ท่านสุภัทร มหาวิทยาลัยศิลปากร และปราสาทพระวิหาร | ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 คือวันครบรอบ 100 ปี ชาตกาล หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล (ต่อไปในบทความจะขอเรียกอย่างลำลองว่า ท่านสุภัทร) ผู้มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีตามมาตรฐานสมัยใหม่ในสังคมไทย

องค์ความรู้ตลอดจนแนวคิดในการศึกษางานวิชาการด้านนี้ของท่าน แม้กระทั่งในปัจจุบันก็ยังคงมีอิทธิพลสูงและเป็นกระแสหลักในการทำความเข้าใจโบราณวัตถุสถานเกือบทั้งหมดในสังคมไทย ในระดับที่ไม่ต่างอย่างมีนัยยะสำคัญมากนักจากช่วงขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่

ในช่วงเดือนนี้เราอาจจะได้เห็นกิจกรรมมากมายถูกจัดขึ้นเพื่อระลึกถึงวาระสำคัญดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งท่านสุภัทรมีความผูกพันเกือบตลอดชีวิต

อย่างไรก็ตาม การระลึกถึงส่วนใหญ่น่าจะมุ่งเน้นไปที่บทบาททางด้านวิชาการของท่านเป็นหลัก ซึ่งแม้ว่าจะสำคัญอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

แต่โดยส่วนตัวจากที่เคยศึกษางานของท่านมาบ้างพอสมควร กลับมองเห็นบทบาทอีกด้านที่คนส่วนใหญ่อาจไม่ได้สนใจมากนัก แต่สำคัญมากในความเห็นผม เลยอยากนำมาเล่าให้ฟังเพื่อร่วมระลึกถึงโอกาสพิเศษนี้ด้วย

นั่นก็คือ บทบาทในการขยายหรือย่อยความรู้ทางวิชาการของท่านออกสู่สาธารณะเพื่อเป้าหมายในการสร้างความรักชาติให้เกิดขึ้นในความคิดของประชาชน

หรือพูดให้ชัดก็คือ การนำความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีมาเป็นหนึ่งในเครื่องมือสร้างอุดมการณ์ชาตินิยมมวลชนให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

ผมมี 3 ประเด็นที่อยากนำเสนอ คือ บทบาทต่อกรณีความขัดแย้งปราสาทพระวิหาร, บทบาทในฐานะภัณฑารักษ์และการขยายพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสู่ท้องถิ่น, และบทบาทในการปรับความรู้ทางวิชาการไปสู่ความรู้เชิงการท่องเที่ยวสำหรับประชาชนทั่วไป

ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล
ที่มา : BANGKOK-THONBURI CITY PLANNING PROJECT : Litchfield Whiting Panero Associates Engineers – Architects – Consultants

ขอเริ่มต้นด้วยประเด็นแรก “ความขัดแย้งประสาทพระวิหาร”

แม้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องเรื่องนี้ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาจะดำรงอยู่มาอย่างยาวนาน แต่จุดเปลี่ยนสำคัญเริ่มต้นขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ.2502 เมื่อกัมพูชาได้ยื่นเรื่องนี้สู่ “ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ” (ศาลโลก) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ให้เข้ามาเป็นตัวกลางตัดสินกรณีพิพาทดังกล่าว

กรณีนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ประชาชนทั้งสองประเทศให้ความสนใจ และมีการศึกษาทางวิชาการในเรื่องนี้ออกมาเป็นจำนวนมากเช่นกัน

แต่หลายคนคงไม่ทราบว่า ในช่วงที่เกิดความขัดแย้งดังกล่าว ท่านสุภัทรและมหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมถึง ศิลป์ พีระศรี ได้เข้าไปมีบทบาทเล็กๆ แต่มีพลังทางสังคมอย่างน่าสนใจ

แทบจะในทันทีหลังจากที่ “ศาลโลก” รับเรื่องปราสาทพระวิหารเข้าเป็นคดีพิจารณา นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรได้รวมตัวกันยื่นเรื่องถึง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น เพื่ออาสาเดินทางไปทำการบูรณะปราสาทพระวิหาร ด้วยความต้องการที่จะแสดงออกถึงความรู้สึกรักและหวงแหนโบราณสถานของชาติแห่งนี้

ธนิต อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากร ณ ขณะนั้น ได้นำเรื่องนี้มาเล่าผ่านวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2502 (อ้างถึงใน วารสารศิลปากร ฉบับ มกราคม พ.ศ.2503 หน้า 68-69) เพื่อให้ประชาชนทั่วไปรับทราบถึงกิจกรรมดังกล่าว

โดยมีความตอนหนึ่งว่า

“…เขาพระวิหารเป็นโบราณสถานมหัศจรรย์…และมีทางขึ้นลงเป็นขั้นบันไดในดินแดนไทย…เขาพระวิหารจึงตั้งอยู่ในดินแดนแห่งพระราชอาณาจักรของไทยแท้ๆ…เมื่อนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรได้เรียนรู้ทางช่างศิลปและโบราณคดีเรื่องเขาพระวิหาร ก็ย่อมจะรู้คุณค่าของศิลป และเกิดใจรักโบราณสถานแห่งนี้เป็นอย่างยิ่ง…เขาย่อมจะรักและสงวนสมบัติอันล้ำค่าแห่งนี้เสมอด้วยชีวิตจิตใจ…ด้วยเหตุนี้ บรรดานักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรจึงเข้าชื่อกันทำหนังสือร้องเรียนต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี…ขอรับอาสาไปทำการบูรณะเขาพระวิหารตามสติปัญญา และความรู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา ซึ่ง ฯพณฯ ก็ได้โปรดอนุญาต…”

เมื่อได้รับอนุมัติจากรัฐบาล ท่านสุภัทร และ อ.ศิลป์ จึงได้นำคณะนักศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร เดินทางจากกรุงเทพฯ ทางรถไฟในต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2502 โดยใช้เวลาในการทำสำรวจเก็บข้อมูลเป็นเวลา 1 เดือน (น่าสังเกตว่า โครงการนี้เกิดขึ้นเพียงราว 1 เดือนหลังจากที่ศาลโลกรับพิจารณาคดี) แม้ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ามีนักศึกษาเข้าร่วมเท่าไร

แต่น่าเชื่อว่าคงเข้าร่วมโครงการเกือบทุกคน

เหตุการณ์นี้ รัฐบาลได้ทำการประชาสัมพันธ์ตามสื่อและมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยดูแลอำนวยความสะดวกให้แก่นักศึกษาตลอดเส้นทาง

ซึ่งเมื่อข่าวนี้แพร่กระจายออกไป ทำให้มีประชาชนเดินทางไปต้อนรับคณะอาจารย์และนักศึกษาตามสถานีรถไฟต่างๆ พร้อมทั้งอาหารขนมเครื่องดื่มมามอบให้แก่นักศึกษา รวมถึงมีการทำป้ายผ้าสนับสนุนกิจกรรมครั้งนี้อย่างคึกคัก

ที่สำคัญคือตลอด 1 เดือนได้มีประชาชนในท้องที่และจากจังหวัดอื่น แม้กระทั่งพระสงฆ์ เดินทางไปให้กำลังใจนักศึกษาที่ปราสาทพระวิหารเป็นจำนวนมาก

ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล และ อ.ศิลป์ พีระศรี กำลังบรรยายให้แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร ณ ปราสาทพระวิหาร เมื่อคราวเดินทางไปบูรณะปราสาท พ.ศ.2502
ที่มา : หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยศิลปากร

สิ่งที่นักศึกษาภายใต้การนำของ ท่านสุภัทร และ อ.ศิลป์ ทำระหว่างอยู่ที่นั่น คือ การทำแผนผังตัวปราสาท, เขียนภาพสีน้ำมันและสีถ่านของปราสาทพระวิหาร, ทำหุ่นจำลอง, เขียนขยายลวดลาย และถ่ายภาพในมุมต่างๆ

โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะนำข้อมูลทั้งหมดมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการ ณ หอศิลป กรมศิลปากร เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสเห็นและเกิดความรู้สึกหวงแหนสมบัติของชาติแห่งนี้

นิทรรศการถูกจัดขึ้นในปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2503 พร้อมทั้งมีการตีพิมพ์หนังสือเรื่อง “ปราสาทพระวิหารในแง่ศิลป” เขียนโดย ศิลป์ พีระศรี โดยมี ท่านสุภัทร เป็นผู้แปลเป็นภาษาไทย โดยมีการพิมพ์ออกมาเป็นจำนวน 1,000 เล่ม

เนื้อหาภายในเป็นการอธิบายรูปแบบและคุณค่าทางสุนทรียภาพอันโดดเด่นของประสาทพระวิหาร ที่ ณ ขณะนั้นคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศยังไม่รู้จักเลยว่ามีหน้าตาเป็นอย่างไร

ดังนั้น หนังสือเล่มนี้จึงสำคัญมาก เป็นงานสำรวจศึกษาปราสาทพระวิหารอย่างเป็นทางการชิ้นแรกของทีมคนไทย และเขียนออกมาเป็นภาษาไทย ซึ่งทำให้คนไทยรับรู้ว่าประเทศไทยมีสมบัติล้ำค่าอีกชิ้นที่ชื่อว่า ปราสาทพระวิหาร

โครงการของนักศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร การจัดนิทรรศการ และการตีพิมพ์หนังสือ ที่มีท่านสุภัทรเป็นหนึ่งในผู้รับผิดชอบหลัก (รวมไปถึงการรายงานข่าวตามสื่อต่างๆ) คือส่วนหนึ่งที่สำคัญทั้งโดยตรงและโดยอ้อมที่ทำให้กระแสชาตินิยมไทยที่มีต่อปราสาทพระวิหารขยายตัวออกไปในวงกว้าง

เช่น มีการรณรงค์เรี่ยไรเงินคนไทยคนละ 1 บาทเพื่อนำไปต่อสู้คดีที่ศาลโลก ตลอดจนการเขียนบทความของนักวิชาการและสื่อมวลชนตามมาอีกเป็นจำนวนมาก

 

ควรกล่าวไว้ก่อนว่า ปราสาทพระวิหารจะมีประเด็นปัญหาว่าด้วยกรรมสิทธิ์ระหว่างไทยกับกัมพูชามาโดยตลอดนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 2470 แต่ความรู้สึกชาตินิยมที่โยงเข้ากับโบราณสถานแห่งนี้ก็ยังเป็นวงแคบ ความคิดที่มองว่าสิ่งนี้เป็นของไทยก็จำกัดอยู่เพียงชนชั้นนำเพียงบางกลุ่ม มิได้กระจายสู่สำนึกของประชาชนวงกว้างแต่อย่างใด

แม้กระทั่งในช่วงหลังสงครามอินโดจีน พ.ศ.2484 ที่ทำให้ไทยได้ดินแดนเพิ่มหลายส่วนมาจากอาณานิคมฝรั่งเศส ซึ่งปราสาทพระวิหารก็เป็นส่วนหนึ่งที่มาพร้อมกันด้วยในคราวนั้น แต่การได้สิทธิ์ครอบครองดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้คนทั่วไปรับรู้หรือแม้กระทั่งเชื่อมโยงปราสาทหลังนี้ในฐานะมรดกหรือจิตวิญญาณความเป็นไทยแต่อย่างใด

ดังนั้น ผมจึงเห็นว่า ความรู้สึกของมวลชนที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากเมื่อ พ.ศ.2502 เป็นผลพวงโดยตรงจากการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับปราสาทหลังนี้ที่เริ่มต้นมาจากโครงการของนักศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร ภายใต้การนำของท่านสุภัทร และ อ.ศิลป์ โดยการสนับสนุนของภาครัฐผ่านช่องทางสื่อสารในรูปแบบต่างๆ

กรณีนี้คือตัวอย่างการใช้ความรู้ประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีเข้ามาเป็นเครื่องมือสร้าง “ชาตินิยมมวลชน” อย่างมีพลังครั้งแรกๆ ของสังคมไทย

 

หากพิจารณาสิ่งที่คณะนักศึกษาเข้าไปทำเราก็จะยิ่งมองเห็นประเด็นนี้ชัด ส่วนใหญ่ของกิจกรรมครั้งนั้นมิได้มีเป้าหมายโดยตรงต่อการอนุรักษ์โบราณสถาน

แต่คือการเดินทางไปนำปราสาทพระวิหารออกมาจากป่าเขาที่คนไทยส่วนมากยังไม่รู้จัก (มีจำนวนไม่น้อยที่มิได้รู้สึกผูกพันหรือคิดว่าโบราณสถานแห่งนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับความเป็นชาติไทย) ให้มาปรากฏแก่สายตาคนทั่วไปผ่านเครื่องมือทางประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี (หุ่นจำลอง แบบลายเส้น ภาพวาด และภาพถ่าย)

ซึ่งภายหลังการจัดนิทรรศการปราสาทพระวิหารเพียงประมาณ 3 เดือนก็ปรากฏว่ามีประชาชนมากกว่า 4,000 คนเดินทางไปชมปราสาทแห่งนี้ (อ้างถึงใน วารสารศิลปากร ฉบับ มีนาคม พ.ศ.2507 หน้า 75)

แม้สุดท้ายคำตัดสินของศาลโลกจะทำให้คนไทยผิดหวัง

แต่ความรูสึกในการเป็นเจ้าของปราสาทหลังนี้ก็ได้หยั่งรากลึกลงไปในจิตใจของมวลชนคนไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว