คืนคนดีสู่สังคมไม่มีจริง? คุยกับนักรัฐศาสตร์ ปมดราม่ายาบ้า5เม็ด รัฐไม่เข้าใจความซับซ้อน สังคมไทยกำลังหลงทาง?

จากกรณีที่มีการรวิพากษ์วิจารณ์ หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศกฎกระทรวง กำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ.2567 เช่น ยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด หรือว่ายาไอซ์ไม่เกิน 100 มิลลิกรัม ทำให้เกิดกระแสในสังคมตั้งคำถามไปต่างๆ นานา

กรณีดังกล่าว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรีชญาณ์ นักฟ้อน หัวหน้าภาควิชารัฐศสาตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้เชี่ยวชาญแผนนโยบายเกี่ยวกับยาเสพติด ให้ความเห็นในประเด็นการออกกฎกระทรวงและปัญหายาเสพติดในสังคมไทยว่า การกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษ อย่างเช่น ยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ดหรือกี่เม็ดก็ตาม ไม่จำเป็นต้องมีการกำหนดปริมาณ ซึ่งกฎหมายก่อนหน้านี้มีการพูดถึงว่าไม่จำต้องมีการเอาปริมาณเข้ามากำหนด เพราะปริมาณไม่มีผล

การที่สาธารณสุขบอกว่าใช้ปริมาณ 5 เม็ด แล้วมีโอกาสที่เกิดอาการทางจิต หากถามว่าถ้าจับได้ ในปริมาณ 5 เม็ด คิดว่าเขาเสพทีเดียว 5 เม็ด หรือคิดว่าเขาเสพมากกว่า 5 เม็ด คุณไม่สามารถบ่งชี้พฤติการณ์อะไรได้เลย นอกเสียจากแค่มียาในมือ 5 เม็ด

ในความเป็นจริงก่อนที่จะมีการกำหนดปริมาณมีการพูดคุยกันว่าให้ดูพฤติการณ์ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด คนที่โดนจับไม่ใช่คนใหม่ๆ คนที่เคยโดนจับต่อให้เจอแค่เม็ดเดียวก็รู้ว่า “ค้า” หรือต่อให้เจอมากกว่าก็ต้องดูพฤติการณ์ หรือต้องมีข้อมูลอื่นๆ ประกอบ เพื่อตัดสินว่าพฤติการณ์คืออะไร

ทีนี้พอออกกฎไปกั้นแบบนี้นอกจากทำให้เกิดความเข้าใจผิดๆ หรือตีความผิด กลายไปเป็นช่องทางให้คนที่ทำผิดมากกว่า มีผลประโยชน์ เช่น แบ่งซองละ 5 เม็ด กลายเป็นผิดเพี้ยนไปหมด จะทำให้นอกจากไม่แก้ปัญหาแล้วยังสร้างปัญหาใหม่อีก

ผิดกับหลักนโยบายสาธารณะ

ทั้งนี้ กระบวนการออกนโยบายที่เป็นแบบนี้ไม่ได้ทำให้ผู้ปฏิบัติฝึกในการทำงานแบบเข้าใจปัญหา เหมือนตัดตอนการพัฒนาทักษะคนทำงาน

ข้าราชการที่ถูกฝึกให้ทำงานที่เป็นกิจวัตร (routine) ข้าราชการจะชอบ มันเป็นธรรมชาติของโครงสร้างและอาชีพที่เป็นมาแบบนั้น เพราฉะนั้น ถ้านโยบายไม่เอื้อ ให้เกิดการพัฒนาวิธีการทำงานของข้าราชการ ให้มีอิสระในการช่วยแก้ปัญหาจริงๆ กับประชาชน ข้าราชการระดับล่างๆ ก็จะทำตามแค่ระบบ

ที่สำคัญต้องทำความเข้าใจก่อนว่าปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน นอกจากปัญหาเรื่องการมีอยู่ของยาเสพติดในสังคมโดยตรงที่ส่งผลกระทบหลายมิติแล้วยังมีปัญหาที่เกิดจากความไม่เข้าใจเรื่องยาเสพติดทำให้เกิดปัญหาอื่นทับซ้อนตามมา

จะเห็นได้ว่าตั้งแต่อดีตเรื่อมาจนถึงปัจจุบันสังคมไทยมีความรู้ความเข้าใจด้านยาเสพติดน้อยมาก ทำให้คนในสังคมไม่เข้าใจปัญหายาเสพติด

เมื่อไม่เข้าใจปัญหาสังคมจึงนิยามปัญหาไม่ตรงกับปัญหาที่แท้จริง หรือนิยามแคบเกินไป

แม้กระทั่งตัวรัฐเอง การที่รัฐจะใช้อำนาจในการมาแทรกแซงสถานการณ์ หรือเข้ามาจัดการปัญหาที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ทำให้เกิดผลกระทบบางอย่างโดยที่สังคมไม่ทราบด้วยซ้ำว่ามาจากการแก้ปัญหายาเสพติดที่ผิด

การไม่เข้าใจปัญหาของรัฐ โดยเฉพาะปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่เรื้อรังนาน และรัฐใช้วิธีการบริหารของรัฐโดยใช้วิธีการบริหารเชิงอำนาจทุกเรื่องไม่ใช่แค่เรื่องยาเสพติด เพราะฉะนั้น รัฐมองว่าเป็นหน้าที่ของรัฐในการดูแลชีวิตประชาชน ทำให้จำเป็นต้องคิดแทนเราทุกเรื่อง จนกลายเป็นวิถีของประเทศ

แต่ในบางครั้งรัฐก็ไม่ได้รู้เท่าทันทุกรายละเอียด

เมื่อก่อนอาจจะง่ายเพราะสังคมไม่ซับซ้อน เพราะฉะนั้น การที่รัฐยึดครองวิธีคิดการตัดสินใจหรือแก้ปัญหาอยู่ฝ่ายเดียวไม่มีวันเพียงพอ เพราะรัฐก็จะรู้เฉพาะมุมของรัฐ

ปัญหายาเสพติดจึงผิดเพี้ยนมาเรื่อยๆ

ในความเป็นจริงแล้วทางการแพทย์ ยังมีการแบ่งประเภทการออกฤทธิ์ของสารเสพติด ไม่ว่าจะเป็นกดประสาท กระตุ้นประสาท หลอนประสาท ยังไม่นับรวมคนที่ใช้ผสมกัน หรือแม้แต่การใช้ยาออกฤทธิ์เทียบเคียงกันแต่ไม่ได้ผิดกฎหมายซึ่งมีเยอะมาก

รัฐหนึ่งรัฐไม่สามารถเข้าใจสถานการณ์ครอบคลุมได้ทั้งหมด ทำให้ภาพของปัญหายาเสพติดในอดีตถูกฉายภาพด้วยการห้ามเป็นหลัก เพราะมองว่าผลกระทบจากยาเสพติด หรืออะไรก็ตามที่มีภาวะเสพติด (addict) ไม่เคยถูกมองว่าดี เพราะแปลว่ามนุษย์กำลังพึ่งมันเกินว่าที่ควรเป็น ไม่ว่าจะเป็นการติดเกม ติดเซ็กซ์ ติดช้อปปิ้ง หรือติดยาไม่ต่างกัน คือภาวะเสพติด (addict)

“ยาเสพติด” เป็นตัวหนึ่งเท่านั้นที่มนุษย์เข้าไปเสพติด (addict) แต่มันมีหลายแบบทำให้คนเข้ามาเกี่ยวข้องกับยาเสพติดแต่ละประเภทก็มีความหลากหลาย คนละแบบกัน แต่รัฐยังใช้วิธีสื่อสารแบบเดิมๆ คือมองยาเสพติดเป็นก้อนก้อนเดียว ไม่เคยคลี่ออกมาตั้งแต่แรก ทำให้ประชาชนก็มองยาเสพติดเป็นก้อนเดียวเช่นกัน

ทำไมยาเสพติดไม่เคยถูกคลี่ออกเหมือน คนพิการยังแยกหลายประเภท คนสูงอายุยังแยกหลายกลุ่มเลย

ยาเสพติดจึงมีความหมายเดียวสำหรับการรับรู้ของประชาชน ที่รัฐมอบให้ตลอดเวลาคือ คนเสพตาย คนขายติดคุก

ยังไม่รวมอำนาจรัฐที่เข้าไปสร้างปัญหาทับซ้อน เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณถูกแปะป้ายว่าเป็นคนติดยาต่อให้คุณเลิกใช้ยาวันนี้ แต่คุณเป็นคนติดยามาก่อน การปะป้ายแบบนี้เขามีรอยแผล การกลับเข้าไปในสังคมไม่เหมือนเดิมอีกตอไป

“คำว่าคืนคนดีสู่สังคมมันไม่มีจริง มีแต่คืนคนที่เคยทำชั่วสู่สังคม” นี่คือภาพที่รัฐแปะป้ายโดยไม่รู้ตัว

(Photo by Romeo GACAD / AFP)

