เจ้าพระยาจักรีแขกของพระเจ้าตากสิน เคยทรมานผู้คนจนต้องชดใช้กรรมในชาติภพต่อมา?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

เมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานี้มีข่าวว่า ได้มีหมอดู (ในกรณีที่จะนับว่า การสแกนกรรมจากอดีตชาติ เป็นวิชาแขนงหนึ่งของโหราศาสตร์ ก็อาจจะอนุโลมเรียกผู้ที่ทำหน้าที่สแกนกรรมผู้อื่นว่า “หมอดู” ได้) ท่านหนึ่ง ทำจัดการแก้กรรมให้กับนักแสดงชายที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ซึ่งป่วยเป็นโรคประหลาดมานาน และรักษาอย่างไรก็ไม่หาย (แน่นอนว่า ตอนนี้บรรดาสารพัดแพทย์ได้ออกมาให้ความรู้ว่า ที่จริงแล้ว ไม่ใช่โรคที่แปลก หรือพิสดารอะไร) จนอาการของดาราคนนี้ค่อยๆ ดีขึ้นเป็นลำดับ จึงได้เป็นข่าวฮือฮาทั้งในโลกออนไลน์ และออฟไลน์กันพอสมควร

หมอดูคนดังกล่าวอ้างว่า ที่เขารู้ว่าดาราท่านนี้ทำกรรมอะไรมา เป็นเพราะเทวดาคุ้มครองของดาราชายคนนี้ได้มานิมิตบอกกับตัวเขาว่า ที่ดาราคนดังกล่าวต้องตกอยู่ในสภาพอย่างนี้ เป็นเพราะเขาได้ทำกรรมอันใหญ่หลวงไว้ในชาติภพก่อนนี้ ซึ่งเขาเกิดเป็น “แขก” ชาวปากีสถาน (อันเป็นประเทศที่เพิ่งถือกำเนิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2499) และรับราชการรับใช้อยู่ในราชสำนักของพระเจ้าเอกทัศ กษัตริย์พระองค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2301-2310)

แต่แขกชาวปากีสถาน (ผู้ซึ่งไม่มีใครทราบได้ว่าเขาย้อนเวลากลับไปในยุคที่ยังไม่มีประเทศของเขาได้อย่างไร?) คนนี้ กลับใช้อำนาจบาตรใหญ่ในทางมิชอบ โดยได้กักขังทรมานผู้คนจำนวนหนึ่ง จนเป็นผลให้ชาตินี้เขาต้องมาป่วยเป็นโรคร้ายนั่นเอง

เคราะห์ดีที่ในชาติที่แล้วเขายังได้ทำกรรมดีเอาไว้บ้าง โดยได้เคยช่วยพระเจ้าตากสิน “กู้ชาติ” บ้านเมืองเอาไว้

ด้วยอานิสงส์ผลบุญดังกล่าว จึงทำให้ในชาตินี้เขาได้เกิดมามีรูปร่างหน้าตาที่ดี และได้เป็นดารานักแสดงที่มีชื่อเสียงอยู่พักหนึ่ง ก่อนที่บาปกรรมในชาติภพที่แล้วจะมาตามสนอง จนทำให้เขาต้องมาขอขมาลาโทษต่อเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นทั้งหมดอโหสิกรรมให้ จึงจะหายป่วยไข้จากโรคร้ายได้

ผมไม่รู้หรอกนะครับว่า เป็นอำนาจบุญกรรมที่เพิ่งจะมาตามแก้ หรือเป็นเพราะการรักษาทางการแพทย์สมัยใหม่ที่เพิ่งจะเห็นผลเอาเมื่อดาราคนดังกล่าวมีกำลังใจในการสู้ชีวิตเพิ่มขึ้น ที่ทำให้อาการจากโรคร้ายของเขาค่อยทุเลาลง แต่ที่ผมสนใจก็คือ ในรายละเอียดของเรื่องราวเมื่อครั้งที่เป็นอดีตชาติที่เป็นแขกของดาราคนนี้ มีการผูกโยงว่าเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงอยู่ในประวัติศาสตร์ แถมยังเป็นหนึ่งในกำลังพลสำคัญของพระเจ้าตากสินอีกด้วย

และใครคนที่ถูกกล่าวอ้างถึงนั้นก็คือ “เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์” หรือที่มักจะถูกเรียกว่า “เจ้าพระยาจักรีแขก” เพราะท่านนั้นเป็นมุสลิมนั่นเอง

 

