ยุทธการ 22 สิงหา : กระแสโค่น สมัคร สุนทรเวช ป้อมค่าย แตกจาก ‘ภายใน’

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

การเคลื่อนไหวของกลุ่มอำนาจรัฐ “พันลึก” นับแต่พรรคพลังประชาชนจัดตั้งรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 เป็นต้นมา

ยุทธวิธี คือ บ่อนเซาะ ยุทธศาสตร์ คือ โค่น

ดำรงจุดมุ่งหมายทั้งในทางยุทธศาสตร์และในทางยุทธวิธีเช่นเดียวกันกับที่เคยกระทำต่อรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

บ่อนเซาะจาก “สภา” ค่อยๆ ขยายไปยัง “รัฐบาล”

เห็นได้จากการเล่นงาน นายยงยุทธ ติยะไพรัช เห็นได้จากการเล่นงาน นายจักรภพ เพ็ญแข เห็นได้จากการเล่นงาน นายนพดล ปัทมะ

แต่ที่กระทำอย่างต่อเนื่องยังเป็น “ด้อยค่า” นายสมัคร สุนทรเวช

ความหวังของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่จะอาศัยบารมีเก่าของ นายสมัคร สุนทรเวช ที่สะสมตั้งแต่ยุคเป็นพรรคประชาธิปัตย์ต่อเนื่องมายังยุคเป็นพรรคประชากรไทย

แทบไม่มีความหมาย

 

ด่านแรกสุดคือการพุ่งปลายหอกเข้าใส่ยอดอก นายสมัคร สุนทรเวช ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

อาศัย “ศาลรัฐธรรมนูญ” เป็น “อาวุธ”

มติของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 9 กันยายน 2551 คือคำวินิจฉัยอย่างเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0

ให้ นายสมัคร สุนทรเวช ขาดคุณสมบัติการเป็น “นายกรัฐมนตรี”

จากการเป็นพิธีกรในรายการ “ชิมไปบ่นไป” และรายการ “ยกโขมงหกโมงเช้า” ทางสถานีโทรทัศน์

เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคเจ็ด

จึงเป็นเหตุให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 180

แต่ด้วยความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีเป็นการสิ้นสุดเฉพาะตัว

ทำให้รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่เหลือจึงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่

วันรุ่งขึ้น วันที่ 10 กันยายน 2551 มีการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษ ที่ประชุมเห็นชอบให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีระหว่างรอแต่งตั้ง “นายกรัฐมนตรี”

 

ระหว่างรอ “นายกรัฐมนตรี” คนใหม่นั้นเองได้ฉายสะท้อนให้เห็นปัญหาอันเนื่องแต่ความเห็นต่างในการกำหนดตัวนายกรัฐมนตรี

สถานะของ นายสมัคร สุนทรเวช เริ่มไม่เสถียร

เริ่มจากการเคลื่อนไหวในวันที่ 11 กันยายน ระหว่าง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติราชการในฐานะนายกรัฐมนตรี

กับ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน และ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรคพลังประชาชน

เดินทางเข้าหารือกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อจัดตั้งรัฐบาล

โดยที่ภายในพรรคพลังประชาชนมีความเห็นแตกออกเป็น 2 แนวทาง 1 สนับสนุน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ หรือ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

แนวทาง 1 สนับสนุนให้ นายสมัคร สุนทรเวช กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี หรือให้ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

การประชุมพรรคพลังประชาชนในวันที่ 12 กันยายน ก็ได้บทสรุป

นั่นก็คือ ที่ประชุมมีมติให้เสนอชื่อ นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อแกนนำเดินทางไปพบ นายสมัคร สุนทรเวช ที่บ้าน

นายสมัคร สุนทรเวช ยืนยันว่า พร้อมเป็นนายกรัฐมนตรี

 

แม้มติในที่ประชุมพรรคพลังประชาชนจะให้ความเห็นชอบกับการเสนอชื่อ นายสมัคร สุนทรเวช แม้ นายสมัคร สุนทรเวช จะยืนยันความพร้อมที่จะหวนกลับเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเต็มเปี่ยม

แต่ความ “ไม่-ปรกติ” ทางการเมืองก็แสดง “ร่องรอย” เป็นลำดับ

เป็นร่องรอยที่แม้แกนนำ 6 พรรคร่วมรัฐบาลจะมีมติมอบหมายให้พรรคพลังประชาชนเป็นผู้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่

กระนั้น การเคลื่อนไหวนับแต่เวลา 17.00 น.ของวันเดียวกันฉายสะท้อนให้เห็นว่าเส้นทางการเสนอชื่อ นายสมัคร สุนทรเวช ให้หวนกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งไม่น่าจะราบรื่น

เบื้องต้นขอให้ศึกษาและทำความเข้าใจจาก “มติชน บันทึกประเทศไทย ปี 2551”

 

วันที่ 11 กันยายน มีการประชุมพรรคพลังประชาชน ในที่สุดมีมติให้เสนอชื่อ นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นแกนนำบางส่วนเดินทางไปพบ นายสมัคร สุนทรเวช ที่บ้านพัก

ด้าน นายสมัคร สุนทรเวช ยืนยันว่าพร้อม

เวลา 13.30 น. แกนนำ 6 พรรคร่วมรัฐบาลร่วมแถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาลให้พรรคพลังประชาชนเป็นผู้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่

เวลา 17.00 น. ที่รัฐสภา พรรคพลังประชาชนส่วนหนึ่งจากหลายกลุ่มร่วมกันแถลงไม่สนับสนุน นายสมัคร สุนทรเวช

เวลา 18.00 น. ส.ส.พรรคพลังประชาชนทั้งหมดเข้าร่วมประชุม

นายสมัคร สุนทรเวช มาพบลูกพรรค ยืนยันว่าจะกลับเข้ามาทำงานตามที่พรรคมีมติสนับสนุน

คืนนั้นมีความเคลื่อนไหว

ส.ส.บางส่วนจะรวบรวมรายชื่อให้ได้ 70 เสียงเพื่องดออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 12 กันยายน

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดพิเศษเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี วันที่ 12 กันยายน แต่ไม่สามารถลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้ เนื่องจากมีปัญหาความขัดแย้งในขั้วรัฐบาลเดิม

ทั้งภายในพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลในเรื่องการเสนอชื่อบุคคลที่ยังมีความเห็นแตกต่าง

ทำให้ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลไม่ยอมเข้าร่วมประชุม

ส่งผลให้องค์ประชุมไม่ครบ นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงเลื่อนการประชุมออกไปเป็นวันที่ 17 กันยายน

เวลา 18.30 น. นายธีรพล นพรัมภา อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์หลังการเข้าพบ นายสมัคร สุนทรเวช ที่บ้านพักว่า นายสมัคร สุนทรเวช ได้ฝากข้อความมาว่า

ได้ทำหน้าที่รักษาประชาธิปไตยอย่างถึงที่สุดแล้ว จากนี้ก็เป็นภาระของพรรคที่จะดำเนินการต่อไป

 

หากประเมินจากบรรยากาศและผลการหารือระหว่างพรรคพลังประชาชนกับพรรคร่วมรัฐบาล ประสานกับความเห็นภายในพรรคพลังประชาชน

ก็จะสัมผัสได้ใน “ร่องรอย” แห่งความขัดแย้ง แตกแยก

นั่นก็คือความเห็น “ต่าง” ในการสนับสนุนให้ใครเข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี

กลุ่มหนึ่ง สนับสนุน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ หรือ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์

กลุ่มหนึ่ง สนับสนุน นายสมัคร สุนทรเวช และเสนอ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นอีกตัวเลือก

เด่นชัดอย่างยิ่งว่าเริ่มมี “ตัวเลือก” ใหม่

แม้กระทั่งในกลุ่มที่เอนเอียงไปทาง นายสมัคร สุนทรเวช ก็ยังปรากฏรายชื่อ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เข้ามาด้วย

นี่ย่อมเป็น “ลาง” ไม่ดีต่อ นายสมัคร สุนทรเวช