‘เสาอินทขีล’ สร้างสมัยยุคทองของล้านนา หรือสมัยพระเจ้ากาวิละ? (จบ)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ขอยอมรับว่าการเปิดประเด็นเรื่องเสาอินทขีลชิ้นที่เก็บรักษาไว้ในห้องขนาดเล็กที่ประตูท่าแพ ด้านทิศตะวันออกของเมืองเชียงใหม่นี้ เป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนพอสมควร

เขียนมาจนเข้าตอนจบตอนที่ 4 แล้ว ก็ยังไม่สามารถหาคำตอบได้เลยว่า “ตกลงแล้วจารึกที่ปรากฏบนเสาอินทขีล บ่งบอกว่าควรมีอายุสมัยใดกันแน่

อย่างไรก็ดี จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของการศึกษาเรื่องเสาอินทขีลประตูท่าแพ กลับมีคุณูปการอย่างสูงในวงการล้านนาศึกษา เพราะช่วยต่อยอดให้เกิดการแตกหน่อออกกอให้เราต้องหันไปมองเสาอินทขีลต้นอื่นๆ ที่ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ซ้ำยังช่วยทำให้เห็นวิวัฒนาการของเสาอินทขีลแต่ละต้นที่ต่างส่งอิทธิพลสืบต่อๆ กันมา นับแต่เสาอินทขีล นอกวัดแสงเมืองมา ลำปาง เสาอินทขีลป่าซาง ลำพูน และเสาอินทขีลวัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่ รวมไปถึงการขยายตัวของเสาอินทขีลที่อำเภอพร้าว เชียงใหม่ กับที่อำเภอแม่พริก ลำปาง

ตอนจบฉบับนี้ ขอทิ้งประเด็นที่นักวิชาการด้านล้านนาศึกษา หลายศาสตร์หลากแขนงต้องช่วยกันขบคิดต่อให้แตก ดังนี้

1. สรุปว่าตัวเลข “829” บนจารึกเสาอินทขีลประตูท่าแพนั้น คือเลขอะไรกันแน่? มีความสัมพันธ์กับจุลศักราช ซึ่งตรงกับพุทธศักราช 2010 หรือไม่? หากไม่ใช่ ตัวเลขนี้เขียนไว้ทำไม ต้องการสื่อถึงอะไรล่ะหรือที่นอกเหนือไปจากศักราช?

2. มีผู้ถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ ว่าเสาอินทขีลหลักประตูท่าแพนี้อาจสร้างมาตั้งแต่สมัยล้านนายุคพระเจ้าติโลกราชแล้ว ทว่า มีการมาจารข้อความเพิ่มอีกในภายหลัง ทำให้กลายเป็นเสาที่ดูกึ่งเก่ากึ่งใหม่ แต่ก็เป็นของดั้งเดิม?

3. ในกลุ่ม 8 จังหวัดล้านนา ภาคเหนือตอนบนเอง นอกจากคติ สะดือเมือง ใจเมือง และเสาอินทขีลแล้ว ทำไมบางจังหวัดยังพบร่องรอยของคำว่า “มิ่งเมือง” อีกด้วย?

 

คติการใช้เสา “มิ่งเมือง” ทับที่ “สะดือเมือง”

มีอยู่สองจังหวัดในล้านนาที่แปลกแยกออกไป เพราะใช้คติการบูชา “มิ่งเมือง” แทนการฝังเสาอินทขีลเพื่อใช้เป็น “หลักเมือง” นั่นคือจังหวัดแพร่และจังหวัดน่าน โดยอาจารย์ภูเดช แสนสา นักประวัติศาสตร์ล้านนา กล่าวว่าน่าจะเป็นการรับอิทธิพลมาจากรัตนโกสินทร์

เหตุที่จังหวัดแพร่เดิมมีแค่จุดที่บอกว่าเป็น “สะดือเมือง” คือบริเวณวัด “พระบาทมิ่งเมือง” ใช้เพียง “ไม้สะหรีใหญ่” กับ “องค์พระธาตุ” เป็นสัญลักษณ์ของ “มิ่งเมือง” เท่านั้น แต่ปัจจุบันเอาเสาหลักเมืองตามอย่างกรุงเทพฯ ไปปักในจุดที่อยู่กลางเมืองอีกแห่งไม่ไกลกันนัก และเอาศิลาจารึกไปครอบ

ไม่ต่างไปจากจังหวัดน่านก็มีวัดชื่อ “มิ่งเมือง” จุดนี้ได้ฝังเสาหลักเมือง ค่อนข้างชัดเจนว่ารับคติมาจากรัตนโกสินทร์ อันที่จริงน่านเองก็มี “สะดือเมือง” หรือ “ใจเมือง” อยู่ก่อนแล้ว ที่บริเวณหน้า “หอคำ” หรือที่เรียกกันว่า “วิหารน้อย” (ชาวบ้านดั้งเดิมเรียกสถานที่นี้ว่า “หอผี”) บริเวณนี้ก็มี “ไม้สะหรีใหญ่”

เห็นได้ชัดว่า มีอยู่สองจังหวัดในโซนล้านนาตะวันออก คือแพร่ น่าน ที่ไม่มีการบูชาเสาอินทขีลแบบลำพูน ลำปาง เชียงใหม่ แต่ใช้คำว่า “มิ่งเมือง” แทน นี่ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ และควรวิเคราะห์เจาะลึก

กุมภัณฑ์ 4 ตนเฝ้าเสาอินทขีลป่าซาง

การบูชาหลักเมืองและการเลี้ยงผี

อาจารย์ภูเดช แสนสา กล่าวต่อไปว่า การบูชาหลักเมืองของเชียงใหม่ในอดีตนั้นก็คือ “การเลี้ยงผีดีๆ นี่เอง” โดยมีฮีตฮอยสืบต่อกันมาว่าผู้มีหน้าที่เลี้ยงผีต้องใช้บุคคลผู้มีเชื้อสาย “ลัวะ” เท่านั้น

ในตำนานเชียงใหม่ปางเดิมกล่าวว่า มีการเลี้ยงผีบูชาเสื้อเมืองอยู่ที่ “ต้นไม้ยาง” (ในตำนานเรียก “ไม้ยางหมอนม้า”) ซึ่งเป็นไม้ปลูกใหม่หรือไม้รุ่น 2 (ไม้เสื้อเมืองรุ่นแรกคือไม้นิโครธ หรือไม้ผักเฮือด เคยอยู่ในเวียงแก้วเก่า) พร้อมการฝังเสาอินทขีลที่วัดเจดีย์หลวงสมัยพระเจ้ากาวิละ โดยใช้ชาวลัวะที่อาศัยอยู่ในใจกลางคูเมืองเชียงใหม่แถววัดชัยพระเกียรติเป็นผู้ทำหน้าที่

พิธีการเลี้ยงผีบูชาหลักเมืองนั้น จะใช้ “หมูเลี้ยง” 1 ตัว “ไก่เลี้ยง” 2 ตัว เป็นเครื่องพลีกรรม จากนั้นอัญเชิญผีอารักษ์เข้าสู่ร่างทรง (ม้าขี่) เรียกว่า “การลงผี” โดยม้าขี่มักตั้งคำถามหลักๆ ต่อผีที่ลงร่างว่า “ฝนฟ้าจะอุดมสมบูรณ์หรือไม่?” “สภาพบ้านเมืองจะดีหรือร้ายอย่างไร?”

เมื่อเลี้ยงผีที่ต้นยางและเสาอินทขีลหน้าวัดเจดีย์หลวงเสร็จได้ 7 วัน ก็จะย้ายไปเลี้ยงต่อจุดที่สอง ณ “วัดศรีภูมิ” ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเวียงเชียงใหม่เสมอ

ก่อน พ.ศ.2476 หรือก่อนที่พระราชชายา เจ้าดารารัศมีจะสิ้นพระชนม์นั้น พระองค์เคยเป็นเจ้าภาพหลักในการเลี้ยงผีบ้านผีเมืองที่เสาอินทขีลวัดเจดีย์หลวง สมัยประทับอยู่ที่คุ้มเจดีย์กิ่ว ริมน้ำปิง (ปัจจุบันคือสถานกงสุลอเมริกัน)

โดยมีพ่อครัว (เชฟ) ของพระราชชายา คนหนึ่งชื่อ “พ่อบุญมี ปัญญายศ” ทำหน้าที่เป็นร่างทรง เดิมนั้นกล่าวกันว่า พ่อบุญมีก็ไม่เคยเป็นร่างทรงมาก่อนเลย เป็นเชฟอยู่ดีๆ ทว่า วันหนึ่งมีผีอารักษ์ทั้งของเจ้าหลวงคำแดง และของพระญามังรายลงพ่อบุญมีต่อหน้าต่อตาคนในคุ้มเจดีย์กิ่ว ทำให้พระราชชายาให้ความนับถือพ่อบุญมีมาก เห็นสมควรมอบหมายให้ท่านทำหน้าที่ดูแลการเลี้ยงผีบูชาเสาอินทขีลที่วัดเจดีย์หลวงตั้งแต่นั้นมา

จากการที่อาจารย์ภูเดชลงพื้นที่สัมภาษณ์ทายาทของพ่อบุญมีทำให้ทราบว่า พ่อบุญมีมีหน้าที่เตรียมดา (จัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ) อีกทั้งความที่ท่านทำงานในคุ้มเจดีย์กิ่ว นอกเหนือจากจะเป็นเชฟแล้ว ยังได้สัมผัสกับศิลปะการแสดงจากสยามที่พระราชายานำมาสถาปนาในล้านนาอีกด้วย

นั่นคือ “ยี่เก” หรือที่เราเรียกกันว่า “ลิเก” พ่อบุญมีมีความสามารถในการเล่นลิเกได้ วันบูชาอินทขีล ท่านจึงเอาเครือข่ายนักแสดงลิเกทั่วลำพูน-เชียงใหม่มาเล่นถวายให้อารักษ์เมืองเชียงใหม่ชมด้วย ถือว่าเป็นอะไรที่แปลกตามากสำหรับคนล้านนา เพราะลิเกหรือยี่เกเป็นวัฒนธรรมของคนสยาม

อาจารย์ภูเดชสืบทราบมาว่าบ้านของพ่อบุญมีอยู่แถวแจ่งศรีภูมิ (ปัจจุบันไม่มีแล้ว) น่าจะด้วยเหตุนี้เองกระมัง ที่หลังจากการเลี้ยงผีที่วัดเจดีย์หลวงเสร็จสิ้นได้ 1 สัปดาห์ ต้องมีการเล้ยงผีอีกครั้งแถวแจ่งศรีภูมิ อันเป็นการเลี้ยงส่งวิญญาณผีอารักษ์อัญเชิญให้กลับไปยังภพภูมิเดิมนั่นเอง

ปี 2516 พ่อบุญมีเสียชีวิต พบว่ามีม้าขี่หรือร่างทรงชื่อ “เจ้าจี๋มะลิ” ซึ่งเป็นสหายกับพ่อบุญมีมารับบทบาทนี้แทน ถัดจากเจ้าจี๋มะลิสิ้นไป ก็มี “แม่อุ๊ยดวงแก้ว” บ้านอยู่แถวสารภี มารับบทบาทต่อ กระทั่งแม่อุ๊ยดวงแก้วเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปี 2561

พิธีใส่ขันดอกเสาอินทขีลวัดเจดีย์หลวง

แปดเข้าเก้าออก เข้าตอกดอกไม้

ทุกวันนี้ชาวเชียงใหม่จำขึ้นใจถึงคำว่า “แปดเข้าเก้าออก” ว่าห้วงเวลาดังกล่าวต้องพร้อมใจกันไป “บูชาเสาอินทขีล” ไม่เพียงแต่ที่วัดเจดีย์หลวงเท่านั้น เสาอินทขีลป่าซางก็ทำพิธีในช่วง “แปดเข้าเก้าออก” ด้วยเช่นเดียวกัน

“แปดเข้าเก้าออก” หมายถึงอะไร หมายความว่าพิธีบูชาเสาอินทขีลของเชียงใหม่จะเริ่มทำในวันแรม 13 ค่ำ เดือน 8 เหนือ และเสร็จในวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 9 เหนือ เป็นประจำของทุกปี (ล้านนานับเดือนเร็วล่วงหน้าก่อนภาคกลางไปสองเดือน ดังนั้น คำว่าเดือน 8 ของล้านนาจะตรงเดือน 6 ของภาคกลาง) แต่ที่ป่าซางใช้เวลาบูชาแค่ 4 วันเท่านั้น (สิ้นสุดพิธีในวันขึ้น 1 ค่ำของเดือน 9) อาจเป็นเพราะชุมชนป่าซางมีขนาดเล็กกว่าที่เชียงใหม่ก็เป็นได้

ดังที่ได้กล่าวข้างบนก่อนหน้านี้แล้วว่า เดิมการบูชาอินทขีลเคยมีการฟ้อนรำ ลิเก มีผามซอ กินหอมตอมม่วน โดยชาวเชียงใหม่เชื่อกันว่า กุมภัณฑ์ 2 ตนที่รักษาเสาอินทขีลนั้น ตนที่อยู่ทิศเหนือเป็นผู้ดูแลหมู่ช่าง หรือสล่า ส่วนกุมภัณฑ์ด้านทิศใต้นั้นดูแลด้านศิลปะการแสดง ฟ้อนรำต่างๆ

หลังยุคสงครามโลกครั้งที่สอง พิธีบูชาเสาอินทขีลขาดช่วงขาดตอนไป กอปรกับร่างทรงคนรับผิดชอบพิธีกรรมก็ล้มหายตายจากกันไป หมดยุคเจ้าหลวงเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เข้าสู่ยุคผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือเทศบาลเข้ามาดูแลแทน

ดังนั้น จากพิธีเลี้ยงผีจึงเปลี่ยนไปเป็น “พิธีใส่ขันดอก” แทน เป็นการเอาแนวคิด “พุทธ” เข้ามาแทนที่ “ผี” แบบเต็มตัว

โดยเฉพาะยุคที่ “ครูบาอภิชัยขาวปี” ศิษย์เอกมือขวาของครูบาเจ้าศรีวิชัยได้เข้ามาบูรณะหออินทขีลที่วัดเจดีย์หลวง ได้ควบรวมเสาอินทขีล 5 ต้นให้เหลือเพียงต้นเดียว ยุคเจ้าราชบุตรวงษ์ตะวัน (วงศ์ตะวัน ณ เชียงใหม่) ได้นำเอาพระประจำวันเกิดของท่านคือวันพุธ ปางรำพึงมาตั้งครอบทับบนเสาอินทขีลอีกเมื่อปี 2516 ทำให้จากที่เคยมีพิธีเลี้ยงผี การลงผีอารักษ์เข้าร่างทรงการฟ้อนผีต่างๆ ยิ่งสูญหายไป

กลายเป็นงาน “ใส่ขันดอก” โปรยเข้าตอกดอกไม้น้ำอบน้ำหอมเพียงอย่างเดียว

พระปลัดภาณุวัฒน์ เขมานนฺโท วัดอินทขิล อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ผู้ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับ เสาอินทขีลกับหลักพุทธธรรม มอบเอกสารขออนุญาตสัมภาษณ์ข้อมูลให้กับวิทยากรทั้งสามท่าน อ.แสวง มาละแซม อ.เกริก อัครชิโนเรศ และ อ.ภูเดช แสนสา เมื่อ 5-6 เดือนที่ผ่านมา

เสาอินทขีลสู่หลักพุทธธรรม

หัวข้อวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท ของ “พระปลัดภาณุวัฒน์ เขมานนฺโท” ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอินทขิล (ชื่อเฉพาะวัดใช้สระอิ) อ.ป่าซาง จ.ลำพูน เรื่อง “ศึกษาวิเคราะห์หลักพุทธธรรมเพื่อบูชาเสาอินทขีลป่าซาง” ที่กำลังนำเสนอต่อบัณฑิตวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) วิทยาลัยสงฆ์ลำพูน นั้นมีความน่าสนใจยิ่ง ได้ให้รายละเอียดเรื่องพิธีบูชาเสาอินทขีลป่าซางไว้ว่า

“ที่นี่ก็แปดเข้าเก้าออกเหมือนกัน วันแรกมีพิธีบวงสรวง เอาพานมาไหว้ขอขมาบรรพบุรุษ ถวายขันข้าวราดแกงอ่อมหัวหมู ผลไม้ ขนมเหล้ายาเหมือนเลี้ยงผีทั่วไป เป็นการทำบุญอุทิศให้แด่ผู้สร้างบ้านแปงเมืองป่าซาง ชาวบ้านเรียก “ทำทานหาผีตาย” หลังจากนั้นทั้งสี่วัน ก็เปิดให้ประชาชนเอาน้ำขมิ้นส้มป่อยเข้ามาสระสรงที่เสาอินทขีล…

วันสุดท้ายคือวันออก ขึ้น 1 ค่ำเดือน 9 มีการทำพิธีสืบชาตาเมือง แปงก๊าง ส่วนเรื่องทรงเจ้าเข้าผี อาตมาไม่เคยเห็นนานมากแล้ว ไม่พบว่ามีการลงผีในวัด อาจมีบ้างที่มีการลงผีเจ้านายบริเวณนอกวัด”

นอกจากนี้แล้ว พระปลัดภาณุวัฒน์ ยังได้ตั้งคำถามเชิงเชื่อมโยงระหว่าง “เสาอินทขีล” กับ “หลักพระพุทธศาสนา” ไว้หลายประเด็น ในทำนองว่า เสาอินทขีลเมื่อผ่านกาลเวลาจากอดีตสู่ปัจจุบัน จากผีสู่พุทธได้ทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายแห่งธรรมะข้อใดบ้าง อาทิ

หลักศรัทธาธรรม (ศูนย์รวมน้ำจิตน้ำใจของคนหลากหลายชาติพันธุ์) หลักกตัญญูกตเวทิตาธรรม (การทำบุญต่อบรรพชน) หลักสาราณียธรรม (การถ้อยทีถ้อยอาศัยเพราะต้องอยู่ร่วมกัน) หลักกาลามสูตร (ความเชื่อที่ต้องใช้เหตุผล) และ หลักมงคลสูตร 38 ประการ (เช่น การบูชาบุคคลที่ควรบูชา)

เรื่องราวของเสาอินทขีลทั้งที่ป่าซาง เจดีย์หลวง รวมทั้งจารึกอินทขีลที่ประตูท่าแพยังไม่จบ เพราะไม่ใช่เรื่องง่าย ดิฉันกำลังเตรียมเวทีเชิญผู้รู้มาร่วมเสวนากันอีกครั้ง เร็วๆ นี้ โปรดติดตาม •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