5 เมืองอัจฉริยะ ที่น่าจับตามองที่สุดในอาเซียน (1)

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

Agora | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์

วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

www.facebook.com/bintokrit

 

5 เมืองอัจฉริยะ

ที่น่าจับตามองที่สุดในอาเซียน (1)

 

หลังจากที่ได้นำเสนอบทความชุดเรื่อง “เมืองในอนาคต อนาคตของเมือง” ความยาว 3 ตอนจบไปแล้ว ตอนที่ 1 ตามลิงก์ https://www.matichonweekly.com/column/article_728311 ตอนที่ 2 https://www.matichonweekly.com/column/article_730008 และตอนที่ 3 https://www.matichonweekly.com/column/article_731057

คราวนี้จะชวนสนทนาเรื่องเมืองอีกเหมือนกัน แต่เจาะจงลงมาที่เมืองอีกลักษณะหนึ่งซึ่งในภาษาไทยเรียกว่า “เมืองอัจฉริยะ”

คำนี้เป็นการแปลมาจากคำดั้งเดิมในภาษาอังกฤษคือคำว่า “smart city” ซึ่งบางคนก็อาจใช้คำว่า “เมืองชาญฉลาด”

แต่คำว่าเมืองชาญฉลาดไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่ ตรงข้ามกับเมืองอัจฉริยะที่ดูจะเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายกว่า หรือไม่ก็อาจเรียกทับศัพท์ว่า “สมาร์ตซิตี้” ไปเลย

ที่มาของบทความในครั้งนี้มาจากเว็บไซต์ TECH COLLECTIVE ทางลิงก์ https://techcollectivesea.com/ โดยข้อเขียนดังกล่าวชื่อว่า “The future of smart cities in Southeast Asia : 5 cities to kickstart your startups”

ถ้าเป็นชื่อภาษาไทยก็ประมาณว่า “อนาคตของสมาร์ตซิตี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 5 เมืองสำหรับการเริ่มต้นสตาร์ตอัพ (กิจการใหม่)”

ซึ่งบทความต้นทางอยู่ในลิงก์ https://techcollectivesea.com/2023/10/20/future-smart-cities-southeast-asia-startups/

ข้อเขียนนี้เพิ่งเผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี่เอง กล่าวถึงการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เน้นหนักไปที่ประเทศในอาเซียนบางประเทศ คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์

สืบเนื่องจากการประชุมระดับภูมิภาคเมื่อห้าปีที่แล้วในงาน “The 32nd Regional Summit 2018” ที่ได้มีการสถาปนาเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network) หรือ ASCN ขึ้น เพื่อสร้างพื้นที่หรือแพลตฟอร์มให้ประเทศสมาชิกสามารถทำงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนและอย่างเป็นอัจฉริยะร่วมกัน

ซึ่งโดยหลักแล้วก็คือความร่วมมือทางด้านการพัฒนาพื้นที่เมืองเชิงนวัตกรรมผ่านเทคโนโลยีและข้อมูลต่างๆ ที่ผสานหรือบูรณาการเพื่อให้ทำให้เกิดความพร้อมอย่างเต็มที่

เมื่อพิจารณาในด้านเศรษฐกิจแล้ว คาดการณ์ว่าในปี ค.ศ.2026 หรืออีกสามปีข้างหน้านั้น เมืองอัจฉริยะของโลกจะมีขนาดตลาดมากถึง 873.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ถึง 13.8% เลยทีเดียว

เมืองต่างๆ ในอาเซียนจึงจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที มีการจับมือกันเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชน และเพิ่มความสามารถในการขยายขนาดหรือขยายการเจริญเติบโต เพื่อให้ภายในเครือข่ายประเทศอาเซียนสามารถทำงานต่างๆ ได้ผ่านการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตอย่างครอบคลุมทั่วทั้งเมือง

และทำให้เกิดการใช้เทคโนโลยีแบบอัจฉริยะ นำมาสู่ความร่วมมือกันระหว่างผู้ผลิตและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ในการทำให้มีหลักประกันว่าจะเลือกใช้วัตถุดิบที่มีความยั่งยืน มีการวางแผน และสร้างตัวแบบต่างๆ

โดยคำนึงถึงอนาคต ตลอดจนสร้างมาตรการป้องกันภัยให้กับข้อมูลส่วนบุคคลด้วยการวางระบบการประมวลผลข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่มีศักยภาพและเชื่อถือได้

สำหรับเมืองอัจฉริยะในอาเซียนที่น่าจับตามอง เหมาะกับสตาร์ตอัพ หรือควรค่าแก่การเลือกไปเริ่มต้นกิจการใหม่นั้น ทาง TECH COLLECTIVE มองว่ามีอยู่ทั้งหมด 5 เมือง ได้แก่

 

 

1.สิงคโปร์ซิตี้ ประเทศสิงคโปร์

สิงคโปร์ขึ้นชื่อในเรื่องของการเป็นประเทศแห่งเทคโนโลยีล้ำสมัยอยู่แล้ว

กล่าวได้ว่าเป็นเมืองที่แสดงให้เห็นถึงประจักษ์พยานของการพัฒนาไปสู่เมืองอัจฉริยะได้เด่นชัดที่สุดแห่งหนึ่ง

โดยมีการนำนวัตกรรมต่างๆ เข้าไปอยู่ในการบริการภาครัฐ รวมทั้งกำหนดนโยบายจากการประมวลผลด้วยข้อมูล ปรับปรุงศักยภาพทางธุรกิจด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม และให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นผ่านเทคโนโลยีซึ่งทำให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าที่ผ่านมา

การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เช่นนี้ทำให้เกิดการลดต้นทุนทางการเงินและการบริหารจัดการ นอกจากนี้ ยังมีการวางรากฐานอุตสาหกรรมที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยี พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับประชาชนรุ่นต่อไป และยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์

โดยภาพรวมแล้วสิงคโปร์ก้าวล้ำไปข้างหน้าอย่างมากในด้านการสร้างแพลตฟอร์มการซื้อขายหรือชำระค่าบริการ ระบบการค้าข้ามพรมแดน และการสร้างอัตลักษณ์ทางดิจิทัล

 

2.กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

มาเลเซียเองก็ให้ความสำคัญกับเรื่องเมืองอัจฉริยะเหมือนกัน โดยกัวลาลัมเปอร์เมืองหลวงของมาเลเซียนั้นตั้งจุดหมายไว้ว่าจะสร้างพื้นที่ของการแข่งขันที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลหรือมาตรฐานระดับนานาชาติตามที่กำหนดไว้ในที่ประชุมของสหประชาชาติว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) หรือ SDGs รวมทั้งส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลด้วย (digital economy)

เมืองกัวลาลัมเปอร์สนับสนุนให้ชุมชนมีอำนาจมากขึ้นและเชื่อมต่อกัน ผู้คนมีชีวิตชีวา มีสภาพแวดล้อมที่สะอาดและมีคาร์บอนต่ำ รวมทั้งยังเป็นชุมชนทางปัญญาอีกด้วย

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีรัฐบาลแบบบูรณาการหรือการบริหารงานภาครัฐแบบบูรณาการ การขนส่งที่มีประสิทธิภาพ และสร้างเครือข่ายดิจิทัล ซึ่งเทคโนโลยีที่มีการนำมาใช้ก็อย่างเช่น การใช้เทคโนโลยีในการจัดการงานจราจร เทคโนโลยีที่ใช้ในอีคอมเมิร์ซ การวิเคราะห์ข้อมูลหรือดาต้าอนาไลติกส์ การควบคุมมลพิษ อาคารที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กัวลาลัมเปอร์ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคในด้านมลพิษ การจัดการขยะ ความพร้อมในเรื่องสายใยแก้วนำแสงหรือไฟเบอร์ออปติก พลังงานที่ไม่หมุนเวียน ราคาของสมาร์ตโฮมหรือบ้านอัจฉริยะ การแบ่งปันข้อมูลและความถูกต้องสมบูรณ์ของข้อมูล

ตลอดจนปัญหาการจราจรที่แออัด

 

3.ภูเก็ต ประเทศไทย

ภูเก็ตเป็นเมืองที่พึ่งพิงรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลักแต่ก็มีการก่อตั้ง “โครงการภูเก็ตสมาร์ตซิตี้” (Phuket Smart City Project) หรือ “ภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ” ขึ้นมา โดยเป้าหมายที่จะทำให้อุตสาหกรรมมีความยั่งยืนด้วย

โดยเน้นความสำคัญไปที่การส่งเสริมการค้าและพาณิชย์ การป้องกันอาชญากรรมด้วยการประมวลผลข้อมูลจากระบบกล้องวงจรปิดหรือกล้องซีซีทีวี ซึ่งทำให้ลดอัตราการเกิดอาชญากรรมลงได้ถึงครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว นอกจากนี้ ยังสร้างทางออกทั้งในด้านสังคมและด้านผลประโยชน์ที่ทำให้นักท่องเที่ยวพึงพอใจ

ความท้าทายของภูเก็ตวนเวียนอยู่ในเรื่องการจัดการผลประโยชน์สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการน้ำ การจัดการของเสียและขยะ ไฟฟ้า การสนับสนุนทางเทคโนโลยีในการดำเนินโครงการ และการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ในอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้า

โดยตั้งเป้าหมายว่าจะเปลี่ยนการแก้ปัญหาต่างๆ ไปสู่ช่องทางออนไลน์ให้ได้ประมาณ 80% และลดต้นทุนการปฏิบัติงานลง 25%

เทคโนโลยีที่ใช้ในโครงการพัฒนาภูเก็ตสมาร์ตซิตี้หรือภูเก็ตเมืองอัจฉริยะยังรวมไปถึงการเก็บรวบรวมข้อมูลแบบเรียลไทม์ ไวไฟที่ให้บริการฟรีทั่วโครงการ และแพลตฟอร์มสำหรับข้อมูลเมืองภูเก็ต ซึ่งสามารถอำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การวางแผนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และการจัดหาข้อมูลเชิงลึกให้กับบรรดาสตาร์ตอัพทั้งหลาย

ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือโครงการภูเก็ตสมาร์ตซิตี้ยังพยายามผลักดันให้ภาคเอกชนเข้ามาติดตั้งกล้องวงจรปิดร่วมกับภาครัฐอีกด้วย ซึ่งทำให้สามารถเพิ่มพื้นที่และปริมาณของกล้องวงจรปิดได้มากที่สุดครอบคลุมไปทั่วพื้นที่โครงการ

อ่านต่อฉบับหน้า