เมือง ‘ตะโกลา’ เป็น ’emporium’ คือสถานีการค้าข้ามสมุทร ยุคสุวรรณภูมิ ตั้งอยู่ที่คลองท่อม จ.กระบี่

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
คลองท่อม ไหลผ่านเนินดินควนลูกปัด อ. คลองท่อม จ. กระบี่ (ภาพจาก สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่ม 2 มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์ พ.ศ. 2542)

ตะโกลา (Takola) เป็นชื่อเมืองโบราณในภูมิภาคอุษาคเนย์ ที่ปรากฏอยู่ในเอกสารของโลกตะวันตก ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้อความที่ระบุอยู่ในเอกสารโบราณของพวกฝรั่งเหล่านั้นแล้ว แล้วก็น่าจะเป็นเมืองที่สำคัญพอตัวเลยทีเดียว

หลักฐานเก่าแก่ที่สุดในโลกตะวันตกที่อ้างถึง เมืองท่าที่ชื่อ “ตะโกลา” ปรากฏอยู่ในบันทึกของ อเล็กซานเดอร์ (Alexander) นักเดินเรือที่เคยเดินเรือจากแหลมทอง (golden khersonese) ไปยังดินแดนจีน ที่มีอายุอยู่ในช่วงระหว่างปลายศตวรรษของช่วง พ.ศ.500 ต่อเนื่องมาจนถึงช่วงต้นศตวรรษของ พ.ศ.600

อย่างไรก็ดี บันทึกของอเล็กซานเดอร์ได้สูญหายไปหมดแล้วนะครับ

นักประวัติศาสตร์รู้เรื่องราวของอเล็กซานเดอร์ผ่านข้อเขียนของมารีนุส แห่งเมืองไทร์ (Marinus of Tyre) มาอีกทอดหนี่ง แต่อันที่จริงแล้ว ข้อเขียนของมารีนุสเองก็สาบสูญไปหมดไม่ต่างจากบันทึกของอเล็กซานเดอร์อีกเช่นกัน

ที่พวกเราในปัจจุบันยังสามารถรับรู้ถึงเรื่องราวของอเล็กซานเดอร์ผู้นี้ได้นั้น เป็นเพราะว่า คลอดิอุส ปโตเลมี (Claudius Ptolemy, พ.ศ.633-711) นักภูมิศาสตร์ชาวโรมัน ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในอียิปต์ ได้บันทึกเรื่องราวการเดินเรือของอเล็กซานเดอร์ที่มารีนุสได้อ้างถึงเอาไว้ในตำราทางภูมิศาสตร์เล่มเก่าแก่ที่สุดในโลกของท่าน ซึ่งรู้จักกันในชื่อของหนังสือ “ภูมิศาสตร์ของปโตเลมี” (Ptolemy’s Geographia) ต่างหาก

และก็เป็นเพราะตำราภูมิศาสตร์โลกโบราณฉบับนี้เอง ที่ช่วยให้ทราบว่า ในสายตาของชาวตะวันตกเมื่อครั้งโน้น “ตะโกลา” เป็นเมืองท่า และก็เป็นสถานีการค้า (emporium หรือ “emporion” ตามภาษากรีกต้นฉบับ) แห่งแรกในบริเวณภูมิภาคที่ชาวตะวันตกเรียกว่า “แหลมทอง” ที่ซึ่งอเล็กซานเดอร์ได้เดินเรือต่อไปยังเมืองจีน

 

ชื่อของ “ตะโกลา” ยังคล้องจองกับชื่อเมือง “ตักโกละ” (Takkola) ที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ของพุทธศาสนา ซึ่งประพันธ์ขึ้นในชมพูทวีปเมื่อราว พ.ศ.600-700 อีกอย่างน้อยที่สุด 2 ฉบับ ได้แก่ คัมภีร์มหานิเทศสูตร และมิลินทปัญหา

