พระสุริยเทพ กับการเริ่มต้นนับเวลาแบบสุริยคติในอุษาคเนย์

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ในพื้นที่บริเวณเมืองศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ที่เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกไปเมื่อไม่นานมานี้ มีการค้นพบประติมากรรมรูป “พระสุริยเทพ” จำนวนถึง 4 องค์เป็นอย่างน้อย (ที่จริงแล้ว มีประติมากรรมรูปพระสุริยเทพที่อ้างว่า พบจากเมืองโบราณแห่งนี้อีกหลายองค์ แต่ในข้อเขียนชิ้นนี้จะขอนับเฉพาะองค์ที่มีที่มาที่ไปค่อนข้างชัดเจนเท่านั้น)

ที่สำคัญก็คือ รูปพระสุริยะ (หรือ พระสูรยะ ในภาษาสันสกฤต) ทั้ง 4 องค์นี้ เป็นประติมากรรมสลักหินลอยตัวทั้งองค์เหมือนกันทั้งสิ้น ดังนั้น จึงแสดงให้เห็นว่า ภายในเมืองศรีเทพจะต้องมีปราสาท หรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้สำหรับประดิษฐานรูปพระสุริยะเหล่านี้อย่างต่ำก็ 4 หลัง

และนั่นก็แสดงให้เห็นถึงความนิยมในการนับถือพระสุริยเทพ ในเมืองโบราณแห่งนี้ ที่มากพอดูเลยทีเดียว

รูปพระสุริยะเหล่านี้สามารถกำหนดอายุอยู่ในช่วงสมัยที่ใกล้เคียงกันคือ สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ.1100-1400 อันเป็นระยะเริ่มต้นของการรับวัฒนธรรมศาสนาจากชมพูทวีปเข้ามาในอุษาคเนย์เช่นเดียวกันทั้งหมด

จึงเป็นเรื่องที่น่าสงสัยใจอยู่มากว่า ทำไมที่เมืองศรีเทพในยุคสมัยดังกล่าว จึงมีคติการนับถือพระสุริยะอยู่มาก?

เพราะว่าโดยทั่วไปแล้ว เราไม่พบรูปพระสุริยะ ที่ได้รับการบูชาอย่างเป็นเอกเทศเป็นกลุ่มใหญ่มากขนาดนี้ได้บ่อยนักหรอกนะครับ แม้กระทั่งในดินแดนต้นกำเนิดอย่างอินเดียเองก็ตาม

ประติมากรรมลอยตัวรูปพระสุริยะที่พบในพื้นที่อื่นๆ ในดินแดนอุษาคเนย์นั้น ส่วนใหญ่จะพบเป็นองค์โดดๆ กล่าวคือ ในเมืองหนึ่งนั้นอาจจะพบเพียงองค์เดียว เช่น เมืองพระรถ จ.ชลบุรี หรือที่เขาพนมดา ใน ประเทศกัมพูชา เป็นต้น หลายเมืองไม่มีการค้นพบร่องรอยการนับถือบูชาพระสุริยเทพเลยด้วยซ้ำไป

แถมหลายครั้งจะพบรูปพระสุริยะอยู่ร่วมกับกลุ่มเทวดานพเคราะห์ โดยถูกบูชาในฐานะของกลุ่มเทพเจ้าประจำดวงดาวทั้งหลาย ไม่ใช่การนับถือพระสุริยะอย่างเป็นเอกเทศ จึงแตกต่างไปที่ปรากฏหลักฐานอยู่ในเมืองศรีเทพอย่างเห็นได้ชัด

ดังนั้น จึงอาจจะกล่าวได้ว่า การค้นพบรูปพระสุริยเทพเป็นจำนวนมากหลายองค์ที่เมืองศรีเทพนั้น เป็นกรณีที่พิเศษเป็นอย่างมากนั่นเอง

 

