กาดงัว

กาดงัว อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “กาดงัว”

 

“กาด” หมายถึง ตลาด “งัว” หมายถึง วัว
“กาดงัว” คือ ตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนวัว

สำหรับที่มาของชื่อเริ่มแรกเป็นพื้นที่ที่มีกิจกรรมซื้อขายวัวอย่างเดียว ในอดีต ชาวล้านนาส่วนใหญ่ทำไร่ทำสวน ต้องใช้วัว ควายกันแทบทุกครัวเรือน วัวจึงเป็นสัตว์เลี้ยงที่มากประโยชน์ ทั้งไว้ ลากล้อ (เทียมเกวียน) ไถนา และเป็นอาหาร ถือเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง เป็นที่ต้องการของคนโดยทั่วไป ใช้เป็นทรัพย์แลกเปลี่ยนของมีค่าอื่น เช่น แลกเป็นเงิน ทอง หรือของใช้ สัตว์เลี้ยงชนิดอื่น

ควายเป็นสัตว์เลี้ยงขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าสูงและมากประโยชน์เช่นเดียวกับวัว แต่จะมีราคาสูงกว่า

สัตว์ใช้งานที่มีราคาสูงสุด คือ ช้าง ซึ่งผู้ครอบครองจะมีฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับสูง เช่น เจ้า และคหบดี

 

กาดงัวเป็นตลาดนัดที่เริ่มจากการซื้อขายแลกเปลี่ยนวัวยุคแรกๆ ภายหลังสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นได้ถูกนำมาซื้อขายในกาดงัวมากขึ้น เช่น ควาย หมู ไก่ เป็ด ช้าง ม้า ลา ฯลฯ

และตั้งอยู่ในที่เหมาะสมของชุมชนใหญ่ที่เข้าถึงง่าย เชื่อมต่อทางสัญจรสู่เมืองและชุมชนอื่นๆ โดยสะดวก

ราวปี พ.ศ.2478 ตลาดนัดวัวควายแห่งแรกมีขึ้นที่บ้านป่ายาง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ มีทุกวันอังคาร

ตลาดแห่งที่สองเกิดขึ้นมาตอนปี พ.ศ.2488 ที่บ้านแม่ย่อย อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ โดยมีตลาดทุกวันจันทร์และศุกร์

ต่อมาตลาดนัดวัวควายได้ขยายตัวออกไปยังจังหวัดอื่น แต่จะสับหลีกวันไม่ให้ตรงกัน

ปัจจุบันตลาดทุ่งฟ้าบด อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ถือเป็นตลาดนัดวัวควายใหญ่ที่สุดที่ยังมีการซื้อขายวัวควายกันอยู่ มีทุกวันเสาร์

จังหวัดอื่นในภาคเหนือมีตลาดนัดเหมือนกันแต่จะเป็นตลาดที่เล็กกว่า เช่น กาดงัวเวียงหนองล่อง กาดงัวเชียงราย กาดงัวเชียงบาน (เชียงคำ) กาดงัววังทอง (พะเยา) กาดงัวลำปางหลวง (เกาะคา)

ปัจจุบันพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างมีกาดงัว เช่น กาดงัววังประจบ (ตาก) กาดนัดดอนโก (ศรีสำโรง)


อ่านว่า กาดงัวบ่ใจ้มีขายก้างัวเน่อ
แปลว่า กาดงัวไม่ได้มีขายแค่วัวนะ

สังคมล้านนาโบราณเกินกว่าหนึ่งร้อยปีก่อน ผู้ชายมีบทบาทในการควบคุมการเลี้ยงสัตว์ใหญ่ รวมทั้งการนำไปแลกเปลี่ยนซื้อขาย ซึ่งต้องต้อนสัตว์ออกจากหมู่บ้านไปที่ต่างๆ

ผู้ชายอย่างน้อยหนึ่งคนหรือหลายคนจะช่วยกันต้อนวัวควายไปซื้อขายต่างแดน

“นายฮ้อย” เป็นอาชีพวิถีของผู้ชายในการนำวัว ควาย ฯลฯ ไปซื้อขาย ไปไกลบ้านต่างแดน ต้องมีความสามารถในการปกป้องอันตรายจากโจรปล้นและสัตว์ร้ายต่างๆ ความสามารถด้านการต่อสู้ป้องกันตัว มีวิชา คาถา และการมียันต์ เครื่องราง ของขลังต่างๆ

อาชีพนายฮ้อยนับว่าเป็นอาชีพมีเกียรติ มีฐานะน่าภูมิใจ

ภายหลังเมื่อเริ่มมีกาดงัว กาดนัด อาชีพขายวัว ควาย ที่ยังเป็นที่นิยมอยู่ได้ปรับตัวมานัดแนะซื้อขายกันในกาดงัว รวมทั้งเกิดพ่อค้าขายหมู ขายไก่ เป็ด ฯลฯ

กาดงัวเริ่มมีกิจกรรมตั้งแต่การเตรียมสินค้ามาตั้งแต่ยามดึกหรือเช้ามืด พ่อค้าวัว ควาย จะมานอนค้างแรมที่ข่วงกาดจนรุ่งเช้าเมื่อมีลูกค้าผู้คนเข้ามาซื้อขาย

พัฒนาการของกาดงัวมีมาราว 80 ปี กาดงัวกลายเป็นตลาดนัดขนาดใหญ่โดยเฉพาะที่ทุ่งฟ้าบด ไม่ได้มีเพียงแต่พ่อค้าผู้ชาย แม่ค้าก็มาค้าขายสินค้า ผู้คนหลายเพศหลายวัยขายของหลากประเภทราวห้างใหญ่ สินค้ามีตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันรถบรรทุก มีบริการและกิจกรรมต่างๆ เช่น ศูนย์รวมอาหาร สมุนไพร ตัดผม เสริมความงาม กีฬาพื้นบ้าน และความบันเทิง

นอกจากเป็นที่ซื้อขายแล้ว กาดงัวยังเป็นพื้นที่พบปะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนข่าวสาร ความรู้ เรื่องราวต่างๆ ของผู้คนในและต่างถิ่น

เป็นสถานที่มีชีวิตชีวา เพลิดเพลิน และสนุกสนาน เป็นที่บันทึกเรื่องราว ความทรงจำ และสะท้อนวิถีชีวิตคนเมืองล้านนาที่หนึ่ง •