จีนขาลง : ข้อทักท้วงของริชาร์ด แม็กเกรเกอร์ (จบ)

เกษียร เตชะพีระ

ริชาร์ด แม็กเกรเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญจีนและเอเชียตะวันออกสังกัดสถาบัน Lowy Institute ของออสเตรเลีย ได้ให้สัมภาษณ์ จีเดียน ราคมัน แห่ง น.ส.พ. The Financial Times เมื่อกุมภาพันธ์ศกนี้ โดยทักท้วงข้อเสนอ “จีนสุดยอด -> จีนขาลง” และขมวดสรุปเกี่ยวกับบทบาทของสองอภิมหาอำนาจในการเมืองโลกปัจจุบัน ดังนี้ :-

โครงการ BRI เดิมจบแล้ว & ขั้นตอนแผ่ขยายมิตรานุภาพ (soft power) ของจีน

จีเดียน ราคมัน : คุณพูดถึงเกมการทูตอันช่ำชองยิ่งที่จีนเล่น ทว่า จีนไม่ได้มีอิทธิพลอยู่เฉพาะในเอเชียอาคเนย์ หากเอาเข้าจริงมันแผ่ขยายไปทั่วโลกไม่ใช่หรือครับ อย่างเช่น ในทวีปแอฟริกา ซึ่งอาจแปลออกมาง่ายๆ เป็นปริมาณเงินที่จีนนำไปลงทุนที่นั่นได้? อเมริกาอาจเป็นประเทศร่ำรวยยิ่ง แต่ดูเหมือนมันจะค่อนข้างกระเป๋าแห้งในเรื่องการเสนอให้ทุนอุดหนุนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในประเทศต่างๆ ขณะที่จีนเที่ยวหว่านเงินไปทั่ว

ริชาร์ด แม็กเกรเกอร์ : ใช่ครับ นั่นจริงแหงแก๋ทีเดียว และจะว่าไปถ้าหากจีนลงทุนในแอฟริกาแล้ว ทำไมมันจะเป็นเรื่องเลวร้ายด้วยล่ะ? หรือถ้าจีนสร้างสิ่งต่างๆ ที่เหล่าประเทศแอฟริกาหรือประเทศเอเชียทั้งหลายต้องการ ทำไมมันจะเลวร้ายด้วยหรือ?

ดังนั้น ผมไม่คัดค้านการลงทุนของจีนนะครับ แต่ผมคิดว่าตอนนี้เรามาถึงขั้นตอนที่แตกต่างไปของเรื่องนั้นแล้ว คือเราแทบจะมาถึงโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง 3.0 ก็ว่าได้ครับ

ส่วนแรกของโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative – BRI) ที่ถูกประกาศออกมาเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2013 น่ะเป็นเรื่องเงินไหลทะลักออกนอกประตูครับ มันเริ่มหดลดลงในปี 2018 เมื่อจีนแอบประเมินผลโครงการนี้ใหม่อยู่เงียบๆ และตระหนักว่ามันสิ้นเปลืองเงินทองมหาศาล

ผมคิดว่าเรื่องใหญ่โตส่วนหนึ่งซึ่งถูกประเมินไว้ต่ำไปของโครงการนี้ก็คือภายในประเทศจีนเอง ได้เกิดปฏิกิริยาสวนกลับต่อต้าน BRI ขนานใหญ่ในหมู่คนจนของจีนซึ่งพากันบ่นว่าทำไมเราถึงดันไปใช้จ่ายเงินในแอฟริกาล่ะ? บวกกับกระทรวงการคลังจีนก็บอกด้วยว่ามันช่างสิ้นเปลืองเงินทองอะไรอย่างนี้ แล้วก็มาเกิดโควิดระบาด ทีนี้คุณจึงได้เห็นการลงทุน BRI ลดต่ำลงฮวบฮาบอย่างรวดเร็วจริงๆ