นักวิชาการสันนิษฐานว่าชื่อของเมืองทั้ง 2 เมืองนี้ นอกจากจะอ่านออกเสียงได้ใกล้เคียงกันแล้ว ก็ยังหมายถึงเมืองๆ เดียวกันด้วย ส่วนที่ออกเสียงต่างกันออกไปเล็กน้อยเป็นเพราะสำเนียงในการออกเสียงและการจดบันทึก ดังจะสังเกตได้จากการที่ตำแหน่งที่ตั้งของเมืองทั้งสองนี้ น่าจะตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันคือ บริเวณตอนบนของแหลมมลายูนั่นเอง

นอกจากนี้แล้ว ยังมีจารึกอีกหลักหนึ่ง พบที่เมืองตันชอร์ ประเทศอินเดีย ระบุปีศักราชตรงกับช่วงระหว่างเรือน พ.ศ.1573-1574 ที่กล่าวถึงการสู้รบระหว่างพระเจ้าราเชนทรโจฬะที่ 1 กับ “ตาไลยตักโกลัม” (Talaitakkolam) ที่ควรจะเกี่ยวข้องกับ “ตะโกลา”

เพราะคำว่า “ตาไลย” ในภาษาทมิฬแปลว่า “หัวหน้า” ตาไลยตะโกลัม จึงหมายถึง พระราชาแห่งตะโกละ เรื่องราวทั้งหมดที่ในจารึกหลักนี้กล่าวถึงการยาตราทัพของพระเจ้าราเชนทรโจฬะที่ 1 ไปยังแหลมมลายูและหมู่เกาะใกล้เคียง

อนึ่ง นักวิชาการบางท่านยังอ้างด้วยว่า ชื่อ “ตะโกลา” น่าจะตรงกับคำว่า “โกกุโล” (Ko-Ku-Lo) ในเอกสารโบราณของจีนอย่าง บันทึกการเดินทางของเฉี่ยตัน (Chia-Tan), ซินถังซรู (Hsin T’ang Shu, พงศาวดารราชวงศ์ถังฉบับใหม่) และซุ่งชิ (Sung-shih) โดยอ้างกันว่าชื่อ “โกกุโล” ตรงกับชื่อเมือง “กากุลาห์” (Qaqullah) ในบันทึกของพวกอาหรับ ซึ่งควรจะตั้งอยู่ในพื้นที่บริเวณตอนบนของแหลมมลายูเช่นกัน

จะเห็นได้ว่า ชื่อของอะไรที่เรียกรวมๆ กันในโลกของผู้สนใจประวัติศาสตร์โบราณของภูมิภาคอุษาคเนย์ว่า “ตะโกลา” นั้น จะถูกเรียกในชื่อที่แตกต่างกันไปในแต่ละภาษา และวัฒนธรรมต่างๆ ในโลกยุคเมื่อเกือบสองพันปีก่อน ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเมืองแห่งนี้ ในเส้นทางการค้าโลกข้ามสมุทรในยุคดังกล่าวได้อย่างดีเยี่ยม แถมหลักฐานทั้งหมดนี้ ยังชี้ให้เห็นถึงสถานที่ตั้งของเมืองตะโกลา ไปในทิศทางที่ใกล้เคียงกันเสียด้วย

 

แต่ถึงแม้ว่าจากข้อมูลต่างๆ ที่ผมยกมาให้อ่านกันข้างต้นนั้น จะแสดงให้เห็นว่า มีข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับเมืองตะโกลาในระดับหนึ่งแล้ว แต่ตำแหน่งที่ตั้งที่ชัดเจนของเมืองตะโกลานั้น กลับยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่นะครับ

ดังจะเห็นได้จากการที่ปราชญ์ และนักวิชาการหลายท่าน ได้กำหนดที่ตั้งของเมืองตะโกลาต่างกันไปตามเหตุผลของตนเอง ดังที่ผมจะยกเฉพาะตัวอย่างสำคัญมาดังต่อไปนี้

