ตร.จีนกับ ตร.ไทย-ย้อนดูกรณี ตร.อังกฤษ | วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

หนึ่งในมาตรการฟื้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาปากท้องประชาชน คือ เร่งฟื้นการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งเคยนำรายได้เข้าบ้านเมืองมากมายมหาศาล ก่อนจะสะดุดไปเพราะโควิด จนล่าสุดมีการใช้มาตรการวีซ่าฟรีเพื่อเปิดรับนักเที่ยวจากแดนมังกร แต่พบว่าเข้ามาในลักษณะเป็นรายบุคคล ยังไม่มาเป็นกรุ๊ปทัวร์ จึงยังคึกคักไม่พอ สาเหตุเพราะเศรษฐกิจทั่วโลกทรุดไปหมด รวมทั้งจีน

อีกทั้งอีกเหตุหนึ่งคือ ความรู้สึกด้านความปลอดภัย เพราะมีข่าวการกวาดล้างคนจีนสีเทาอยู่บ่อยๆ

จึงเกิดไอเดียเรื่องให้ตำรวจจีนมาร่วมปฏิบัติการกับตำรวจไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวชาวจีน นำมาสู่เสียงวิจารณ์อื้ออึง ในเรื่องความถูกต้องเหมาะสม จนทำให้ น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผู้แถลงประเด็นนี้ ต้องออกมาแก้ข่าว ว่าสื่อสารผิดพลาด และย้ำว่าไม่มีโครงการดังกล่าวอีกแล้ว

ขณะที่ นายชัย วัชรงค์ โฆษกรัฐบาล ชี้แจงว่า เป็นข่าวที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะความร่วมมือที่จะเกิดขึ้น คือการให้ตำรวจจีนมาสนับสนุนด้านข้อมูลกับตำรวจไทย ในการปราบปรามกลุ่มจีนสีเทา

เสียงคัดค้าน ยังมาจาก พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ที่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ถือเป็นประเด็นอธิปไตยของไทย อีกทั้งขอยืนยันว่า ตำรวจไทยมีประสิทธิภาพมากเพียงพอในการดูแลความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ดังนั้น ไปๆ มาๆ ความร่วมมือระหว่างตำรวจจีนกับตำรวจไทย ก็คงเพียงแค่การประสานข้อมูลอาชญากรรมเพื่อปราบแก๊งจีนเทาในไทย!

เข้าใจว่า ที่ผู้ว่าการการท่องเที่ยวฯ หยิบเรื่องตำรวจจีนมาทำงานร่วมกับตำรวจไทย คงเนื่องมาจากมีในหลายๆ ประเทศ ที่เคยอนุญาตให้ตำรวจจีนเข้าไปร่วมปฏิบัติการ เดินตรวจพื้นที่ร่วมกับตำรวจประเทศนั้น เพื่อดูแลนักท่องเที่ยวจีน และเพื่อปราบอาชญากรแก๊งจีน

โดยเฉพาะที่อิตาลี มีโครงการลาดตระเวนร่วมกับตำรวจจีน ระหว่างปี 2559-2562 ก่อนจะยุติลงเพราะสถานการณ์โควิด ไม่มีการเดินทางของคนจีนไปยังประเทศต่างๆ

ที่สำคัญรัฐบาลอิตาลีตรวจพบว่า มีการส่งตำรวจลับของจีนเข้ามาทำงานในอิตาลี ผสมผสานกับตำรวจที่มาลาดตระเวน เบื้องหลังคือ ติดตามชาวจีนที่คิดต่างกับรัฐบาล ทำให้สุดท้ายรัฐบาลอิตาลีต้องยุติโครงการนี้ไป

เอาเป็นว่า โครงการตำรวจจีนมาตรวจเดินตรวจตามท้องถนนร่วมกับตำรวจไทยคงเป็นไปไม่ได้

เพียงแต่น่าจะมีความร่วมมือกันระหว่างตำรวจ 2 ประเทศ ในด้านข้อมูลอาชญากรข้ามชาติ จัดการจีนเทาแบบถูกต้องแม่นยำ เพื่อทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนมั่นใจ จนกลับมาคึกคักอีกครั้ง

 

พูดถึงการเดินทางมาปฏิบัติงานในประเทศไทยของตำรวจจากต่างชาติ ทำให้ต้องนึกถึงคดีข้ามชาติเมื่อ 9 ปีก่อน คดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ 2 คน ที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี เหตุเกิดเมื่อ 15 กันยายน 2557 โดยนักท่องเที่ยวสาวถูกข่มขืนฆ่า และนักท่องเที่ยวชายถูกทำร้ายจนเสียชีวิต

คดีนั้นมีตำรวจจากอังกฤษ ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลอังกฤษเดินทางมาไทย ประสานข้อมูลกับตำรวจไทย ดูข้อเท็จจริงในคดีเท่าที่เปิดเผยได้ รับฟังกระบวนการสืบสวนสอบสวนของตำรวจไทย เพื่อประมวลสรุปรายงานไปยังรัฐบาล เพื่อทำความเข้าใจกับญาติพี่น้องของ 2 ผู้เสียชีวิต เพราะเกิดกระแสโซเชียลว่าตำรวจจับแพะ

ทั้งนี้ หลังจากเกิดเหตุ เมื่อมีการฆ่านักท่องเที่ยว ในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง จึงทำให้เป็นข่าวดังไปทั่วโลก

เมื่อตำรวจจับกุม 2 แรงงานชาวพม่า โดยยืนยันพยานหลักฐานทั้งกล้องวงจรปิด ทั้งผลตรวจดีเอ็นเอ ทั้งพยานบุคคลแวดล้อม ไปจนถึงหลักฐานที่เชื่อมโยงกับผู้เสียชีวิต แถมเป็นการสืบสวนสอบสวน โดยทีมตำรวจจากส่วนกลาง ที่มีความเชี่ยวชาญสูง มีระดับ ผบ.ตร. ระดับรอง ผบ.ตร.ไปดูคดีเอง และ ผบ.ตร.เป็นผู้แถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหาด้วยตัวเอง

