เกษตร ‘มุมใหม่’

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อน ผมไปเป็นผู้ดำเนินรายการให้กับกลุ่ม ปตท.

ตามปกติจะรับหน้าที่นี้ในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ หนังสือ ฯลฯ

แต่ครั้งนี้พิเศษกว่าครั้งอื่น

เพราะเป็นผู้ดำเนินรายการเรื่องการเกษตรครับ ในฐานะเกษตรกรแห่งสวนสันติเกษตรอินทรีย์

แม้พยายามบอกทุกคนว่าผมไม่ได้เป็น “เกษตรกรตัวจริง” เพราะคนที่ทำงานที่สวนเป็นหลัก คือ “จอย” น้องสาว และ “ตู่” น้องเขย

ผมแค่ไปดูแลกิจการบ้างนานๆ ครั้ง แต่เป็นตัวหลักเรื่องการขายผลไม้ออนไลน์ทางเพจของผมเท่านั้นเอง

ไปไม่บ่อย แต่รูปเยอะครับ 555

ลงรูปสวนผลไม้บ่อยจนคนส่วนใหญ่มักคิดว่าผมไปปักหลักเป็นเกษตรกรอยู่ที่เมืองจันท์

แต่ถามว่ารู้เรื่องการทำสวนไหม

ตอนนี้รู้มากกว่าเดิมเยอะเลยครับ

ส่วนหนึ่งเพราะตามพ่อไปลุยสวนมาตั้งแต่เด็ก

พอจะรับทุเรียนด้วยกระสอบได้

แต่มารู้เยอะขึ้นตอนที่ต้องลงมาช่วยเรื่องการขาย ก็เลยคลุกคลีกับสวนมากขึ้นแบบเล่นจริงเจ็บจริงบ้าง

บังเอิญผมเขียนเรื่องนี้บ่อย น้องๆ ก็มาขอคุย มาสัมภาษณ์ หรือให้ไปพูดเรื่องสวนหลายครั้ง

กลายเป็น “พรีเซ็นเตอร์” ของสวนสันติเกษตรอินทรีย์ไปเลย

พอกลุ่ม ปตท.จัดงาน “PTT Group Innovation for Future Society จุดพลังสร้างอนาคตขับเคลื่อนชุมชนสู่ความยั่งยืน”

เขาจึงเชิญผมไปเป็นผู้ดำเนินรายการเรื่อง “เกษตรปรับ เพื่อโลกเปลี่ยน”

ตอนแรกก็รู้สึกแปลกๆ เพราะเนื้อหาไม่คุ้น

แต่พอไปเจอวิทยากรตัวจริง 3 คน คือ คุณสายฝน ช่างเขียน เกษตรกรข้าวอินทรีย์จากสุโขทัย คุณอาทิตติญา โทรไธสง เด็กรุ่นใหม่เจ้าของสวนไม้ดัด ปราจีนบุรี

และ “ชารีย์ บุญญวินิจ” เจ้าของ “อังเคิล รี ฟาร์ม”

ต้องบอกตามตรงเลยว่าดีใจที่ได้มาเป็นผู้ดำเนินรายการ

ได้ “ความรู้” ในมุมใหม่ๆ เยอะมากเลยครับ

 

อย่างคุณสายฝน เธอทำงานเป็นคนงานในนิคมอุตสาหกรรมลำพูน ก่อนจะย้ายมาทำงานในบริษัทส่งออกที่ กทม.

