หนังไทยสามเรื่องที่พูดถึง ‘คนตาย’

วัชระ แวววุฒินันท์

หนังไทยสามเรื่องที่ว่านี้ได้ลงโรงฉายไปสักระยะหนึ่งแล้ว ไม่แน่ใจว่าตอนที่มติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้ตีพิมพ์ จะยังคงมีโรงให้ชมอยู่ไหม

สามเรื่องที่ว่านี้ก็คือเรื่อง “ธี่หยด”, “สัปเหร่อ” และ “เพื่อน(ไม่)สนิท” ซึ่งสองเรื่องแรกทำรายได้ทั่วประเทศเป็นหลักหลายร้อยล้านบาทด้วยจำนวนที่เกิดคาดหมาย ในขณะที่เรื่องสุดท้ายดูจะทำเงินน้อยไปสักหน่อย เมื่อเทียบกับสองเรื่องแรก

ถึงแม้ทั้งสามเรื่องจะพูดถึง “คนตาย” เหมือนกัน แต่คนละมุม คนละวิธีนำเสนอ ที่แตกต่างกันอย่างมาก

ซึ่งจะขอพูดถึงในที่นี้

ธี่หยด

เริ่มเรื่องแรกกันก่อนคือ “ธี่หยด” เรื่องนี้พูดถึงคนตายในแบบภูตผีปีศาจเต็มๆ ซึ่งคงถูกใจคอหนังไทยจำนวนไม่น้อย

ธี่หยดสร้างจากเค้าโครงเรื่องจริงของ กิตติศักดิ์ กิตติวิรยานนท์ เขาได้เขียนเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นใน จ.กาญจนบุรี ใน พ.ศ.2515 ลงบนเว็บไซต์ Pantip เมื่อปี พ.ศ.2558 ได้รับความนิยมจนถูกนำมาพิมพ์เป็นนิยายขาย

คนตายที่พูดถึงในหนังนั้น เป็นคนตายที่โดนวิญญาณร้ายทำร้าย ด้วยการเข้าสิงสู่ในร่างกายเมื่อยังเป็นคนปกติ โดยหวังใช้ร่างนั้นเป็น “ร่างอาศัย” ของวิญญาณร้ายจนกว่าจะหมดอายุขัย หรือเมื่อได้พบร่างใหม่

คนเป็นๆ ที่โดนกระทำนั้น จะมีอาการแปลกๆ จากที่เหมือนไม่สบายธรรมดา แล้วค่อยรุนแรงขึ้น มีการแสดงออกแบบเป็นคนละคนจากการถูกวิญญาณเข้าร่างนั่นเอง ตอนกลางคืนก็จะลุกออกมาหาอะไรสดๆ กิน และมีพลังอย่างมาก

เมื่อวิญญาณร้ายใช้ร่างนี้จนพอใจแล้วและจะไปอยู่ร่างใหม่ ก็จะแสดงอิทธิฤทธิ์เพื่อทำลายร่างนี้อย่างน่าสยดสยอง จนเจ้าของร่างต้องจบชีวิตลงอย่างอเนจอนาถ

เรื่องเกิดขึ้นในจังหวัดกาญจนบุรี เล่าผ่านครอบครัวของพระเอกที่ชื่อ “ยักษ์” แสดงโดย “ณเดชน์ คูกิมิยะ” ยักษ์เป็นพี่ชายคนโต มีน้องชาย 2 คน และน้องสาวอีก 3 คน โดยมีพ่อและแม่เป็นหัวหน้าครอบครัว อาชีพก็คือการทำไร่ทำสวน

ลูกสาวคนกลางที่ชื่อ “แย้ม” เป็นเหยื่อของวิญญาณร้ายที่ว่า มันเข้าสิงร่างของแย้มและทำให้แย้มมีอาการแปลกๆ ดังกล่าว ร้อนถึงยักษ์ที่มีนิสัยโผงผาง ใจร้อน ไม่กลัวใคร ต้องลุกขึ้นเพื่อกำจัดผีร้ายนั้น ซึ่งตัวณเดชน์เองก็แสดงได้ถึงบทบาทดีทีเดียว และแบกรับหนังทั้งเรื่องไว้

วิธีการนำเสนอของธี่หยด ก็จะเหมือนหนังแนววิญญาณอาฆาตที่เราเคยชม เล่นกับจังหวะตกใจ ขายภาพและเสียงที่ชวนตื่นเต้น ซึ่งต้องยอมรับว่าการเดินเรื่องนั้นทำได้ไม่เลว มีเรื่องให้ชวนติดตามและลุ้นระทึกตลอด บางจุดเหมือนจะคลี่คลายได้ก็มีอะไรเพิ่มเติมขึ้นมาอีก รวมถึงงานโปรดักชั่นที่สร้างออกมาอย่างมีคุณภาพ

จึงทำให้ถูกใจผู้ชมจนทำรายได้สูงดังกล่าว

เพื่อน(ไม่)สนิท

โดยรวมนั้นก็เป็นหนังที่พูดถึง “คนตาย” ในแบบวิญญาณร้ายที่เราคุ้นเคย ซึ่งตรงข้ามกันกับหนังเรื่อง “เพื่อน(ไม่)สนิท” โดยสิ้นเชิงในทุกๆ ด้าน

ในขณะที่ธี่หยดพูดถึงคนตายในมุมสยองขวัญ แต่ “เพื่อน(ไม่)สนิท” พูดถึงในแนวดราม่าที่มีเรื่องความสัมพันธ์ของเพื่อนเป็นหลัก เมื่อเพื่อนคนหนึ่งได้ตายจากไปอย่างกะทันหัน เพื่อนอีกคนก็ได้นำเรื่องราวของเพื่อนที่ตายนั้นมาใช้ประโยชน์

เรื่องนี้สร้างโดย GDH ผู้ชมหนังไทยคงนึกถึงโทนหนังจากค่ายนี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งหนังของค่ายนี้ส่วนใหญ่จะเล่าเรื่องของคนในเมืองใหญ่เป็นหลัก และวิธีการนำเสนอก็ทันสมัยตามวัยของตัวละครที่เป็นคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ หรือไม่ก็เป็นนักเรียนวัยรุ่น

“เพื่อน(ไม่)สนิท” เล่าเรื่องผ่านตัวละครที่ชื่อ “เป้” วัยรุ่นชั้น ม.6 แสดงโดย “อันโทนี่ บุยเซอเรท์” ที่กำลังจะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย วิธีลัดในการเรียนต่อของเป้คือ “การทำหนังสั้นประกวด” ซึ่งสามารถใช้ผลงานนี้เป็นเกณฑ์ตัดสินในการรับตรงเข้าคณะนิเทศศาสตร์ได้

ปัญหาคือ เป้ไม่ใช่เด็กที่สนใจเรื่องทำหนังมาก่อน นอกจากฝีมือจะไม่มีแล้ว ยังไม่มีหัวครีเอทีฟใดๆ เลย แม้แต่จะหา Story มาเล่าเรื่องก็ยังคิดไม่เป็น จนได้รุ่นพี่ช่วยแนะนำว่าให้เอาเรื่องของเพื่อนที่จากเราไปมานำเสนอก็ได้ เล่าถึงความสัมพันธ์กับเพื่อนคนนั้นให้ประทับใจ

และเพื่อนที่จากไปที่เป้เลือกก็คือ “โจ” แสดงโดย “พิสิฐพล เอกพงศ์พิสิฐ” เพื่อนที่นั่งเรียนข้างๆ กันได้ไม่กี่เดือน เพราะเป้เพิ่งถูกให้ออกจากโรงเรียนเก่า และย้ายมาเรียนที่นี่กลางเทอม จริงๆ แล้วเป้ก็ไม่ได้สนิทกับโจอะไรมาก แม้โจจะเป็นคนมีอัธยาศัยดี มีน้ำใจ เป็นที่รักของเพื่อนๆ ซึ่งตรงข้ามกับเป้ ที่เอาตัวเองเป็นหลัก ไม่สนใจใคร แม้แต่กับเป้ที่พยายามสนิทสนมด้วย

