‘เสาอินทขีล’ สร้างสมัยยุคทองของล้านนา หรือสมัยพระเจ้ากาวิละ? (1)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ข่าวเกรียวกราวในแวดวงประวัติศาสตร์ล้านนาที่ผงาดขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์หลายฉบับในรอบ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้คือ เรื่องการค้นพบ “เสาอินทขีล” 1 หลักในห้องเล็กๆ ปีกซ้าย (ทิศเหนือ) ของประตูท่าแพ

เป็นข่าวที่ทำให้หลายคนใจชื้นขึ้น เพราะนึกว่าเสาแท่งนี้ได้หายสาบสูญไปแล้วเชียว หลังจากที่ไม่มีใครพบนานมากเกือบ 40 ปี ซึ่งประเด็นการสืบเสาะค้นหาเสาอินทขีลลำบากยากเข็ญกว่าจะได้พบนั้น ท่านสามารถตามอ่านย้อนหลังได้จากข่าวหลายสำนัก ในที่นี้ดิฉันคงไม่จำเป็นต้องกล่าวซ้ำ

แต่สิ่งที่จะมาชวนขบชวนคิดก็คือ “แล้วเสาอินทขีลต้นนั้นมาได้อย่างไร ใครสร้าง เก่าหรือใหม่กว่าเสาอินทขีลในวัดเจดีย์หลวง?”

ก่อนจะวิเคราะห์ถึงประเด็นเหล่านี้ จำเป็นต้องย้อนกลับไปตั้งคำถามอีกหลายข้อซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกันทั้งสิ้น อาทิ เสาอินทขีลคืออะไรกันแน่? เสาอินทขีลกับ “สะดือเมือง” คือเรื่องเดียวกันหรือไม่? รวมไปถึงเสาอินทขีลในวัฒนธรรมล้านนามีมาตั้งแต่เมื่อไหร่?

จารึกเสาอินทขีล ประตูท่าแพ ด้านทิศใต้ (ด้านที่ 1) ด้านนี้มีตัวอักษรธัมม์ล้านนาเขียนตัวกลับตอนบนว่า “อินฺทขิล มงฺค(ล) โสตฺถิ” (ถอดความโดย รศ.เรณู วิชาศิลป์)

เสาอินทขีลคืออะไรกันแน่?

ความเห็นเรื่องความหมายของ “เสาอินทขีล” นี้ ยอมรับว่าได้รับคำตอบที่แตกออกเป็นสองแนวทางคู่ขนานกันมานานแล้ว

แนวทางแรก แปลตรงตัวว่า คือเสาที่พระอินทร์ประทานมาให้ชาวลัวะใช้เป็นหลักเมือง (อินท+ขีล อินท = พระอินทร์, ขีล = เสา)

ส่วนอีกความหมายหนึ่ง เมื่อเปิดพจนานุกรมล้านนา กลับแปลว่า เสาเขื่อนประตู, เขตบอกแดนเมือง

เห็นได้ว่าความหมายแรกนั้น เสาอินทขีลน่าจะตั้งอยู่ใจกลางเมือง และทำหน้าที่เป็น “หลักเมือง” ซึ่งต่างไปจากความหมายที่สองโดยสิ้นเชิง เพราะระบุแค่ว่าเป็นเสาที่บ่งบอกว่าท่านกำลังจะเข้าสู่เขตเมืองเมืองหนึ่งแล้ว

ตกลงความหมายไหนถูกกันแน่? “เสาอินทขีล” สิ่งเดียวกัน ทำไมจึงมีหลายความหมาย?

ขอตอบว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องไม่ง่าย ค่อนข้างยากสลับซับซ้อนทีเดียว ขอให้ทุกท่านใช้ความพยายามอ่านบทความชิ้นนี้ 2-3 ตอนให้จบ แล้วจะพบคำตอบร่วมกัน

เบื้องแรกนี้ ขอสรุปสั้นๆ ก่อนว่า ความหมายของเสาอินทขีลนั้น น่าจะถูกต้องทั้งสองทฤษฎี ในยุคแรกสมัยล้านนา ความหมายละม้ายว่าค่อนข้างสอดคล้องกับทฤษฎีที่สอง ต่อมาในยุคฟื้นฟูล้านนาเมื่อสองร้อยปีที่ผ่านมา ความหมายของเสาอินทขีลค่อยๆ เคลื่อนมาเป็นรัยยะของทฤษฎีแรกอย่างชัดเจนขึ้น

อดใจรอประมวลคำอธิบายไปเรื่อยๆ พร้อมๆ กันนะคะ คำตอบจักค่อยๆ ตามมาในตอนต่อๆ ไป

จารึกเสาอินทขีล ประตูท่าแพ ด้านทิศเหนือ (ด้านที่ 2) เป็นด้านที่มีการเขียนตัวเลข 829 จะหมายถึง จ.ศ. หรือไม่ และด้านนี้เองเขียนดวงยันต์คาถาของสังฆราชสุก ไก่เถื่อน

เสาอินทขีลกับ “สะดือเมือง” คือเรื่องเดียวกันหรือไม่?

คนเชียงใหม่สับสนงุนงงกันมานานแล้วระหว่างคำว่า “เสาอินทขีล” กับจุดที่เป็น “สะดือเมือง” สิ่งหนึ่งเป็นแท่งตั้งพุ่งขึ้นสู่ฟ้า อีกสิ่งหนึ่งบุ๋มลงล่าง

เหตุที่วัดร้างในใจกลางเชียงใหม่แห่งหนึ่งมีชื่อว่า “วัดอินทขีลสะดือเมือง” (วัดที่มีวิหารหลวงพ่อขาวตั้งอยู่บนถนน ด้านทิศใต้ของหอศิลป์สามกษัตริย์) บางครั้งเรียก วัดสะดือเมืองอินทขีล บางครั้งใส่วงเล็บชื่อหนึ่งไว้ เรียกเพียงชื่อเดียว บ้างว่าชื่อหนึ่งเป็นชื่อเก่า อีกชื่อเป็นชื่อใหม่

นี่คือสิ่งที่สร้างความพิศวงงงงวยให้แก่ชาวเชียงใหม่มานานหลายทศวรรษ ซ้ำยังกล่าวกันอีกด้วยว่า “เสาอินทขีล” ที่อยู่วัดเจดีย์หลวงต้นปัจจุบันนั้น พระญากาวิละย้ายมาจากวัดร้างแห่งนี้นั่นเอง

ทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า ยุคแรกสร้างเมืองเชียงใหม่ปี 1839 พระญามังรายปฐมกษัตริย์น่าจะได้ปักเสาอินทขีล 1 ต้น เสมือนเสาหลักเมือง ณ บริเวณจุดที่เป็นสะดือเมืองด้วยกระมัง กระทั่งบ้านเมืองร้างไปช่วงพม่าเข้าปกครองอยู่นานกว่า 200 ปี ครั้นพระเจ้ากาวิละมาฟื้นเมือง จึงได้ถอนเสาอินทขีลจากจุดเดิมมาปักไว้ ณ สถานที่แห่งใหม่ คือบริเวณวัดเจดีย์หลวง?

นี่คือความเชื่อของคนส่วนใหญ่ที่คิดแบบนี้ ชวนให้ตั้งคำถามว่าเป็นความจริงล่ะหรือ? มีหลักฐานอะไรที่ระบุไว้บ้างไหมว่าพระญามังรายเคยปักเสาอินทขีลกลางเวียงเชียงใหม่?

คำตอบคือไม่มี!

อ้าว! ทำไมเป็นเช่นนั้น แล้วคำว่า “สะดือเมือง” เล่า มีการกล่าวถึงช่วงพระญามังรายสร้างเมืองไหม?

คำตอบคือมี!

มีการเรียกสะดือเมืองว่า “สายดือเมือง” พระญามังรายได้ใช้แนวคิดการเรียกส่วนต่างๆ ของเวียงแทนอวัยวะของร่างกาย ทิศเหนือแถบประตูช้างเผือกเรียก หัวเวียง ใจกลางเวียงเรียก “สายดือเมือง/สะดือเวียง” ซึ่งไม่ได้จำเป็นต้องลากเส้นผ่าศูนย์กลางให้อยู่ใจกลางเป๊ะ (จุดที่อยู่กึ่งกลางเมืองเชียงใหม่เป๊ะพอดีนั้น จะตรงกับที่ตั้งของวัดชัยพระเกียรติ)

สรุปว่า แนวคิดการกำหนดจุดกึ่งกลางเวียงเชียงใหม่ของพระญามังรายมีการใช้ “สะดือเมือง” นี่แน่นอน แต่กลับไม่พบว่ามีการสร้างเสาอินทขีล!

ประเด็นนี้ยังเป็นปริศนามากๆ ซึ่งคงต้องรอการชำระสะสางในเวทีสัมมนาของปราชญ์ผู้รู้กันอีกสักครั้ง เนื่องจากเมื่อดิฉันได้สัมภาษณ์ อาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ ท่านให้ความเห็นว่า สมัยพระญามังรายยังไม่น่าจะมีแนวคิดเรื่องการบูชาเสาอินทขีลในสถานะ “หลักเมือง” แต่ความหมายของอินทขีลยุคล้านนาอาจจะหมายถึง เสาเขื่อนประตูต่างๆ มากกว่า ดังที่ยังเหลือร่องรอยตามประตูเมืองสวนดอก

ครั้นเมื่อได้ขอความรู้จาก “พ่อหนานศรีเลา เกษพรหม” ปราชญ์ใหญ่ด้านล้านนาอีกท่านหนึ่ง คุณพ่อศรีเลากลับให้ความเห็นว่า แม้ไม่มีหลักฐานเรื่องการฝังเสาอินทขีลในสมัยพระญามังราย ปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ก็จริงอยู่ แต่บางทีการที่โบราณาจารย์ไม่ได้บันทึกไว้นั้น ก็เป็นไปได้สองกรณี

1. ยังไม่เคยมีการฝังเสาอินทขีลจริงๆ ในสมัยของพระญามังราย

หรือ 2. อาจมีการฝังแต่เป็นที่รับรู้กันของคนในยุคนั้น จึงไม่ได้บันทึก

เห็นได้ว่า นี่คือความยากของการศึกษาเรื่อง “เสาอินทขีล” ในเชียงใหม่ ว่ามีจุดกำเนิดมาได้อย่างไร เก่าถึงยุคพระญามังรายหรือไม่ ก็ยังยากที่จะหาคำตอบได้แน่ชัด

เอาเป็นว่า ณ ตอนนี้ ขอให้เราแยกสองสิ่งนี้ออกจากกันก่อน

1. สะดือเมือง เป็นคติที่ล้านนาน่าจะรับสืบทอดมาจากอารยธรรมหริภุญไชย

2. เสาอินทขีล ไม่น่าจะเป็นเรื่องเดียวกัน และไม่น่าจะมีการปักเสาหลักเมืองที่ชื่อว่า อินทขีล ในเชียงใหม่ตั้งแต่สมัยพระญามังราย

วิหารหลวงพ่อขาว เดิมเป็นวัดร้าง เรียกวัดสะดือเมืองอินทขีล เพิ่งได้รับการฟื้นขึ้นมาใหม่ไม่เกิน 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

เสาอินทขีลเก่าถึงสมัยพระเจ้าติโลกราชไหม?