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากรูปพระสุริยะที่พบเป็นองค์ลอยตัวแล้ว ในเขตที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่างของประเทศไทยนั้น ยังมีการค้นพบรูปพระสุริยะปรากฏร่วมอยู่กับชุดเสาธรรมจักรด้วยหลายชิ้นพอสมควร

ที่เรียกว่า “ชุดเสาธรรมจักร” เป็นเพราะว่า ธรรมจักรศิลาเหล่านี้เคยตั้งอยู่บนเสา ที่มีเดือยใช้สำหรับต่อประกอบอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น บางครั้งที่บนยอดเสายังมีฐานรองรับตัวธรรมจักรประดับอยู่ด้วยอีกทอดหนึ่ง โดยมีประติมากรรมรูปกวางหมอบตัวเล็กๆ ตั้งไว้อยู่ทางด้านหน้าของเสาธรรมจักร เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของพุทธประวัติตอนปฐมเทศนา “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ของพระพุทธเจ้าที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน หรือป่าแห่งกวาง โดยเข้าใจว่า เสาธรรมจักรเหล่านี้จะถูกตั้งอยู่หน้าพระสถูปในพระพุทธศาสนา ของกลุ่มวัฒนธรรมแบบที่นักโบราณคดีเรียกว่า “วัฒนธรรมทวารวดี” (ซึ่งก็คือวัฒนธรรมเดียวกันกับที่ปรากฏอยู่ในเมืองศรีเทพ ยุคที่มีการสร้างรูปพระสุริยะ)

ถึงแม้ว่าจะเป็นเสาธรรมจักรที่สร้างอยู่ในพุทธสถาน แต่หลายครั้งก็มีรูปเทพหรือเทพีของพ่อพราหมณ์ประดับอยู่บนตัวธรรมจักรอยู่บ่อยๆ นะครับ นอกจากรูปของพระสุริยเทพแล้ว ก็มีสัญลักษณ์มงคลรูปคชลักษมี คือเทพีลักษมีที่มีช้างกำลังเทน้ำจากหม้อน้ำสรงสนานพระนางอยู่ทั้งสองข้าง เป็นต้น

สุริยเทพ จากเมืองศรีเทพ สะท้อนแนวคิดการนับถือลัทธิเสารยะ (บูชาพระอาทิตย์เป็นใหญ่)

เฉพาะรูปพระสุริยะบนเสาธรรมจักรนั้น มีเรื่องเล่าที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “พระสุริยเทพ” กับ “เสา” เอาไว้อย่างน่าสนใจ ปรากฏอยู่ในนิทานภาษาสันสกฤตที่มีชื่อเรียกยากๆ ชื่อ “สิงหาสนทวาตริงศติกา” หรือที่มักจะเรียกกันในชื่อ “วิกรมจริต” ซึ่งก็เป็นเรื่องของ “พระเจ้าวิกรมาทิตย์” (กษัตริย์ในตำนานของอินเดีย ทำนองเดียวกับ พระเจ้าอู่ทอง หรือพระร่วง ของไทย) คนเดียวกันกับที่เป็นตัวเอกในนิทานเวตาลนั่นแหละ

ในนิทานสันสกฤตเรื่องที่ว่า พระเจ้าวิกรมาทิตย์ได้เข้าเฝ้าพระสุริยเทพ โดยอาศัย “เสา” ที่ตั้งอยู่กลางทะเลสาบบนยอดเขาแห่งหนึ่ง โดยเสาต้นนี้จะยืดสูงขึ้นจนถึง “สุริยมณฑล” อันเป็นวิมานของพระสุริยเทพในทุกๆ เที่ยงวัน และจะค่อยๆ หดเตี้ยลงจนจมหายไปในก้นทะเลสาบในยามพลบค่ำของทุกวัน

ถึงแม้ว่านิทานเรื่อง วิกรมจริต จะถูกเรียบเรียงขึ้นไม่เก่าไปกว่าเมื่อ พ.ศ.1500 ซึ่งหมายความว่าควรจะมีอายุหลังจากการสร้างเสาธรรมจักรในวัฒนธรรมทวารวดีที่ควรสร้างขึ้นก่อน พ.ศ.1400 จนดูเผินๆ แล้วไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันได้

แต่เมื่อพิจารณาจากลักษณะของวรรณกรรมดังกล่าวที่เป็นการนำเอานิทาน 23 เรื่องมาร้อยเข้าด้วยกันผ่านการเล่าเรื่องว่ามีกษัตริย์พระองค์หนึ่งที่ได้ไปพบ “บัลลังก์” ของกษัตริย์ในตำนานอย่างพระเจ้าวิกรมาทิตย์ ซึ่งมีบันไดที่ประดับไว้ด้วยตุ๊กตาแก้วที่ขั้นบันไดทั้ง 23 ขั้น (สิงหาสนทวาตริงศติกา แปลตรงตัวว่า สีหบัลลังก์ที่มีตุ๊กตาแก้วประดับอยู่ 23 ตัว) โดยตุ๊กตาแก้วในแต่ละขั้นบันไดจะคอยเล่าเรื่องวีรกรรมของพระเจ้าวิกรมาทิตย์ให้กษัตริย์ผู้ค้นพบบัลลังก์ฟังเรื่องละตัว ในทำนองเดียวกับเรื่องเล่าของนิทานเวตาล

ก็จะเห็นได้ว่านิทานเล่านี้ล้วนเป็นเรื่องเล่าที่มีมาก่อน แต่ถูกนำมาผูกร้อยเรียงเข้าด้วยกันผ่านปากของตุ๊กตาแก้วในภายหลัง ก็จะเห็นได้ว่า นิทานเรื่องเสารองรับสุริยมณฑลนั้น ควรจะมีมาก่อน พ.ศ.1500

ที่สำคัญก็คือ เรื่องเล่าจำพวกนิทานนั้นเดินทางแพร่หลายไปได้กว้างไกล และรวดเร็วกว่าเรื่องยากๆ ในคัมภีร์ทางศาสนาแยะเลยนะครับ

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยที่เราจะเห็นรูปพระสุริยเทพประดับอยู่ที่บนยอดเสาที่รองรับธรรมจักรในวัฒนธรรมทวารวดี ไม่ว่าจะเป็นธรรมจักรที่กรมศิลปากร ได้มาจากเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ (ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร), ธรรมจักรที่ใน จ.นครปฐม (ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์), ชิ้นส่วนธรรมจักรที่ระบียงคต พระปฐมเจดีย์, ธรรมจักรที่ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี และชิ้นส่วนรูปพระสุริยะบนฐานธรรมจักรที่ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เมืองลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

อันที่จริงแล้ว ยังมีฐานรองรับธรรมจักรขนาดใหญ่มโหฬารอีกชิ้นหนึ่ง ได้จาก จ.นครปฐม ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่จำลอง “สุริยมณฑล” โดยสลักรูปพระสุริยเทพทรงดอกบัวหลวงอยู่ในพระหัตถ์ทั้งสองข้าง อยู่ในวิมานของพระองค์ทั้งสี่ด้านด้วยซ้ำไป

 

เจ้าของคอลัมน์หน้าข้างๆ ผมอย่าง คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เคยเสนอเอาไว้ในรายการ ทอดน่องท่องเที่ยว ของมติชนทีวี ตอนที่ว่าด้วยเมืองศรีเทพว่า การที่เมืองศรีเทพ พบรูปพระสุริยเทพหลายองค์นั้น เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนจากการใช้ปฏิทินแบบ “จันทรคติ” ของพื้นเมืองอุษาคเนย์ มาเป็นปฏิทิน “สุริยคติ” ของอินเดีย

ถึงคุณสุจิตต์จะไม่ได้พูดออกมาตรงๆ แต่ก็แน่นอนว่า ปฏิทินแบบสุริยคติที่ถูกอิมพอร์ตจากอินเดียเข้ามาพร้อมๆ กับศาสนาพุทธ และพราหมณ์-ฮินดูนั้น คงจะใช้เฉพาะในพิธีกรรม ที่พ่อพราหมณ์ประกอบอยู่ในราชสำนักเท่านั้น ดังจะเห็นว่ายังมีการนับเดือนอ้าย เดือนยี่ ไปจนกระทั่งเดือนสิบสองมาจนกระทั่งถึงยุคกรุงเทพฯ

