ผวาเศรษฐกิจทรุด ‘แบงก์’ หนืดปล่อยกู้ ‘เอสเอ็มอี’ รับศึกหนัก เซ่นพิษดอกเบี้ยขาขึ้น

Thai bank notes in the cashier machine

ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวได้ไม่ทั่วทุกพื้นที่หลังผลกระทบจากการวิกฤตโควิด สะท้อนข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2566 ลงมาอยู่ที่ 2.5% จากเดิมคาการณ์ที่ 2.5-3% สอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับจีดีพีปี 2566 ลงเหลือ 2.4% จากเดิมที่ 2.8% บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นขึ้นแค่ระดับปริ่มน้ำเท่านั้น

อีกทั้งหลายภาคส่วนธุรกิจยังเผชิญกับปัญหา เพราะยังไม่สามารถดึงรายได้กลับไปเติมให้ธุรกิจเฟื่องฟูได้เหมือนก่อน แต่กลับมีรายจ่ายด้านต้นทุน ที่เป็นพายุลูกใหญ่ซัดเข้าอย่างจัง ทั้งค่าไฟฟ้าจะปรับใหม่ช่วงเดือนมกราคม 2567 ราว 5 บาท ค่าแรงขั้นต่ำจะมีการปรับขึ้นอาจสูงถึง 400 บาท รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวระดับสูง เหล่านี้ ล้วนส่งผลให้ต้นทุนธุรกิจเพิ่มขึ้น

โดยเฉพาะเรื่องดอกเบี้ยอยู่ช่วงขาขึ้น โดย ธปท.เริ่มปรับดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 ดอกเบี้ยอยู่ระดับ 0.50% จนปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.50% เมื่อสถาบันการเงินมีการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบทันที เพราะดอกเบี้ยในการจ่ายหนี้สูงขึ้น รวมถึงการขอกู้สินเชื่อใหม่ก็ทำได้ยาก

 

สะท้อนจาก อัจจนา ล่ำซำ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบแบบจำลองและวิเคราะห์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงภาพรวมสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 3/2566 ออกมาหดตัวอยู่ที่ 0.9% หากเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาหดตัวเพียง 0.4% ซึ่งเป็นการติดลบเป็นไตรมาสแรก โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจติดลบ 2.1% จากการชำระคืนหนี้ธุรกิจต่อเนื่องจากความสามารถการชำระหนี้ของลูกหนี้อยู่ระดับสูงเทียบก่อนเกิดวิกฤตโควิดแล้ว

แต่หากดูไส้ในการปล่อยสินเชื่อแยกตามขนาดธุรกิจ โดยธุรกิจขนาดใหญ่ติดลบ 0.2% และธุรกิจรายย่อย (เอสเอ็มอี) การขอสินเชื่อติดลบ 5.7% และเป็นการติดลบ 5 ไตรมาสติดต่อกัน

แม้สาเหตุส่วนหนึ่งคือลูกหนี้ชำระคืนหนี้ได้แล้ว แต่อีกส่วนหนึ่งมาจากสถาบันการเงินเข้มงวด และระมัดระวังปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อเอสเอ็มอี ที่มีการกำหนดให้วงเงินในการอนุมัติสินเชื่อใหม่ลดลงต่ำลงเหลือเฉลี่ยเพียง 3 แสนบาทต่อราย หากเทียบช่วงก่อนโควิด อัตราการปล่อยสินเชื่ออยู่ที่ 3 แสนบาท ถึง 100 ล้านบาท

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก ธปท. ภาพรวมสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีที่มียอดวงเงินสินเชื่อต่ำกว่า 500 ล้านบาท ช่วงปี 2560-2563 ก่อนการระบาดของโควิด พบว่าติดลบมาโดยตลอด และปี 2562 ติดลบสูงสุด 5% ขณะที่ช่วงปี 2563-2564 ที่มีมาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องจาก ธปท. ปล่อยสินเชื่อรวมเกือบ 4 แสนล้านบาท แบ่งเป็นซอฟต์โลนประมาณ 1.38 แสนล้านบาท และสินเชื่อฟื้นฟูอีกราว 2.54 แสนล้านบาท จึงทำให้สินเชื่อเอสเอ็มอีในปี 2564 ขยายตัวได้ราว 2%

เมื่อไม่มีมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อ อีกทั้งสถาบันการเงินยังเข้มงวดการปล่อยกู้แก้ผู้ประกอบการ ทำให้เอสเอ็มอีส่วนหนึ่งยังเผชิญปัญหาสายป่านสั้น