สังคมไทยกำลังหลงทาง เมื่อรัฐหลงทาง สังคมก็หลงทาง แต่หลงแล้วยังฝืนแต่ถ้ารู้ว่าหลงทางแล้วกลับมาเริ่มใหม่ เพราะอย่างน้อยวันนี้เรากำลังอยู่ภายใต้การแก้ไขปัญหาที่ไม่เห็ผลลัพธ์อะไรที่มากขึ้น เพราะฉะนั้น เราหยุดแก้สักวันหนึ่ง เพื่อหยุดคิดและเปลี่ยนวิธี

ถ้าหากยิ่งปล่อยก็ยิ่งเรื้อรัง เพราะสิ่งที่ไม่หยุดคือ “งบประมาณด้านยาเสพติด” และความเข้าใจในปัญหาที่แย่ลงไปเรื่อยๆ ความสัมพันธ์ระหว่างคนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด กับคนในสังคมเริ่มแยกออกจากกันเรื่อยๆ จนไม่สามารถกลับเข้ามาใหม่ได้อีก แค่คุณแตะเรื่องยาเสพติด

เหมือนในอดีตที่คนติดเชื้อ HIV ไม่มีใครรับเข้าสังคมอีกเลย จนวันหนึ่งเราเรียนรู้ที่จะอยู่กับคนที่ติด HIV เราควรจะใช้โมเดลนี้

แต่ปัญหายาเสพติดมันซับซ้อนกว่า

 

ถ้าหากเรามองว่าปัญหายาเสพติดเป็นผลพวงจากปัญหาทางสังคม คำถามแรกที่ควรตั้งคำถาม คือทำไมเขาถึงใช้ยา?

ทำไมถึงใช้ที่แปลว่า ทำไมที่อยากรู้เหตุผล ไม่ใช่ทำไมถึงใช้ ที่มาจากความโกรธ ใช้ทำไมกับทำไมถึงใช้ไม่เหมือนกัน ใช้ทำไมมีคำตอบเดียว คือ เมื่อคุณใช้คุณผิด คุณติดคุก มันไม่ได้แก้ปัญหาอะไร ขอให้คนเลิกยา สังคมหรือรัฐไม่ต้องรับผิดชอบชีวิตเขาต่อ ทั้งๆ ที่เขาอาจแตกสลายจนมีที่พึ่งอะไรอีกแล้ว หันไปหาใครก็ไม่เจอ ยาเป็นเพื่อนคนเดียวของเขา

เพราะฉะนั้น ภาวะแบบนี้มันทำให้เราไม่เข้าใจ ยังไม่รวมคนที่มีภาวะแตกสลายของคนในสังคมจากปัญหาอื่นๆ ทางเศรษฐกิจ สังคม ครอบครัว ที่ทำงาน การแข่งขันในเมือง มันมีหลายปัจจัยมากที่ทำให้คนใช้ยาเสพติด

การเจอปัจจัยเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เราเกิดองค์ความรู้ใหม่ แต่จะทำให้เราเห็นว่าสังคมหรือการใช้ชีวิตของมนุษย์ ในสังคมทุกวันนี้มีความเปราะบางหลายจุด

ถ้าหากไปสังเกตดูได้ทุกรัฐบาลจะชูปัญหายาเสพติดเป็นผลงานเด่น และผลงานที่ชูเป็นหลักคือจับยา โดยไม่ได้สนใจปัญหาอื่นๆ

ยาเสพติดก็เป็นไปตาม Demand กับ Supply ถ้ายาเยอะสะท้อนอะไร ไม่ได้สะท้อนว่าเราทำงานไม่ดี แต่สะท้อนว่าความต้องการมันเยอะขนาดไหน สะท้อนว่าคนในสังคมแตกสลายขนาดไหน

นี่คือสิ่งที่หน่วยงานทางสังคมไม่มอง มองว่าเป็นหน้าที่ของตำรวจ ทหาร ที่ต้องสกั้ดกั้น มองว่าสาธารณสุขต้องบำบัด ในความเป็นจริงแล้ว ปัญหายาเสพติด เป็นปัญหาที่กระทรวงทางด้านสังคมต้องเข้ามาโอบรับ

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

ปัญหายาเสพติดจึงเป็นปลายเหตุของปัญหาทางสังคม แล้วมันก็เป็นต้นเหตุของปัญหาสังคม

เพราะปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่สะท้อนปัญหาทางสังคมที่สำคัญที่สุด

ไม่มีใครอยากใช้ยาหรอก ถ้ามันมีอะไรที่พึ่งพิงได้ดีกว่า คนอยากใช้ชีวิตเพราะว่าการเสพติดอะไรสักเรื่อง มันหงุดหงิด เวลาที่ไม่ได้มา มันไม่มีใครอยากอยู่ในภาวะเสพติด (addict) อะไร ทุกคนอยากเป็นอิสระ อยากมีโอกาสทำอะไรก็ได้

เราอบรมป้องกันยาเสพติดในโรงเรียนกันตลอดเวลา แต่เด็กกลับบ้านไปตอนเย็นไม่มีใครติดตามต่อว่าเด็กเจออะไรมาบ้างในแต่ละวัน การที่เด็กกลับบ้านแล้วไม่เจอใครเนื่องจากพ่อแม่ต้องทำงาน ซึ่งพ่อแม่ก็ไม่ได้ผิด เพราะว่าเงินไม่พอใช้ หน่วยงานไหนต้องเข้ามาช่วยตรงนี้ ไม่มีใครผิด ไม่ได้โทษหน่วยงานไหนผิด

แต่อยากให้รัฐมองไปที่ตัวปัญหาที่แท้จริง ถ้ารัฐนิยามปัญหาไม่เคลียร์เพราะไม่เข้าใจ ถ้ารัฐเข้าใจมันชัด รัฐจะนิยามมันชัด รัฐจะรู้ว่าต้องอาศัยอำนาจของรัฐจุดไหนเข้าไปแก้ไขสังคมเรื่องนี้ พอมันผิดเพี้ยนตั้งแต่แรก นิยามผิดตั้งแต่แรก รัฐก็ดึงอำนาจไปผิดตั้งแต่แรก

วันนี้มันจึงเป็นสถานการณ์แบบนี้

 

วิธีการคิดแบบที่รัฐเป็น คือรัฐมองปัญหายาเสพติดในมุมหนึ่ง ใช้อำนาจเป็นหลัก

สมัยคุณทักษิณ ชินวัตร เป็นสมัยที่เปลี่ยน ป.ป.ส.ให้มาอยู่ภายใต้กระทรวงยุติธรรม รัฐวางอำนาจใครเข้ามาทำหมายถึงรัฐกำลังมองปัญหานั้นแบบนั้น

เมื่อก่อน ป.ป.ส.อยู่สำนักนายกฯ แปลว่าจะประกาศสงคราม การใช้อำนาจรัฐไปบังคับให้คนเลิกยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดยังไม่เห็นผลลัพธ์เชิงประจักษ์ที่ดี

แต่สิ่งที่เห็นคือไปเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่รัฐในการคอร์รัปชั่น เพราะคุมอำนาจในการไปสั่งให้ใครทำไรสักอย่างมาก มันก็จะเป็นช่องทางในการรับผลประโยชน์โดยใช้อำนาจที่ตัวเองมีไปในทางที่ผิด

อันนี้เห็นได้ชัดเจน แก้ปัญหาได้หรือเปล่าไม่รู้ แต่คนทำงานที่มีอำนาจ มีอำนาจให้ผลประโยชน์ของตัวเองสูงมาก

ยุคคุณเศรษฐา ทวีสิน ก็น่าจะกลับไปเป็นแบบคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หากสังเกตคุณทักษิณ คุณยิ่งลักษณ์จะออกมาคล้ายๆ กัน คือ เด็ดขาด ในตอนนี้ สาธารณสุขอยู่สังกัดพรรคเพื่อไทย แนวโน้มน่าจะมาในแนวสาธารณสุขนำ อย่างเช่น harm reduction ผู้เสพเป็นผู้ป่วย ไม่เน้นบังคบใช้กฎหมาย เพราะแนวโน้มโลกก็เป็นแบบนั้น แต่สำหรับคนค้ายังเหมือนเดิม

ส่วนแนวคิดของก้าวไกลอาจจะไปได้กับไอเดียแนวโน้ม (trend) ใหม่ แต่ไม่รู้ว่าก้าวไกลเข้าใจปัญหายาเสพติดมากแค่ไหน ไม่ใช่แค่เรื่องแนวคิด แนวโน้ม (trend) ไปทางไหน แต่ยาเสพติดมีปัญหามาตั้งแต่แรกแล้ว คือ “ความไม่เข้าใจในปัญหา” เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นเสรีนิยม (ลิเบอรัล) หรือฝ่ายอำนาจนนิยม ถ้าไม่เข้าใจปัญหาก็พังอยู่ดี

ซึ่งหากไม่เข้าใจแล้วฝั่งลิเบอรัลอาจจะหนักกว่า เหมือนกับการไปส่งเสริมแล้วไม่ได้มีการจัดการที่ดี ไม่แน่ใจว่าอันไหนจะแย่กว่ากัน