“สิบสองเป็ง”

“สิบสองเป็ง”

“สิบสองเป็ง”

สิบสองเพง อ่านว่า “สิบสองเป็ง” แปลว่า วันเพ็ญเดือนสิบสอง

สิบสองเป็ง เป็นกาลประเพณีทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปหาผู้ที่ล่วงลับเฉพาะในวันเพ็ญเดือนสิบสองเหนือ ซึ่งตรงกับเดือนสิบของภาคกลาง

เชื่อกันว่า ในวันดังกล่าว พญายมราชได้ปลดปล่อยวิญญาณของผู้ตายให้กลับมาสู่โลกมนุษย์ เพื่อรับเอาส่วนกุศลผลบุญจากญาติพี่น้อง ดังนั้น จึงนิยมไปทำบุญที่วัดอย่างมากมายเป็นกรณีพิเศษ ประเพณีนี้ตรงกับกิจกรรมของไทยภาคอื่น กล่าวคือ ภาคกลางมีประเพณีที่คล้ายกันเรียกว่า “ตรุษสารท” ภาคใต้เรียกว่า “ประเพณีชิงเปรต” ส่วนภาคอีสานเรียกว่า “ประเพณีบุญข้าวประดับดิน” ซึ่งทั้งนี้ก็เป็นไปตามความเชื่อในแนวคิดเดียวกัน

เรื่องของการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตายนั้นมีตำนานทางพระพุทธศาสนากล่าวถึงผู้ลาละโลกไปเกิดเป็นเปรต ดังเช่นเรื่องเปรตซึ่งเป็นญาติของพระเจ้าพิมพิสาร เรื่องนี้มีความโดยสังเขปว่า

 

ในสมัยพุทธกาล พระเจ้าพิมพิสารมีพระราชศรัทธาในพระพุทธเจ้าเป็นอย่างยิ่ง พระองค์ได้สดับพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าจนบรรลุธรรมขั้นโสดาปัตติผล ทรงถวายไทยธรรมแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวกเป็นประจำ แต่ไม่เคยอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ ครั้งหนึ่งฝูงเปรตผู้เป็นญาติรู้สึกเสียใจที่ไม่ได้รับส่วนกุศล วันหนึ่ง พอตกเพลาราตรีก็สำแดงกายส่งเสียงร้องโหยหวนเป็นที่น่าสะพรึงกลัวตลอดราตรีนั้น เหตุการณ์นี้พระเจ้าพิมพิสารมิทราบเหตุจึงทรงทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ก็ทรงสำแดงเหตุให้ทราบ

ตั้งแต่นั้นมาพระเจ้าพิมพิสารก็อุทิศส่วนกุศลให้ทุกครั้งเมื่อถวายไทยธรรม โดยผ่านการหลั่งน้ำทักษิโณทก เปรตทั้งหลายได้รับแล้วพ้นจากทุกขภาวะนานา

ชาวล้านนาอาศัยคติความเชื่อตามตำนานดังกล่าว จึงนิยมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้วายชนม์ทุกครั้ง และเมื่อผนวกกับความเชื่อเรื่องการปลดปล่อยวิญญาณในช่วงเวลาที่เรียก “สิบสองเป็ง” ที่ได้กล่าวเบื้องต้น อาจกล่าวได้ว่าเหตุสองประการนี้เองที่เป็นที่มาของการทำบุญตามประเพณีนี้

 

อย่างไรก็ตาม ความละเอียดอ่อนของความรู้สึกและสิ่งที่เกิดจากมโนนึกอาจเกิดจากจินตนาการ จตุปัจจัยไทยทานจึงค่อนข้างพิถีพิถัน เช่น ทำบุญด้วยอาหารอันประณีตและเคยเป็นสิ่งที่ชื่นชอบของผู้ตาย ทำบุญเครื่องอุปโภคที่เป็นเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ นานา ตามกำลังศรัทธาจะหาได้ ดังนั้น ในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 12 เหนือ ของทุกปี ชาวล้านนาจะจัดเตรียมอาหาร ขนมหวาน และผลไม้ พร้อมทั้งสิ่งของที่เป็นไทยทานไว้พร้อมสรรพ เช้ามืดของวันขึ้น 15 ค่ำ ที่วัดจะคลาคล่ำไปด้วยผู้คน ต่างคนต่างจัดอาหารและสิ่งของเป็นสำรับ แต่ละสำรับอุทิศให้ผู้ตายเป็นคนคน ซึ่งบางครั้งถวายหลายครั้งตามจำนวนคน และการถวายจะต้องจดชื่อเจ้าภาพพร้อมชื่อผู้ตายให้พระ เพราะเวลาพระให้พรจะได้กล่าวชื่อได้ถูกต้อง

ประการสำคัญอย่างหนึ่ง จะต้องมีการ “หยาดน้ำ” คือกรวดน้ำไปด้วย ซึ่งผู้หยาดหรือกรวดน้ำก็คือพระผู้ให้พรมิใช่เจ้าภาพ ซึ่งคติความเชื่อนี้น่าจะได้รับจากการหลั่งน้ำทักษิโณทกของพระเจ้าพิมพิสารในสมัยพุทธกาล เพียงแต่เจ้าภาพไม่ได้เป็นผู้หยาดเองเท่านั้น

ทาฯนฯหาฅ฿นฯตายฯวันฯสิบฯฯสอฯงเพงฯ
อ่านว่า ตานหาคนต๋ายวันสิบสองเป็ง
แปลว่า ทำบุญอุทิศให้คนตายวันสิบสองเป็ง

อนึ่ง การทำบุญอุทิศกุศล พบว่ามีสองลักษณะตามความเชื่อ คือ อุทิศให้ผู้ตายธรรมดา และอุทิศให้ผีตายโหง หากอุทิศให้ผู้ตายธรรมดาก็สามารถไปทำบุญที่วัดตามปกติ เพราะวิญญาณเหล่านี้เข้าออกวัดได้โดยสะดวก แต่ถ้าเป็นผีตายโหง เชื่อกันว่าวิญญาณเข้าวัดไม่ได้ จึงต้องทำบุญนอกเขตวัด ผู้ตายถึงจะได้รับส่วนกุศล

นอกจากการทำบุญด้วยอาหารและไทยทานแล้ว สิ่งที่นิยมปฏิบัติคือ นิมนต์พระแสดงพระธรรมเทศนา ประกอบการรับไทยทาน พระธรรมเทศนาดังกล่าวมักเป็นคัมภีร์ที่มีเนื้อหาที่เอื้อต่อการได้รับกุศล เช่น เปตพลี มาลัยโปรดโลก นิพพานสูตร เป็นต้น

ประเพณีสิบสองเป็ง เป็นการประกอบกุศลกรรม ตามคติทางพุทธศาสนา ที่สำคัญคือแสดงให้เห็นถึงความกตัญญูกตเวทิตาต่อบรรพชน ดังนั้น ในวันที่กล่าวมาข้างต้น จึงเป็นวันที่เป็นโอกาสอันดีที่จะได้แสดงกตัญญูกตเวทิตาธรรมอย่างเต็มที่อย่างหนึ่ง และที่สำคัญคือถือเป็นการอนุรักษ์ประเพณีอันดีงามของล้านนาอีกโสดหนึ่งด้วย •

 

ล้านนาคำเมือง | ชมรมฮักตั๋วเมือง