เหรียญโสฬสมงคล 2520 หลวงพ่อสมควร วัดถือน้ำ พระเกจิชื่อดังนครสวรรค์

“พระครูนิมิตนวกรรม” หรือ “หลวงพ่อสมควร วิชชาวิสาโล” วัดศรีสวรรค์สังฆาราม (วัดถือน้ำ) ต.นครสวรรค์ออก อ.เมือง จ.นครสวรรค์ พระเถระนักปฏิบัติ นักพัฒนา ผู้มีเมตตาจิตสูง รักสันโดษ เชี่ยวชาญวิปัสสนากรรมฐานและศาสตร์ต่างๆ

ชาวนครสวรรค์ต่างเคารพในวัตรปฏิบัติ ถึงกับให้สมญานามว่า “เทพเจ้าแห่งค่ายจิรประวัติ”

ปี พ.ศ.2520 พ.อ.แสวง อริยะกุล ขออนุญาตจัดสร้าง “เหรียญโสฬสมงคล” ถวาย เพื่อหารายได้สมทบทุนบูรณะวัด โดยจัดสร้างเพียง 2 เนื้อ มีเนื้อเงินและเนื้อทองแดงมันปู

ลักษณะทรงกลมรูปไข่ หูห่วงยกซุ้ม ด้านหน้า รอบขอบเป็นเกลียวเชือก ซุ้มหูห่วงเป็นลายกนก ตรงกลางเหรียญเป็นรูปนูนครึ่งองค์ ด้านซ้ายและขวามียันต์นูน “สุริยันจันทรา” ด้านล่างมีอักษรไทย “โสฬสมงคล”

ด้านหลัง ไม่มีขอบ ตรงกลางเป็นเส้นตารางสี่เหลี่ยมเล็ก 16 ช่อง แต่ละช่องเป็นเลขไทย (ยันต์โสฬส) รอบๆ ตารางสี่เหลี่ยมใหญ่ มีอักขระขอม “นะ ชา ลี ติ, ชา ลี ติ นะ, ลี ติ นะ ชา, ติ นะ ชา ลี” รอบเหรียญมีอักษรไทย เขียนว่า “พ.อ.แสวง อริยะกุล อนุโมทนา พระอาจารย์สมควร วิชชาวิสาโล วัดศรีสวรรค์สังฆาราม (ถือน้ำ) นครสวรรค์ ๒๕๒๐”

ปลุกเสกเดี่ยวตลอดไตรมาส (3 เดือน) แล้วจัดพิธีพุทธาภิเษก โดยพระเกจิคณาจารย์อีกครั้ง

เหรียญโสฬสมงคล หลวงพ่อสมควร (หน้า)

ชาติภูมิเป็นชาวเวียดนาม เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 17 กันยายน 2459 ที่จังหวัดตาวิน เมืองไซ่ง่อน เป็นบุตรนายเซ็นแน และนางสุพันธุ์ สุริยประภา (เซิงหงก)

ศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนวัดโพนโด่ง จังหวัดตาวิน จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เมื่อปี พ.ศ.2471

อายุครบ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดจงโกรม ไซ่ง่อน เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2479 มีพระธรรมจริยาพฤติ วัดมณีเพตราราม เจ้าคณะจังหวัดพระตระบอง เป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2480 เดินทางมาประเทศกัมพูชาและจำพรรษาที่วัดลำดวน อ.พระตะบอง ศึกษาเล่าเรียนบาลี นักธรรม และเป็นครูประชาบาลไปด้วย

ปลายปี พ.ศ.2484 ไทยได้ปกครองจังหวัดพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ จึงกลับไปอยู่กับพระอุปัชฌาย์ที่เมืองเสียมราฐ และศึกษาจนสอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท ที่สำนักเรียนวัดโพธิ์ศักดิ์ จ.พระตะบอง ก่อนไปศึกษาพระธรรมและปฏิบัติกัมมัฏฐานกับพระอาจารย์คิมออม วัดโพนโด่ง พระอาจารย์ถังฮาย วัดจงโกรม ประเทศเวียดนามใต้อยู่ 2 พรรษา ก่อนมาศึกษาด้านวิทยาคมที่สำนักพระครูแลน วัดมะถัก อ.ศรีโสภณ

กระทั่งปี พ.ศ.2487 เดินธุดงค์เข้ามาประเทศไทยเพื่อศึกษาพระพุทธศาสนา ธุดงค์ผ่านอรัญประเทศ จ.ปราจีนบุรี สระบุรี บุรีรัมย์ สุรินทร์ ไปจนถึงเชียงใหม่ แล้วย้อนลงมาจำพรรษาที่วัดถือน้ำ จ.นครสวรรค์ ในปี พ.ศ.2490

จากนั้นก็ออกธุดงค์ไปปฏิบัติธรรมที่เขากาซาก อ.ตาคลี เขาม่อนทลายนอน ถ้ำผาไท พระธาตุจอมแจ้ง พระธาตุช่อแฮ ถ้ำผาลม ถ้ำเชียงดาว ได้พบกับพระเกจิอาจารย์หลายรูป

เหรียญโสฬสมงคล หลวงพ่อสมควร (หลัง)

ช่วงที่ธุดงค์ผ่านนครชัยศรี จ.นครปฐม ประมาณ พ.ศ.2499 ไปช่วยสร้างอุโบสถวัดสาละวัน และมีโอกาสได้พบกับ “สมเด็จป๋า” สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (ปุ่น ปุณณสิริ) วัดโพธิ์ เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 7 จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นฐานานุกรม ที่พระครูใบฎีกา พร้อมทั้งเข้าร่วมงานพิธีฉลองครบ 25 ศตวรรษ เมื่อปี พ.ศ.2500 ด้วย

ก่อนที่จะมาอยู่วัดถือน้ำ ธุดงค์ผ่านนครสวรรค์มาทาง อ.ชุมแสง เข้าจำพรรษาที่วัดจอมคีรีนาคพรต (วัดเขา) ได้เห็นทัศนียภาพ บึงบอระเพ็ดมีดอกบัวสวยงาม จึงอยากอยู่ที่เมืองนครสวรรค์

วัดถือน้ำในขณะนั้นถือได้ว่าเป็นวัดเก่าแก่ มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาน้อยรูป เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม เมื่อญาติโยมไปกราบนิมนต์ขอให้ท่านกลับมาจำพรรษาที่วัด เพื่อช่วยรวบรวมปัจจัยช่วยสร้างวัดถือน้ำให้เจริญรุ่งเรือง ท่านก็ไม่ขัดศรัทธา

แต่เมื่อบูรณะวัดเสร็จแล้ว ท่านยังคงเดินทางไปพำนักตามป่าเขาแถว จ.อุทัยธานี เหมือนเดิม

จนถึงปี พ.ศ.2531 จึงเดินทางกลับมาจำพรรษาที่วัดถือน้ำแห่งเดียว

สร้างวัตถุมงคลไว้มากมายเพื่อแจกจ่ายให้ทหารและประชาชนไปบูชา

หากได้ศึกษาเจาะลึกจริงๆ แล้วจะพบว่าวัตถุมงคลทุกอย่างต้องมีขั้นตอน ต้องมีฤกษ์ยาม ต้องเจริญพระพุทธมนต์ตั้งแต่การทำส่วนผสมหรือการปลุกเสก ลงเลขยันต์ต่างๆ อย่างละเอียด

นอกจากนี้ ก่อนจะแจกวัตถุมงคล จะต้องลงเหล็กจารเขียนยันต์ที่เหรียญเกือบทุกครั้ง ส่วนใหญ่จะลงยันต์ มะ อะ อุ หรือ จะ ภะ กะ สะ

หลวงพ่อสมควร วิชชาวิสาโล

แม้จะเป็นพระสงฆ์ที่พูดน้อย แต่ทุกถ้อยคำมีคุณค่าน่าฟัง

ต่อมาในปี พ.ศ.2546 มีอายุมากขึ้นจึงต้องรับกิจนิมนต์น้อยลง และได้รับการดูแลจากแพทย์ประจำโรงพยาบาลค่ายจิรประวัติเป็นอย่างดี ซึ่งต่อมาก็ได้เข้าโรงพยาบาลเป็นประจำ เนื่องจากมีสุขภาพไม่แข็งแรง

สุดท้าย มรณภาพลงอย่างสงบ ในวันที่ 3 ตุลาคม 2547 เวลา 13.10 น. ที่โรงพยาบาลค่ายจิรประวัติ อ.เมือง จ.นครสวรรค์

สิริอายุ 88 ปี พรรษา 66 •

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]