อนาคตของเมือง เมืองในอนาคต (1)

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

Agora | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์

วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

www.facebook.com/bintokrit

 

อนาคตของเมือง

เมืองในอนาคต (1)

 

เมื่อเร็วๆ มานี้ นักอนาคตศาสตร์ (futurist) คนหนึ่งชื่อว่า วิลล์ วานฮาลา (Ville Vanhala) ได้นำเสนอบทความเรื่อง 22 Trends That Will Shape The Future Of Our Cities : Which trends will have the highest impact on your organization? เผยแพร่ในเว็บไซต์ www.futuresplatform.com โดยทำนายและคาดการณ์ว่าเมืองในอนาคตจะมีการนำนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ตามลิงก์ https://www.futuresplatform.com/blog/city-of-the-future-through-7-themes นอกจากนี้ ก็ยังมีรายละเอียดอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย

เลยหยิบยกเรื่องราวนี้มาเล่าสู่กันฟัง

วิลล์ วานฮาลา นำผลการศึกษาจากทีมนักอนาคตศาสตร์ซึ่งนำโดยทูโอโม คูโอซา (Tuomo Kuosa) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Evolution of Strategic Foresight ซึ่งประเมินทิศทางการเปลี่ยนแปลงของเมืองในทศวรรษนี้โดยพิจารณาจาก 7 ลักษณะคือ

(1) สภาพการเปลี่ยนแปลงของประชากร (Demographic Changes)

(2) การก่อสร้างและการเป็นเมือง (Construction and Urbanization)

(3) งานและรายได้ (Work and Income)

(4) การบริการต่างๆ (Services)

(5) การพักผ่อนและปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Leisure and Social Interaction)

(6) การคมนาคมขนส่ง (Transportation)

และ (7) ความปลอดภัย (Security and Safety)

จากการศึกษาดังกล่าวได้สรุปแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเมืองในอนาคตว่ามีทิศทางที่เด่นชัดอยู่ 22 ข้อ

โดยข้อที่ 1-3 จะเกี่ยวกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของประชากร

ข้อ 4-5 เป็นเรื่องของเมืองและการก่อสร้าง

ส่วนเรื่องงานและรายได้จะอยู่ในข้อ 6-9

ซึ่งบทความนี้จะทยอยเล่าจนถึงข้อที่ 9 ก่อน เนื่องจากคอลัมน์มีพื้นที่จำกัด

สำหรับส่วนที่เหลือข้อ 10-22 จะอยู่ในบทความตอนต่อไปในฉบับหน้า

 

1.คนจะมีอายุที่ยืนยาวขึ้น ทำให้จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม และมีอัตราการเสียชีวิตต่ำลง โดยอ้างอิงจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในบทความเรื่อง 10 Facts on ageing and health ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประชากรวัย 60 ปีขึ้นไปจะมีมากขึ้น ในขณะที่เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีจะมีจำนวนน้อยลง

รวมแล้วคนสูงวัยที่มีอายุเกิน 60 ปีจะมีปริมาณถึง 12% ต่อจำนวนประชากรโลก ซึ่งตัวเลขนี้จะเพิ่มสูงขึ้นอีกเท่าตัวในปี ค.ศ.2050 หรืออีกเกือบสามสิบปีข้างหน้า

จำนวนอัตราส่วนของประชากรวัยอาวุโสนี้จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างสำคัญ

ทำให้บางประเทศอาจต้องขยายเวลาการเกษียณจากการทำงานออกไป และขยายตำแหน่งอาชีพหรือการจ้างงานไปสู่คนสูงวัยให้มากขึ้น

2. อนาคตของมหานครอยู่ในทวีปอัฟริกา เนื่องจากในอนาคตการเจริญเติบโตของเมืองจะขยายตัวอย่างรวดเร็วมาก

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปราวๆ สามสิบกว่าปีก่อน ประมาณปี พ.ศ.2533 จะพบว่าเมืองขนาดใหญ่มากระดับที่เรียกว่า “มหานคร” (megacity) อันหมายถึงเมืองที่มีประชากรเกินสิบล้านคนจะมีอยู่เพียงสิบกว่าเมืองเท่านั้น แต่ปัจจุบันมหานครระดับนี้มีเกินกว่าสามสิบเมืองแล้ว

ตามข้อมูลของ GlobalData ระบุว่ามีประชากรมากถึง 600 ล้านคน คิดเป็นจำนวน 8.2% ของประชากรโลก และมีจีดีพีอยู่ที่ 14% ของจีดีพีโลก อาศัยอยู่ในมหานครต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปแอฟริกา

อย่างเช่น เมืองลากอส ประเทศไนจีเรีย เป็นต้น

3. กลุ่มประชากรเจนวาย (Gen Y) หรือคนรุ่นมิลเลนเนียล (millennial generation) จะเริ่มยึดกุมบทบาทนำทางเศรษฐกิจและการเมือง มีประเทศเกิดใหม่มากขึ้น สงครามและความอดอยากยากแค้นจะลดลง ชนชั้นกลางในโลกตะวันตกจะถดถอย

ในขณะที่ชนชั้นกลางในพื้นที่อื่นกลับผงาดขึ้นมา เกิดการแบ่งขั้วทางสังคมอย่างรวดเร็ว ความเปลี่ยนแปลงด้านประชากรนี้เป็นปัจจัยสำคัญอันกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงของเมืองในอนาคต

4. การเกิดขึ้นของมหานครต่างๆ ในโลกทำให้เกิดช่องว่างระหว่างมหานครกับประเทศของมหานครนั้น เช่น เกิดระยะห่างทางการบริหารและการปกครองระหว่างนิวยอร์กกับสหรัฐอเมริกา โตเกียวกับญี่ปุ่น เป็นต้น

ผลที่ตามมาก็คือมหานครเหล่านี้จะมีความเป็นอิสระและเป็นเอกเทศจากประเทศแม่มากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งกลายมาเป็นลักษณะคล้ายกับ “นครรัฐ” (city-state) ในอดีต ซึ่งทำให้โครงสร้างพื้นฐานของเมืองในอนาคตเกิดการพึ่งพาตัวเองได้ในหลายมิติ

เช่น เรื่องพลังงานและการจัดการของเสีย พื้นที่เอกชนบางแห่งอาจมีการสร้างพลังงานไว้ใช้เอง ตลอดจนสามารถนำพลังงานส่วนที่เหลือออกไปขายเพื่อนำรายได้กลับเข้ามาอีกด้วย

5. เทคโนโลยีใหม่ๆ จะเข้ามาอยู่ในทุกแง่มุมของเมืองอัจฉริยะ (Smart City) อย่างเช่น เทคโนโลยีเสมือนจริง (AR และ VR) อินเตอร์เน็ตออฟธิงส์หรือไอโอที (IoT) เทคโนโลยีการควบคุมด้วยเสียง (voice control) เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (robotization) และปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (AI) จะเข้ามาสู่การก่อสร้างอาคารต่างๆ ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ตึกรามบ้านช่องเหล่านี้มีความเป็นอิสระ และสามารถซ่อมแซมตัวเองได้

นอกจากนี้ เทคโนโลยีเครือข่ายโทรศัพท์มือถือรุ่นที่ 5 หรือ 5G จะทำให้เกิดการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่มีความไวอย่างยิ่ง อันนำมาสู่เทคโนโลยีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นยานพาหนะไร้คนขับ (autonomous vehicle) หรือสื่อต่างๆ รวมทั้งสภาพแวดล้อมรอบตัวที่มีลักษณะปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้งานอย่างสูง ซึ่งส่งผลต่อจิตใจ อารมณ์ความรู้สึก รวมทั้งชีวิตความเป็นอยู่ การกินดีอยู่ดี ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังเกิดพื้นที่ใต้ดินในเมืองเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผ่านการขุดอุโมงค์เพื่อประโยชน์ใช้สอยต่างๆ ตั้งแต่ทำทางเดิน หรือทางเชื่อมออกสู่ทะเล ไปจนถึงสร้างห้างสรรพสินค้า

ยิ่งเมืองที่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ก็จะเกิดสภาพเช่นนี้มาก

ยกตัวอย่างเช่น สิงคโปร์ ที่คาดการณ์กันว่าในอนาคตอาจมีพื้นที่ใช้สอยใต้ดินมากเท่ากับประมาณครึ่งหนึ่งของพื้นที่บนดินของมหานครลอนดอน

 

6.งานแบบใหม่ในอนาคตจะเพิ่มขึ้นมากและอยู่ร่วมกับแรงงานหุ่นยนต์ ผู้คนต้องทำงานแบบใหม่ซึ่งมาพร้อมกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ โดยต้องทำงานร่วมกัน จากเดิมที่มีปริมาณการทำงานร่วมของคนกับหุ่น 5% ก็จะเพิ่มสูงไปถึง 70% ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของงานทั้งระบบ งานแบบเก่าจะหายไปอย่างรวดเร็ว พร้อมๆ กับงานแบบใหม่ ทั้งชนิดที่คนกับหุ่นต้องทำงานร่วมกัน และชนิดที่มนุษย์ทำได้เองโดยไม่ต้องพึ่งพาหุ่นยนต์

7. งานแบบเก่าจะหายไปเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งเดิมต้องอาศัยคนในปริมาณสูง เช่น การควบคุมเครื่องจักรในขั้นตอนต่างๆ การดูแลระบบ การซ่อมแซมอุปกรณ์ เป็นต้น เพราะในอนาคตจะใช้ระบบสั่งการทางไกลซึ่งอาศัยคนทำงานแค่ไม่กี่คนแต่สามารถบริหารจัดการพื้นที่ทำงานได้อย่างกว้างขวางจากระยะไกลได้

8. เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ (3D-printing technology) จะมีความสำคัญอย่างมากในการก่อสร้าง การเกษตร และการดูแลสุขภาพ เพราะเทคโนโลยีนี้จะเปลี่ยนพื้นที่การผลิตจากโรงงานไปสู่บ้าน ห้องทำงาน หรือห้องแล็บ โดยสามารถจำลองต้นแบบต่างๆ ออกมาได้สารพัดอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอาคารบ้านเรือน อาหาร หรือแม้กระทั่งอวัยวะ!

9. รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (Universal Basic Income) จะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดามากขึ้น เพราะในอนาคตจะเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของอุตสาหกรรมและการบริการไปอย่างมาก ซึ่งทำให้วิธีการหารายได้ของผู้คนเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

ผลสืบเนื่องต่อมาก็คือจะเกิดตัวแบบ (model) รายได้พื้นฐานถ้วนหน้าขึ้นหลากหลายแบบ อันทำให้รายได้พื้นฐานถ้วนหน้ากลายเป็นเรื่องปกติ หรือเป็นธรรมดาสามัญในสังคม กระทั่งเป็นลักษณะและองค์ประกอบพื้นฐานทั่วไปของระบบเศรษฐกิจของเมืองในอนาคต

(อ่านตอนต่อไปในฉบับหน้า)