จารึกเสาอินทขีลที่ประตูท่าแพหลักที่กำลังเป็นข่าวอยู่นี้ มีข้อถกเถียงเรื่องการกำหนดอายุสมัยสองกระแส

กระแสแรก จากการสัมภาษณ์คุณพ่อศรีเลา ท่านเล่าว่าช่วงปี 2529 ก่อนจะมีการบูรณะประตูท่าแพ หรืออันที่จริงควรเรียกว่าสร้างใหม่เกือบทั้งหมดมากกว่า แล้วต้องย้ายเสาอินทขีลต้นนั้นไปเก็บรักษาชั่วคราวที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่

พ่อหนานปวงคำ ตุ้ยเขียว ผู้ช่วยอ่านจารึกล้านนาให้ ดร.ฮันส์ เพนธ์ แห่งสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยุคนั้น ได้ทำการอ่านข้อความในจารึกแบบคร่าวๆ โดยพบตัวเลขเขียนว่า 829 จึงตีความว่าอาจเป็น จ.ศ.829 หากเป็นจุลศักราชจริง เอา 1181 เข้าไปบวก ก็จะตรงกับ พ.ศ.2010 ซึ่งเป็นช่วงที่ พระเจ้าติโลกราช ปกครองล้านนา

“แล้วทำไมอยู่ดีๆ พระเจ้าติโลกราชต้องมาสร้างเสาอินทขีลด้วยคะ?” ดิฉันถามคุณพ่อศรีเลา ท่านอธิบายว่า

“อย่าลืมว่า สมัยของพระองค์นั้นมีศัตรูไม้เบื่อไม้เมาคือพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา ส่งหมอไสยศาสตร์ หรือชีม่าน มาทำอาถรรพ์ข่มพระองค์และเมืองเชียงใหม่ จนเสียผู้เสียคน ฆ่าลูกฆ่าขุนนางเป็นว่าเล่น เป็นไปได้ว่าเมื่อทรงถอนขึดจากชีม่านได้แล้ว พระองค์อาจมีแนวคิดที่อยากจะปักเสาอินทขีลขึ้นมาใหม่เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้ชาวเชียงใหม่ฟื้นฟูชีวิตจิตใจอีกครั้ง อันนี้พ่อสันนิษฐานนะ มันไม่มีหลักฐานอีกเช่นกัน ว่าพระเจ้าติโลกราชเคยฝังเสาอินทขีลในเชียงใหม่หรือไม่ อย่างไร

แต่จะให้พ่อตีความเป็นอื่นใดได้ล่ะหรือ ในเมื่อตัวเลขที่ปรากฏบนจารึกเสาอินทขีลที่ประตูท่าแพนั้น มันตรงกับพุทธศักราช 2010

วัดสะดือเมืองมีความน่าสนใจมาก เพราะมีเจดีย์รุ่นเก่าถึงสององค์ องค์แปดเหลี่ยมปัจจุบันอยู่ในหอศิลป์ ส่วนเจดีย์ทรงระฆังอยู่ด้านหลังวิหารหลวงพ่อขาว ทั้งสององค์ อ.จิรศักดิ์ เดชวงศ์ญา นักประวัติศาสตร์ศิลป์ล้านนา เคยพาบรรยายนำชม ชี้ว่ามีจุดที่เก่าแก่ถึงสมัยพระญามังรายหรือล้านนาตอนต้นทั้งคู่

ประเด็นตัวเลขอักษรธัมม์ล้านนานี้ก็เช่นกัน มีคนถามพ่อกันมากว่า เราเคยพบเลขที่เขียนด้วยอักษรนี้ชิ้นเก่าที่สุดในล้านนาปีไหน เท่าที่มีก็คือ จารึกบนฐานพระเจ้าอุ้มบาตรวัดเชียงหมั้น มีตัวเลข 827 (พ.ศ.2008) ปรากฏอยู่ เขียนก่อนจารึกอินทขีลประตูท่าแพ 2 ปี ซึ่งลีลาการกาตวัดหางม้วนหัวตัวเลขของจารึกสองแห่งนี้คล้ายกัน เพราะทำขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราชเหมือนกัน

ส่วนตัวอักขระที่เขียนกลับด้าน (เวลาอ่านต้องใช้กระจกส่อง) อยู่ในวงกลม คล้ายดวงยันตร์หลายวงนั้น เป็นการเขียนคาถาอาคม ตามรสนิยมของพระเจ้าติโลกราชที่สนใจเรื่องคาถาต่างๆ พบว่าจารึกด้านทิศใต้ (ด้านที่ 1) เขียนคาถาชินบัญชร หรือไชยยะเบ็งชร อันเป็นคาถาที่แต่งในสมัยพระเจ้าติโลกราชเอง

แต่จารึกด้านทิศเหนือ (ด้านที่สอง) นี่สิ ด้านที่มีตัวเลขซึ่งสันนิษฐานว่าเป็น จ.ศ. ถ้อยคำมีกลิ่นอายของภาษาทางใต้คืออยุธยาเข้ามาผสม ซึ่งไม่ต้องแปลกใจแต่อย่างใดเลย เหตุที่คนใกล้ตัวพระเจ้าติโลกราชหลายคนก็ขึ้นมาจากทางใต้ ไม่ว่าแม่ท้าวหอมุขที่เป็นสนมเอก หรือพระญายุธิษเสถียรเอง ที่เป็นลูกพี่ลูกน้องกับพระบรมไตรโลกนาถ

สมัยที่พ่อหนานปวงคำปริวรรตกันนั้นค่อนข้างเร่งรีบและนานมากแล้ว ตอนนี้พ่อกำลังขอให้ผู้รู้ช่วยกันแปลใหม่อีกครั้งเพื่อสอบทานความถูกต้อง”

ครั้นเมื่อดิฉันได้ถามความเห็นของ อาจารย์ภูเดช แสนสา นักประวัติศาสตร์ล้านนาอีกผู้หนึ่งที่เกาะติดสถานการณ์เกี่ยวกับจารึกหลักนี้ กลับมีความเห็นตรงกันข้ามว่า

“ยันต์ที่เขียนนั้น มีข้อสังเกตว่าเป็นคาถาย่อเหมือนกับคาถาของสมเด็จพระสังฆราชสุก ไก่เถื่อน สมัยต้นรัตนโกสินทร์นี่เอง (เป็นสังฆราชระหว่าง พ.ศ.2363-2365 ดังนั้น จารึกหลักนี้ไม่น่าจะเก่าถึงสมัยพระเจ้าติโลกราชได้ ส่วนตัวเลข 829 ที่ปรากฏขึ้นมาลอยๆ นั้น ไม่ได้มีการระบุว่าเป็นจุลศักราช ผิดกับจารึกหลักอื่น เรื่องนี้ผมว่าสนุก ยังต้องมีการศึกษาตีความกันอีกหลายมิติทีเดียว”

สัปดาห์หน้า การวิเคราะห์เจาะลึกปริศนาเรื่องเสาอินทขีลจะยิ่งเข้มข้นขึ้น โปรดติดตาม •

วัดสะดือเมืองมีความน่าสนใจมาก เพราะมีเจดีย์รุ่นเก่าถึงสององค์ องค์แปดเหลี่ยมปัจจุบันอยู่ในหอศิลป์ ส่วนเจดีย์ทรงระฆังอยู่ด้านหลังวิหารหลวงพ่อขาว ทั้งสององค์ อ.จิรศักดิ์ เดชวงศ์ญา นักประวัติศาสตร์ศิลป์ล้านนา เคยพาบรรยายนำชม ชี้ว่ามีจุดที่เก่าแก่ถึงสมัยพระญามังรายหรือล้านนาตอนต้นทั้งคู่

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