การคำนวณเวลา (หรือจะเรียกด้วยศัพท์ขลังๆ ว่า เรื่องของเลขผานาทีก็ได้) ด้วยปฏิทินแบบสุริยคตินั้นจึงเป็นศาสตร์ที่รู้กันเฉพาะชนชั้นสูงเท่านั้น และแน่นอนว่าผู้ที่ถือครองอำนาจของการคำเลขผานาทีแบบนี้ได้นั้นย่อมเป็นชนชั้นนำ หรือกษัตริย์ (ไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมจักรพรรดิจีนเมื่อขึ้นครองราชย์จะต้องเปลี่ยนชื่อรัชศก เช่นเดียวกับอีกหลายวัฒนธรรมในโลก เพราะการยึดครองเวลา ก็คือการแสดงและบริหารอำนาจที่ดีที่สุด)

และเมื่อเป็นเรื่องของปฏิทินแบบ “สุริยคติ” แล้ว อะไรจะเป็นสัญลักษณ์และความศักดิ์สิทธิ์ไปได้มากกว่า “พระสุริยะ” กันเล่าครับ?

ดังนั้น ผมจึงเห็นว่าข้อเสนอของคุณสุจิตต์นั้นน่าสนใจเป็นอย่างมากเลยทีเดียว ไม่ว่าจะนำมาใช้อธิบายในเรื่องของรูปพระสุริยะที่ศรีเทพ หรือที่อื่น และแน่นอนว่าย่อมหมายรวมถึงรูปพระสุริยะที่ปรากฏอยู่บนชุดเสาธรรมจักรด้วย

 

น่าสนใจว่า นักอ่านจารึกอุษาคเนย์ชั้นอ๋อง แต่เป็นชาวฝรั่งเศสอย่าง ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (Goerge C?d?s, พ.ศ.2429-2512) เคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้ในชุดตำราประชุมจารึกเขมรโบราณของท่านที่ชื่อว่า Inscription du Combodge ว่า ในจารึกของเขมรก่อนเมืองพระนคร (ราว พ.ศ.1100-1350) นั้น มีการกล่าวถึงพราหมณ์เชื้อสาย “ศกะ” จากแหลมเดคข่าน ซึ่งก็คือชนชาวซิเถียน (Scythians) ที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในเอเชียกลางพวกหนึ่ง ที่เข้ามามีอำนาจอยู่ทางตอนเหนือของชมพูทวีป จนสามารถสถาปนาราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดราชวงศ์หนึ่งในประวัติศาสตรือินเดียอย่าง “กุษาณะ” ขึ้นได้ที่แถบที่ราบลุ่มแม่น้ำคงคา-ยมุนา

แถมเซเดส์ยังบอกด้วยว่า จารึกเหล่านี้ยังอ้างถึงพราหมณ์เชื้อสายศกะนี้ถึง 4-5 ครั้งเลยทีเดียว ที่สำคัญก็คือ บรรดาข้อความในจารึกเหล่านี้ระบุว่า พราหมณ์เชื้อสายศกะที่ชื่อ ทุรคสวามิน ได้เสกสมรสกับพระราชธิดาของพระเจ้าอิศานวรมันที่ 1 (ครองราชย์ พ.ศ.1159-1178) ผู้สร้างเมืองอิศานปุระ หรือเมืองโบราณสมโบร์ไพรกุก ในประเทศกัมพูชา

พระเจ้าอิศานวรมันที่ 1 ผู้นี้คือโอรสของพระเจ้ามเหนทรวรมัน (ครองราชย์ พ.ศ.1143-1159) หรือที่รู้จักกันในพระนามก่อนครองราชย์ว่า “เจ้าชายจืตรเสน” ซึ่งจารึกของพระองค์ระบุว่ามีอำนาจครอบครองพื้นที่แถบอีสานใต้ของไทยมาตั้งแต่ก่อนครองราชย์แล้ว

