“พระศรีศิลป์” ผู้ถูกสำเร็จโทษ ‘ท่อนจันทน์’ 2 รอบ

ญาดา อารัมภีร
ภาพสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ จินตนาการจากกฎมณเฑียรบาล โดย ธีรพันธ์ ลอไพบูลย์

‘จันทน์’ คือไม้หอมราคาสูง สมัยโบราณนอกจากนำมาทำสิ่งก่อสร้าง เช่น วัง ตำหนัก ฯลฯ ยังใช้ทำโกศและหีบบรรจุศพ ตลอดจนเป็นเชื้อเพลิงเผาศพ

“พจนานุกรมสถาปัตยกรรมและศิลปเกี่ยวเนื่อง” ของอาจารย์โชติ กัลยาณมิตร กล่าวถึงอีกบทบาทหนึ่งของไม้ชนิดนี้ว่า

“ใช้เป็นไม้สำหรับทุบประหารผู้ที่เป็นจ้าวมีฐานันดร โดยมีคติว่าผู้ที่เป็นจ้าวจะประหารให้เลือดตกด้วยของมีคมไม่ได้ และท่อนไม้จันทน์ที่ใช้เป็นเครื่องมือประหารก็จะต้องห่อหุ้มด้วยผ้าแดง” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

เหตุผลที่ใช้ท่อนจันทน์ประหารเจ้านายแทนของมีคม ผู้เขียนจำได้ว่าศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา เคยอธิบายให้ฟัง ดังนี้

‘ไทยเรามีความเชื่อว่าจะประหารเจ้านายด้วยของมีคม เช่น มีดหรือดาบให้เลือดตกถึงพื้นดินไม่ได้ เพราะจะเกิดอุบาทว์หรือสิ่งอัปมงคลในบ้านเมือง ส่งผลกระทบรุนแรงในวงกว้าง เช่น ข้าวยากหมากแพง ขาดแคลนอาหาร เกิดโรคภัยและภัยธรรมชาติอย่างไม่เคยเป็นมา ผู้คนเข่นฆ่ากันเอง แผ่นดินไหวแตกทำลาย เดือดร้อนวุ่นวายไปทั่ว ฯลฯ’

 

ไม้จันทน์ หรือ ‘ท่อนจันทน์’ ในสมัยโบราณเป็นเครื่องมือประหารหรือสำเร็จโทษเจ้านายตั้งแต่กษัตริย์ พระมเหสี พระโอรสธิดาไปจนถึงพระบรมวงศานุวงศ์ ใช้ตีหรือทุบ ลักษณะของท่อนจันทน์บันทึกไว้ในหนังสือ “สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์” ของปรามินทร์ เครือทอง ตอนหนึ่งว่าเป็น

“ไม้ค้อนขนาดใหญ่ที่มีปลายด้านหนึ่งใหญ่กว่าอีกด้านหนึ่ง รูปร่างคล้ายสากตำข้าว ทำจากไม้จันทน์หอม หลังจากพิธีประหารชีวิตเสร็จสิ้น จักใส่ไปในหลุมศพด้วย”

วรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์กล่าวถึงท่อนจันทน์ไว้ในบทละครนอกเรื่อง “สังข์ทอง” รัชกาลที่ 2 ทรงเล่าถึงพระสังข์ถูกบรรดาเสนาหลอกให้นอนพักก่อนพาไปหาพระมารดา จุดประสงค์แท้จริงเพื่อสังหารกุมารน้อยตามคำสั่งท้าวยศวิมล

“ว่าพลางทางปูผ้าผ่อน ขับต้อนคนผู้ไม่อยู่ใกล้

ล่อลวงหลอกหลอนให้นอนไป หมายใจเสนาจะฆ่าตี

อาเพศด้วยเดชกุมารา เทวารักษาพระไทรศรี

ออกช่วยป้องกันทันที เมื่อเสนีมันทุบด้วยท่อนจันทน์”

 