 

เรื่องนี้ แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา กลุ่มเอสเอ็มอีไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด ทำให้ธุรกิจต่างมีปัญหา และขาดสภาพคล่อง อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงกำลังฟื้นตัว ดังนั้น ผู้ประกอบการแต่ละรายก็มีสถานการณ์ธุรกิจแตกต่างกัน บางกลุ่มฟื้นธุรกิจได้แล้ว และบางกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นเลยก็มี ซึ่งอย่างหลังจะมีมากกว่า

ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินกลับไม่เอื้อต่อการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายย่อย หากนึกย้อนถึงนโยบายของรัฐบาลพยายามผลักดันประเทศเรื่องการท่องเที่ยว แต่การปล่อยสินเชื่อของธนาคารกลับเข้มงวดขึ้นส่งผลต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่อยู่ในภาคท่องเที่ยวและบริการ เพราะมีผู้ประกอบการจำนวนมากเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน หรือเข้าถึงได้แต่ในจำนนวนน้อยมาก อยากให้ธนาคารเห็นใจและปรับเกณฑ์การให้สินเชื่อแก่ธุรกิจรายย่อย

จึงเสนอเงื่อนไขการให้สินเชื่อเอสเอ็มอี ซึ่งธนาคารอาจต้องแบ่งแยกกลุ่มออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มธุรกิจที่ยังไปต่อได้ จะกลุ่มที่สามารถชำระหนี้ แม้กลุ่มนี้จะมีหนี้บางส่วน แต่ยังมีความจำเป็นในการขอสินเชื่อใหม่เพื่อต่อยอดธุรกิจ ธนาคารควรให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ

2. กลุ่มที่เผชิญปัญหาแต่ยังไม่เป็นหนี้เสีย กลุ่มนี้ยังต้องการเงินไปเพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจ หลังเผชิญวิกฤตโควิด ธนาคารอาจต้องให้สินเชื่อที่มีต้นทุนต่ำกว่าในกลุ่มแรก

และ 3. กลุ่มที่เป็นหนี้เสียแล้ว กลุ่มนี้ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูหรือการปรับโครงสร้างหนี้ และอาจมีระบบการเติมทุน หรือการหล่อเลี้ยงให้ธุรกิจ เช่น สินเชื่อปลอดต้นปลอดดอกในระยะเวลา 6 เดือน หรือ 1 ปี ให้ธุรกิจกลับสู่ระบบเศรษฐกิจและไม่เป็นหนี้นอกระบบ

“ถ้าหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการเงิน ร่วมกับภาคเอกชนในการทำเรื่องเหล่านี้จะได้ประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายย่อยทุกส่วนไม่ใช่เฉพาะเพียงผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวเพียงเท่านั้น” แสงชัยกล่าว

 

นอกจากนี้ เรื่องของดอกเบี้ยที่เป็นธรรม ถ้าสถาบันการเงินมีผลกำไรจากการคิดอัตราดอกเบี้ยจากการส่งผ่านการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.แล้ว ขณะนี้ก็คิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง หรือมีการให้สินเชื่อรูปแบบอื่นมากขึ้น เช่น การคิดอัตราดอกเบี้ยแบบพอเพียงให้กับผู้ประกอบการที่ขอสินเชื่อ คือกระบวนการที่สถาบันการเงิน หรือผู้ให้สินเชื่อคิดดอกเบี้ยจากการปล่อยสินเชื่ออย่างเป็นธรรม แล้วไม่เอาเปรียบลูกหนี้ และอยู่ในระดับการคิดอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม

“เข้าใจว่าสถาบันการเงินก็ประกอบธุรกิจ แต่ระยะหนึ่งผู้ประกอบการได้ขอสินเชื่อและชำระเงินอย่างถูกต้อง เนื่องด้วยเศรษฐกิจยังไม่เจอวิกฤต แต่เมื่อเศรษฐกิจถูกวิกฤตโควิดซัดเข้ามา ก็อยากให้สถาบันการเงินช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง หรือผู้ประกอบการรายย่อยที่ธุรกิจไม่ฟื้นคืนกลับมาให้สามารถเดินหน้าธุรกิจไปด้วยกันได้” ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยกล่าวทิ้งท้าย

‘เอสเอ็มอีไทย’ ยังอยากไปต่อในเส้นทางธุรกิจ และได้แต่หวังว่า ‘สถาบันการเงิน’ จะสนับสนุนให้ธุรกิจผ่านพ้นวิกฤตนี้ร่วมกันได้!