ท่องโรงเจ ไหว้พระ พบปะ ‘สหาย’ (2)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
ภาพประกอบ : Facebook โรงเจซินเฮงตั๊ว 新興壇 วงเวียน22

เวลาที่ผมไปงานกินเจที่ใดก็จะสังเกตดูว่า ในงานนั้นเขาเรียกเทพประธานงานกินเจในภาษาจีนว่า กิ๊วหองไต่เต่ “นพราชาธิราช” หรือกิ๊วหองฮุดโจ้ (สำเนียงแต้จิ๋วว่า กิ่วอ้วงฮุกโจ้ว) “นพราชาพุทธะ” เพราะคนฮกเกี้ยนมักนิยมเรียกกิ๊วหองไต่เต่ เนื่องจากอิทธิพลของศาสนาเต๋าและศาสนาชาวบ้าน ในขณะที่ถิ่นแต้จิ๋วมักเรียกว่ากิ่วอ้วงฮุกโจ้ว เนื่องจากอิทธิพลของพุทธศาสนาที่แพร่หลายในถิ่นนั้นมากกว่า

ดังที่เคยเล่าว่า แม้แต่เทพเจ้าต่างๆ บางครั้งชาวแต้จิ๋วก็เรียกว่าฮุกโจ้ว เช่น เทพเจ้าจินบู๊ซัวไต่เต่หรือเฮี่ยนเที้ยนสย่งเต่ (ที่คนไทยมักเรียกว่าเจ้าพ่อเสือ) ก็เรียกจินบู๊ซัวฮุกโจ้ว เป็นต้น

ดังนั้น หากพอเห็นป้ายเก่าๆ หรือยันต์ที่เขียนว่ากิ๊วหองไต่เต่ ผมก็มักคาดเดาว่าที่แห่งนั้นอาจเคยมีความเกี่ยวข้องกับคนฮกเกี้ยน เช่น อาจเคยมีประเพณีหรือครูบาอาจารย์ทางฮกเกี้ยนมาก่อน

หรือสถานที่นั้นอาจเคยมีความเกี่ยวข้องกับ “สมาคมลับ” ซึ่งนิยมเรียกกิ๊วหองไต่เต่เพราะเป็นนามที่มีนัยทางการเมืองมากกว่า และแพร่หลายมากในหมู่คนฮกเกี้ยน

ศาลเจ้าโจวซือกงตลาดน้อย ซึ่งเป็นศาลเจ้าดั้งเดิมของคนฮกเกี้ยนในกรุงเทพฯ ป้ายสำหรับออกแห่ซึ่งเขาจะนำออกมาตั้งในงานกินเจนั้น ยังคงเขียนว่ากิ๊วหองไต่เต่อย่างชัดเจน แม้ว่าพิธีกรรมภายในศาลอาจเปลี่ยนไปเพราะคนฮกเกี้ยนมีเหลืออยู่น้อยและมีวัฒนธรรมเจือจางลง

บางท่านแอบบอกผมว่า ในโรงเจของเขาซึ่งดำเนินงานโดยชาวแต้จิ๋ว แม้ป้ายต่างๆ แห่จะเขียนว่ากิ๊วหองฮุดโจ้ แต่ในฎีกาภาษาจีนที่อ่านในพิธีกลับใช้คำว่ากิ๊วหองไต่เต่ก็มี

 

อันที่จริงในบรรดาจีนถิ่นใต้ คนแต้จิ๋วกับคนฮกเกี้ยนใกล้ชิดกันทางวัฒนธรรมมากที่สุด ภาษาแต้จิ๋วที่จริงคือภาษาหมิ่นหนาน (บิ่นหลำ) หรือภาษาฮกเกี้ยนใต้สาขาหนึ่ง คนฮกเกี้ยนกับคนแต้จิ๋วจึงคุยกันรู้เรื่องเกินกว่าเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ และก็พอเดาศัพท์กันได้

ประเพณีพิธีกรรมก็ใกล้เคียงกันมากกว่าจีนกลุ่มอื่นๆ แม้ว่าเมืองแต้จิ๋วจะอยู่ในมณฑลกวางตุ้งแต่ก็ชิดกับฝั่งมณฑลฮกเกี้ยน จึงรับวัฒนธรรมฮกเกี้ยนไปมากกว่าทางกวางตุ้ง แถมยังเป็นพวก “ตึ๋งหลาง” หรือชาวถังด้วยกัน