การใช้ท่อนจันทน์เป็นเครื่องมือประหารเท่ากับยอมรับว่าพระสังข์มิใช่สามัญชนคนธรรมดา แต่เป็นเชื้อสายกษัตริย์

การประหารชีวิตด้วยท่อนจันทน์ใช่จะเพิ่งมีขึ้นสมัยรัตนโกสินทร์ สมัยอยุธยาก็มีแล้ว ดังจะเห็นได้จาก “กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” เล่ม 2 ในส่วนของ ‘กฎมณเฑียรบาล’ ระบุถึงการลงโทษเจ้านายระดับสูงไว้ว่า

“อนึ่ง ถ้าอยู่ในเมืองที่จำแลมีผู้ไปคบไปหาให้ของฝากของถวายไหว้คนโทษถึงตาย ถ้าแลโทษหนักถึงสิ้นชีวิตไซ้ ให้ส่งแก่ทลวงฟันหลังและนายแวงหลัง เอาไปมล้างในโคกพญา นายแวงนั่งทับตัก ขุนดาบขุนใหญ่ไปนั่งดู หมื่นทลวงฟันกราบ ๓ คาบ ตีด้วยท่อนจันทน์แล้วเอาลงขุม” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

ข้อความข้างต้นกล่าวถึง เจ้าหน้าที่สำเร็จโทษ เครื่องมือที่ใช้ บทบาทหน้าที่ วิธีการ สถานที่ และสักขีพยาน

นายแวงและหมื่นทลวงฟันร่วมกันสำเร็จโทษที่วัดโคกพญา นายแวงนั่งทับตักนักโทษโดยหันหน้าเข้าหากันและใช้แขนกอดรัดไว้แน่น ตรึงร่างนักโทษให้อยู่กับที่ ต่อจากนั้นหมื่นทลวงฟันทำหน้าที่เพชฌฆาต ก้มกราบสามครั้งก่อนใช้ท่อนจันทน์ตีต้นคอนักโทษอย่างแม่นยำ มิให้พลาดไปถูกนายแวง

ผลคือนักโทษคอหักในสภาพซบหน้าตายคาอกนายแวง ส่วนขุนดาบและขุนใหญ่ทำหน้าที่สักขีพยานดูการประหารจนเสร็จสิ้น เอาศพลงหลุมที่ขุดเตรียมไว้

 

ต้นคอเป็นตำแหน่งที่ตีหรือทุบด้วยท่อนจันทน์ หนังสือ “เล่าเรื่องกรุงสยาม” ของสังฆราชปาลเลกัวซ์ (ฉบับสันต์ ท. โกมลบุตร แปล) บันทึกว่า

“ส่วนพระโอรสที่ทรงกระทำผิด จะถูกนำพระองค์ไปที่วัด ขึงพืดเข้ากับพื้นดิน แล้วใช้ไม้จันทน์ขนาดใหญ่สองท่อนทุบต้นพระศอ”

ตำแหน่งที่ตีหรือทุบนี้ บางครั้งไม่ใช่ต้นคอก็มี ดังที่ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 79 “จดหมายเหตุวันวลิต” เล่าถึงเหตุการณ์สมัยกรุงศรีอยุธยาว่า

“หลังจากนั้น พระเจ้าแผ่นดินและพระราชมารดา ก็ถูกนำตัวไปยังวัดปรักหักพังรกร้างวัดหนึ่ง ชื่อว่าวัดพระเมรุโคกพญา เพชฌฆาตให้พระองค์นอนลงบนพรมสีแดง และทุบพระองค์ด้วยท่อนไม้จันทน์ที่พระนาภี (= ท้อง) แล้วโยนพระสรีระของทั้งสองพระองค์ลงในบ่อ ซึ่งพระองค์ได้สิ้นพระชนม์ที่นั่น”

 

ไม่ต่างจากที่ “จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม” (ฉบับ สันต์ ท. โกมลบุตร แปล) เล่าถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่า