ดังนั้น หลังจากได้ช่วยลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานตามประเทศต่างๆ ไว้มากมาย จีนจึงกลายเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่มหาศาลแล้วตอนนี้ จีนมีประเด็นปัญหาต่างๆ ดังกล่าวกับแซมเบียเอย ยูกันดาเอย ศรีลังกาเอย กัมพูชาเอย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับลาว แล้วมันก็ไม่ใช่เป็นแค่เรื่องที่จีนใช้จ่ายเงินนะครับ มันยังเป็นเรื่องประเทศอื่นๆ ชำระเงินคืนด้วย

ฉะนั้น ประเทศเหล่านั้นจึงย่อมมีทัศนะต่อเรื่องดังกล่าวแตกต่างจากจีนอย่างยิ่ง

 

และทีนี้ถ้าคุณหันมาดูเอเชียอาคเนย์เป็นตัวอย่างนะครับ เอาเข้าจริงจีนเป็นผู้ปล่อยเงินให้กู้ยืมแบบทวิภาคีรายใหญ่ที่สุดในลักษณะครอบงำแก่สามประเทศด้วยกัน ได้แก่ อินโดนีเซีย กัมพูชาและลาว

และถ้าคุณเพิ่มผู้ให้กู้ยืมรายอื่นเข้าไปได้แก่ธนาคารโลกเอย ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียเอย ญี่ปุ่นเอย เกาหลีใต้เอย ยุโรปเอย และอเมริกา อีกนิดหน่อย ก็จะเห็นได้นะครับว่ามันเป็นเรื่องที่ประชันขันแข่งแก่งแย่งกันอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อเงินกู้จากจีนกำลังจะต้องพุ่งเป้าให้เฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้นแล้วตอนนี้

ฉะนั้น ผมคิดว่าโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางแบบที่เราเคยรู้จักนั้นมันจบแล้ว แต่ผมคิดว่าจีนฉลาดอย่างยิ่งเลยครับ จีนคิดสะระตะไว้ล่วงหน้าแล้วเกี่ยวกับเรื่องนี้ และฉะนั้น แทนที่จะพูดถึงแต่เรื่องเงินทอง ทุกวันนี้จีนหันไปพูดเรื่องความคิดครับ และความคิดน่ะมันทรงอานุภาพได้มหาศาลเลยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นความคิดเรื่องโครงการริเริ่มความมั่นคงโลกเอย โครงการริเริ่มการพัฒนาโลกเอย หรือโครงการริเริ่มอารยธรรมโลกเอย ถ้าคุณอ่านทั้งหมดทั้งมวลซึ่งเป็นข้อเสนอแนะทางความคิดของจีนเหล่านี้ละก็ คุณมีหวังผล็อยหลับแน่

แต่ทราบไหมครับ นี่น่ะมันเป็นเรื่องระเบียบโลกใหม่แบบคู่ขนานที่มาเป็นคู่แข่งประชันกับระเบียบโลกเดิมของอเมริกา และจีนก็บอกกับบรรดาประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายแหล่หรือแม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศในทำนองว่า :

พวกอเมริกันน่ะเขาไม่แคร์พวกคุณหรอก แต่เราต่างหากที่จะจัดวางพวกคุณไว้ตรงศูนย์กลางของระเบียบโลกชนิดที่เรากำลังสร้างขึ้น เราจะให้ความสำคัญแก่พวกคุณเป็นอันดับแรกเลยล่ะ

 

และฉะนั้น ถึงแม้ขั้นตอนปล่อยเงินกู้ขนานใหญ่จะจบลงแล้ว แต่ขั้นตอนเผยแพร่ความคิด แข่งขันกันทางความคิดนั้น ผมว่าตอนนี้เราอยู่กึ่งกลางของขั้นตอนนั้นครับ และเราไม่ควรประเมินอำนาจของสิ่งที่จีนพูดต่ำไป ในเอเชียอาคเนย์เช่นเดียวกับที่อื่นๆ ในโลก มันมีอารมณ์ความรู้สึกต่อต้านอาณานิคม ต่อต้านอเมริกัน ต่อต้านจักรวรรดินิยม และบางทีก็ต่อต้านคนผิวขาวด้วยหลงเหลือตกค้างอยู่มากนะครับ และจีนก็กำลังเล่นกับสิ่งนั้นด้วยความช่ำชองยิ่งเลยล่ะผมว่า

จีเดียน ราคมัน : ถ้าว่าตามที่คุณพูด จีนก็มีบางอย่างที่ตะวันตกไม่ได้คำนึงถึงมากนัก กล่าวคือ จีนมีมิตรานุภาพ (soft power คำแปลของราชบัณฑิตยสถาน) จริงๆ ในภูมิภาคของตนซีนะครับ

ริชาร์ด แม็กเกรเกอร์ : ใช่ครับ ในแง่หนึ่งมันเป็นมิตรานุภาพ ก็มีคำนิยามอำนาจนั้นต่างๆ กันไป มันไม่ใช่หนังจีนหรือละครน้ำเน่าจีน แต่หากหมายถึงมิตรานุภาพทางการเมือง (political soft power) ละก็ ผมว่าจีนมีแน่นอน ถ้านั่นไม่ใช่ศัพท์ที่ฟังดูขัดแย้งกันในตัวเองนะครับ

พลานุภาพ (hard power) ของจีนโดยเปรียบเทียบ

 

จีเดียน ราคมัน : เรามาจบการสัมภาษณ์ด้วยเรื่องที่ผู้คนในแวดวงทางการในวอชิงตัน ดี.ซี. และออสเตรเลียออกจะหมกมุ่นฝังหัวกันบางระดับนะครับ ได้แก่เรื่องพลานุภาพ (hard power)

ถึงบัดนี้จีนก็สร้างเสริมกำลังทหารมาร่วม 20 ปีแล้ว มีการตื่นตัวระวังระไวกันสูงขึ้นเกี่ยวกับเรื่องที่ว่าอาจเกิดอะไรขึ้นได้ในกรณีไต้หวัน แล้วบรรดาประเทศเอเชียอาคเนย์ทั้งหลายน่ะห่วงใยเรื่องนี้พอๆ กับที่พวกอเมริกันและชาวออสเตรเลียห่วงใยหรือเปล่า? หรือว่าพวกเขาออกจะห่วงมันน้อยกว่าสักหน่อย? และใครฝ่ายไหนกันที่คิดถูกเรื่องนี้? ผมหมายความว่าเราควรกังวลเกี่ยวกับเจตนาท้ายที่สุดของจีนมากน้อยแค่ไหนน่ะครับ?

ริชาร์ด แม็กเกรเกอร์ : คืออย่างนี้นะครับ ถ้าคุณกังวลว่าจีนจะเข้ายึดไต้หวันหรือไม่ ถ้าคุณกังวลว่าจีนจะเข้าครอบงำ และลาดตระเวนตรวจตราทะเลจีนใต้หรือเปล่าละก็ คุณควรจะกังวลมากๆ เลยครับ เพราะนั่นคือสิ่งที่จีนอยากจะทำ และในแง่นั้นไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเด็ดขาด นั่นเป็นความทะยานอยากของเหล่าผู้นำจีนก่อนสี จิ้นผิง ด้วยซ้ำ

แล้วข้อแตกต่างใหญ่ในกรณีสี จิ้นผิง อยู่ตรงไหนล่ะ? ใช่ครับว่าเขาเป็นคนปากกล้าเสียงแข็ง แต่เขาก็คล้ายๆ ผู้นำจีนคนอื่นในหลายแง่ด้วยกันนั่นแหละ

ข้อแตกต่างใหญ่อยู่ตรงบัดนี้ สี จิ้นผิง มีอำนาจการยิงที่จะดำเนินสิ่งที่พวกเขาอยากทำมาแต่ไหนแต่ไรแล้วต่างหาก

 

จีนได้แปลอำนาจทางเศรษฐกิจให้กลายเป็นแสนยานุภาพ พวกเขามีกำลังนาวีที่มีจำนวนมากกว่าสหรัฐโขแล้ว

จริงอยู่ที่ว่าสหรัฐอาจมีเทคโนโลยีดีกว่า ฝึกซ้อมรบบ่อยกว่า ประสานปฏิบัติการกับกองกำลังเหล่าอื่นๆ ได้คล่องตัวกว่า แต่ผมคิดว่าจีนครองฐานะครอบงำในอาณาบริเวณรอบไต้หวันได้แล้ว นั่นมันค่อนข้างเห็นได้ชัดเลยครับ แล้วนั่นหมายความว่าจีนจะสามารถรุกรานไต้หวันได้อย่างง่ายดายด้วยไหม? ผมคิดว่าไม่หรอกครับ แต่เรื่องนั้นน่ะไว้อภิปรายกันวันหลังอีกที

อเมริกาพร่ำพูดว่าการที่จีนเผยออำนาจขึ้นมานั้นมันสั่นคลอนเสถียรภาพ ส่วนออสเตรเลียก็พูดเรื่องนี้น้อยลงแล้วทุกวันนี้ แต่ผมคิดว่าในเอเชียอาคเนย์น่ะ ผู้คนมักบอกว่าสิ่งที่สั่นคลอนเสถียรภาพไม่ใช่การเผยออำนาจขึ้นมาของจีนหรอก แต่คือการแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีนต่างหาก

และจีนก็เก่งมากในการวาดภาพพวกอเมริกันว่าเป็นมหาอำนาจภายนอกที่คอยยั่วยุหาเรื่อง

 

ผมคิดว่ารัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ทำได้ดีมากที่เข้าติดต่อพัวพันกับจีนเมื่อเร็วๆ นี้ และผลส่วนหนึ่งของการนั้นคือมันทำให้พวกอเมริกันดูเป็นตัวยั่วยุหาเรื่องน้อยลง แต่จีนก็ยังคงวาดภาพสหรัฐว่าเป็นคนนอกยิ่งขึ้นเรื่อยๆ แถมตอนนี้จีนยังมีกำลังทหารที่จะบังคับให้เป็นไปตามนั้นอีกด้วย

เท่าที่ผมพอมองออกบอกได้นะครับ ในกรณีใดๆ เกี่ยวกับไต้หวันแล้ว บรรดาประเทศเอเชียอาคเนย์จะนั่งดูเฉยๆ พวกเขาจะนั่งอยู่บนรั้วแหละครับ

คุณมีแนวทางให้เลือกอยู่สองแนวคือ จะหาหลักประกันความเสี่ยงหรือจะถ่วงดุลอำนาจ ประเทศต่างๆ อย่างออสเตรเลียนั้นเดินแนวทางถ่วงดุลอำนาจ โดยฝักใฝ่เข้าข้างสหรัฐ เหมือนกับที่ญี่ปุ่นทำและเกาหลีใต้ทำในบางระดับน่ะแหละครับ

ส่วนบรรดาประเทศเอเชียอาคเนย์แล้ว พวกเขาเดินแนวทางหาหลักประกันความเสี่ยงครับ พวกเขาไม่เสนอตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งใดๆ

แต่ถึงกระนั้น แน่ล่ะว่าจุดอ่อนในข้อถกเถียงของเหล่าประเทศเอเชียอาคเนย์ก็คือข้อพิพาทเรื่องอาณาเขตที่พวกเขาบางประเทศมีกับจีน และเรื่องที่ว่าประชากรของพวกเขาเองจะเริ่มลุกขึ้นมาและสร้างเงื่อนไขทางการเมือง ให้ประเทศเหล่านี้เปิดฉากท้าทายจีนในกรณีการล่วงล้ำเข้ามาในเขตน่านน้ำของพวกเขาหรือไม่

ตอนนี้เราเห็นอะไรทำนองนั้นนิดหน่อยในฟิลิปปินส์ แต่ฟิลิปปินส์นั้นเอาเข้าจริงไม่มีสมรรถภาพจะลากดึงเอาประเทศอื่นในเอเชียอาคเนย์ให้มาร่วมประจันหน้ากับจีนด้วย

แต่ถ้าประเทศเอเชียอาคเนย์ทั้งหมดชักเกิดโกรธเคืองเรื่องนี้ขึ้นมาละก็ ผมคิดว่าสถานการณ์จะดูต่างออกไปมากทีเดียวครับ