กล่าวโดยสรุป “เจ้าพระยาจักรีแขก” คนนี้มีชื่อจริงว่า “หมุด” (ที่เรียกด้วยสำเนียงไทยๆ ในยุคโน้น โดยมีที่มาจากชื่อ “มะห์มู้ด” อีกทอดหนึ่ง) เป็นแขกสุหนี่ สายเปอร์เซีย (คือ อิหร่าน ไม่ใช่ ปากีสถาน) ที่แต่เดิมเคยเป็นข้าราชสำนักของอยุธยา ตำแหน่ง “หลวงนายศักดิ์” ในรัชสมัยของพระเจ้าเอกทัศมาก่อน

ข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าพระยาจักรีแขก ที่แพร่หลายอยู่ในอินเตอร์เน็ต และรวมถึงในบทความเรื่อง “เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ (จักรีแขก) มุสลิมกู้ชาติ” ที่เขียนโดย คุณปเรตร์ อรรถวิภัชน์ ตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 37 ฉบับที่ 7 (พฤษภาคม 2560) อันเป็นบทความที่มักจะถูกอ้างถึงในกรณี การสแกนกรรมของดาราชายคนที่ผมกล่าวข้างต้นนี้ มักจะระบุถึงเหตุการณ์ตอนที่เจ้าพระยาจักรีแขก เมื่อครั้งยังดำรงยศเป็นหลวงนายศักดิ์ไว้ดังความที่ว่า

ในช่วงก่อนกรุงศรีอยุธยาจะแตก ทางการได้สั่งให้หลวงนายศักดิ์ออกไปเก็บเงินค่าส่วยสาอากรที่เมืองจันทบุรีเป็นจำนวน 300 ชั่ง แต่กรุงแตกเสียก่อน หลวงนายศักดิ์จึงได้ออกอุบายแอบเก็บเงินดังกล่าวเอาไว้ ไม่ส่งคืนให้กับเจ้าเมืองจันทบุรี

แต่เจ้าเมืองฯ ไม่เชื่อหลวงนายศักดิ์ จึงได้ควบคุมตัวท่านเอาไว้ ช่วงเวลาดังกล่าวประจวบเหมาะกับที่พระเจ้าตากสินเข้ามาตีเมืองจันทบุรีแตก ทำให้หลวงนายศักดิ์ นำหมู่บริวาร (บางแห่งอ้างว่ามีจำนวน 500) ถวายตัวเข้ารับใช้พระเจ้าตากสิน พร้อมมอบเงิน 300 ชั่งเพื่อใช้เป็นทุนรอนในการต่อเรือให้พระเจ้าตากสิน ก่อนที่จะเข้าร่วมทัพเรือไปบุกโจมตีค่ายพม่าทีโพธิ์สามต้น จนกลายเป็นตัวละครที่สำคัญคนหนึ่งในการ “กู้ชาติ” ของพระเจ้าตากสิน

เรื่องราวดังกล่าวควรจะมีที่มาจากหนังสือ “มหามุขมาตยานุกูลวงศ์” อันเป็นหนังสือเก่าที่ว่าด้วยวงศ์ตระกูลของขุนนางสยามในยุคต้นกรุงเทพฯ ซึ่งเขียนขึ้นโดย ก.ศ.ร. กุหลาบ (พ.ศ.2377-2464)

และก็เป็นที่รับรู้กันดีในหมู่นักเลงประวัติศาสตร์ว่า ก.ศ.ร. กุหลาบ เขียนหนังสือเล่มนี้ โดยจำเป็นต้องบิดเบือนชื่อตัวละคร หรือข้อความหลายตอนด้วยความจำเป็นจากเงื่อนไขที่มีอยู่ในยุคสมัยนั้น และบางตอนก็เขียนเพิ่มเติมเอาจากจินตนาการของท่านเองเสียด้วยซ้ำไป

ข้อความเกี่ยวกับการที่เจ้าพระจักรีแขกถวายตัวกับพระเจ้าตากสินเองก็เข้าอีหรอบนี้เช่นกันนะครับ

เพราะอันที่จริงแล้ว ในพงศาวดาร เช่น พงศาวดารกรุงธนบุรี แผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ 4 ระบุว่า

“…ฝ่ายหลวงนายศักดิ์เป็นเชื้อแขกออกไปราชการ ณ เมืองจันทบุรีแต่ก่อนทัพพม่ายังไม่มาล้อมกรุงเทพมหานครนั้น (หมายถึง กรุงศรีอยุธยา-ผู้เขียน) ยังค้างอยู่ในเมืองจึงมาเฝ้าถวายตัวเป็นข้าราชการสืบไป ก็โปรดเลี้ยงไว้ด้วยเป็นข้าราชการเก่า…”

ดังนั้น รายละเอียดในเรื่องของจำนวนเงิน อุบายในการเก็บเงิน และข้อมูลอื่นๆ นอกจากนี้ จึงยังเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณากันอีกทีว่า เป็นส่วนที่ถูก ก.ศ.ร. กุหลาบ สันนิษฐานเพิ่มเติม หรือเป็นการเสริมเติมแต่งเรื่องราวขึ้นมาเองหรือไม่?

น่าสนใจด้วยว่า ไม่ได้เรื่องเล่าเกี่ยวกับเจ้าพระยาจักรีแขกที่น่าสงสัยว่าจะไม่ได้เกิดขึ้นจริงเพียงเรื่องเดียวข้างต้นเท่านั้น ดังที่นักประวัติศาสตร์ระดับไอคอนอย่าง อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ผู้ล่วงลับ เคยวิเคราะห์เอาไว้ในหนังสือเล่มสำคัญของท่านอย่าง “การเมืองไทย สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี” ว่าเรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าพระยาจักรีแขก ในหนังสือ “มหามุขมาตยานุกูลวงศ์” นั้น ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้ใช้หนังสือเก่าอีกเล่มอย่าง “อภินิหารบรรพบุรุษ” (ซึ่งก็คืองานของสำนักวัดโพธิ์ ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เคยสังกัดอยู่ในช่วงที่เล่าเรียนหนังสือ) เป็นพื้นฐานในการจินตนาการแตกแขนงต่อมา

ข้อสันนิษฐานข้างต้นของ อ.นิธิ น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้ว่า ในมหามุขมาตยานุกูลวงศ์นั้น หลวงนายศักดิ์ หรือนายหมุด ผู้ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นเจ้าพระยาจักรีแขก ได้รู้จักกับพระเจ้าตากสินมาก่อนจะมีการถวายตัวรับใช้ที่เมืองจันทบุรีแล้ว

โดยทั้งคู่พบกันตั้งแต่เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นมหาดเล็กอยู่นรัชกาลของพระเจ้าเอกทัศ

โดยหลวงนายศักดิ์นั้นเป็นบุตรของเจ้าพระยาจักรีในสมัยนั้น ซึ่งมีเรื่องเล่าว่าเป็นพ่อบุญธรรมของพระเจ้าตากสินตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ อันเป็นเรื่องราวที่มีเล่าอยู่ก่อนแล้วในหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ

อย่างไรก็ตาม เรื่องเล่าดังกล่าวก็ยังเป็นที่น่าสงสัยใจอยู่ไม่ต่างอะไรกับเรื่องของเงิน 300 ชั่งข้างต้น เพราะเคยมีผู้ตรวจสอบพบว่า ในช่วงปลายสมัยอยุธยาที่พระเจ้าตากสินยังทรงพระเยาว์และมีพ่อบุญธรรมเป็นเจ้าพระยาจักรีนั้น ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าพระยาจักรี แต่มีคำสั่งให้เจ้าพระยาพลเทพว่าการตำแหน่งจักรีต่อมาอีกนาน

แถมในช่วงใกล้เคียงกันนั้นยิ่งไม่มีเจ้าพระยาจักรีที่เป็นแขก (เพราะหลวงนายศักดิ์เป็นลูกแขก ดังนั้น ถ้าพ่อเป็นเจ้าพระยาจักรี ก็ย่อมเป็นแขก)

เอาเข้าจริงแล้ว เรื่องราวของบุคคลใกล้ตัวของพระเจ้าตากสินอย่าง เจ้าพระยาจักรีแขก จึงมีปมปัญหาที่น่าสนใจในทางประวัติศาสตร์ โดยยังหาข้อสรุปไม่ได้อยู่อีกมาก

แต่ที่สรุปได้อย่างแน่ชัดเลยก็คือ เราไม่เคยพบร่องรอยหลักฐานตรงไหนระบุไว้ในทำนองที่ว่า เจ้าพระจักรีคนสำคัญในสมัยพระเจ้าตากสินคนนี้ เคยทรมานและกักขังผู้คน อย่างที่มีผู้กล่าวอ้างถึงท่านว่าเป็นชาติภพก่อนของดาราชายที่ได้รับผลกรรมจากการกระทำดังกล่าวคนนั้น เลยแม้แต่นิดเดียว •

 

หากสนใจเรื่องพระเจ้าตากสิน ขอเชิญชวนร่วมทริป “คืนความสุข ยุคพระเจ้าตาก” วันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม 2566 นี้นะครับ