“การลงโทษเจ้านาย ก็ถือกันอย่างเคร่งครัดว่ามิพึงให้พระขัตติยโลหิตต้องตกจากพระวรกาย…ฯลฯ จับพระองค์ให้บรรทมเหนือเจียมสักหลาด แล้วเอาท่อนไม้จันทน์ทิ่มเข้าไปในพระอุทร ไม้ชนิดนี้มีเนื้อหอมและถือกันว่าเป็นของสูง”

พระราชพงศาวดารส่วนใหญ่มักบันทึกเกี่ยวกับการสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ไว้สั้นๆ ประหารเจ้านายครั้งละองค์ก็มี หรือมากกว่านั้นก็ได้

แต่ละกรณีหลังสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์แล้ว ชีวิตนักโทษก็หลุดลอย มีเพียงกรณีเดียวต้องจัดการถึงสองคราในวาระต่างๆ กันจึงบรรลุผล ดังกรณีของพระศรีสิงห์ (พระศรีศิลป์) ที่คิดร้ายต่อสมเด็จพระนารายณ์หลายครั้ง หนังสือ “คำให้การของชาวกรุงเก่า” บันทึกว่า

“จึงรับสั่งให้เพ็ชฌฆาฎเอาตัวพระศรีสิงห์ไปสำเร็จโทษเสียตามประเพณี ประเพณีที่จะสำเร็จโทษเจ้านายในครั้งนั้น เอาถุงแดงสวมตั้งแต่พระเศียรลงไปตลอดปลายพระบาท แล้วเอาเชือกรัดให้แน่น เอาท่อนจันทน์ทุบให้สิ้นพระชนม์แล้วเอาใส่หลุมฝัง ให้เจ้าหน้าที่รักษาอยู่ ๗ วัน ดังนี้

เพ็ชฌฆาฎก็เอาตัวพระศรีสิงห์ไปสำเร็จโทษตามรับสั่ง แต่ทำโดยความเลินเล่อ พระศรีสิงห์มิได้สิ้นพระชนม์ เมื่อเจ้าหน้าที่รักษาอยู่ ๗ วัน เห็นว่าพ้นกำหนดแล้ว ก็พากันกลับ พวกมหาดเล็กของพระศรีสิงห์ไปขุดศพเห็นยังไม่สิ้นพระชนม์ ก็นำพระศรีสิงห์ไปรักษาอยู่ที่ตำบลบ้านขาว ครั้นพระศรีสิงห์หายเปนปรกติแล้วก็ตั้งเกลี้ยกล่อมผู้คนเปนกำลังได้เปนอันมาก……..ฯลฯ……..พระศรีสิงห์ก็ยกเข้ามาทางประตูพรหมจักรด้านทิศตะวันออก เข้าไปถึงพระราชวังชั้นใน พระนารายณ์ไม่ทันรู้พระองค์ก็ตกพระทัย จึงรีบเสด็จหนีออกจากพระราชวัง พระศรีสิงห์ก็ให้ทำพิธีราชาภิเษก ขึ้นครองราชสมบัติอยู่ได้วัน ๑ กับคืน ๑

เมื่อพระนารายณ์หนีออกไปได้แล้ว ก็ให้รวบรวมได้ไพร่พลเปนอันมาก ยกเข้ามาจับพระศรีสิงห์ได้ จึงให้เอาตัวไปสำเร็จโทษเสียอย่างครั้งก่อน พวกเพ็ชฌฆาฎเอาพระศรีสิงห์ไปแล้ว เอาถุงแดงสวมผูกให้มั่นคง เอาท่อนจันทน์ทุบจนลเอียด ลเอียดแล้วจึงเอาลงหลุมฝัง” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

ไทยเลิกใช้ท่อนจันทน์เป็นเครื่องมือประหารมาแต่สมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ฉบับนี้จันทน์สังหาร ฉบับหน้าจันทน์เพลินอารมณ์ •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร