อนาคตของเมือง เมืองในอนาคต (จบ) การคมนาคมและความปลอดภัยในชีวิต

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

Agora | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์

วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

www.facebook.com/bintokrit

 

อนาคตของเมือง เมืองในอนาคต (จบ)

การคมนาคมและความปลอดภัยในชีวิต

 

บทความ 2 ตอนที่ผ่านมาเล่าถึงภาพรวมของเมืองในอนาคต 17 ข้อจากทั้งหมด 22 ข้อ ซึ่งนำมาจากบทความของนักอนาคตศาสตร์ (futurist) คนหนึ่งชื่อว่า “วิลล์ วานฮาลา” (Ville Vanhala) เรื่อง “22 Trends That Will Shape The Future Of Our Cities : Which trends will have the highest impact on your organization?” ทาง www.futuresplatform.com

โดยทำนายแนวโน้มของเมืองในอนาคตว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไร ตามลิงก์ https://www.futuresplatform.com/blog/city-of-the-future-through-7-themes

สำหรับบทความนี้เป็นตอนสุดท้าย เล่าถึงแนวโน้มข้อที่เหลือ ดังนี้

 

18.เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านคมนาคมขนานใหญ่ การขนส่งที่ผ่านมาจะหายไปในวันข้างหน้า ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในอนาคตจะมีระบบคมนาคมที่ดีกว่าทุกวันนี้มาก เพราะปัจจุบันเทคโนโลยียานพาหนะแบบอัตโนมัติก็พัฒนาไปไกลแล้ว ไม่รวมยานยนต์ไฟฟ้าและบริการร่วมเดินทาง (ride-sharing service) อีกมากมาย ซึ่งตอนนี้ยังเพิ่งอยู่ในขั้นเริ่มต้นของการพัฒนาในภาพใหญ่เท่านั้น ท้ายที่สุดความเปลี่ยนแปลงนี้จะกลายเป็นโฉมหน้าการคมนาคมหลักในอนาคต

พาหนะไร้คนขับหรือขับเคลื่อนได้เอง (self-driving vehicle) เป็นหนึ่งในแนวโน้มแรกๆ ของการเดินทางในทศวรรษหน้า บางส่วนเริ่มใช้งานจริงบนท้องถนนแล้ว

แต่ระบบนิเวศ (ecosystem) ที่รองรับยานพาหนะชนิดใหม่ยังไม่ครบครันในปัจจุบัน รวมทั้งการพัฒนาและแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งกว่าจะพร้อมเต็มที่ก็ต้องใช้เวลา

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าล่าสุดการคมนาคมขนส่งแบบใหม่ยังไม่สมบูรณ์ แต่นโยบายของรัฐบาลส่วนใหญ่ก็มุ่งไปในทิศทางนี้ ฉะนั้นก็ควรเตรียมตัวไว้เลยว่าท้องถนนที่เต็มไปด้วยยานพาหนะไร้คนขับจะมาถึงอย่างแน่นอนในไม่ช้า

ตัวอย่างเช่น ประเทศฟินแลนด์และสิงคโปร์ได้ประกาศต่อสาธารณชนเรื่องบริการรถบัสโดยสารแบบไร้คนขับ (self-driving bus) ที่กำลังนำมาใช้ในเมือง ตามข่าวจากเดอะเสตรทไทมส์ของสิงคโปร์ (The Straits Times) รายงานว่าอีกไม่นานนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (Nanyang Technological University) จะสามารถเดินทางไปทั่วมหาวิทยาลัยได้ด้วยรถโดยสารไร้คนขับ ซึ่งแต่ละคันสามารถขนส่งผู้โดยสารภายในวิทยาเขตได้มากถึง 300 คนต่อวัน

ตามลิงก์ https://www.straitstimes.com/singapore/transport/ntu-gets-new-driverless-shuttle-bus-to-ferry-students-across-campus

ส่วนฟินแลนด์ก็มีรถบัสโดยสารแบบไร้คนขับให้บริการด้วยเช่นกัน ณ เมืองเฮลซิงกิ ซึ่งบริการเต็มรูปแบบจะแล้วเสร็จภายใน 3 ปี ดำเนินงานโดยเฮลซิงกิโรโบบัสไลน์ (Helsinki RobobusLine) ระบบนี้ได้ผ่านการทดสอบมาแล้วและอีกไม่นานก็พร้อมเปิดใช้

ตัวอย่างจากทั้งสองประเทศแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญด้านการเดินทางส่วนบุคคลและขนส่งสาธารณะ นับเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์การคมนาคมเลยทีเดียว

 

19.เทคโนโลยีบริการร่วมเดินทางคือวิถีแห่งการคมนาคมในอนาคต

วิวัฒนาการของบริการร่วมเดินทางนั้นเริ่มต้นจากบริษัทเพียงไม่กี่แห่ง เช่น อูเบอร์ (Uber) ลิฟต์ (Lyft) คาร์มา คาร์พูลลิ่ง (Carma Carpooling) ฯลฯ ซึ่งทำให้ความต้องการเป็นเจ้าของรถยนต์ส่วนบุคคลลดต่ำลง

ถึงแม้บริการร่วมเดินทางเป็นปรากฏการณ์ที่แพร่หลายมาสักพักแล้ว แต่ประเมินว่าตลาดของบริการนี้ในสหรัฐอเมริกาช่วงระหว่างปี ค.ศ.2018-2022 มีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ถึง 15.2%

รูปแบบการคมนาคมใหม่นี้เจริญเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อันทำนายได้ว่าความต้องการถือครองกรรมสิทธิ์รถยนต์เป็นของตนเองจะลดลงมากในอนาคต แล้วถูกแทนที่ด้วยการเดินทางรูปแบบใหม่หลากหลายประเภท

ตั้งแต่จักรยานไปจนถึงยานยนต์อัตโนมัติ รถไฟ รถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดิน

ไปจนถึงรถบัสโดยสารแบบไร้คนขับ

 

20.ผู้คนจะใช้ยานเหาะในชีวิตจริง

เมืองในอนาคตจะมีพาหนะที่เคลื่อนไหวอยู่ในอากาศ คือมีรถบิน ยานบิน โดรนบิน เครื่องช่วยบินทั้งหลาย เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง แบบในหนังไซไฟ

อาจไม่ถึงขั้นพลุกพล่าน แต่รับรองว่ามีแน่นอน

ที่คาดการณ์เช่นนั้นเพราะผู้ที่กำลังกระโจนเข้ามาสู่เทคโนโลยีนี้มีทั้งภาครัฐและเอกชน

เช่น บริษัทโวโลคอปเตอร์ (Volocopter) เปิดตัวแท็กซี่บินได้ที่ทำความเร็วได้สูงสุดร่วม 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นระยะทางไกลเกินกว่า 30 กิโลเมตรเลยทีเดียว จุผู้โดยสารได้ 2 คน

สามารถบินอย่างราบเรียบและรวดเร็วกว่าเฮลิคอปเตอร์

โดยมีเป้าหมายพร้อมใช้งานในชีวิตประจำวันได้ภายใน 5 ปีที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ตามลิงก์ https://www.nbcnews.com/mach/science/air-taxis-are-about-take-one-just-did-ncna807416

 

21.การคมนาคมขนส่งสาธารณะรูปแบบใหม่จะเกิดขึ้นจริงเร็วๆ นี้ เพื่อสนองตอบต่อปัญหาประชากรล้นเกินของมหานครในอนาคต

การขนส่งแบบใหม่นี้เจริญก้าวหน้าเคียงคู่ไปกับเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับซึ่งเริ่มเข้ามาจับจองพื้นผิวถนนในปัจจุบัน

นวัตกรรมการเดินทางรูปแบบใหม่มีหลากหลาย แต่ที่กล่าวขานกันมากก็คือไฮเปอร์ลูป (hyperloop)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นทางยาว 90 กิโลเมตรที่เชื่อมระหว่างกรุงทาลลินน์ เมืองหลวงของเอสโตเนีย กับกรุงเฮลซิงกิ เมืองหลวงของฟินแลนด์ ซึ่งอยู่ในระหว่างการพัฒนา ดำเนินงาน และแก้ปัญหาทางวิศวกรรมโดยบริษัทไฮเปอร์ลูปวัน (Hyperloop One) ตามลิงก์ https://www.futuresplatform.com/blog/hyperloop-coming-nordics-0

อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ซีอีโอของเทสลา (Tesla) มองว่าเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูปนั้นช่วยแก้ปัญหาการคมนาคมได้หลายมิติ เพราะการขนส่งผู้คนระหว่างในเมืองกับนอกเมืองที่สะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

สามารถแก้ไขปัญหาประชากรล้นเมืองไปพร้อมกับการแก้ปัญหาการเดินทางทั้งบนดินและใต้ดินได้ในทีเดียว

มากไปกว่าที่กล่าวมาก็คือการที่เมืองในอนาคตจะมีระบบสั่งการทางไกลภายในบ้าน (home control system) เพื่อเรียกรถโดยสารสาธารณะไร้คนขับที่เก็บเงินอัตโนมัติ และสามารถจดจำใบหน้าของผู้ใช้งานได้ ทำให้บัตรโดยสารไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

เมื่อใดก็ตามที่ต้องไปทำธุระในเมืองอื่นก็อาศัยการเดินทางด้วยไฮเปอร์ลูปแล้วกลับมายังที่ทำงานภายในวันเดียว และหากต้องการเห็นวิวทิวทัศน์รอบตัวบ้างก็ใช้บริการแท็กซี่บินได้ ซึ่งแม้มีราคาสูงขึ้น แต่ก็นับว่าคุ้มค่า

เพราะฉะนั้น เมืองในอนาคตจะเอื้อให้ผู้คนสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวกสบายและมีประสิทธิภาพ ซึ่งทิศทางการคมนาคมระบบใหม่นี้จะได้รับการพัฒนาทั้งจากรัฐและเอกชน

นำไปสู่โฉมหน้าใหม่ในการขนส่งมวลชนที่ผสมรูปแบบการเดินทางอันหลากหลายเข้าด้วยกัน (multi-modal) อย่างไร้รอยต่อ ปลอดภัย และไม่มีข้อบกพร่อง เพิ่มผลิตภาพ (productivity) ยกระดับศักยภาพการเดินทาง (mobility) และผลักดันความเจริญเติบโตของสังคมโดยรวม

 

22.ประชากรอันหนาแน่นจะทำให้เกิดความเสี่ยงใหม่ อันตรายใหม่ ระบบการรักษาความปลอดภัยแบบใหม่ขึ้นมากมายในอนาคต

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การก่อการร้ายทางชีววิทยา” (bioterrorism) ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทำนายว่าภายในปี ค.ศ.2025 หรืออีกประมาณสองปีนี้ ความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยี CRISPR จะทำให้ผู้มีความรู้ชีวเคมีเพียงแค่ระดับปริญญาโทก็สามารถสร้างไวรัสและแบคทีเรียใหม่ที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

นอกจากนี้ เทคโนโลยีล้ำสมัยมากมายในทศวรรษหน้า ไม่ว่านาโนเทคโนโลยี การพิมพ์สามมิติ เอไอ และอากาศยานไร้คนขับ (unmanned aerial vehicle) จะทำให้ผู้ก่อการร้ายและอาชญากรทั้งหลายมีอาวุธที่อันตรายอย่างยิ่ง

ความเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดอีกอย่างหนึ่งก็คือวิธีรักษาความปลอดภัยที่อยู่คู่มนุษย์โลกมาช้านาน อย่างเช่น กุญแจ จะเลือนหายไป

ไม่มีรถยนต์ บ้านเรือน และสำนักงานแห่งใดใช้กุญแจอีกต่อไปแล้ว เพราะเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติทำให้การล็อกสิ่งต่างๆ ด้วยกุญแจแบบเดิมหมดความหมาย

ผลกระทบนี้อาจลามไปถึงการรักษาความปลอดภัยโดยรหัสอีกด้วย ซึ่งสิ่งที่เข้ามาแทนที่ก็คือ

(1) ระบบไบโอเมตริก (biometric) หรือการอ่านค่าด้วยลักษณะทางชีววิทยา เช่น สแกนม่านตา ใบหน้า เสียง เป็นต้น

และ (2) ระบบรักษาความปลอดภัยหลายชั้น (multi-layered security solution) ทั้งสองระบบนี้จะกลายมาเป็นรูปแบบการรักษาความปลอดภัยหลักชนิดใหม่ในอนาคต หลังจากที่การสแกนลายนิ้วมือเพื่อเปิดปิดประตูอิเล็กทรอนิกส์ได้กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาในปัจจุบันไปแล้ว

ภาพรวมของสังคมเมืองในอนาคตคือชีวิตที่สะดวกสบายขึ้น แต่อาจรู้สึกอุ่นใจน้อยลง ทั้งๆ ที่มีระบบรักษาความปลอดภัยล้ำสมัยกว่าเดิม อันเนื่องมาจากการขยายพรมแดนของอินเตอร์เน็ตออฟธิงส์ (Internet of Things) หรือไอโอที มาสู่การใช้งานในครัวเรือนอย่างกว้างขวาง เช่น การรักษาความปลอดภัย กล้องวงจรปิด สัญญาณเตือนภัย ไปจนถึงอุปกรณ์โสตทัศนวัสดุประเภทต่างๆ ซึ่งเชื่อมต่อกับสัญญาณอินเตอร์เน็ตไร้สายหรือไวไฟ

เห็นได้ว่าถึงแม้นวัตกรรมต่างๆ จะทำให้ชีวิตภายในบ้านสะดวกสบาย และดูเหมือนปลอดภัยขึ้นก็ตาม

แต่ก็เพิ่มความเสี่ยงในการถูกโจรกรรมหรือล้วงข้อมูลได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้น ประเด็นเรื่องความปลอดภัยจากอาชญากรรมทางดิจิทัลจึงเป็นเรื่องที่พึงระมัดระวังอย่างมากในโลกอนาคต

อย่างไรก็ตาม แม้มีด้านมืดอยู่บ้าง ทว่า ด้านสว่างของเรื่องนี้ก็คือระบบรักษาความปลอดภัยจะพัฒนาก้าวล้ำอย่างมากด้วย

ตัวอย่างที่ดีที่สุดก็คือ อัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนที่ลดต่ำลงอย่างเห็นได้ชัดด้วยการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ (robotization) มาใช้ในงานจราจร การรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่มีประสิทธิภาพสูงจากการนำเทคโนโลยีใหม่ อย่างเช่น บล็อกเชน (blockchain) เข้ามาใช้

รวมทั้งการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมผ่านระบบรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะ (smart surveillance system)

 

สรุปบทเรียนที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้ก็คือ องค์กรทั้งหลายจำเป็นต้องกำหนดแนวทางการพัฒนา หรือการวางแผนพัฒนาที่คำนึงถึงความเป็นไปได้มากมาย

การคาดการณ์ความน่าจะเป็นของเมืองในอนาคตจากนักอนาคตศาสตร์ของ Futures Platform แสดงให้เห็นถึงชีวิตที่ยุ่งยากมากขึ้น

แต่ก็เฉลียวฉลาด (smart) และแทบทุกอย่างดำเนินไปตามระบบอัตโนมัติ

นอกจากนั้นยังแสดงให้เห็นถึงบทบาทของมนุษย์ที่ลดน้อยลงอีกด้วย

การทำงานในทศวรรษหน้านอกจากจะเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ยังอยู่บนพื้นฐานของหลักการอันหลากหลาย ซึ่งทำให้นักอนาคตศาสตร์จำนวนไม่น้อยรวมทั้งผู้ที่ทำการศึกษาในครั้งนี้ตระหนักถึงความไม่แน่นอนเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงที่ทวีความรวดเร็วอย่างยิ่ง และบ่อยครั้งที่ไม่อาจแน่ใจได้เลยว่าเทคโนโลยีต่างๆ โมเดลทางธุรกิจ รวมทั้งวิถีของการบริการสาธารณะทั้งหลายจะเปลี่ยนผันไปสู่อะไรต่อไปในอนาคต

ในเมื่อไม่มีใครการันตีได้ว่าแนวโน้มใดคือทิศทางหลักของสังคมเมืองในวันข้างหน้า ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงก็คือ รวบรวมความเป็นไปได้ทั้งหมดเอาไว้ให้มากที่สุด และเกาะติดสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด รวมทั้งเฝ้าจับตาความเคลื่อนไหวในทุกมิติเพื่อรับมือและปรับตัวให้ทัน

ตลอดจนสร้างยุทธศาสตร์ใหม่ในการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงสุดไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม