จันทน์ (11)

ญาดา อารัมภีร
"ทัดดอกโมก" สีปาสเตล เขียนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔o โดยจักรพันธุ์ โปษยกฤต

คุณสมบัติสำคัญของ ‘แก่นจันทน์’ อยู่ที่กลิ่นหอมติดทนนาน คนโบราณจึงนิยมนำมาใช้เป็นส่วนผสมเครื่องหอม นิทานคำกลอนเรื่อง “ลักษณวงศ์” เล่าถึงพระลักษณวงศ์ได้นางกินรีทั้งห้า ตรัสว่า

“พี่ขอบใจน้องเหลือแม่เนื้อจันทน์ เรารักกันแก้วตาอย่าราคี”

‘แม่เนื้อจันทน์’ เป็นคำเรียกนางกินรีที่ผิวกายหอมเพราะใช้จันทน์หรือแก่นจันทน์ ใช่จะมีแต่ตัวละครหญิงเท่านั้นที่ใช้ ตัวละครชายในวรรณคดีก็ใช้แก่นจันทน์เป็นเครื่องประทิ่นหรือเครื่องหอมเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากเรื่อง “สิงหไตรภพ” พญายักษ์ประลัยกัลป์ชวนท้าวเทพาสูรสรงน้ำแต่งองค์ก่อนทำศึก

“ประลัยกัลป์นั้นชวนพระสหาย สรงน้ำพุปรุปรายดังสายฝน

ทาจันทน์แดงแต่งสำอางต่างสุคนธ์ ทรงเครื่องต้นแต่งองค์อลงการ

ประลัยกัลป์นั้นนุ่งหนังสิงหราช งูเหลือมคาดต่างเข็มขัดรัดประสาน

งูเห่าดงจงอางต่างสังวาล พระเศียรมารมงกุฎพันภุชงค์”

ไม่ผิดอะไรกับหนุมานทหารเอกพระราม เมื่อกลายเป็นที่ไว้วางใจของทศกัณฐ์ ก็แต่งองค์ทรงเครื่องเตรียมเข้าเฝ้าพระยายักษ์เจ้ากรุงลงกา บทละครในเรื่อง “รามเกียรติ์” บรรยายว่า

“ครั้นสร่างแสงทินกรวานรตื่น ลุกขึ้นยืนบิดกายทั้งซ้ายขวา

โจนจากแท่นแก้วแววฟ้า ลีลามาสรงคงคาลัย

ทากระแจะจันทน์ปรุงฟุ้งเฟื่อง ทรงเครื่องพระยามารประทานให้

สนับเพลาเชิงงอนอ่อนละไม นุ่งยกกระหนกในเทพนม”

 

‘จันทน์’ เป็นไม้ ขืนใครเอาเนื้อไม้หรือแก่นไม้มาใช้ทาหรือถูตามเนื้อตัว มีหวังผิวถลอกปอกเปิก ฉะนั้นก่อนใช้จึงต้องนำ ‘เนื้อหรือแก่นจันทน์’ มาฝนให้เป็นผงเสียก่อน ‘ฝน’ คือถูให้หลุดออกทีละน้อยๆ นิทานคำกลอนเรื่อง “พระอภัยมณี” ใช้คำว่า ‘ฝน’ ไว้หลายแห่ง ก่อนที่พระอภัยมณีจะไปสนามรบพบกับนางละเวง ก็แต่งองค์ดังนี้

“พอเช้าตรู่จู่มาสรงวารี กรีดพระหัตถ์ขัดสีฉวีวรรณ

อยู่กลางทัพอับจนสุคนธรส ดอกไม้สดใส่แช่ในแม่ขัน

พนักงานพานสุคนธ์คอยฝนจันทน์ ต่างสุคันธรสรื่นค่อยชื่นใจ”

จะเห็นได้ว่ามีผู้ดูแลเครื่องหอมทำหน้าที่ฝนไม้จันทน์ให้เป็นผงเพื่อให้สะดวกใช้ทาผิวได้ทั่วถึง

หรือตอนที่สุดสาครจะไปตามหาพระอภัยมณี พระฤษีที่เลี้ยงดูสุดสาครมาตั้งแต่เกิด ก็ช่วยแต่งเนื้อแต่งตัวให้ ทั้งยังฝนแก่นจันทน์เจิมหน้าผากเป็นรูปอุณาโลม (คล้ายเลขเก้าไทย) เป็นเครื่องหมายความเป็นสิริมงคล เพื่อคุ้มครองฤษีน้อยให้ปลอดภัยตลอดการเดินทาง

“แล้วจัดแจงแต่งนุ่งหนังเสือให้ ครบเครื่องไตรครองประทานพระหลานขวัญ

ผูกชฎาหนังรัดสะพัดพัน ฝนแก่นจันทน์เจิมมหาอุณาโลม”

 

ถ้าผงจันทน์ที่ฝนออกมายังไม่เนียนละเอียดมากพอ ก็ต้อง ‘บด’ โดยใช้สิ่งที่มีน้ำหนักกดครูดไปมาให้แหลกละเอียดลงไปอีก อาทิ ใส่ผงจันทน์ลงในโกร่งบดยา หรือเครื่องบดยารูปร่างคล้ายครกหรือถ้วย มีสากสำหรับบดให้ละเอียด บดผงจันทน์เหมือนบดยาก็จะได้ผงจันทน์นวลเนียนตามต้องการ

“โคลงนิราศวัดรวก” พรรณนาถึงนางผู้เป็นที่รักว่า

“บ่งบงจันทร์ใช่หน้า นวลจันทร์ พี่เอย

จันทน์แม่บดเจิมขวัญ กลิ่นเกลี้ยง

รื่นจรุงรศสุคันธ์ ฆานชื่น ฉมแฮ

กลิ่นติดแต่วันเคี้ยง ร่วมน้องวันมา”

(เห็นดวงจันทร์แสงนวลหาใช่ดวงหน้านวลงามของน้องไม่ นวลหน้าของน้องนั้นเกิดจากผงจันทน์ที่น้องบดและทาผิว ทำให้ผิวนวลงามและหอมสดชื่นยามสูดดม กลิ่นยังหอมติดจมูกอยู่มิรู้หายนับแต่วันที่พี่จากน้องมา)

เมื่อบดละเอียดจนเป็นที่พอใจ ก็นำผงจันทน์มาผสมกับแป้งกระแจะ ดังที่วรรณคดีเรื่อง “พระอภัยมณี” เล่าถึงนางกำนัลเตรียมข้าวของตามเสด็จท้าวสิลราชทางทะเล ดังนี้

“บ้างอบน้ำทำจันทน์กระแจะแป้ง ล้วนเครื่องแต่งตามประสาอัชฌาสัย”

 

น่าสังเกตว่าวรรณคดีหลายเรื่องใช้ตำว่า ‘ทา’ ‘ลูบ’ หรือ ‘ลูบไล้’ กับกระแจะจันทน์ หรือจันทน์กระแจะ แสดงว่าคงจะมีลักษณะที่ทาได้ เป็นผง หรือเปียกมีน้ำผสม ดังที่บทละครนอกเรื่อง “สังข์ทอง” เล่าถึงท้าวสามลสรงน้ำแต่งองค์ไปชมการตีคลี

“ว่าพลางย่างเยื้องจรจรัล มาสรงน้ำที่ขันสาครใหญ่

ตักวารีรดหมดเหงื่อไคล ลูบไล้แป้งกระแจะจันทน์ปรุง”

ไม่ต่างจากพี่เลี้ยงทั้งสี่ของนางเกษราก่อนจะออกไปหาพราหมณ์ที่สวน ก็แต่งตัวเต็มที่ วรรณคดีเรื่อง “พระอภัยมณี” บรรยายว่า

“เห็นพรักพร้อมยอมใจเข้าในห้อง เปิดคันฉ่องส่องตะบอยสอยเกศี

กระเหม่าจีนจับซ้ำให้ดำดี กรีดสำลีเรียบร้อยที่รอยไร

แล้วผัดหน้าทาจันทน์กระแจะฟุ้ง ต่างคนนุ่งยกทองล้วนผ่องใส”

 

ในบทละครรำเรื่อง “อิเหนา” เล่าถึงสาวที่หลงรักอุณากรรณว่า

“เมื่อนั้น ฝ่ายโฉมนวลนางมลาหรา

ครั้นค่ำย่ำฆ้องคอยเวลา คิดจะใคร่ไปหาอุณากรรณ

จึงอาบน้ำขัดสีวารีรด ให้หมดราคีเป็นสีสัน

ลูบไล้น้ำดอกไม้กระแจะจันทน์ ใส่น้ำมันกันกวดกระหมวดมวย”

ข้อความว่า ‘ลูบไล้น้ำดอกไม้กระแจะจันทน์’ บอกให้รู้ว่ามีน้ำหอมเป็นตัวผสมให้กระแจะจันทน์ละลาย ทำให้นึกไปถึงตอนที่พระเพื่อนพระแพงถวายกระแจะหรือผงเครื่องหอมประสมกันสำหรับทาให้พระลอ ดังที่ “ลิลิตพระลอ” บรรยายว่า “ถวายกระแจะจรุงลาย ลูบไล้”

คุณพระวรเวทย์พิสิฐอธิบายข้อความตอนนี้ไว้ใน “คู่มือลิลิตพระลอ” ว่า

‘ลาย คือ ละลาย เพราะกระแจะเป็นของข้น จะทาต้องละลาย’

ซึ่งสอดคล้องกับเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” เล่าถึงนางพิมพิลาไลยปรนนิบัติเณรแก้ว (ผู้สึกเฉพาะกิจเข้าหานาง) ด้วยการ

“ซับเหงื่อด้วยเนื้อสไบบาง กระแจะจวงจันทน์นางละลายมา”

ยามที่ทั้งคู่เสร็จจากการอาบน้ำร่วมกัน ก็กระชับสัมพันธ์ต่อโดยทาแป้งกระแจะจันทน์ให้แก่กัน

“แล้วลุกมาผลัดผ้าทาแป้ง พิมก็แบ่งรินน้ำกระแจะให้

ขอจูบนั่นประทิ่นกลิ่นอะไร นางอายใจหลบหน้าไม่พาที

ผินหน้ามาเถิดจะทาให้ จะอายกันไปไยไม่พอที่

แก้มขวาจงทาเข้าให้ดี อย่าจู้จี้แก้มฉันนี้คนจน”

ชื่นมื่นอย่าบอกใคร •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร