ประวัติศาสตร์กระแสหลัก ยังสืบทอด ‘คลั่งเชื้อชาติ’

ประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักที่ใช้งานในรัฐบาลปัจจุบัน (มาจากเลือกตั้ง 2566) เป็นสำนวนเดียวกับประวัติศาสตร์ไทยของเผด็จการ (มาจากรัฐประหาร 2557) ซึ่งถูกกำหนดโครงสร้างโดยชนชั้นนำเมื่อศตวรรษก่อน

ขณะนี้ถูกใช้ควบคุมและกล่อมเกลาความคิดสังคมโดยกระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงศึกษาธิการ ผ่านการเรียนการสอนทั้งในระบบ-นอกระบบ และตามอัธยาศัยไปตลอดชีวิต

ชนชั้นนำเมื่อศตวรรษก่อนได้กำหนดโครงเรื่องไว้ 3 ข้อ ดังนี้

(1.) เชื้อชาติมีจริง ดังนั้น ชนชาติไทยเชื้อชาติไทยสายเลือดบริสุทธิ์ มีถิ่นกำเนิดในจีนซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของไทย

(2.) โครงเรื่องหลักเป็นเส้นตรงจากเหนือลงใต้ มีการอพยพถอนรากถอนโคนเพราะถูกรุกราน และมีการต่อสู้เพื่อปลดแอกจากการกดขี่ของชนชาติอื่น

(3.) ราชธานีของไทย ถูกกำหนดให้เรียงตามลำดับเหนือ-ใต้ เริ่มจากสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก, อยุธยาเป็นแห่งที่สอง, กรุงธนบุรีแห่งสาม, ตามด้วยกรุงรัตนโกสินทร์

ประวัติศาสตร์ไทยสำนวนนี้ถูกสถาปนาให้ศักดิ์สิทธิ์ แล้ว “ปิดปาก” ด้วยการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวเพื่อห้ามคิดต่าง หากใครคิดต่างจะถูกใส่ร้าย (1.) ไม่จงรักภักดี และ (2.) มีการกระทำเป็นคอมมิวนิสต์ คิดล้มล้างสถาบัน

ช่วงปลายรัฐบาลเผด็จการทหาร “สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส” (เป็นช่วงปลายสงครามเวียดนาม หลัง พ.ศ.2510) พลังเสรีนิยมท้าทายอำนาจรวมศูนย์ และการศึกษาประวัติศาสตร์แบบจารีตถูกสั่นคลอนด้วยการตั้งคำถามตรงไปตรงมา โดยเฉพาะสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทยจริงหรือ? จากนั้นมีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีชี้ว่าไม่พบหลักฐานว่าสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักถูกตั้งคำถามแล้ว “ชำแหละ” ตั้งแต่ถิ่นกำเนิดของชนชาติไทยจนถึงสุโขทัยราชธานีแห่งแรกของไทย ทำให้หน่วยงานทางราชการของรัฐบาลแต่ละชุดค่อยๆ ปรับเปลี่ยนเนื้อหา ครั้นในที่สุดทำ 2 อย่างพร้อมกัน ดังนี้

(1.) “สุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย” ถูกถอดออกไป (อย่างเงียบๆ) เพราะหน่วยงานทางการที่เกี่ยวข้องโดยตรง ได้แก่ กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงศึกษาธิการ หาหลักฐานสนับสนุนไม่ได้ทางประวัติศาสตร์โบราณคดี

(2.) สุโขทัยเป็นรัฐลำดับแรกของไทย และอยุธยาเป็นรัฐลำดับสอง เพราะต้องการสืบทอด “พล็อต” หลักที่ถูกสร้างโดยชนชั้นนำเมื่อศตวรรษก่อน ทั้งๆ กระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงศึกษาธิการหาหลักฐานสนับสนุนไม่ได้ทางประวัติศาสตร์โบราณคดี

ประวัติศาสตร์กระแสหลักเชื่อว่ามีจริงเรื่อง “ชนชาติไทยเชื้อชาติไทยสายเลือดบริสุทธิ์” ดังนั้น ประวัติศาสตร์กระแสหลักเป็นประวัติศาสตร์ของ “ชนชาติไทยเชื้อชาติไทยสายเลือดบริสุทธิ์” ซึ่งขัดกับหลักฐานวิชาการในโลกสากล

ชนชาติไทยเชื้อชาติไทยไม่มีจริง เพราะในโลกวิชาการสากลพิสูจน์จนเป็นที่ยอมรับทั่วไปในโลกว่าเชื้อชาติ (Race) ไม่มีจริงทางวิทยาศาสตร์ (มีหลักฐานเป็นหนังสือวิชาการทางวิทยาศาสตร์อ้างอิงมากมาย) ดังนั้น ที่เรียกชนชาติไทยซึ่งมาจากเชื้อชาติไทยจึงไม่มีจริง

คนไทย มีจริง เป็นชื่อทางวัฒนธรรม (ไม่ใช่ชื่อเชื้อชาติ) ซึ่งสมมุติขึ้นเรียกตนเองของคนกลุ่มหนึ่งที่มีภาษาและวัฒนธรรมไทย มีครั้งแรกบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา (ไม่พบในลุ่มน้ำอื่นๆ) ในเมืองอโยธยา และสืบทอดถึงเมืองอยุธยา พบหลักฐานในจดหมายเหตุลา ลูแบร์

คนไทย หมายถึงคน “ไม่ไทย” หลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีภาษาและวัฒนธรรมไทย ซึ่งหมายถึงภาษาและวัฒนธรรมไท-ไตที่ผสมกลมกลืนกับภาษาและวัฒนธรรม “ร้อยพ่อพันแม่” ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ มอญ, เขมร, ลาว, มลายู, จีน, อินเดีย, อิหร่าน (เปอร์เซีย), และอื่นๆ ไม่จำกัด

ดังนั้น คนไทยของกระทรวงวัฒนธรรม ต่างกับคนไทยในคำอธิบายนี้ จะคัดข้อความของกระทรวงวัฒนธรรมมาเป็นพยาน (จัดย่อหน้าใหม่ให้อ่านสะดวก) ดังนี้

สุโขทัย รัฐในอุดมคติของชนชั้นนำไทย แต่นักวิชาการสากลมองเป็น “แดนเนรมิต” ของประวัติศาสตร์ไทย

“คนไทยก็คือคนที่ใช้ภาษาไทยในการติดต่อสื่อสารกันในชีวิตประจำวัน จากการศึกษาของนักวิชาการพบข้อมูลที่น่าสนใจว่านอกจากคนไทยในประเทศไทยแล้ว ยังพบกลุ่มคนไท หรือไต ตั้งถิ่นฐานกระจายตัวอยู่เป็นวงกว้างในเอเชีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในแคว้นอัสสัม ประเทศอินเดีย สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน มณฑลกุ้ยโจว และมณฑลกวางสี ประเทศจีน และในประเทศเวียดนาม

ซึ่งรู้จักในชื่อต่างกันแต่ละท้องถิ่น เช่น ไทลื้อ ไทใหญ่ ไทน้อย ไทเขิน ไทอาหม ผู้ไท ไทดำ ไทขาว ไทลาว ไทยวน เป็นต้น

คนไททุกประเทศรวมกันมีจำนวนกว่า 100 ล้านคน”

(จากหนังสือ ประวัติศาสตร์ชาติไทย กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก พ.ศ.2558 หน้า 36)

ไท, ไต เป็นคำเดียวกัน (แต่ต่างกันที่บางกลุ่มออกเสียงตรง ท เป็น ท แต่บางกลุ่มออกเสียงต่าง ท เป็น ต) จึงมีความหมายเดียวกันว่า ชาว, คน เช่น ไทบ้าน หมายถึงชาวบ้าน, ไตลื้อ หมายถึงชาวลื้อ เป็นต้น เหล่านั้นไม่หมายถึงไทย หรือคนไทยอย่างเดียวกับในประเทศไทย

แต่นักค้นคว้าและนักวิชาการไทยมักตีขลุมเหมารวมไท, ไต เหล่านั้นเป็นไทย (เหมือนคนไทยในประเทศไทย) ทำให้ประวัติศาสตร์กระแสหลักคลาดเคลื่อนมาก

มีตัวอย่างเมื่อคนจากไทยไปกวางสี (ในจีน) พบชาวจ้วงพูดภาษาไท-ไต มีคำกู-มึง จึงทึกทักว่าพูดเหมือนคนไทย แต่จ้วงท้วงว่า “มึงพูดเหมือนจ้วง” (หมายถึงเขาไม่ใช่คนไทย แต่มึงต่างหากพูดเหมือนจ้วง) •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