พ่อไม่สบายก็เลยต้องกลับไปดูแลพ่อที่สุโขทัย

และตัดสินใจปักหลักอยู่ที่บ้านเลย

พ่อมีนาอยู่ 11 ไร่ ทำนาแบบใช้เคมี แต่ “สายฝน” อยากทำเกษตรอินทรีย์

อยากอยู่ท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์

ตอนแรกพ่อไม่ยอม ก็เลยแอบไปขอที่นาจากแม่มา 1 ไร่ เพื่อมาทำเกษตรอินทรีย์

แค่ปีแรก “สายฝน” ขายข้าวได้ 3 หมื่นบาท

พ่อเห็นตัวเลขยอดขายก็บอกเลยว่าให้เอานาทั้งหมดไปทำแบบเกษตรอินทรีย์เลย

วันหนึ่ง ไปออกงานที่จังหวัดสุโขทัย มีชาวฝรั่งเศสมาดูงาน ตาม “สายฝน” ไปถึงที่นา เพื่อขอซื้อข้าวไปขายที่ฝรั่งเศส

ประสบการณ์ตอนทำบริษัทส่งออกทำให้ “สายฝน” สามารถขายข้าวทั้งหมดไปฝรั่งเศส

ได้ราคาดีมาก

แต่มุมที่ผมชอบมากที่สุด ก็คือ เธอเป็นคนคิดนวัตกรรมจาก “ปัญหา”

“สายฝน” เปลี่ยนจากนาหว่านเป็นแบบเจาะหลุมเพื่อปลูกข้าว แต่ต้องเปลืองแรงและเสียเวลามาก

เธอจึงคิดเปลี่ยนเป็นใช้เครื่องปลูกข้าว

แต่อยากให้ปลูกข้าวได้ด้วย และใส่ปุ๋ยด้วยในเวลาเดียวกัน

“สายฝน” ไปคุยกับช่างในหมู่บ้าน บอกว่าจะซื้อเครื่องปลูกข้าว แต่ต้องดัดแปลงให้ใส่ปุ๋ยได้ด้วย

ช่างท้องถิ่นทำได้ครับ

กลายเป็น “นวัตกรรม” ที่บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งสนใจไอเดียนี้ อยากนำไปผลิตมาขายบ้าง

“สายฝน” บอกว่าที่ผ่านมาคนคิดเครื่องมือมักคิดจาก “บน” ลง “ล่าง”

แต่เครื่องปลูกข้าวและใส่ปุ๋ย เป็นการคิดจาก “ล่าง” มา “บน”

นาข้าวของเธอและเพื่อนบ้าน ใช้โดรนในการฉีดสารชีวภาพฆ่าแมลง

และให้ช่างท้องถิ่นทำเครื่องอบข้าว ดูดความชื้น ฯลฯ

และตอนนี้มีคนมาติดต่อขอซื้อข้าวแบบใหม่

คือ จองซื้อข้าวล่วงหน้าแบบเหมาแปลง

ข้าวจากนา 1 ไร่นี้ขอจองไว้

เกี่ยวเมื่อไรบอกด้วย

เกี่ยวข้าวเสร็จขอให้ช่วยเก็บข้าวเปลือกไว้ แล้วค่อยๆ สีส่งไปให้ทุกเดือน

คิดเท่าไร บอกมา…

 

อีกคนหนึ่งเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่อายุยังไม่ 30 เลย

“เชลล์” อาทิตติญา จบคณะนิเทศศาสตร์ ปฏิเสธที่จะกลับไปทำงานที่บ้านที่ทำไม้ดัดจากต้นมะสัง

อยากทำงานในสายที่เรียนมา

ทำได้ไม่นาน รู้สึกว่าชีวิตในเมืองไม่น่าอยู่ รายรับไม่พอรายจ่าย

กลับไปทำสวนไม้ดัดของพ่อ

พอเริ่มเรียนรู้งานก็เริ่มเห็น “ปัญหา”

ปัญหาใหญ่ของต้นมะสัง คือ “ลม”

ประมาณ 4-5 เดือนของหน้าหนาว ลมจะพัดแรงจนต้นมะสังตาย

ปลูก 10,000 ต้น ตายไป 8,000 ต้น

เหลือแค่ 2,000 ต้น

“เชลล์” ตัดสินใจทำโรงเรือนกันลม และทำระบบน้ำใหม่

ใช้น้ำหมักชีวภาพและจุรินทรีย์สังเคราะห์แสงในการบำรุงต้นไม้แบบเกษตรอินทรีย์

จากเดิมพ่อขายแบบออฟไลน์ “เชลล์” ก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นการขายออนไลน์มากขึ้น

เธอบอกว่าตลาดอินโดนีเซีย มาเลเซีย ต้องการ “มะสังดัด” สูงมาก เพราะถือเป็นไม้มงคล

ผมถามว่าตอนนี้ส่งออกไปอินโดฯ เท่าไร

“เชลล์” ส่ายหน้า

“ไม่ได้ส่งค่ะ เพราะไม่มีของ ตอนนี้ผลิตไม่ทันค่ะ”

น่าอิจฉาไหมครับ

 

อีกคนหนึ่ง คนนี้วาทะคมคายมาก

“ลุงรีย์” ชารีย์ จบด้านมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผ่านงานต่างๆ มาอย่างมากมาย ก่อนที่จะตัดสินใจเปลี่ยนวิถีชีวิตไปทำด้านการเกษตร

แต่เป็นเกษตรในเมือง

ที่บ้านของเขาแถวเพชรเกษมมีบ้านเช่า และที่ให้เช่าจอดรถอยู่ประมาณ 200 ตารางวา

ที่ชานเมืองค่าเช่าจอดรถ 500 บาท/เดือน ค่าเช่าห้องเล็กๆ เดือนละ 2,000 บาท

วิธีคิดง่ายๆ คือทำอะไรในพื้นที่จอดรถให้ได้มากกว่าเดือนละ 500 บาท

ในห้องให้ได้มากกว่า 2,000 บาท

เขาเริ่มต้นด้วยแปลงสวนผักตรงที่จอดรถ

ห้องเช่าที่ไม่ปิดทึบ ไม่มีแสง ก็เลี้ยงไส้เดือน พอได้ปุ๋ยไส้เดือนก็มาปลูกต้นอ่อน

บางห้องที่ชื้นๆ ไม่มีแสงก็ปลูกเห็ด

รายได้ดีมาก

เขาบอกว่า “เห็ด” นั้นเติบโตตามแสง อยากให้ดอกเห็ดบาน ต้องใช้แสงแบบหนึ่ง

อยากให้โคนอวบขึ้นก็ใช้อีกแบบ

ถ้าอยากให้เอนไปทางขวา ก็เปิดไฟอีกด้านหนึ่ง

และเห็ดแต่ละส่วน รสชาติหรือความนุ่มนวลก็ต่างกัน

อาหารแต่ละประเภทก็ต้องการเห็ดไม่เหมือนกัน

“ลุงรีย์” ที่อายุแค่ 35 บอกว่าตอนนี้เขาใช้วิชาเชฟเก่ามาทำ “โอมากาเห็ด”

คิวจองยาวมาก

เอาเห็ดมาทำอาหารหลายเมนู มีโต๊ะไม่กี่โต๊ะ

ตอนนี้พัฒนาขึ้นด้วยการให้ลูกค้าเริ่มต้นเมนูอาหารด้วยการมีเห็ดเป็นของตัวเองก่อน

เขาจะเพาะเห็ดให้ แต่ลูกค้าจะมีเห็ดที่มีชื่อตัวเองกำกับแสดงความเป็นเจ้าของ

พอเห็ดโตได้ที่ เขาก็นัดวันมากิน

ให้ลูกค้าตัดเห็ดที่มีชื่อของตัวเองสดๆ

ส่วนเขาจะปรุงอาหารให้

กินเสร็จ มีกิจกรรมพิเศษ

“ล้างจาน”

คุณพ่อที่ไม่เคยล้างจานในบ้านก็จะได้ล้างจาน

คุณแม่หัวเราะไปถ่ายคลิปไป

…น่ารักมาก

ลงจากเวทีผมบอก “ลุงรีย์” ว่าว่างๆ จะแวะไปขอชิม “โอมากาเห็ด”

แต่ขอ “ไม่ล้างจาน”

เพราะทำประจำที่บ้านอยู่แล้ว •

 

 

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ | หนุ่มเมืองจันท์

www.facebook.com/boycitychanFC