นี่คือที่มาของชื่อเรื่อง

หนังเล่าถึงกระบวนการเมื่อต้องทำหนังสั้นที่เล่าเรื่องของเพื่อนที่ไม่สนิทให้ออกมาประทับใจว่าเป้ทำอย่างไร ช่วงนี้หนังได้แนะนำตัวละครสำคัญฝ่ายหญิงคือ “โบเก้” แสดงโดย “ธิติยา จิระพรศิลป์” ที่ในอดีตนั้นเป็นเพื่อนที่สนิทกับโจอย่างมากมานาน และตัวละครอย่างโบเก้นี่เองที่มากระตุ้นให้เป้ได้สัมผัสกับความสัมพันธ์ของคนที่เป็นเพื่อนสนิทที่แท้จริง

โจเป็นคนตายในหนังเรื่องนี้ที่มีเสน่ห์ มีความสดใสร่าเริง มีแต่เรื่องดีๆ ยกเว้นเรื่องเดียวที่โหดร้ายคือเรื่องที่เขาถูกรถชนตาย วิญญาณของโจไม่ได้ตามมาหลอกหลอนใครเหมือนธี่หยด แต่ความเป็นตัวตนของเขาต่างหากที่ตามมาเกาะติดในใจของเป้ โบเก้ และเพื่อนคนอื่นๆ ในมุมของความเป็นเพื่อนที่แตกต่างมุมมองกันไป

“เพื่อน(ไม่)สนิท” จึงเล่นกับ “คนตาย” ในแบบที่อบอุ่นประทับใจ ตามแบบฉบับ GDH ที่พอจะเป็นดังคำโปรยที่ว่า “หนังที่จะทำให้คุณคิดถึงเพื่อน” หากว่าคนดูนั้นมีวัยร่วมกับตัวละครในเรื่อง แต่กับผู้ชมที่โตๆ ไปทำงานหลายปีแล้วอาจจะไม่อินเท่าที่ควร

สัปเหร่อ

แล้วก็มาถึงเรื่องสุดท้ายคือ “สัปเหร่อ” ด้วยชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าต้องเกี่ยวกับ “คนตาย” ร้อยเปอร์เซ็นต์ ใครได้เคยชมผลงานที่ผ่านมาในชุดไทบ้านเดอะซีรี่ส์มาก่อนคงจะนึกถึงโทนของหนังออก

เรื่องเกิดขึ้นในดินแดนอีสานอันเป็นจุดขายของจักรวาลหนังชุดนี้ ซึ่งมีความบ้านๆ แบบจริงใจ แฝงด้วยวิถีชีวิตและความเชื่อที่สืบทอดกันมานานของชาวอีสาน

เสน่ห์ที่สำคัญของหนังชุดนี้คือ “ตัวละคร” ที่ดูเรียล เล่นเป็นธรรมชาติ และมีความตลกในบุคลิกของแต่ละคน มีหลายฉากมากที่เหมือนพวกเขาไม่ได้แสดง แต่เป็นการด้นสดแบบที่เกิดในชีวิตจริง

หากจะใช้คำว่า “กลอมกล่อมแบบไทยๆ” กับหนังเรื่องนี้ก็คงไม่ผิด ด้วยตลอดสองชั่วโมงของหนังเราจะสนุกสนานไปกับการติดตามเรื่องราวผ่านตัวละครที่ไปสัมพันธ์กับ “คนตาย” ในมิติต่างๆ ในขณะที่หนังเล่นกับเรื่องคนตายแถมมีผีที่เป็นวิญญาณมาปรากฏตัวอีกด้วย เราก็ยังสามารถหัวเราะออกมาดังๆ ได้

ตัวละครเอกในเรื่องมีสองตัว คือ “เจิด” รับบทโดย “นฤพล ใยอิ้ม” ที่มีพ่อเป็นสัปเหร่อคนเดียวของหมู่บ้าน เขากลับมาพักที่บ้านชั่วคราวเพื่ออ่านหนังสือรอสอบเป็นทนาย เจิดจึงเป็นคนที่หัวสมัยใหม่สักหน่อย และขาดความรู้ที่เกี่ยวกับเรื่องพื้นบ้าน โดยเฉพาะกับอาชีพสัปเหร่อของพ่อของเขา

พ่อของเจิดป่วย เจิดจึงจำเป็นต้องมารับหน้าที่สัปเหร่อแทนพ่อทั้งที่ไม่รู้อะไรเลย มีเพียงการสอนงานผ่านคำบอกเล่าของพ่อ และตำราที่พ่อเขียนไว้ 1 เล่ม

เจิดต้องการคนมาช่วยงาน จึงไปลากเอา “เซียง” เพื่อนสนิทที่รับบทโดย “ชาติชาย ชินศรี” ให้มาช่วย นี่เป็นตัวละครหลักอีกตัวหนึ่ง

“เซียง” เป็นตัวแทนของคนที่ “ยึดติดกับอดีต” โดยเฉพาะกับ “ใบข้าว” อดีตคนรักที่มาจบชีวิตลงในสภาพผีตายท้องกลม เขาโทษว่านั่นเป็นความผิดของเขา และยังโหยหาความสุขของเขาที่มีกับใบข้าวเช่นที่ผ่านมา

เซียงเลือกวิธี “ถอดจิต” เพื่อจะได้ไปพบกับใบข้าวในโลกหลังความตาย เขาได้วิธีนี้จากพ่อของเจิดนั่นเอง นั่นเป็นเหตุผลที่เขายอมมาเป็นผู้ช่วยสัปเหร่อกับเจิด

ระหว่างทางในการทำศพหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นศพคนพุทธ คนคริสต์ คนอิสลาม หรือศพที่เป็นเพศที่สาม เราพลอยได้รับรู้ถึงที่มาของการที่ต้องทำอะไรหรือไม่ทำอะไรในพิธีศพ ซึ่งมาจากความเชื่อในทางพุทธศาสนาบ้าง มาจากความเชื่อของชาวบ้านบ้าง แต่ที่ว่านี้ไม่ได้เป็นการยัดเยียดเลย หากบอกผ่านตัวละครต่างๆ ที่ทำให้เราหัวเราะได้เป็นระยะ

หนังล้อกับเรื่องที่เกิดขึ้นในงานศพให้เราอดขำไม่ได้ เช่น การอ่านคำสรรเสริญเยินยอผู้ตายในรูปแบบกลอนแบบเว่อร์ๆ, การแสดงความเสียใจต่อผู้ตายแบบแปลกๆ

หนัง “สัปเหร่อ” ได้พูดถึงความตายในหลากหลายมุม แต่ที่เป็น “ความจริง” ที่ปฏิเสธไม่ได้คือ มันเป็นสิ่งปกติธรรมดาที่ต้องเกิดกับทุกคน อยู่ที่ใครจะเข้าใจ ยอมรับ และปล่อยวางได้แค่ไหน ซึ่งไม่ใช่กับเซียงเลยที่ยังยึดติดกับคนที่จากไป โดยไม่ทันเห็นถึงความสำคัญของคนข้างๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือแม้แต่กับเจิด ที่เห็นการตายมามาก แต่พอถึงคราวที่พ่อของตนต้องมาจากไป ก็แทบจะรับไม่ได้

คนที่มองทะลุเรื่องของ “ความตาย” ได้ดีที่สุดก็คือ “สัปเหร่อศักดิ์” พ่อของเจิดที่แสดงโดย “อัจฉริยะ ศรีทา” นั่นเอง คำพูดเรียบๆ ของเขา สามารถจดลงในสมุดบันทึกไว้เตือนตัวเองได้หลายประโยคทีเดียว

หนังประสบความสำเร็จเรื่องรายได้อย่างมาก ซึ่งก็เป็นรางวัลชิ้นใหญ่ของการทำหนังที่กลมกล่อมดังว่า ชื่นชมตรงที่หนังพูดถึง “ความตาย” ได้อย่างฉลาด มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ครบรส และชวนติดตามในแบบบ้านๆ ของไทยอีสานที่ไม่เชย แต่จริงใจ

จึงเป็นหนังไทยที่พูดถึง “คนตาย” โดยฝีมือการกำกับการแสดงของ ธิติ ศรีนวล ได้ถูกใจผมมากที่สุดในสามเรื่องนี้

ขอปรบมือให้ดังๆ •

 

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์