ศิลปะแบบใหม่ ในยุคที่ AI ก็วาดภาพได้

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech | จิตต์สุภา ฉิน

Instagram : @sueching

Facebook.com/JitsupaChin

 

ศิลปะแบบใหม่

ในยุคที่ AI ก็วาดภาพได้

 

เครื่องมือ AI ที่ใช้ในการช่วยสร้างภาพอะไรก็ได้เพียงแค่ป้อน prompt หรือคำสั่งในรูปแบบข้อความเข้าไป อย่าง Midjourney หรือ DALL-E นั้นได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

เรียกได้ว่าเปิดโซเชียลมีเดียทีไรก็มักจะเห็นเพื่อนๆ แชร์ภาพที่ตัวเองใช้ AI เนรมิตขึ้นมากันไม่เว้นวัน

เครื่องมือสร้างภาพด้วย AI ก่อให้เกิดการถกเถียงในประเด็นละเมิดลิขสิทธิ์กันอย่างเผ็ดร้อน เนื่องจากโมเดล AI แบบนี้เรียนรู้การสร้างภาพผ่านการเทรนด้วยภาพบนอินเตอร์เน็ตจำนวนมหาศาล ทำให้มันสามารถวาดภาพออกมาได้หลากหลาย สมจริง

หลายๆ ครั้งก็วาดออกมาในสไตล์ใกล้เคียงกับฝีมือของศิลปินที่เป็นมนุษย์ โดยที่เจ้าของผลงานไม่เคยอนุญาตให้ AI หยิบไปใช้เรียนรู้และลอกแบบตั้งแต่แรก

อีกเรื่องที่เป็นประเด็นไม่แพ้กันก็คือเมื่อมนุษย์เรามีเครื่องมือในการเปลี่ยนสิ่งที่เราคิดในหัวให้ออกมาเป็นภาพวาดในสไตล์แบบไหนก็ได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว การเรียนศิลปะนับจากนี้ไปจะเป็นไปในรูปแบบไหน โรงเรียนสอนศิลปะจะต้องปรับตัวอย่างไร

ควรจะมอง AI ว่าเป็นภัยคุกคามที่จะทำให้นักเรียนโกงได้แยบยลกว่าเดิม หรือจะมองว่านี่เป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพชิ้นใหม่

สิ่งที่ครูในโรงเรียนศิลปะกังวลก็คือนักเรียนจะแอบใช้ AI ช่วยวาดภาพและแนบมาในพอร์ตโฟลิโอเพื่อสมัครเข้าเรียนหรือไม่

ถ้านักเรียนทำเช่นนั้นจริง ครูจะแยกออกไหมว่าภาพไหนผู้สมัครลงมือวาดเองหรือภาพไหนใช้พลัง AI สร้างขึ้น

เว็บไซต์ artnet ไปสัมภาษณ์อาจารย์ด้านศิลปะจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นนี้

อาจารย์จากบอสตันคนหนึ่งบอกว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เทคโนโลยีถูกมองว่าจะทำให้นักเรียนอู้

ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่นักเรียนคนนั้นใช้สองมือของตัวเองสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาจากศูนย์หรือไม่

เพราะโลกใบนี้ก็มีเทคนิคที่เราสามารถใช้สร้างสรรค์งานศิลปะได้มากมาย การไปจำกัดเครื่องมือที่ใช้ในการสร้างศิลปะต่างหากที่เป็นเรื่องน่ากังวล

เมื่อถามว่านักเรียนแอบใช้ AI สร้างงานในพอร์ตโฟลิโอ เป็นเรื่องน่ากังวลไหม แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเมื่อรับเข้ามาเรียนแล้ว นักเรียนคนนั้นจะสามารถสร้างงานศิลปะได้ด้วยตัวเองจริงๆ

หนึ่งในอาจารย์ที่ให้สัมภาษณ์บอกว่าสถานการณ์นี้ก็คล้ายๆ กับช่วงทศวรรษที่ผ่านมาที่โรงเรียนด้านศิลปะในสหรัฐ เปิดให้นักเรียนจากต่างประเทศสมัครเข้ามาเรียนได้

ในตอนนั้นโรงเรียนก็ไม่มีทางรู้ได้เลยว่านักเรียนที่สัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์ หรือคนที่สร้างพอร์ตขึ้นมาจะเป็นคนเดียวกับที่โผล่มาเรียนในโรงเรียนหรือเปล่า

ที่ผ่านมาโรงเรียนศิลปะยังไม่เจอปัญหาเรื่องนักเรียนใช้ AI ช่วยวาดภาพเนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่ แต่ก็เชื่อกันว่าหลังจากนี้ไปจะมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งแน่นอน

บางโรงเรียนก็กังวลและเตรียมใจไว้ล่วงหน้าเลยว่าการจะแยกภาพฝีมือ AI ออกจากภาพฝีมือมนุษย์จะเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

ในขณะที่บางโรงเรียนก็ชิลล์กว่านั้นโดยเลือกที่จะจับ AI ออกมาอยู่ในที่โล่งแจ้ง และทำให้เป็นส่วนหนึ่งของการสมัครเข้าเรียนไปเลย

โรงเรียนบางแห่งบอกกับนักเรียนตั้งแต่ต้นว่าเครื่องมือ AI สามารถใช้ได้ แต่ให้ใช้ในวัตถุประสงค์ของการหาข้อมูลทำวิจัยเท่านั้น ไม่ให้ใช้ AI ในผลงานชิ้นที่นำส่ง โดยมีกฎระเบียบชัดเจนว่านักเรียนจะต้องเปิดเผยว่าภาพนั้นๆ มีการใช้ AI และคำสั่งที่ป้อนเข้าไปจะต้องไม่มีชื่อของแบรนด์หรือศิลปินที่มีตัวตนอยู่จริง

ผู้สมัครเข้าเรียนสามารถใส่ผลงานที่สร้างโดย AI เข้าไปในพอร์ตโฟลิโอ สมัครเรียนได้เป็นจำนวน 1 ชิ้นเท่านั้น

 

ฉันคิดว่าในตอนนี้เราอาจจะยังไม่มีคำตอบที่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าควรรับมืออย่างไรถึงจะดีที่สุด หรือวันนั้นอาจจะมาไม่ถึงเลยก็ได้ เรื่องนี้น่าจะขึ้นอยู่กับมุมมองและนโยบายของโรงเรียนแต่ละแห่ง

ใครที่เชื่อว่างานศิลปะต้องเกิดจากสองมือของมนุษย์ตั้งแต่ต้นจนจบก็อาจจะต้องหาวิธีตรวจสอบให้ได้ว่านักเรียนใช้ AI เข้ามาช่วยหรือไม่

แต่คนที่ตีความงานศิลปะอีกแบบก็อาจจะยอมรับให้ AI เป็นเครื่องมืออีกชิ้นไปเลย แล้วหาวิธีว่าจะสนับสนุนให้นักเรียนใช้เครื่องมือชิ้นนี้อย่างไรให้ได้ประโยชน์มากที่สุด

ไม่ว่าจะเลือกวิธีไหน สิ่งที่จะเป็นจริงแน่นอนก็คือเครื่องมือในการสร้างภาพ AI ไม่มีวันหายวับไปเฉยๆ แน่นอน มีแต่จะเก่งขึ้น ใช้ง่ายขึ้น

และทำได้หลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ เท่านั้น

 

ย้อนกลับมาที่ประเด็นน่ากังวลประเด็นแรกคือเรื่องของลิขสิทธิ์ผลงานที่ถูก AI ดึงไปใช้เทรนตัวเองแบบไม่ขออนุญาต

นี่ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่แทบจะป้องกันไม่ได้เลย

แต่ล่าสุดก็มีความพยายามในการสู้กลับด้วยสิ่งที่เรียกว่าเป็น ‘ยาพิษ’ สำหรับ AI สร้างภาพโดยเฉพาะ

นั่นก็คือเครื่องมือชื่อ Nightshade ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย University of Chicago

Nightshade เป็นเครื่องมือโอเพ่นซอร์สที่ศิลปินสามารถใส่เข้าไปในภาพวาดของตัวเองได้ก่อนที่จะอัพโหลดขึ้นสู่อินเตอร์เน็ต โดยมันจะทำหน้าที่ปรับเปลี่ยนพิกเซลในภาพแบบที่ตาของมนุษย์ไม่สามารถรับรู้ได้ แต่สำหรับโมเดล AI นี่จะเป็นเสมือน ‘ยาพิษ’ เพราะมันจะทำให้ AI เรียนรู้ชื่อของวัตถุและฉากในภาพผิดเพี้ยนไปทั้งหมด

ยกตัวอย่างเช่น นักวิจัยได้ลองใส่ Nightshade เข้าไปในภาพสุนัขหลายๆ ภาพ เพื่อทำให้โมเดล AI เข้าใจผิดว่าสัตว์ที่อยู่ในภาพคือแมว

เมื่อปล่อยให้ AI เรียนรู้ภาพผสมยาพิษไปสัก 50 ภาพ AI ก็จะเริ่มสร้างภาพสุนัขที่พิลึกกึกกือออกมา

เมื่อป้อนเข้าไปสัก 100 ภาพ หากขอภาพสุนัขก็จะเริ่มได้ภาพแมว

จนในที่สุดเมื่อป้อนยาพิษเข้าไปถึง 300 ภาพ ทุกครั้งที่ขอภาพสุนัข ผู้ใช้งานก็จะได้ภาพที่ดูยังไงก็เป็นแมวแน่ๆ ออกมาแทน

 

เทคนิคที่ Nightshade ใช้เป็นเทคนิคที่นักพัฒนาโมเดล AI แทบจะป้องกันไม่ได้เลย เนื่องจากการปรับเปลี่ยนพิกเซลภาพในแบบที่ตามนุษย์แยกไม่ออกทำให้ไม่สามารถกวาดล้างภาพผสมยาพิษออกไปได้หมดก่อนที่จะป้อนข้อมูลให้ AI ได้เรียนรู้

หาก AI เผลอเทรนด้วยข้อมูลปนเปื้อนไปแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ จะต้องเทรนใหม่ทั้งหมดอีกที

ซึ่งทางทีมนักวิจัยก็ยอมรับว่ามันดูเป็นเครื่องมือร้ายกาจที่อาจถูกหยิบไปใช้ทำอะไรที่อันตรายได้

แต่พวกเขาก็หวังว่านี่จะเป็นการคืนอำนาจต่อรองกลับสู่มือของศิลปินที่ถูกขโมยผลงานและจะทำให้นักพัฒนา AI ยอมให้ความสำคัญกับลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาให้มากกว่านี้

นี่คือสองประเด็นหลักๆ ที่เกี่ยวข้องกับ AI ช่วยสร้างภาพระหว่างฝ่ายครูกับนักเรียน และนักพัฒนา AI กับศิลปินเจ้าของผลงาน

งัดข้อกันไปจนกว่าจะสามารถหาสมดุลที่ลงตัวสำหรับทุกฝ่ายได้ในที่สุด