นอกจากนี้ ยังมีจารึกที่ระบุปี พ.ศ.1170 จากเมืองสมโบร์ไพรกุกอีกหลักหนึ่งที่ระบุถึงหมู่บ้านชื่อ “ศกตีรถะ” ซึ่งควรจะหมายถึงหมู่บ้านที่มีชาวศกะอยู่อาศัย หรือปกครอง

 

ส่วนที่ผมต้องกล่าวถึงหลักฐานของชนชาวศกะเหล่านี้เป็นเพราะราชวงศ์กุษาณะ ของพวกศกะนั้น เป็นราชวงศ์ที่เริ่มต้นการนับปีแบบสุริยคติที่เรียกว่า “ศักราช” ในรัชสมัยของพระเจ้ากณิษกะ เมื่อ พ.ศ.621 จึงถือว่าเป็นปีเริ่มต้นรัชศกของพระเจ้ากณิษกะ ที่ชาวอินเดียเรียกว่า “ศกาพทะ” แปลว่า “ปีของชาวศกะ” นั่นเอง (บางทีเรียก “ศาลิวาหนะกาล” เพราะบางตำนานเล่าว่า เป็นปีเริ่มต้นรัชกาลของกษัตริย์อีกพระองค์ที่ทรงพระนามว่า ศาลิวาหนะ)

การนับศักราชที่ชาวอินเดียเรียกว่า “ศกาพทะ” ได้แพร่หลายเข้ามาในภูมิภาคอุษาคเนย์ตั้งแต่สมัยแรกเริ่มรับวัฒนธรรมศาสนาจากชมพูทวีป จนในที่สุดก็ถูกนำมาใช้เป็นหลักแทนระบบปฏิทินแบบพื้นเมืองต่างๆ ที่เคยมีอยู่ แต่รู้จักกันในชื่อ “มหาศักราช” (ม.ศ.) และใช้กันทั่วไปในราชสำนักต่างๆ ของภูมิภาคแห่งนี้

ที่สำคัญก็คือ ในวัฒนธรรมของพวกซิเถียน ซึ่งหมายรวมถึงชาวศกะด้วยนั้น มีวัฒนธรรมการบูชาพระสุริยะมาอย่างเนิ่นนานแล้ว (ดังนั้น ถ้าพราหมณ์เชื้อสายศกะเหล่านี้จะนำเอานิทานเรื่องเสารองรับสุริยมณฑลกับพระเจ้าวิกรมาทิตย์เข้ามาในอุษาคเนย์ก็ไม่แปลก)

นักวิชาการด้านอินเดียศึกษาต่างยอมรับกันเป็นอย่างดีว่า คติการนับถือพระสุริยะในอินเดียนั้นได้รับอิทธิพลมาจากเอเชียกลางอีกทอด แม้กระทั่งเครื่องแต่งกายของพระสุริยะตามคัมภีร์รุ่นเก่าแก่หลังยุคพระเวทไม่นานนัก อย่างพฤหัสสังหิตา ยังระบุว่า พระสุริยเทพแต่งกายอย่างชนชาวต่างชาติทางทิศเหนือของชมพูทวีป ซึ่งก็มีหมายรวมถึงพวกซิเถียนด้วยนี่แหละ

เอาเข้าจริงแล้ว การพบรูปพระสุริยเทพในกลุ่มรัฐแรกเริ่มของอุษาคเนย์นั้น จึงอาจจะเป็นร่องรอยที่สำคัญของการเริ่มใช้ปฏิทินแบบสุริยคติในอุษาคเนย์ ที่เริ่มแรกเป็นสิ่งที่ถูกใช้เฉพาะในพิธีกรรมต่างๆ ของราชสำนักมาก่อนนั่นเอง •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