อนาคตของเมือง เมืองในอนาคต (2) เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และสุขภาพ

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

Agora | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์

วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

www.facebook.com/bintokrit

 

อนาคตของเมือง เมืองในอนาคต (2)

เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และสุขภาพ

 

บทความตอนที่แล้วเล่าถึงแนวโน้มของเมืองในอนาคต 9 ข้อจากทั้งหมด 22 ข้อ ซึ่งนำมาจากข้อเขียนของนักอนาคตศาสตร์ (futurist) คนหนึ่งชื่อว่า “วิลล์ วานฮาลา” (Ville Vanhala) ในบทความเรื่อง “22 Trends That Will Shape The Future Of Our Cities : Which trends will have the highest impact on your organization?” ทางเว็บไซต์ www.futuresplatform.com โดยคาดการณ์ลักษณะของเมืองในอนาคตว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไร ตามลิงก์ https://www.futuresplatform.com/blog/city-of-the-future-through-7-themes

สำหรับบทความนี้จะบอกเล่าแนวโน้มข้อที่เหลือต่อจากตอนที่แล้ว

ดังต่อไปนี้

10.ผู้คนในอนาคตจะมีทั้งเวลาและมีอิสระในการไล่ตามผลประโยชน์ของตนเองมากขึ้น เนื่องจากการพัฒนาเมืองในอนาคตตามที่กล่าวมาในบทความตอนที่แล้วจะเปลี่ยนธรรมชาติของชีวิตการทำงานในหลายทิศทาง ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ทำงาน ชั่วโมงการทำงาน เวลาว่าง ปริมาณแรงงาน ประเภทของกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจในท้องถิ่น การเดินทางไปกลับระหว่างบ้านกับที่ทำงาน การออกแบบพื้นที่ทำงาน เป็นต้น

11. ทิศทางในอนาคตนั้นจะมีโมเดลธุรกิจแบบใหม่ (new kind of business model) เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์ม (platform economy) ยังคงครองบทบาทนำในการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมบริการ (service industry)

สิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจแพลตฟอร์มดำเนินไปได้ดีก็คือเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (sharing economy) ซึ่งทำให้เกิดการสร้างโมเดลธุรกิจแบบใหม่ๆ มากมายที่สามารถมองเห็นได้ง่ายและเข้าถึงได้สะดวก ก่อให้เกิดความร่วมมือกันอย่างแข็งขัน รวมทั้งเพิ่มโอกาสสร้างผลประโยชน์จากฐานผู้ใช้งานที่ขยายใหญ่ขึ้น

ซึ่งในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้โมเดลธุรกิจแบบเดิมๆ ได้ผลกำไรลดลง แต่โมเดลธุรกิจใหม่จะรุ่งเรืองขึ้น

เช่น ธุรกิจอาหารมังสวิรัติซึ่งจะเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในอนาคต ส่งผลให้สินค้าเหล่านี้มีวางขายทั่วไปในร้านอาหารและซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งยังเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับอาหารเหล่านี้ตามมาอีกด้วย

 

12.ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใช้ระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ (full automation of supermarket) จะทำให้คนนับล้านต้องตกงาน

ซูเปอร์มาร์เก็ตที่เคยอยู่แต่ในจินตนาการจะเริ่มปรากฏให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ในทศวรรษนี้ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมก็คือร้านอเมซอนโก (Amazon Go) ซึ่งเป็นร้านสะดวกซื้อแบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ (fully-automated grocery store) สามารถรองรับลูกค้านับพันคนได้โดยไม่จำเป็นต้องมีพนักงานขาย แต่ทำการซื้อขายสินค้าผ่านการใช้แอพพ์ทางโทรศัพท์มือถือ เอไอ และเซ็นเซอร์ต่างๆ เท่านั้น

การเกิดขึ้นของซูเปอร์มาร์เก็ตแบบนี้ส่งผลอีกด้านหนึ่งคือทำให้ตำแหน่งงานหายไปจากตลาดเป็นจำนวนมาก ผู้คนตกงานฉับพลัน ตามข้อมูลของนิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) ระบุว่าศักยภาพของอเมซอนโกอย่างเดียวสามารถลดการพึ่งพิงแรงงานมนุษย์ไปได้ถึง 75% นั่นคือทันทีที่ Amazon Go ออกมาสู่ตลาด พนักงานในร้านส่วนใหญ่ก็จะตกงานนั่นเอง

ตัวเลขการว่างงานนี้ย่อมสั่นคลอนเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน เพราะมีแรงงานประเภทนี้อยู่ในระบบเป็นจำนวนมาก เฉพาะสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวก็มีอยู่ถึง 6.2 ล้านคน

13. แพทย์เสมือน (virtual doctor) และพยาบาลเสมือน (virtual nurse) จะกลายเป็นความจริงใหม่ บริการทางสุขภาพแบบอัตโนมัติที่ใช้เอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) จะเข้ามาดูแลสุขภาพผู้คนแทนแพทย์และพยาบาลมากขึ้น ด้วยการสำรวจร่างกายคนไข้และวิเคราะห์ผล โดยทำการเปรียบเทียบข้อมูลกับแผนที่พันธุกรรมของคนไข้แต่ละคนอย่างเจาะจง (personal genetic map)

ทำให้สามารถสรุปอาการของโรคและประเมินสุขภาพเฉพาะบุคคล พร้อมกับวิธีรักษาที่ถูกต้องได้

 

14.การศึกษาจะเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทำให้ผู้คนมีโอกาสเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง โฉมหน้าของการศึกษาจะเปลี่ยนไปแบบมโหฬาร เนื่องจากต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนผันอันรวดเร็วและรุนแรงของโลก

วิธีการศึกษาในอนาคตมีแนวโน้มที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างแนบแน่น ทำให้เครื่องมือการเรียนรู้ วิธีเรียนรู้ และสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้เปลี่ยนตามไปด้วย

งานประเภทที่ทำซ้ำๆ จะอยู่ในมือของหุ่นยนต์แทน เพราะสามารถทำได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่ามนุษย์

ครูจึงมีบทบาทการสอนน้อยลง แต่ปรับเปลี่ยนมาเป็นคล้ายพี่เลี้ยงหรือเพื่อนร่วมเรียน รวมทั้งขยับไปทำงานบริหาร คอยควบคุม กำกับ อำนวยการ หรือสร้างผลประโยชน์ต่างๆ ให้งอกเงย

ฉะนั้น การเรียนรู้ในอนาคตจึงสามารถเกิดขึ้นได้ทุกหนทุกแห่ง และไม่จำกัดเวลาหรือสถานที่

สิ่งที่ตามมาก็คือโอกาสในการศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเอง รวมทั้งการตรวจสอบหรือวิจารณ์จะได้รับการปรับปรุงจนพัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และทำให้บางสิ่งที่เคยเป็นเรื่องใหญ่โตในอดีตลดความสำคัญลง

อย่างเช่น พิธีการต่างๆ รวมทั้งวุฒิการศึกษาอย่างเป็นทางการด้วย

 

15.ชุมชนเป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากเกิด “การทำให้เป็นท้องถิ่น” (Localization) คือทำให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการต่างๆ ผสานเข้ากับลักษณะเฉพาะของผู้คนภายในท้องถิ่นนั้นๆ หรือเป็นไปตามอัตลักษณ์ภายในชุมชน ส่วน “การทำให้เป็นท้องถิ่นอย่างเข้มข้น” (Hyperlocalisation) คือระดับที่การทำให้เป็นท้องถิ่นนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ลักษณะของการทำให้เป็นท้องถิ่นเช่นนี้จะเป็นตัวขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของตลาดใหม่ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของชุมชน และเติมเต็มความต้องการของท้องถิ่นแท้ๆ ซึ่งทิศทางนี้จะกลายเป็นกระแสในอนาคต

ผู้คนในยุคต่อไปมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับสินค้าและบริการที่มาจากชุมชนของตนก่อนสินค้าซึ่งมาจากที่อื่น ส่งผลให้ลักษณะของผู้คนในอนาคตจะเปลี่ยนจากเดิมที่เป็นผู้บริโภคสินค้าสำเร็จรูป (ready-made product) แต่เพียงอย่างเดียว มาเป็นทั้งผู้ส่งวัตถุดิบ ผู้ผลิต ผู้ให้บริการ และผู้บริโภคด้วย จนเกิดการพัฒนามาตรฐานสินค้าและบริการของท้องถิ่นไปสู่ระดับที่สูงขึ้น รวมทั้งคำนึงถึงการนำผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วให้หมุนเวียนกลับมาใช้ได้อีก หรือผลิตซ้ำใหม่ (recycle) วนใช้อยู่ภายในชุมชน

เมื่อสภาพการณ์ของเมืองในอนาคตออกมาเป็นเช่นนี้ บริษัทต่างๆ จึงจำเป็นต้องปรับตัวและสนองตอบต่อความเปลี่ยนแปลงของตลาด หากไม่สามารถรองรับความปรารถนาใหม่ของลูกค้าได้ก็จะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาแทนที่ หรือไม่ก็อาจเป็นกลุ่มลูกค้าเองที่สร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการขึ้นมาใช้งานโดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องผ่านช่องทางซื้อขายแบบเดิม

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมก็คือ กลุ่มผู้ประกอบการรายใหม่ในย่านบรุกลินแห่งมหานครนิวยอร์ก (new NewYork-startup) ได้สร้างชุมชน “บรุกลินไมโครกริด” (Brooklyn Microgrid) ขึ้น เพื่อให้สมาชิกในชุมชนสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าที่พวกเขาผลิตขึ้นเองได้ ซึ่งพลังงานเหล่านี้ก็มาจากการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนดาดฟ้าหรือหลังคาบ้านของสมาชิกในชุมชนนั่นเอง ตามลิงก์ https://thenewstack.io/brooklyn-microgrid-blockchain-based-platform-locally-traded-electricity/

ดังนั้น หากผู้ประกอบการรายเดิมปรับตัวตามพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ทัน ผู้ชนะในตลาดเก่าก็อาจล้มหายตายจากไปในอนาคต

 

16.บ้านเรือนจะมีเทคโนโลยีที่ชาญฉลาดยิ่งขึ้น เต็มไปด้วยความสะดวกที่ครบและจบในตัว ปัจจุบันนี้แนวคิดเรื่อง “ไอโอที” หรือ Internet-of-Thing (IoT) ยังคงจำกัดอยู่แต่เพียงการใช้งานในบ้าน ความบันเทิงในครัวเรือน และการรักษาความปลอดภัยเท่านั้น แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ ไอโอทีจะเข้ามาสู่ชีวิตประจำวันของคนในทุกมิติ ทั้งนี้ก็เพราะความก้าวหน้าของเอไอ ซึ่งทำให้การนำไอโอทีมาใช้กับทุกเรื่องรอบตัวมีความเป็นไปได้

17. ศูนย์พักพิงซึ่งครอบคลุมทุกด้านจะเข้ามาแทนที่บ้านพักคนชรา เมืองในอนาคตจะเป็นสังคมผู้สูงวัยที่เต็มไปด้วยคนชราที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมหาศาล ทำให้เกิดความจำเป็นด้านการบริการทางสุขภาพในประเภทต่างๆ อย่างหลากหลาย อันนำมาสู่การเกิดศูนย์ “เวลบีอิ้งเซ็นเตอร์” (wellbeing centre) ขึ้นในหลายประเทศ มีลักษณะเป็นทั้งที่พักอาศัยและศูนย์สุขภาพนอกโรงพยาบาลแบบครบวงจร ครอบคลุมงานบริการกับการดูแลผู้สูงวัยอย่างเข้าอกเข้าใจและมีคุณภาพ

(อ่านตอนต่อไปในฉบับหน้า)