เช็กขุมกำลัง ตท.24 เบียด ตท.26 สยายปีกรับ ‘บิ๊กหนุ่ย-บิ๊กปู’ เล็งบทบาท ‘บิ๊กต่อ’ จับตา ‘นายพลหนุ่ม’ ตท.30

แม้ ผบ.ทบ. จะเป็นเตรียมทหาร 23 แต่บิ๊กต่อ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ก็จะเกษียณกันยายน 2567 นี้แล้ว โดยมีเตรียมทหาร 24 ขยับขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งสำคัญ เสมือนจะรองรับ ผบ.ทบ.คนต่อไป ที่อาจจะเป็น ตท.24 ที่มีแคนดิเดตถึง 3 คน

เพราะใน ทบ.เวลานี้ เริ่มมีการจับตามองว่า กำลังจะมีสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงใดเกิดขึ้นหรือไม่สำหรับคนที่จะเป็น ผบ.ทบ.คนต่อไป

ด้วยมีการจัดลำดับแคนดิเดต ผบ.ทบ. จากเดิมที่บิ๊กปู พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ เสนาธิการทหารบก แกนนำ ตท.26 เป็นเต็งหนึ่งเดียวมาแรง ตั้งแต่เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 แล้วได้ไปฝึกหลักสูตรทหารคอแดง เปลี่ยนจากทหารคอเขียว เป็นทหารคอแดง แล้วขึ้นแม่ทัพภาคที่ 1 เลย จนขึ้นมาเป็น เสธ.ทบ.

จากเดิมที่คาดกันว่า จะเป็น ผช.ผบ.ทบ. จึงทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่าสัญญาณเปลี่ยนหรือไม่ เพราะมีการโยกบิ๊กหนุ่ย พล.อ.ธราพงษ์ มะละคำ ที่ปรึกษาพิเศษ ทบ. รุ่นพี่ ตท.24 มาเข้าไลน์เป็น ผช.ผบ.ทบ.

อีกทั้งตอนนี้เปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนนายกฯ เปลี่ยน รมว.กลาโหม เปลี่ยนขั้วอำนาจ ไม่ใช่ยุคของบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกต่อไป อีกทั้งบิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ไม่ได้เป็น ผบ.ทบ.แล้ว ส่วนบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทบ. ก็ลดบทบาท กองหนุนของ พล.อ.พนา แผ่วแรงลงไป

พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์

หากส่องดูขุมกำลังใน ทบ. จะพบว่า ตท.24 ก็คุมกำลังไว้ไม่น้อย เบียดแทรกด้วย ตท.26

เพราะนอกจากมีแคนดิเดต ผบ.ทบ.สำรองของ ตท.24 อีก 2 คน ทั้งบิ๊กหยอย พล.อ.อุกฤษฎ์ บุญตานนท์ ผช.ผบ.ทบ. และบิ๊กต้น พล.อ. ณัฐวุฒิ นาคะนคร ที่ปรึกษาพิเศษ ทบ.

ขณะที่ ตท.24 คุมตำแหน่งสำคัญไว้เป็นส่วนใหญ่ ในระดับหัว มีบิ๊กมืด พล.อ.กิตติศักดิ์ บุญพระธรรมชัย ประธานคณะที่ปรึกษา ทบ. ครองอัตราพลเอกพิเศษ

ระดับแม่ทัพภาคคุมกำลัง มี พล.ท. ประสาน แสงศิริรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 3 พล.ท.นฤทธิ์ ถาวรวงษ์ แม่ทัพน้อยที่ 3 พล.ท.วัฒนา ฉัตรรัตนแสง ผบ.นสศ.

พล.ต.ประพัฒน์ พบสุวรรณ ผบ.พล.ม.1 พล.ต.นพดล ยงพาณิชย์ ผบ.บชร.3 พล.ต.นันทโชติ ภู่วัฒนา ผบ.บชร.4

พล.ท.มนิต ศิริรัตนากูล เจ้ากรมทหารช่าง พล.ท.ภาณุภัสสร์ ลิมปะสุวัณณะ เจ้ากรมการสื่อสาร

พล.ต.เพ็ญ คําแผง ผบ.ศอ.สพ.ทบ. พล.ต.ธนเสฏฐ์ ใจอารีย์ ผบ.ศูนย์การเคลื่อนย้ายกองทัพบก (ศคย.ทบ.) พล.ต.สินสุข ศศะนาวิน เจ้ากรมยุทธโยธา ทบ. พล.ต.ชาลี ไกรอาบ ผบ.มทบ.19 พล.ต.สันทัด จันทน์มาลา ผบ.มทบ.26 พล.ต.ประสิษฐิพงศ์ มูลดี ผบ.มทบ.31 พล.ต.สันติ สุขป้อม ผบ.มทบ.34 พล.ต.วัชรพงศ์ แก้วแจ้ง ผบ.มทบ.36 พล.ต.กฤษณะ ภู่ทอง ผบ.มทบ.39 พล.ต.ธนัช ฉิมพาลี ผบ.มทบ.41 พล.ต.ปกรณ์ จันทรโชตะ ผบ.มทบ.42 พล.ต.ขจรศักดิ์ อินทร์ทอง ผบ.มทบ.46

ส่วนการฝึกศึกษา และหลักนิยม มี บิ๊กหมี พล.ท.ไกรภพ ไชยพันธุ์ ผบ.รร.จปร. พล.ต.ทนงศักดิ์ มหาวงศ์ ผบ.วทบ. พล.ต.สุรยุทธ รัตนจารุ ผบ.พล.พัฒนา 2 พล.ต.สกนธ์ เพชรทอง ผบ.พล.พัฒนา 3

พลตรี เอกอนันต์ เหมะบุตร กับ พลเอก พนา แคล้วปลอดทุกข์

แต่หากสแกนดูจะเห็นว่า เตรียมทหาร 26 ก็ขยับแผงขึ้นมาคุมขุมกำลังใน ทบ.ไม่น้อย เพื่อเตรียมสยายปีกรองรับ พล.อ.พนา ที่ยังเป็นเต็งหนึ่ง ผบ.ทบ.คนใหม่ แถมมีอายุราชการถึง 2570

ในระดับคุมกำลัง แม่ทัพภาค ของ ตท.26 จปร.37 มีแม่ทัพรุ่ง พล.ท.ชิษณุพงศ์ รอดศิริ แม่ทัพภาคที่ 1 เพื่อนรัก พล.อ.พนา ที่ช่วยกันฝ่าด่านพลัง ตท.27-28 จนขึ้นมาเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ได้

และมี พล.ท.อดุลย์ บุญธรรมเจริญ แม่ทัพภาคที่ 2 พล.ท.บุญสิน พาดกลาง แม่ทัพน้อยที่ 2 ยึดขุมกำลังทั้งภาคอีสาน อีกทั้งแม่ทัพดุลย์ อดีตนักรบหลายสมรภูมิ ลูกอีสาน ก็มีคอนเน็กชั่นสายบุรีรัมย์ด้วย

ขณะที่หน่วยคุมกำลังระดับกองพล มี พล.ต.นรธิป โพยนอก ผบ.พล.ร.3 พล.ต.เรืองพงษ์ วงษ์ศรีสุข ผบ.พล.ม.3 พล.ต.ณัฎฐ์ ศรีอินทร์ ผบ.พล.ร.6 และ ผบ.กองกำลังสุรนารี

ขณะที่สายบุ๋น ระดับเจ้ากรม ฝ่ายอำนวยการ มีทั้ง พล.ท.ดิเรก บงการ รอง เสธ.ทบ. พล.ท.อัฏฐพล ลัดใหม่กุลวัฒน์ ปลัดบัญชี ทบ. พล.ท.กําชัย วงศ์ศรี เจ้ากรมข่าว พล.ท.ชัยพฤกษ์ ด้วงประพัฒน์ เจ้ากรมยุทธการ ทบ. พล.ท.อภิชัย บุญช่วยเหลือ เจ้ากรมส่งกำลังบำรุง ทบ. พล.ท.อานุภาพ ศิริมณฑล เจ้ากรมกิจการพลเรือน ทบ. พล.ต.นฤดล สุขมา เจ้ากรมจเรทหารบก พล.ต. สันติพงษ์ มั่นคงดี เจ้ากรมสารวัตรทหารบก พล.ต.นิพัฒน์ เล็กฉลาด ผอ.ศูนย์ไซเบอร์ ทบ.

พล.ต.นิธิ อิงคสุวรรณ ผบ.มทบ.13 พล.ต.ประยุทธ ผดุงพจน์ ผบ.มทบ.16 พล.ต. อัครพนธ์ มูลประดับ ผบ.มทบ.22 พล.ต.สุชาติ พุ่มสุวรรณ ผบ.มทบ.35 พล.ต.สุรเทพ หนูแก้ว ผบ.มทบ.44 พล.ต.อาวุธ พุทธอํานวย ผบ.ศูนย์การทหารราบ พล.ต.กรกฎ ภู่โชติ ผบ.พล.พัฒนา 4

ดังนั้น แม้ ตท.24 และ ตท.26 จะวางเครือข่ายคุมกำลังไว้รองรับการผ่องถ่ายอำนาจ แต่ยังมีปัจจัยอื่นอีกหลายประการ

พล.อ.ธราพงษ์ มะละคำ

จากการโยกย้ายใหญ่ที่ผ่านมาจะเห็นสัญญาณความแผ่วลงของ ตท.28 ที่เคยมาแรงในยุค พล.อ.ณรงค์พันธ์ เป็น ผบ.ทบ. 3 ปี แต่มาตอนนี้ สถานการณ์เปลี่ยน ตั้งแต่ พล.ท.ชิษณุพงศ์ ตท.26 ขึ้นจากแม่ทัพน้อยที่ 1 เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ได้ แม้จะไม่เคยเป็น ผบ.พล. ตามธรรมเนียม ทบ. แต่เคยเป็น ผบ.มทบ.17

แล้วมีรองใหญ่ พล.ท.อมฤต บุญสุยา แกนนำ ตท.27 รองแม่ทัพที่ 1 ขึ้นแม่ทัพน้อยที่ 1 ทั้งๆ ที่เบียดกับ ตท.28 เช่น รองไก่ พล.ต.วรยส เหลืองสุวรรณ และรองกอล์ฟ พล.ต.สราวุธ ไชยสิทธิ์ รองแม่ทัพภาคที่ 1 มาอย่างเข้มข้น

พลโท อมฤตย บุญสุยา

กล่าวกันว่า พล.อ.เจริญชัย สนับสนุน พล.ท.อมฤต เพราะเป็นทหารเสือราชินี โตจาก ร.21 รอ. และเป็นน้องรักของ พล.อ.ประยุทธ์ มาด้วยกัน

รวมทั้งกระแสข่าวที่ว่า พล.อ.เจริญชัย สนับสนุน ตท.24 โดยเฉพาะ พล.อ.ธราพงษ์ ให้เป็น ผบ.ทบ.คนต่อไป เพราะก็เติบโตมาจากดินแดนบูรพาพยัคฆ์ พล.ร.2 รอ. มาด้วยกัน แม้จะไม่ได้เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 แต่ก็เป็นแม่ทัพน้อยที่ 1 ส่วน พล.อ.พนา เสธ.ทบ. ตท.26 นั้นโตมาจาก ร.31 รอ. พล.1 รอ. แต่ก็ไม่เคยเป็นผู้บังคับการกรม ต่างคนต่างมีช่องโหว่นี้อยู่

พลตรี สิทธิพร จุลปานะ กับ พลตรี เอกอนันต์ เหมะบุตร

ขณะที่รุ่นกำลังมาแรง และถือว่าเป็นรุ่น “นายพลหนุ่ม” ที่นอกจากเป็นพลตรีแล้วยังคุมตำแหน่งหลักด้วย คือ ตท.30 จปร.41

นำทีมโดย ผบ.ลาภ พล.ต.สิทธิพร จุลปานะ ที่เพิ่งนั่งตําแหน่ง ผบ.พล.1 รอ. เมื่อ 1 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ท่ามกลางความฮือฮา แม้จะขึ้นจากรอง ผบ.พล.1 รอ. ก็ตาม แต่ก่อนหน้านั้น เติบโตจากกองพลคอเขียว พล.ร.9 กาญจนบุรี แต่ด้วยการเป็นแกนนำรุ่น และทำหน้าที่ ผบ.หน่วยคุมกำลังมาตลอด และมีผลงาน อีกทั้งอยู่ใน OV คอนเน็กชั่น ที่กำลังมาแรง และเป็นที่จับตามองในทุกเหล่าทัพ

นอกจากนั้น ยังมี ผบ.โอ่ง พล.ต.เอกอนันต์ เหมะบุตร ผบ.พล.ร.11 ที่นั่งเก้าอี้นี้มาตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 โดยตอนนั้นถือว่าเป็น ตท.30 ที่เป็นนายพลในตำแหน่งหลักคนแรก เป็น ผบ.พล. ที่หนุ่มที่สุดคนแรก

แต่ตอนนี้ เสธ.กัง พล.ต.ณัฏฐพงศ์ อัศวินวงศ์ ผบ.พล.พัฒนา 1 จาก ตท.31 กลายเป็นนายพลหนุ่มหล่อ ในหน่วยขึ้นตรงที่หนุ่มที่สุด

นอกจากนี้ ยังมี พล.ต.วุฒิไกร พิบํารุง ผู้อำนวยการสำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก (ผอ.สตน.ทบ.) ที่นั่งมาเป็นปีที่ 2 และเจ้ากรมหลน พล.ต.รณรงค์ โรจนเสน เจ้ากรมการสัตว์ทหารบก (จก.กส.ทบ.) ที่นั่งตําแหน่งนี้เมื่อ 1 เมษายน 2566 ถือว่าเป็นนายทหารที่ใกล้ชิดบิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ตอนเป็น ผบ.ทบ. และ พล.ต.อาทิตย์ ม่วงเล็ก เป็น ผบ.หน่วยข่าวกรองทางทหาร ทบ. (ผบ.ขกท.) ที่เพิ่งลงตำแหน่งนี้เมื่อ 1 ตุลาคม 2566

ดังนั้น หากเทียบกันหน่วยต่อหน่วย ถือว่าทั้ง 2 รุ่นนี้ยังคงเบียดกันอยู่ จึงต้องดูปัจจัยนับจากนี้ ว่าใครจะเข้าตาผู้ใหญ่มากที่สุด รวมทั้งการมอบหมายงานใน ฉก.ทม.รอ.904 จะเป็นดัชนีชี้วัด ชัดเลยว่า สัญญาณเปลี่ยนหรือไม่

พลเอกพนา แคล้วปลอดทุกข์ กับ พลโท ชิษณุพงศ์ รอดศิริ