1. ในยุคแรกเริ่มที่มีการศึกษาเรื่องนี้ ปราชญ์บางท่านก็เชื่อว่า “ตะโกลา” นั้นตรงกับเมืองโบราณ “เทียกกุลา” (Taik-kula) ปัจจุบันอยู่ใกล้กับเมืองอเยท-ทยิมา ในจังหวัดชเวจีอิน ประเทศพม่า คำว่า “เทียก” ในภาษามอญและพม่า แปลว่า “ตึก” ส่วนคำว่า “กุลา” หมายถึง “คนทางทิศตะวันตก”

2. ในขณะที่ปราชญ์บางท่านก็สันนิษฐานในทิศทางที่แตกต่างออกไปว่า “ตะโกลา” ตรงกับเมืองโบราณ “ตาคาละ” (Tagala) ที่พวกมอญสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1294 บริเวณแม่น้ำทวาย ทางตอนใต้ของพม่า หรือเมือง “ตากัล” (Tagal) บริเวณชายฝั่งตอนเหนือของเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ต่างหาก

(อย่างไรก็ตาม ข้อสันนิษฐานทั้ง 2 ข้อข้างต้นนี้ ไม่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปในโลกปัจจุบันแล้ว ดังนั้น ผมจึงขอไม่ขยายความเพิ่มเติมในส่วนนี้)

3. พระสารสาสน์พลขันธ์ หรือ โคโลเนล จี อี เยรินี (Colonel G. E. Gerini, พ.ศ.2403-2456) ชาวอิตาลีผู้เคยมารับราชการในประเทศยาม คำนวณจากตำแหน่งและองศาที่ระบุในหนังสือภูมิศาสตร์ของปโตเลมี ประกอบกับการใช้วิธีการทางนิรุกติศาสตร์ และหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ ที่มีการค้นพบในยุคของท่าน จึงได้สันนิษฐานต่างออกไปว่า เมืองตะโกลาตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ปากแม่น้ำพระ ที่ตะกั่วป่า จ.พังงา ของประเทศไทย

ข้อคิดเห็นของเยรินีข้างต้นนี้ ทรงพลังเป็นอย่างมาก และยังเชื่อกันอยู่ในกลุ่มประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับที่เยรินีได้เสนอข้อสันนิษฐานข้างต้น ก็ยังมีนักวิชการที่เห็นเป็นอย่างอื่นอยู่อีกด้วยหลายคน เช่น

4. ซิลแวง เลวี (Sylvain Levi, พ.ศ.2406-2478) ปราชญ์ด้านภารตวิทยาชาวฝรั่งเศส ได้ทำการศึกษา โดยการเปรียบเทียบเส้นทางที่กล่าวถึงชื่อ “ตักโกละ” (คือ ตะโกลา ในเอกสารโบราณของอินเดีย) ว่าตั้งอยู่ระหว่าง “วังคะ” และ “จีนะ” ซึ่งเลวีอธิบายว่า “จีนะ” คือ “จีน” ส่วน “วังคะ” ก็คือ “เบงกอล” ดังนั้น เลวีจึงระบุกว้างๆ ว่า “ตักโกละ” ต้องตั้งอยู่บนบริเวณแหลมมลายู

5. ราเมศ จันทรา มาชุมดาร์ (Ramesh Chandra Majumdar, พ.ศ.2431-2523) นักประวัติศาสตร์คนสำคัญชาวอินเดีย ใช้หลักฐานเดียวกันกับเลวี แต่สันนิษฐานว่า “วังคะ” คือ “เกาะบังกา” (Bangka) ทางตะวันออกของสุมาตรา จึงระบุว่า “ตักโกละ” อยู่ทางชายฝั่งทิศตะวันออกของแหลมมลายู

6. พอล วีตลีย์ (Paul Wheatley, พ.ศ.2464-2542) นักภูมิศาสตร์ชาวอังกฤษ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องประวัติศาสตร์ของภูมิศาสตร์โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกไกล และอุษาคเนย์ คำนวณจากตำแหน่งและองศาที่ระบุในหนังสือภูมิศาสตร์ของปโตเลมี ประกอบกับหลักฐานทางนิรุกติศาสตร์ และโบราณคดี แล้วจึงสันนิษฐานว่า ตะโกลาตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่บริเวณ จ.ตรัง โดยมีภูเก็ตเป็นแหลมสำคัญที่ยื่นออกไปในทะเล (ในสมัยโบราณมีสะพานแผ่นดินเชื่อมโยงระหว่างภูเก็ตและผืนแผ่นดิน ก่อนจะจมหายไปในยุคหลัง) ตรงกับที่หนังสือภูมิศาสตร์ของปโตเลมีเรียกว่า “แหลมตะโกลา” (Takola promontory)

7. ปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และวรรณคดี อย่าง ม.จ.จันจิรายุ รัชนี (พ.ศ.2453-2534) ใช้วิธีการศึกษาเดียวกับเยรินี และวีตลีย์ แต่เสนอว่าชาวยุโรปสมัยโบราณนั้นเชื่อว่า ทวีปเอเชียล้อมรอบมหาสมุทรไว้เหมือนที่คิดกับทวีปยุโรปและแอฟริกา ดังนั้น เส้นทางที่ปโตเลมีอ้างถึงจึงพูดมีการปรับข้อมูลของอเล็กซานเดอร์ให้เข้ากับชุดความคิดดังกล่าว ดังนั้น พื้นที่ที่อเล็กซานเดอร์กล่าวถึงจึงเป็นบริเวณฝั่งอ่าวไทยทั้งหมด เมืองตะโกลาจึงควรอยู่ที่อ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี ส่วนแหลมตะโกลา ควรตั้งอยู่ที่ภูเก็ต

8. นอกจากนี้ ยังมีผู้เสนอด้วยว่า กลุ่มเอกสารโบราณของจีนและอาหรับนั้น ชี้ให้เห็นว่า “โกกุโล” และ “กากุลาห์” ควรตั้งอยู่ที่ภูเก็ต

 

แต่ต่อมาเมื่อมีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีมากยิ่งขึ้น จึงทำให้เกิด 9. นักมานุษยวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์-โบราณคดีเป็นพิเษอย่าง ศาตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม ได้ใช้ข้อมูลทางด้านโบราณคดีเป็นสำคัญ และสันนิษฐานว่า “ตะโกลา” อยู่ที่คลองท่อม จ.กระบี่ โดยพื้นที่บริเวณดังกล่าว มีแหล่งโบราณคดีที่สำคัญซึ่งมีอายุร่วมสมัยอยู่กับเอกสารของวัฒนธรรมต่างๆ ที่กล่าวถึงตะโกลา

ที่สำคัญคือ แหล่งโบราณคดีควนลูกปัด โดยท่านได้ชี้ให้เห็นด้วยว่า หลักฐานทางโบราณคดีที่ตะกั่วป่า อย่างที่เยรินีเคยเสนอไว้ แล้วเชื่อต่อๆ กันมา เพราะหลักฐานทางโบราณคดีที่พบที่ตะกั่วป่านั้น มีอายุอยู่ในช่วงหลัง พ.ศ.1000 อันเป็นช่วงเวลาที่มีอายุสมัยใหม่กว่าช่วงที่ชื่อตะโกลาปรากฏอยู่ในเอกสารโบราณต่างๆ

และถ้าจะว่ากันตามหลักฐานทางโบราณคดี ตามอย่างที่เรามีในปัจจุบัน (ไม่ใช่อย่างที่เยรินีมีเมื่อร้อยปีเศษที่แล้ว) ก็เป็นอย่างที่ อ.ศรีศักร ท่านเสนอแหละครับว่า “ตะโกลา” นั้นควรตั้งอยู่ที่คลองท่อม จ.กระบี่ เพราะมีหลักฐานอยู่ร่วมสมัยกันกับตะโกลาในเอกสารต่างๆ ซ้ำยังพบหลักฐานมันให้เพียบจนเข้าใจได้ไม่ยากว่าทำไมตะโกลาจึงเป็นเมืองท่าที่สำคัญนักเลยเสียด้วยซ้ำไป •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