มาตรา ‘ชั่ง-ตวง-วัด’ ในวัฒนธรรมทวารวดี มีที่มาจากมาตราของจีน สมัยราชวงศ์ถัง

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

กรมศิลปากรได้เคยดำเนินการขุดแต่งโบราณสถาน และขุดค้นทางโบราณคดีครั้งสำคัญ ที่บริเวณโคกไม้เดน เขตพื้นที่ศาสนสถาน ของเมืองบน ต.ท่าน้ำอ้อย อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ เมืองโบราณในวัฒนธรรมแบบทวารวดี ที่มีหลักฐานการอยู่อาศัยต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ (ซึ่งหมายถึงการยอมรับวัฒนธรรมศาสนาพุทธ-พราหมณ์จากอินเดีย ไม่ใช่เฉพาะแค่ตัวอักษร เมื่อราวหลัง พ.ศ.1000) ตั้งแต่เมื่อเรือน พ.ศ.2507

ผลการดำเนินการทางโบราณคดีครั้งสำคัญที่ว่า มีการขุดพบทั้งวัตถุเนื่องในพระพุทธศาสนา ซากฐานเจดีย์อิฐ และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ มากมาย

โดยวัตถุที่ได้จากการขุดค้น และขุดแต่งเหล่านี้ทั้งหมดได้ถูกเก็บรักษาไว้โดยกรมศิลปากร

แต่ก็มีบางส่วนที่ถูกนำไปจัดแสดงกระจายกันอยู่ตามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หน่วยต่างๆ ภายใต้กำกับของกรมศิลปากรด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้ “โคกไม้เดน” ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เรียกว่า “เขาไม้เดน” แล้ว ดังนั้น นับจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป ผมจึงจะขอเรียกพื้นที่บริเวณตามชื่อใหม่ว่า เขาไม้เดน แทนที่จะเรียกว่าโคกไม้เดนตามอย่างเอกสารของกรมศิลปากร

 

ในบรรดาโบราณวัตถุขุดค้นได้จากการดำเนินการทางโบราณคดีครั้งดังกล่าวนี้ มีสิ่งของที่น่าสนใจ จนทำให้ผมต้องยกเอาการขุดค้นในครั้งที่ว่ามาพูดถึงในที่นี้ แต่เจ้าสิ่งนั้นกลับไม่ใช่แผ่นดินเผาจำหลักรูปสัตว์ในเทพนิยาย หรือวัตถุเนื่องในศาสนาใดๆ อย่างที่ทางพิพิธภัณฑ์ หรือหน่วยงานโบราณคดี ของกรมศิลปากรพยายามนำเสนอเป็นวัตถุชิ้นเด่นหรอกนะครับ

เพราะสิ่งของที่ผมคิดว่าน่าสนใจยิ่งกว่า เป็นอะไรที่ในทะเบียนโบราณวัตถุของกรมศิลปากรเรียกว่า “วัตถุสำริด ก้อนกลม” จากฐานเจดีย์หมายเลข 1 และหมายเลข 2 จากเขาไม้เดนต่างหาก

ตามคำบรรยายในทะเบียนโบราณวัตถุ เก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นั้นระบุไว้ว่า เจ้าวัตถุสำริดก้อนกลม จากฐานเจดีย์ทั้ง 2 แห่งนี้ มีที่พบรวมกันนับได้จำนวน 5 ชิ้น แต่ข้อมูลจากกรมศิลปากรก็มีระบุไว้เพียงเท่านั้น ไม่ได้มีการสืบค้นต่อว่า เจ้าก้อนสำริดพวกนี้มีไว้ใช้ทำอะไร?

อย่างไรก็ตาม จะสังเกตได้ว่าตัววัตถุสำริดดังกล่าวทุกชิ้น มีสันฐานอย่างรูปหลังเต่าทรงกลม พื้นผิวไม่เรียบสนิทนักเหมือนกันทั้งหมด

และเมื่อพิจารณาจากขนาด ประกอบกับการชั่งน้ำหนักแล้วพบว่าแบ่งออกได้เป็นสามกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่หนึ่งหนักราวหนึ่งขีดครึ่ง กลุ่มที่สองหนักราวสองขีดครึ่ง และสุดท้ายขนาดใหญ่ที่สุดพบเพียงชิ้นเดียวหนักราวสี่ขีดเศษ

ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นคือ ค่าน้ำหนักที่วัดได้สามารถเทียบได้กับมาตราชั่งของจีน เฉพาะสองกลุ่มแรก เทียบได้กับน้ำหนักสิบตำลึง และหนึ่งชั่ง (16 ตำลึงเท่ากับ 1 ชั่ง) ของรัฐฉู่ ซึ่งเป็นรัฐทางตอนใต้ในสมัยเลียดก๊ก ต่อมาจนถึงราชวงศ์ฉิน และฮั่นตามลำดับ เป็นได้ว่าก้อนโลหะสำริดเหล่านี้คือ “ลูกตุ้ม” สำหรับใช้กับเครื่องชั่งนั่นเอง

ที่สำคัญก็คือ กลุ่มรัฐและราชวงศ์ต่างๆ ที่ใช้มาตราชั่งเดียวกันกับที่พบอยู่ที่เขาไม้เดนมีอำนาจอยู่ในช่วงก่อน พ.ศ.1000 ทั้งสิ้น

ดังนั้น จึงชวนให้คิดไปได้ว่า มาตราชั่ง (ที่ควรจะมาเป็นแพ็กเกจพร้อมกับการตวง และการวัด) ที่ว่านี้คนที่เขาไม้เดนในยุคนั้นคงจะใช้ตามอย่าง หรืออย่างน้อยก็ควรจะใช้ร่วมกันกับจีนมาตั้งแต่สมัยยุคเหล็ก-สุวรรณภูมิ ก่อนรับวัฒนธรรมศาสนาจากชมพูทวีปแล้วนั่นเอง

ลูกตุ้มสำริด สำหรับใช้กับเครื่องชั่งน้ำหนัก 1 ชั่ง เมื่อเปรียบเทียบกับมาตราชั่งแบบเล็ก สมัยราชวงศ์ถัง ชิ้นทางด้านซ้ายมือพบที่ฐานเจดีย์หมายเลข 1 ส่วนชิ้นทางด้านขวามือพบที่ฐานเจดีย์หมายเลข 2 เขาไม้เดน ต.ท่าน้ำอ้อย อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ อายุราว พ.ศ.1300-1500 ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายของราชวงศ์ฮั่น (พ.ศ.341-763) บ้านเมืองในแถบลุ่มน้ำหวงเหอ (หรือที่มักเรียกกันอย่างเคยปากในโลกภาษาไทยว่า ฮวงโห) และทางใต้ของแม่น้ำฉางเจียน (ที่คุ้นปากคนไทยมากกว่าในชื่อ แยงซีเกียง) มีสภาพแตกแยก เป็นยุคที่เราเรียกว่า สามก๊ก (พ.ศ.763-823) ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยเว่ยจิน (พ.ศ.808-963) และราชวงศ์เหนือ-ใต้ (พ.ศ.963-1132) ที่บ้านเมืองแตกออกเป็นหลายก๊ก หลายหมู่ ระบบชั่ง-ตวง-วัด ก็กลับไปมีหลายแบบตามแต่เหล่า แต่ก๊กไหน จะเรียกใช้กันอย่างไร

จนกระทั่งช่วงราว พ.ศ.1124-1160 ราชวงศ์สุยสามารถรวบรวมอำนาจเป็นปึกแผ่นได้ จึงสถาปนามาตราชั่ง-ตวง-วัด เป็น 2 แบบได้แก่

1) แบบใหญ่ มีมาตราชั่งเป็นสามเท่าของแบบเดิม ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างยุคราชวงศ์เหนือ-ใต้

และ 2) แบบเล็ก อันเป็นแบบที่ใช้สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น

นักวิชาการชาวจีนอธิบายว่า มาตราชั่งแบบใหญ่เกิดขึ้นจากความต้องการของพวกชนชั้นสูงที่จะขูดรีดภาษีจากราษฎรให้สูงมากยิ่งขึ้น โดยเพิ่มมาตราชั่ง-ตวง-วัด ให้ใหญ่ยิ่งขึ้น แต่กำหนดภาษีตามกำหนดเกณฑ์เดิม ภาษีข้าวที่อาจจะเคยมีเกณฑ์กำหนดเก็บเป็นจำนวน 10 ชั่งต่อแปลง จึงเพิ่มสูงขึ้นอีกถึงสามเท่าคือ 30 ชั่ง เมื่อคำนวณจากระบบการชั่ง-ตวง-วัดอย่างเก่า เมื่อคิดตามระบบชั่งตวงวัดแบบใหญ่ ที่เกิดขึ้นในสมัยหลัง

พวกฝรั่งมีภาษิตที่ว่า “ไม่มีอะไรที่แน่นอนไปกว่าภาษี และความตาย” ซึ่งก็ดูจะเป็นภาษิตที่ใช้ได้กับแทบทุกวัฒนธรรมในโลก รวมถึงจีนในกรณีนี้ด้วยนะครับ ดังนั้น ภาษีที่มูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเป็นสามเท่าจากเดิมจึงยังคงถูกใช้ต่อมาแม้ในราชวงศ์รุ่นหลังแล้วก็ตาม

ต่อมาในสมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ.1161-1450) ได้มีการปฏิรูประบบชั่ง-ตวง-วัด ให้เป็นระบบระเบียบมากยิ่งขึ้น โดยระบบชั่ง-ตวง-วัด ยังคงถูกแยกเป็นแบบเล็ก และแบบใหญ่ตามอย่างราชวงศ์สุยอยู่เช่นเดิม

แต่มีกฎเกณฑ์เฉพาะที่ตายตัวยิ่งขึ้นกว่าเก่าว่า มาตราแบบเล็กจะใช้เฉพาะกับงานด้านดาราศาสตร์ การตัดเย็บเสื้อผ้าของขุนนาง และชนชั้นสูง ยารักษาโลก และการดนตรีเท่านั้น ส่วนอะไรที่นอกเหนือไปจากนี้ให้ใช้มาตราแบบใหญ่เหมือนกันทั้งหมด

 

ลูกตุ้มสำริด ที่ใช้สำหรับชั่งน้ำหนัก จากเขาไม้เดนแบบสุดท้ายที่พบเพียงชิ้นเดียวก็มีค่าน้ำหนักที่เทียบได้กับน้ำหนัก 10 ตำลึง เมื่อเทียบกับมาตราแบบใหญ่

ดังนั้น ลูกตุ้มสำริดที่พบจากเขาไม้เดน จึงเทียบค่าน้ำหนักได้กับมาตราชั่ง-ตวง-วัด ของจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์สุยเป็นต้นมา

แต่เมื่อคำนึงถึงกำหนดอายุของสถานที่พบคือ ที่ฐานเจดีย์หมายเลข 1 และ 2 แล้ว ก็ควรจะเกี่ยวข้องกับราชวงศ์ถังที่ร่วมสมัยกันกับวัฒนธรรมทวารวดีมากที่สุด

ดังนั้น เมืองอื่นๆ ที่จัดอยู่ในวัฒนธรรมแบบทวารวดี ไม่ว่าจะเป็น เมืองศรีเทพ (ที่เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสุดฮอตในขณะนี้) นครปฐม อู่ทอง และอีกสารพัดเมือง ก็จึงมีความเป็นไปได้เป็นอย่างมากที่จะใช้ระบบชั่ง-ตาง-วัด ตามอย่างราชวงศ์ถังของจีนเช่นเดียวกัน

และยังเป็นไปได้ด้วยว่า กลุ่มวัฒนธรรมอื่นๆ ในอุษาคเนย์ที่มีอายุอยู่ร่วมยุคสมัยกันไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมขอม ยุคก่อนเมืองพระนคร, กลุ่มรัฐต่างๆ ในวัฒนธรรมศรีวิชัย, วัฒนธรรมจาม ทางตอนกลาง-ใต้ของเวียดนาม รวมไปถึงวัฒนธรรมของพวกพิว (Pyu หรือที่หลายท่านมักถอดเสียงมาจากตัวสะกดในภาษาอังกฤษว่า ปยู) ในพม่า ก็อาจจะใช้มาตราชั่ง-ตวง-วัด ตามอย่างจีนด้วยเช่นกัน

(แน่นอนที่เป็นไปได้ด้วยว่า กลุ่มรัฐในวัฒนธรรมโบราณในอุษาคเนย์ ยุคแรกเริ่มรับศาสนาพุทธและพราหมณ์-ฮินดู จากชมพูทวีปเหล่านี้ อาจรู้จักกับมาตราชั่ง-ตวง-วัด แบบอื่นๆ โดยเฉพาะแบบที่ใช้ในอินเดียยุคนั้นด้วยเช่นกัน แต่ก็ยังไม่มีการค้นพบหลักฐานชัดเจนเช่นเดียวกับที่พบมาตราของจีน จากเขาไม้เดน)

ที่สำคัญก็คือ จักรพรรดิของจีนมักจะพระราชทานเครื่องมือสำหรับชั่ง-ตวง-วัด ในทำนองนี้ให้กับเมือง หรือรัฐที่เข้ามาขอสวามิภักดิ์ หรือถวายเครื่องราชบรรณาการให้กับจีน การค้นพบเครื่องมือที่ใช้ในการชั่งตามมาตราแบบจีนที่เขาไม้เดน จึงยังช่วยให้เราเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของกลุ่มเมืองในวัฒนธรรมแบบทวารวดี ที่มีต่อจักรวรรดิแห่งราชวงศ์ถังอีกด้วย •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