แต่เพราะกระแสในโลกโซเชียล ได้พุ่งเป้าไปยังมาเฟียเกาะเต่า พุ่งข้อสงสัยไปยังเจ้าของกิจการใหญ่ ดังนั้น เมื่อตำรวจจับกุมผู้ต้องหา ซึ่งไม่ตรงตามกระแส จึงถูกโลกโซเชียลต่อต้าน กล่าวหาว่าจับแพะ

ปั่นจนเชื่อกันไปว่า ตำรวจกลัวอิทธิพลมาเฟียเกาะเต่า จึงไปจับแรงงานต่างด้าวมารับเคราะห์แทน

ทั้งที่มีระดับ ผบ.ตร. ระดับรอง ผบ.ตร. และทีมสืบสวนสอบสวนจากนครบาลลงไปทำคดี ยิ่งเห็นได้ชัดว่า อิทธิพลมาเฟียเกาะเต่าจะมีเหนือกว่าตำรวจจากนครบาลและระดับ ผบ.ตร.ได้อย่างไร!?

กระนั้นก็ตาม เมื่อโซเชียลโหมจับแพะ ทำให้ญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตในอังกฤษก็ไม่สบายใจ จึงร้องขอไปยังรัฐบาลอังกฤษให้ช่วยตรวจสอบเรื่องนี้

รัฐบาลอังกฤษประสานมายังรัฐบาลไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อส่งทีมตำรวจจากอังกฤษมาขอข้อมูลข้อเท็จจริง จะได้สร้างความมั่นใจให้กับญาติผู้ตาย ว่าคนตายได้รับความเป็นธรรมอย่างไม่ผิดเพี้ยนแน่นอน

ปลายเดือนตุลาคมปี 2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจสกอตแลนด์ยาร์ด ประมาณ 6-7 นาย ลงพื้นที่ดูสถานที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทุกจุด ให้ตำรวจไทยอธิบายถึงความเกี่ยวพันทางคดีของเหตุแต่ละจุด อธิบายขั้นตอนเก็บพยานหลักฐาน การแกะรอยคนร้าย และวิธีการทำงานต่างๆ

ตามขั้นตอนกฎหมายนั้น ตำรวจอังกฤษไม่มีสิทธิเข้ามาร่วมสอบสวน ที่ทำได้คือเป็นการมาสอบถามขั้นตอนการทำงาน การสืบสวนสอบสวน และขั้นตอนจับกุมผู้ต้องหา เพื่อตรวจสอบในระดับหนึ่งว่า ตำรวจไทยทำงานได้มาตรฐานหรือไม่

เสร็จแล้วตำรวจอังกฤษชุดนี้ก็บินกลับ โดยตามกฎหมายและโดยมารยาท ย่อมไม่สามารถเปิดเผยอะไรได้ ไม่มีการให้สัมภาษณ์สื่อหรือให้ข่าวอะไร แต่หลังจากนั้น รัฐบาลอังกฤษก็ไม่ได้แสดงท่าทีกังวลกับคดีนี้แต่อย่างใด

นั่นคือเหตุการณ์ที่ตำรวจอังกฤษเดินทางมาประสานกับตำรวจไทย เพื่อตรวจสอบการทำคดีดัง

 

สุดท้ายคดีฆ่า 2 นักท่องเที่ยวอังกฤษที่เกาะเต่า ซึ่งมี 2 แรงงานต่างด้าวเป็นผู้ต้องหาเป็นจำเลยขึ้นศาล มีคำพิพากษาทั้ง 3 ศาล ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสอง โดยศาลเชื่อในพยานหลักฐานทางคดีที่ตำรวจนำเสนอและผ่านการตรวจสอบกลั่นกรองจากอัยการแล้ว

ขณะที่ครอบครัวชาวอังกฤษได้บินมาร่วมฟังคำตัดสินที่ศาลจังหวัดเกาะสมุยด้วย และกล่าวขอบคุณที่คนตายได้รับความเป็นธรรมเสียที

คดีนี้ถึงที่สุด เมื่อปลายปี 2562 ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้ง 2 คน

ต่อมาจำเลยทั้งสองได้ยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ก่อนได้รับพระราชทานอภัยโทษและลดโทษให้เหลือเป็นจำคุกตลอดชีวิต

นั่นคือกรณีตัวอย่าง การร่วมมือของตำรวจระหว่างชาติอื่นกับตำรวจไทย

ส่วนกรณีตำรวจจีนกับตำรวจไทย ในการสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวจีน เพื่อเชิญชวนให้มาเที่ยวไทยนั้น คงต้องเฝ้ามองกันต่อไปว่า จะร่วมมือกันระดับไหน ไม่เกินเลยขอบเขตว่ามามีสิทธิเหนืออธิปไตยไทย

รวมทั้งไม่ทำให้ตำรวจไทยถูกมองว่า ไม่เป็นที่เชื่อถือในประสิทธิภาพการดูแลความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว

แต่ก็นั่นแหละ อีกประเด็นสำคัญที่รัฐบาลไทยและผู้นำตำรวจต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่น ไม่แค่ความเข้มแข็งของตำรวจไทย สามารถป้องกันโจรผู้ร้ายเท่านั้น

ยังรวมถึงพฤติกรรมที่จะต้องไม่ให้เกิดเรื่องอื้อฉาว อุ้มหรือรีดไถนักท่องเที่ยว ที่เกิดเรื่องอื้อฉาวอยู่ไม่น้อย!!