อีกทั้งในปูมอพยพ ว่ากันว่าชาวแต้จิ๋วในสมัยโบราณอพยพไปจากมณฑลฮกเกี้ยน ถึงกับมีคำกล่าวที่แพร่หลายในชาวแต้จิ๋วเองว่า คนฮกเกี้ยนเป็นบรรพชนของคนแต้จิ๋ว (แต้จิ้วหนั่ง ฮกเกี่ยนโจ้ว)

ทว่า ด้วยความเชื่อนี้เอง กลับทำให้เกิดปัญหาในเรื่องการแต่งงาน คือหญิงชาวฮกเกี้ยนจะไม่แต่งงานกับชายชาวแต้จิ๋ว เพราะในธรรมเนียมจีน ฝ่ายชายต้องมีศักดิ์สูงกว่า ส่วนฝ่ายหญิงนั้นต้องถือเป็นน้องหญิงหรือมีศักดิ์รองลงมา

แต่การเชื่อว่าคนฮกเกี้ยนเป็นบรรพชน ทำให้ฝ่ายหญิงฮกเกี้ยนถูกถือว่ามีฐานะหรือศักดิ์สูงกว่าชายแต้จิ๋วไปโดยปริยาย จึงห้ามแต่งงานกัน ถ้าฝืนแต่งเขาก็ว่าจะไม่เจริญ

เรื่องนี้ดูเป็นนิยายโบราณบรมสมกัลป์ แต่เชื่อไหมครับว่าในปัจจุบันผมก็ยังได้ยินเรื่องพวกนี้อยู่ และยังมีคนที่เชื่อถือคตินี้ตัวเป็นๆ มาเล่าอุปสรรคชีวิตรักของเขาให้ผมฟังมาแล้ว

 

จะเล่าเรื่องโรงเจ ไปๆ มาๆ หลุดไปเรื่องความสัมพันธ์แต้จิ๋ว-ฮกเกี้ยน ที่ต้องพูดเรื่องนี้ เพราะงานกินเจในบ้านเราถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่าย

หนึ่งคือฝ่ายปักษ์ใต้เช่นทางภูเก็ต ตรัง พังงา ระนองเรื่อยไปจนถึงมาเลย์ ซึ่งดูเป็นงานของพวกฮกเกี้ยน เต็มไปด้วยเรื่องทรงเจ้าเข้าผี

และไม่เกี่ยวหรือไม่มีอะไรเหมือนกับงานกินเจของโรงเจในภาคกลางหรือภูมิภาคอื่นในบ้านเรา ซึ่งโดยมากเป็นโรงเจของคนแต้จิ๋วหรือดำเนินการโดยคนแต้จิ๋ว

แต่เอาเข้าจริง พอได้ลองไปสัมผัสเองหรือได้ถามไถ่ผู้รู้ ก็ยังพอเห็นความเชื่อมโยงกันอยู่พอสมควรครับ

ที่จริงหากท่านใดสนใจเรื่องกินเจในมิติที่หลากหลายไม่ว่าจะศาสนาหรือประวัติศาสตร์ ควรอ่านหนังสือเรื่อง “เทศกาลกินเจในเดือนเก้าและปิตุมาตาอนันตคุณทุรกตเวทิตาสูตร” ของคุณธนัสถ์ สุวัฒนมหาตม์ ซึ่งพิมพ์ไว้ตั้งแต่ปี 2551 ผู้เขียนได้ศึกษาค้นคว้าอย่างรอบด้าน

อ่ะแฮ่ม ผมไม่ได้ค่าโฆษณาจากผู้เขียนใดๆ ทั้งสิ้นนะครับ แต่เห็นว่ามีประโยชน์ควรแก่การแนะนำ

ที่จริงศิษย์ร่วมสำนักของผมผู้ไปช่วยงานที่โรงเจซินเฮงตั๋ว เล่าให้ฟังว่า คืนหนึ่งในช่วงกินเจปีนี้ เมื่อเห็นว่าปลอดคน เขาโพกผ้าขาวตามอย่างธรรมเนียมเจียะฉ่ายของคนฮกเกี้ยนในภาคใต้หรือทางภูเก็ต แล้วเข้าไปไหว้กิ๊วหองในโรงเจเงียบๆ

ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเห็นเข้าก็ทักในทำนองว่า พวกนี้รู้ “ความลับ” กันเร็ว กล่าวคือ รู้ว่าความลับของงานกินเจมีเรื่องของการ “ไว้ทุกข์” (ซึ่งแสดงออกอย่างชัดเจนโดยการโพกผ้า) หรือนัยยะทางการเมือง เร็วกว่ารุ่นของพวกท่าน

 

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมประทับใจจากงานกินเจที่โรงเจซินเฮงตั๋วคืออาหารเจที่นั่นครับ โดยปกติในช่วงกินเจ โรงเจต่างๆ ก็จะเปิดโรงทานเลี้ยงอาหารเจแก่ผู้เข้าร่วมงาน

อาหารแต่ละโรงเจจัดเป็นของขึ้นหน้าขึ้นตาอย่างหนึ่ง โรงเจไหนอาหารอร่อยคนก็ร่ำลือกัน บางโรงเจพยายามปรับอาหารให้ลูกหลานจีนรุ่นใหม่ไม่เบื่อ ก็มีอาหารไทยแทรกเข้าไปด้วยอย่างพวกแกงต่างๆ หรือผัดเผ็ด หรือพวกของเลียนแบบเนื้อสัตว์เพื่อให้ไม่จำเจ

ผมยังจำได้ว่าตอนเด็กๆ เคยไปกินอาหารเจจากโรงเจอยู่สองที่ในระนอง ที่แรกคือศาลเจ้าต่ายเต่เอี๋ยกับโรงเจของมูลนิธิพ่งไล้จับอิกเชียวเกาะ ปรากฏว่าติดใจอาหารที่ต่ายเต่เอี๋ยมากกว่าเพราะมีพวกอาหารไทย มีแกงส้มต้มผัดอะไรต่างๆ แต่พอไปที่พ่งไล้ก็มีแต่ผัดผักจืดๆ กับของดองของเชื่อม

ชวนให้เด็กๆ อย่างเราเบื่อหน่ายอย่างยิ่ง

 

อาหารเจมื้อค่ำที่ซุนเฮงตั๋วนั้น เขามีเพียงข้าวต้มและของเคียงข้าวต้มไม่กี่อย่าง คือมีไชโป้วหวาน ผักกาดดอง ไชโป้วเค็ม ถั่วลิสงทอด และต้มหัวกะหล่ำเปล่าๆ ที่เรียกว่าต้มลุ้ยเท่านั้นเอง

พอเริ่มตักข้าวกิน ผู้ร่วมโต๊ะก็เอ่ยขึ้นว่า “นี่กินอย่างจ้อก้งหรือบรรพชนของเรากินมาเลย” ผมฟังแล้วก็รู้สึกอะไรบางอย่างขึ้นมา

แม้ว่าจ้อก้งของผมจะไม่ถึงกับลำบากยากแค้นเป็นกุลีแบกหาม ว่ากันว่าท่านมีความรู้ดี มาเป็นเสมียนและอาลักษณ์ในเมืองระนอง คอยเขียนจดหมายและโพยก๊วนหรือตั๋วแลกเงินแลกของให้คนระนองส่งกลับไปเมืองจีน

แต่ไม่ว่ากุลีหรือเสมียนต่างก็ล้วนเป็นผู้อพยพทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนมาทั้งนั้น ไม่ได้แตกต่างอะไรกันนัก ถ้าอยู่จีนสุขสบายดีจะอพยพมาทำไม

ดังนั้น พอนึกตามได้ว่า เออ บรรพชนรุ่นแรกๆ หรือจ้อก้งของเราก็คงกินอะไรอย่างนี้บ้างแหละ อย่างน้อยก็ช่วงแรกๆ ที่อพยพ มีผักดอง มีถั่วดิน (ถ่อต่าว) กินกับข้าวต้มก็คงเป็นมื้อที่พอใช้ได้แล้ว เทียบไม่ได้เลยกับที่คนเก่าๆ มักเล่าว่า สมัยก่อนกุลีจีนเหมืองแร่ต้องเอาก้อนกรวดมาล้างแล้วจิ้มซีอิ๊วดูดกินกับข้าวต้ม

เรื่องนี้จะจริงเท็จอย่างไรผมก็ไม่ทราบ แต่คงสะท้อนว่า คนจีนรุ่นแรกอพยพมาล้วนลำบากยากจนกันทั้งนั้น

ผมถึงค่อยๆ เข้าใจมิติทางอารมณ์ความรู้สึกของการเซ่นไหว้ “โฮ่เฮียตี๋” ที่เรียกกันง่ายๆ ว่า ไหว้ผีไม่มีญาติหรือสัมภเวสีในเทศกาลต่างๆ ของคนจีนในบ้านเรา

คือคงไม่ได้ไหว้เพื่อให้เฮงหรือให้ผีเหล่านั้นนำโชคลาภมาให้อย่างเดียว แต่มันคือความรู้สึกสงสารเห็นใจเพื่อนร่วมชะตากรรมกับบรรพชนของตน ที่ท่านเหล่านั้นไม่อาจเอาชนะความลำบากยากจน ไม่สามารถตั้งตัวจนมีลูกหลานไว้เซ่นไหว้สืบต่อมาได้ ต้องตายไปอย่างเดียวดายหิวโหยไร้ญาติพี่น้อง

เพราะเห็นใจดวงวิญญาณเหล่านี้เอง หากพอมีพอกินก็เซ่นไหว้เผื่อแผ่ไปด้วย

นอกจากจะเรียก โฮ่เฮียตี๋ที่แปล่วาพี่น้องที่ดี บางธรรมเนียมเรียกผีเหล่านี้ว่า “โฮ่เจ็กแปะ” คือให้เกียรติเรียกเป็นคุณลุงคุณอากันเลยทีเดียว

 

งานกินเจหลายที่ยังคงทำพิธีโยคะเปรตพลีหรือพ้อต่อ (โผ่โต่ว) ทำทานอุทิศกุศลแก่ดวงวิญญานผู้กินเจทั้งหลายที่ล่วงลับรวมไปถึงบรรดาโฮ่เฮียตี๋เหล่านี้ ซึ่งหลายท่านกล่าวในทางมิติของพุทธศาสนาว่าต้องการให้กุศลแผ่กว้างออกไป หรืออย่างน้อยๆ ก็จัดโต๊ะอาหารเซ่นไหว้ดวงวิญญานของบรรดา “เหล่าฉ่ายอิ้ว” (สหายกินผักอาวุโส) ที่เคยร่วมงานของโรงเจนั้นๆ ในอดีต โดยถือเป็นพิธีส่วนหนึ่งที่สำคัญในเทศกาลกินเจ

ผมคิดว่า อันที่จริงหากมองในมิติทางการเมือง การทำบุญและการเซ่นไหว้ให้บรรดาสหายกินเจนั้น ก็คือการทำบุญและระลึกถึงบรรดา “สหายผู้ร่วมอุดมการณ์ทางการเมือง” ด้วยนั่นเอง

หากพูดให้ยิ่งไปกว่านี้ การทำบุญและเซ่นไหว้ในช่วงเทศกาลกินเจ คงมิได้จำกัดแค่สหายร่วมอุดมการณ์และดวงวิญญาณทั้งหลายเท่านั้น

แต่คงยังมุ่งหมายไปถึง บรรดา “วีรชน” ผู้เคยสละชีพ ไม่ว่าจะตายลงด้วยการโดนสังหารจากรัฐ หรือตายลงเพราะเหตุอื่นๆ จากการต่อสู้เพื่อ “ล้มชิง กู้หมิง” อันเป็นอุดมการณ์แฝงในงานกินเจและโรงเจต่างๆ อีกด้วย

บางท่านอาจคิดว่าผมคงเพี้ยนที่พยายามลากทุกเรื่องไปเกี่ยวกับการเมือง

แต่ผมไม่ได้เป็นคนลากครับ สิ่งที่ผมพบต่างหากที่ลากผมไป

ผมก็แค่พยายามจะเข้าใจอดีตเท่านั้นเอง •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ท่องโรงเจ ไหว้พระ พบปะ ‘สหาย’ (1)