขึ้นในฐานะเครือข่ายอำนาจทางเศรษฐกิจ ของคณะราษฎร กลุ่มปรีดี พนมยงค์

ในช่วง 3 ทศวรรษแรก ผันแปรตามอำนาจทางการเมือง เปลี่ยนมือมาสู่กลุ่มอำนาจทหารช่วงหนึ่ง จนมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ เริ่มต้นอีกยุค

“ชวน รัตนรักษ์ เข้ามาเป็นกรรมการบริษัทธนาคารกรุงศรีอยุธยา และต่อมากลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุด ปี 2507 ตระกูลจารุเสถียร มีหุ้นในสัดส่วน 22% ตระกูลรัตนรักษ์ มีหุ้น 25.6% ต่อมาในปี 2514 ตระกูลจารุเสถียร มีหุ้นอยู่ในสัดส่วน 15% และตระกูลรัตนรักษ์ มีหุ้นในสัดส่วน 43%” นักวิชาการชาวญี่ปุ่นผู้สนใจศึกษาสังคมไทยอย่างจริงจัง เขียนไว้ในหนังสือของเขา (Suehiro Akira, Capital Accumulation in Thailand 1855-1985)

เข้ากับยุคสมัยสังคมธุรกิจไทย มีธนาคารเป็นแกนกลางในสร้างความมั่งคั่ง รัตนรักษ์ ถือหนึ่งเป็นตระกูลรุ่นบุกเบิกของสังคมธุรกิจไทย สามารถสร้างฐานธุรกิจอย่างมั่นคงในช่วงสงครามเวียดนาม มีเครือข่ายธุรกิจสำคัญ-โดยเฉพาะปูนซีเมนต์นครหลวง และเจ้าของสัมปทานเครือข่ายฟรีทีวีรายใหญ่ที่สุด (ช่อง 7)

ธนาคารกรุงศรีอยุธยายุคนี้ ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ผ่านจากรุ่นที่ 1 สู่รุ่นที่ 2 ยาวนานถึง 4 ทศวรรษ ดูไปแล้วไม่ได้เผชิญปัญหาหนักหนาเช่นธนาคารอื่นๆ แม้อยู่ท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจหลายครั้ง

จนมาถึงอีกยุคอย่างตื่นเต้นอย่างที่หลายคนคาดไม่ถึง ว่าไปแล้วอาจสะท้อนกรณีหนึ่งซึ่งเป็นแบบอย่างการปรับตัวครอบครัวธุรกิจไทย

 

รายงานประธานกรรมการ (วีรพันธ์ ทีปสุวรรณ) ในรายงานประจำปี 2549 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้กล่าวถึงช่วงต่อสำคัญไว้ ตั้งใจกล่าวถึง กฤตย์ รัตนรักษ์ อดีตประธานกรรมการ ว่า “เสียสละอย่างใหญ่หลวง” ด้วยการลาออกจากทุกตำแหน่งในธนาคารจากบทบาทบริหารธนาคารมา 35 ปี (เมื่อ 3 มกราคม 2550)

“โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีหลังที่ท่านทุ่มเทกำลังกายและกำลังใจด้วยความวิริยอุตสาหะ เพื่อนำพาให้การบริหารธนาคาร สามารถต่อสู้กับอุปสรรค และปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ” ทั้งนี้ “เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่ม GE ที่ธนาคารเชิญเข้ามาร่วมทุนด้วยเงินจำนวนมหาศาลมีบทบาททางด้านบริหารงานในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่รายสำคัญอย่างเต็มที่”

GE Capital International Holdings Corporation เครือธุรกิจระดับโลกจากสหรัฐเข้ามาถือหุ้นในธนาคารกรุงศรีอยุธยา ในปี 2550 โดยมีสัดส่วนมากกว่ากลุ่มผู้ถือรายใหญ่เดิม (ตระกูลรัตนรักษ์) ไม่มากนัก (เท่าที่ทราบ มีสัดส่วน 33% / 25%)

โดยมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจบริหารครั้งใหญ่จากกลุ่มเดิมสู่กลุ่มใหม่ ประธานกรรมการบริหารและกรรรมการผู้จัดการ และตำแหน่งสำคัญทั้งมวลอยู่ในมือตัวแทนของ GE Capital อาจกล่าวได้ว่า เป็นธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งเดียว ที่มีโครงสร้างการบริหารอยู่ในมืออาชีพชาวต่างชาติอย่างครอบคลุม

จากนั้นธนาคารกรุงศรีอยุธยาจึงก้าวขึ้นเป็นธนาคารใหญ่ใหม่ (ตามนิยามของผมเอง) พิจารณารายได้รวม เพิ่มขึ้นจากระดับ 40,000 ล้านบาท (ปี 2551) สู่เกือบ 70,000 ล้านบาท (ปี 2554) ขณะธนาคารไทยใหญ่เดิม (กรุงเทพ กสิกรไทย และไทยพาณิชย์) ในเวลานั้น ยังอยู่ในระดับ 80,000-100,000 ล้านบาท

ดีลที่ใหญ่กว่า เกิดขึ้นอีกครั้งในราว 5 ปีจากนั้น ว่าเฉพาะผู้ถือหุ้นเดิม เป็นแผนการยกระดับมูลค่าหุ้นขึ้นมาไม่น้อย ขณะในภาพใหญ่ ธนาคารไทยภายใต้ร่างเงาธนาคารญี่ปุ่น ในทศวรรษที่ผ่านมา มีบทบาทอย่างเร้าใจทีเดียว •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com