ท่องโรงเจ ไหว้พระ พบปะ ‘สหาย’ (1)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
ภาพประกอบ : Facebook โรงเจซินเฮงตั๊ว 新興壇 วงเวียน22

ในบทความฉบับที่แล้ว ผมได้พิมพ์ผิดพลาดคลาดเคลื่อนในตอนที่ว่า “นัยยะทางการเมืองของงานกินเจที่เด่นชัด และนักประวัติศาสตร์ต่างก็กล่าวถึง คือเป็น ‘งานไว้ทุกข์’ ครับ ไม่ว่าจะไว้ทุกข์แด่กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ซ่ง” ที่จริงต้องเป็นราชวงศ์ “หมิง” ครับ ไม่ใช่ “ซ่ง” จึงเรียนมาเพื่อทราบและขออภัยไว้ ณ ที่นี้

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วครับว่า การกินเจในปัจจุบันมีเหตุผลที่หลากหลาย บางท่านอาจต้องการละเว้นชีวิตสัตว์ สร้างกุศล ได้ถือศีลชั่วคราวตามมโนคติแห่งพุทธศาสนา บางท่านอาจถือโอกาสล้างพิษ ได้กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพที่ช่วยฟื้นระบบต่างๆ ของร่างกาย บางท่านว่ากินเจเพื่อสะเดาะเคราะห์ หรือเหตุผลอื่นๆ

ส่วนตัวผมนั้น สมัยเด็กๆ เคยกินเจหรือเจียะฉ่ายด้วยความเชื่อทางศาสนาและประเพณี แต่ภายหลังก็กินด้วยเหตุผลอื่น คือจากสำนึกทางประวัติศาสตร์เป็นสำคัญ ส่วนสำนึกทางศาสนานั้นรองลงมา

แม้การกินเจจะเป็นประเพณีเก่าแก่ร่วมร้อยปี แต่อันที่จริงเมืองระนองบ้านเกิดของผมเพิ่งมีประเพณีกินเจไม่กี่สิบปีมานี้เอง เพราะศาลเจ้าเก่าแก่ของเรา “ต่ายเต่เอี๋ย” เดิมมิใช่โรงเจที่สามารถประกอบพิธีกินเจได้ จึงต้องไปเรียนพิธีกรรมนี้มาจากทางสายตะกั่วป่า จังหวัดพังงา แล้วนำมาปฏิบัติจนถึงทุกวันนี้

ต้องอธิบายว่า มิใช่ศาลเจ้าทุกศาลเจ้าจะเป็นโรงเจโดยอัตโนมัตินะครับ แต่เผอิญเราใช้คำว่าโรงเจในความหมายกว้างๆ คือ สถานที่ที่มีการกินเจหรือส่งเสริมการกินเจ ทว่าโรงเจที่จะจัดงานกินเจเดือนเก้านั้น หากพูดโดยธรรมเนียมเดิมแล้ว ต้องมีระเบียบแบบแผนและพิธีกรรมบางอย่างจึงจะนับว่าเป็นโรงเจตามขนบ

ต้องเข้าใจก่อนว่า บางโรงเจเป็นโรงเจที่เปิดตลอดทั้งปี ในฐานะที่เป็น “โรงเจ” หรือธรรมสถาน พอถึงเทศกาลก็จัดตกแต่งเพิ่มเติมและเพิ่มพิธีกรรมบางอย่างเข้ามา บางโรงเจปิดเอาไว้ตลอดทั้งปี จะเปิดเฉพาะงานกินเจเดือนเก้าเพียงไม่กี่วันเท่านั้น บางโรงเจเป็นโรงเจชั่วคราว คือโดยปกติเป็นศาลเจ้าหรือวัด พอถึงเทศกาลก็จัดปะรำพิธีใหม่ และสถาปนาเป็นโรงเจชั่วคราวขึ้นมา

 

ที่บอกว่าศาลเจ้าหรือโรงเจไหนจะเป็นโรงเจตามขนบได้นั้น จะต้องสถาปนาขึ้นเป็น “เต้าบู้เกี้ยง/ เต้าโบ้เก้ง” ซึ่งมีความหมายว่า “พระตำหนักดาริกาเทวี”

พระดาริกาเทวีหรือเต้าโบ้ในภาษาฮกเกี้ยนนั้น นับถือเป็นเทพประธานสำคัญในพิธีกินเจเดือนเก้า เป็นเทวีแห่งดวงดาวซึ่งมีลักษณะซับซ้อนหลากหลาย ทางศาสนาเต๋าใช้รูปแบบเดียวกับมรีจิเทวีโพธิสัตว์ของพุทธศาสนามหายาน คือมีหลากพักตร์หลายกร แต่ในรูปเคารพแบบชาวบ้านมักทำเป็นรูปสตรีสูงศักดิ์ สวมชุดไท่โฮวหรือไท่เฮา คือพระราชมารดาขององค์จักรพรรดิ

ทั้งนี้ มีความเชื่อว่า พระดาริกาเทวีเป็นมารดาของดวงดาวทั้งหลาย รวมทั้งพระนพราชา (กิ๊วหองไต่เต่) กลุ่มเทพประธานเก้าองค์แห่งงานกินเจด้วย

ในเชิงการจัดแบ่งพื้นที่ โรงเจแบบเต้าโบ้เก้งนั้น ควรจะมีห้องเฉพาะสำหรับพระนพราชา เรียกว่าหล่ายเตี่ยน หรือพระราชฐานชั้นใน ซึ่งในประเพณีกินเจทางใต้ หล่ายเตี่ยนหรือห้องกิ๊วหองนี่แหละ ที่เป็น “ห้องแห่งความลับ” อย่างแท้จริง

ส่วนเป็นความลับอย่างไร เขาไม่ให้บอกครับ ถึงกับสบถสาบานกันเลยทีเดียว

นอกจากนี้ โรงเจที่เป็นเต้าโบ้เก้ง ยังมีขั้นตอนในทางพิธีกรรมอีกมากมาย เป็นต้นว่า พิธีอัญเชิญและส่งนพราชาต้องทำอย่างไร ในเก้าวันนั้นแต่ละวันมีพิธีอะไรบ้าง ใช้บทสวดไหน บรรดาเจ้าหน้าที่จะแบ่งกันอย่างไร ฯลฯ

อันที่จริงมีหลายท่านได้เคยพูดมาแล้วว่า งานกินเจเดือนเก้านั้นมีทั้งคติแบบเต๋า คือการบูชาดวงดาว คติแบบพุทธศาสนาที่รับเอาคติของความเชื่ออื่นๆ มาแปลง คือการบูชาพระพุทธและพระโพธิสัตว์ทั้งเก้าองค์ ส่วนคติแบบชาวบ้านนั้น มีนัยทางการเมืองผสมอยู่ด้วย

นัยทางการเมืองแฝงในพิธีกรรมและขั้นตอนหลายอย่างของงานกินเจ รวมทั้งแฝงไว้ในรูปเคารพ องค์เทพบางองค์ บูรพาจารย์ กลอนคู่ สัญลักษณ์ต่างๆ ที่ปรากฏในโรงเจ

ปีนี้ผมเลยตั้งใจไว้ว่าจะลองไปเที่ยวแสวงบุญในบางโรงเจที่ว่ากันว่ายังคงเหลือร่องรอยของสิ่งเหล่านี้ดูครับ

 

ธรรมเนียมอย่างหนึ่งของการไปโรงเจ คือการไปทำบุญและแจ้งชื่อต่อพระนพราชาธิราช ถ้าเป็นความเชื่อทางศาสนาก็เหมือนเราแจ้งชื่อต่อเทพเจ้า แต่นัยทางการเมืองคือการ “เช็กชื่อ” ตรวจตราขุมกำลัง ผู้สนับสนุน และบรรดาเหล่าสมาชิก “สมาคมลับ”

สมาคมลับเหล่านี้เอง ที่พยายามดำเนินการ “ล้มชิงกูหมิง” แต่ต้องออกลี้ภัยมายัง “ทางใต้” คือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และดำเนินการต่อไปโดยแฝงไปกับพิธีกรรมกินเจ

ผมชอบใช้คำพูดว่า โรงเจเท่ากับเป็น “ชุมนุมจอมยุทธ์” นั่นแหละ

ลองดูว่า ชวนให้คิดถึงความเป็นชุมนุมจอมยุทธ์อย่างไรนะครับ ตัวอย่างเช่น ในช่วงกินเจ คนกินเจจะมีคำเรียกติดปากกันอยู่ คือเรียกคนกินเจด้วยกันว่า เจอิ้วหรือฉ่ายอิ้ว หมายถึง “สหาย” กินเจ หรือ สหายกินผัก

แหม พอใช้คำว่า “สหาย” ฟังดูก็น่าสนใจนะครับ ดูมีกลิ่นการเมืองนิดๆ แล้ว

ปีนี้ ผมได้รับการบอกเล่าจาก “สหายกินผัก” ผู้เป็นศิษย์ร่วมสำนักว่า ให้ลองไปโรงเจบางแห่งในกรุงเทพฯ ซึ่งครูบาอาจารย์ของพวกเราบอกว่ายังคงรักษาประเพณีที่น่าสนใจไว้ได้ ไม่ถูกกลืนกลายไปในทางศาสนาจนหมด

ที่นั่นคือโรงเจซุนเฮงตั๋ว ศาลเจ้าแม่ซิดเซี้ยม่า วงเวียนยี่สิบสอง

 

อันที่จริง เมื่อผมกินเจที่กรุงเทพฯ ก็มักแวะไปศาลเจ้าโจวซือกงตลอดน้อย ด้วยเหตุว่าเป็นศาลเจ้าของคนฮกเกี้ยน แต่ด้วยความที่ไปบ่อยครั้ง พอเห็นอะไรๆ ที่ “เปลี่ยนไป” บ้างแล้ว ปีนี้จึงลองไปที่อื่นดู

บางท่านว่า ธรรมเนียมกินเจแต่ก่อน ผู้คนมักจะต้องไปนอนเฝ้าโรงเจกันเลย ทั้งเพราะระยะทางที่ไกลและถือเหมือนไปถือศีลไม่นอนบ้าน และผู้กินเจมักสังกัดโรงเจใดโรงเจหนึ่งกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่ก็มีธรรมเนียมการไปแสวงบุญยังโรงเจต่างๆ โดยเฉพาะในเครือเดียวกันด้วย

ผมจึงถือโอกาสนับว่าตัวเองไป “แสวงบุญ” ที่ซุนเฮงตั๋วในปีนี้ สิ่งแรกที่สะดุดตา คือแผ่นป้ายไฟชั่วคราวที่ติดหน้าโรงเจว่า “เต้าโบ้เก้ง”

พอเห็นปุ๊บก็อุ่นใจว่า น่าจะมาถูกที่แล้ว

ที่นั่น ส่วนของโรงเจจะแยกออกจากตัวศาลเจ้าแม้จะติดกัน ภายในมีเทวรูปพระดาริกาเทวีและพระนพราชาเป็นประธาน เป็นงานศิลปะแบบ “ผกซา” หรืองานพอกกระดาษจีนที่สวยงามมาก ฝีมือของปรมาจารย์เป่งซ้ง

ที่สำคัญ โรงเจซุนเฮงตั๋วยังใช้วิธีการแบบโบราณ คือจะเปิดเฉพาะช่วงกินเจไม่กี่วันเท่านั้น พอนอกเทศกาลก็จะลั่นดาลใส่กลอนไม่เปิดโดยเด็ดขาดตลอดทั้งปี

 

สหายของผมไปช่วยงานเป็น “อาลักษณ์” ก็ชี้ชวนให้ลองดูสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น โคมไฟ กลอนคู่ และแม้แต่การเขียนรายชื่อทำบุญ ที่นี่ก็ยังทำแบบเก่า คือหากมีผู้บริจาคเยอะๆ ก็จะเขียนรายชื่อลงบนป้ายกระดาษติดไว้ แต่แทนที่จะบอกยอดเงินบริจาค กลับบอกเป็น “จำนวนกระสอบข้าวสาร” ที่มาบริจาคทั้งๆ ที่ก็ทำบุญเป็นเงินนี่แหละ แต่ถ้าทำน้อยๆ ท่านก็จะเขียนเป็นจำนวนเงินให้

คล้ายๆ ว่าการลงชื่อทำบุญเป็นจำนวนกระสอบข้าวสารนี้ ในอดีตก็อาจเป็นการป้องกันไม่ให้ทางการรู้ว่ามีสมาชิกสมาคมลับมาบริจาคเงินจำนวนมาก เพื่อส่งไปช่วยขบวนการในเมืองจีนและบรรดาสหายทั้งหลาย จึงต้องปกปิดไว้

นอกจากนี้ ประเพณีอื่นของศาลเจ้ายังรักษาไว้ดีมาก เป็นต้นว่า การเชิญเจ้าและส่งเจ้าก็ยังต้องไปที่แม่น้ำ การแยกพื้นที่ของพิธีภายในโรงเจ ขั้นตอนของแต่ละวัน ฯลฯ

วันที่ผมไปนั้นเป็นวันที่หกของการกินเจ ซึ่งถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง ในช่วงค่ำ มีพิธีการโยนไม้โป๊ยเสี่ยงทายเพื่อเลือกกรรมการงานกินเจ (ถ้าวเก้/หลอจู้) ของปีถัดไป อันนี้ก็เป็นพิธีอย่างเก่าครับ เลือกกันตอนกลางคืนที่หน้าพระ แล้วใช้การโยนเสี่ยงทายถาม

พอเลือกเสร็จ ทางศาลเจ้าก็นำ “ฮู้” หรือยันต์ของพระนพราชาออกมาให้เช่าบูชา มีทั้งฮู้กระดาษ และเหล่งฮู้หรือธงยันต์ ใครจะมาบูชา หากรู้ธรรมเนียมก็ยังต้องไปจุดธูปบอกและอัญเชิญควันธูป (เชี้ยเฮี่ยวโห้ย) โดยใช้ “ธูปหัวดำ” (คือธูปที่จุดแล้วใช้น้ำดับ) กลับไปที่บ้าน

ที่ยิ่งไปกว่านั้น ในยันต์กลับไม่เขียนพระนามเทพเจ้าว่า “กิ๊วหองฮุกโจ้ว” หรือ “นพราชาพุทธะ” ตามคติพุทธที่แพร่หลายในปัจจุบัน แต่เขียนว่า “กิ๊วหองสย่งเต่” หรือนพราชาธิราช อันมีความหมายเดียวกับกิ๊วหองไต่เต่ ซึ่งเป็นพระนามในทางเต๋า – คติแบบชาวบ้านแบบดั้งเดิม หรือแบบที่นิยมในหมู่คนฮกเกี้ยน

วันนี้เนื้อที่หมดเสียแล้ว ผมยังมีอะไรที่อยากเล่าต่อ

โปรดติดตาม •

 

ภาพประกอบ : Facebook โรงเจซินเฮงตั๊ว 新興壇 วงเวียน22

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง