โครงสร้างเราไม่เท่ากัน | คำ ผกา

คำ ผกา

“รัฐบาลนี้มุ่งแต่แก้ไขปัญหาปากท้อง ทำดิจิทัลวอลเล็ต ลดค่าไฟ ฯลฯ เป็นแค่นโยบายหาเสียง ซื้อใจคนจน แต่ไม่แก้ปัญหาโครงสร้าง”

ประโยคนี้จริงหรือไม่?

ปัญหาโครงสร้างคืออะไร?

ถ้าจะตอบแบบพื้นฐาน 101 ที่สุด อธิบายกันว่า ในสำนักคิดแนวเสรีนิยมจะให้ความสำคัญกับปัจเจกบุคคล แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่พูดว่านี่คือปัญหาเชิงโครงสร้าง เป็นการพูดมาจากสำนักคิดทางการเมืองสำนักสังคมนิยม

เช่น ถ้าเราอธิบายว่าปัญหาวินัยการจราจรเกิดจากคนนิสัยไม่ดี คนเห็นแก่ตัว ต้องเร่งปลูกฝังจิตสำนึกให้คนมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมมากขึ้น

ถ้าเราอธิบายแบบนี้แปลว่าเราสมาทานสำนักคิดเสรีนิยม

แต่ถ้าเราอธิบายว่า ปัญหาวินัยการจราจรเกิดจากการออกแบบถนน การออกแบบเมือง การกำหนดเวลาของการปล่อยสัญญาณไฟ การทำจุดกลับรถที่ไม่สมเหตุสมผล ดังนั้น ปัญหานี้ไม่เกี่ยวกับอุปนิสัยของคน แต่เกี่ยวกับการออกแบบเมือง การออกแบบระบบ ต้องไปแก้ที่ “โครงสร้าง” ไม่ใช่การแก้ที่ “คน”

ถ้าเราอธิบายแบบนี้แปลว่า เราสมาทานสำนักคิด “สังคมนิยม”

ดังนั้น โดยพื้นเพ แนวคิดการเมืองแบบสังคมนิยม ทำให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น การอธิบายความยากจน ฝ่ายสำนักคิดเสรีนิยมจะบอกว่าคนจนเพราะขี้เกียจ คนจนเพราะฟุ่มเฟือย คนจนเพราะใช้เงินไม่เป็น

แต่สำนักสังคมนิยมจะพูดถึง “ความจนเชิงโครงสร้าง” เช่น เขาจนเพราะไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็น เช่น การศึกษา ทุนทางสังคมที่ไม่เท่ากัน หรือเขาจนเพราะนโยบายพัฒนาประเทศที่เอาทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดิน ป่า แม่น้ำ ไปพัฒนาโดยลืมไปว่าต้นทุนของพัฒนาเหล่านี้เป็นต้นทุนที่ชาวบ้าน ชาวประมง เกษตรกร หรือแม้แต่อากาศของคนในพื้นที่ต้องแบกรับเอาไว้

และนี่คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนจำนวนมากกลายเป็นคนยากจน เพราะทรัพยากรของเขาถูกเบียดบังไปเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น

 

สําหรับตัวฉันเอง ฉันสมาทานแนวคิดที่ว่าเราต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและปัญหาความยากจน ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไมได้เกิดจากปัจเจกบุคคลที่ขี้เกียจ ไม่มีวินัย กินเหล้า เล่นการพนัน

แต่ปัญหาเหล่านี้เกิดจากปัญหาโครงสร้างทางการเมืองเป็นพื้นฐาน

แต่วิธีที่จะแก้ปัญหาโคงสร้างทางการเมืองต้องแก้อย่างไร?

สำหรับฉัน การเมืองที่ตอบสนองและรับผิดชอบต่อผลประโยชน์ของประชาชนคือ เราต้องมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง

เมื่อมาจากการเลือกตั้งก็จะมีความรับผิดและรับชอบต่อประชาชนเจ้าของอำนาจ

เรียบๆ ง่ายๆ แค่นี้ ปัญหาโครงสร้างทางการเมืองที่ผ่านของไทยคือ มีการรัฐประหาร โดยอ้างว่านักการเมืองโกง

เมื่อรัฐประหาร แล้วทหารขึ้นมาครองอำนาจกลับโกงมากกว่านักการเมืองและทำงานไม่เก่งเท่ารัฐบาลพลเรือน ก็นำมาสู่การประท้วง ขับไล่เผด็จการ เผด็จการฆ่าประชาชน ไล่เผด็จการสำเร็จ ได้เลือกตั้งใหม่ มีรัฐบาลพลเรือนมาจากการเลือกตั้ง

สักพักประชาชน และสื่อมวลชนบอกรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโกง ห่วย เลว ฯลฯ เป็นช่องทางให้ทหารทำรัฐประหารอีก ฉีกรัฐธรรมนูญอีก ขึ้นครองอำนาจอีก เข่นฆ่าประชาชนอีก ประชาชนออกมาไล่เผด็จการ จนมีการเลือกตั้งใหม่ ประชาชนด่ารัฐบาล

วนลูปไปแบบนี้มาแปดสิบปี ไม่เคลื่อนตัวไปไหนเลย

 

ปัญหาการวนลูปนี้ นักประวัติศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ นักวิชาการ ต่างวิเคราะห์ว่า เหตุแห่งการรัฐประหารเกิดจาก “สถาบันอำนาจทางการเมืองเชิงประเพณี” ยังคงฟังก์ชั่น ทำงานอยู่คู่ขนานกับสถาบันทางการเมืองสมัยใหม่ที่เราเรียกว่าประชาธิปไตยระบบรัฐสภา และพยายามไม่ให้การเมืองระบบรัฐสภา สามารถเป็นอิสระจากสถาบันการเมืองเชิงประเพณีได้ จึง disrupt ด้วยการรัฐประหาร every once in a while

คำถามที่น่าสนใจกว่านั้นคือ เพราะอะไรการ disrupt นี้จึงได้ผล ได้รับความร่วมมือ มีความชอบธรรม ครั้งแล้วครั้งเล่า?

หลายคนตอบว่า เพราะโฆษณาชวนเชื่อของสถาบันอำนาจเชิงประเพณี ทำให้คนไม่รู้ว่า สิ่งนี้บั่นทอนความเข้มแข็งของประชาธิปไตย

ซึ่งถูกเพียงครึ่งเดียว ส่วนที่สำคัญกว่านั้นคือ “เรื่องเล่า” ที่สร้างขึ้นมาเพื่อบั่นทอนความชอบธรรมของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ได้สร้างขึ้นมาจากชนชั้นนำฝั่ง “สถาบันอำนาจทางประเพณี”

แต่สร้างขึ้นมาจากปัญญาชนฝ่ายซ้าย และฝ่ายหัวก้าวหน้าของไทยเอง

 

หนึ่งในเรื่องเล่าคลาสสิค หรือเราเรียกว่า “วาทกรรมปฏิรูป” ที่เราได้ฟังกันจนสถาปนาความจริงขึ้นมาจนสำเร็จคือเรื่องการซื้อเสียง ปัญญาชนฝ่าย “ก้าวหน้า” ของไทยบอกว่า

“ปัญหาเรื่องการซื้อเสียงนั้นเรียบง่ายมาก กล่าวคือ นักการเมืองที่เป็นเจ้าพ่อ/ผู้มีอิทธิพล ซื้อตั๋วผ่านไปสู่ตำแหน่งทางการเมือง อันเป็นหนทางที่เข้าไปฉกฉวยผลประโยชน์จากความร่ำรวยของประเทศในฐานะรัฐมนตรี พวกเขาทำให้ระบบบิดเบี้ยวเพื่อผ่องถ่ายทรัพยากรของรัฐไปให้พวกพ้องและเครือญาติในจังหวัดของตน ในขณะเดียวกันก็ปกป้องธุรกิจผิดกฎหมายของตน อย่างการลักลอบค้าของเถื่อน ตัดไม้ การพนัน และอื่นๆ สำหรับนักการเมืองประเภทนั้น ธุรกิจกับการเมืองเป็นกิจกรรมสองอย่างที่หนุนเสริมกันละกัน กล่าวคือ พวกเขาใช้เงินรายได้จากธุรกิจผิดกฎหมายไปซื้อเสียงเพื่อเข้าสู่อำนาจ แล้วใช้อำนาจนั้นแผ่ขยายไปปกป้องธุรกิจเสี่ยงๆ ที่ผิดกฎหมายของตน” (อ้างอิงจากบทความ “วาทกรรมว่าด้วยการซื้อเสียงและการปฏิรูปการเมืองในประเทศไทย” โดย วิลเลียม เอ. คัลลาฮาน 2547)

ความย้อนแย้งของปัญญาชนหัวก้าวหน้าไทยที่เชื่อใน “วาทกรรมปฏิรูป” คือ อยากมีประชาธิปไตย แต่ขณะเดียวกันก็เกลียดนักการเมือง และไม่เชื่อในระบบการเลือกตั้ง (มองว่าสกปรก/ซื้อเสียง (เว้นแต่พรรคที่ตัวเองเชียร์จะได้เป็นรัฐบาลเท่านั้น)

ความงงๆ ของฝ่ายซ้าย หัวก้าวหน้าไทยจึงนำไปสู่จังหวะทางการเมืองที่ประหลาดๆ เช่น พยายามแก้ปัญหานี้ด้วยการออกแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 ให้ปฏิรูปรัฐสภาใหม่

โดยแบ่งผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งออกเป็น 3 ประเภท

คือ สมาชิกวุฒิสภา, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบเขตเลือกตั้ง, สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรงของแต่ละจังหวัด ไม่เพียงแต่ถูกคาดหมายให้เป็นสภาสูงที่ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองกฎหมาย แต่ยังถูกคาดหมายให้ทำหน้าที่เป็นองค์กรไม่ฝักใฝ่การเมืองแยกออกมาต่างหาก สมาชิกวุฒิสภาต้อง “บริสุทธิ์” กล่าวคือ ผู้สมัครไม่สามารถเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และมีการตั้งเงื่อนไขข้อจำกัดมากมายในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และสมบัติ จันทรวงศ์ อธิบายว่า “ผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ (2540) ต้องการให้วุฒิสภาแบบใหม่เป็นอิสระจากการเมืองโดยสิ้นเชิง”

(อ้างอิงจากบทความ “วาทกรรมว่าด้วยการซื้อเสียงและการปฏิรูปการเมืองในประเทศไทย” โดย วิลเลียม เอ. คัลลาฮาน 2547)

 

สําหรับฉัน “เรื่องเล่า” ว่าด้วยนักการเมืองเลว และความพยายามสร้างสมดุลในการรัฐสภา ด้วยการสร้างสถาบันและองค์กรที่เป็น “อิสระจากการเมือง” เพื่อคานอำนาจนักการเมือง-ที่มีแนวโน้มจะเลวและแสวงหาผลประโยชน์ คือปฏิบัติการเชิงอุดมการณ์ที่สร้างความชอบธรรมให้เกิดการรัฐประหาร

พูดง่ายๆ คือ หากเราเชื่อว่ามี “มือที่มองไม่เห็นสั่งให้รัฐประหาร” สิ่งที่ช่วยสนับสนับ สร้างความชอบธรรมและอนุญาตให้การรัฐประหารเกิดขึ้นได้โดยละม่อมคือปฏิบัติการเชิงอุดมการณ์ของปัญญาชนฝ่ายซ้าย หัวก้าวหน้า ปัญญาชนสายปฏิรูปที่หล่อหลอมให้ “คนดีมีการศึกษา” ในประเทศนี้เต็มไปด้วยปรารถนาที่อยากจะลงโทษนักการเมืองและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตลอดเวลา

การแก้ปัญหา “เชิงโครงสร้าง” ผ่านการขียนรัฐธรรมนูญปี 2540 สิ่งที่เราได้มาคือ วุฒิสภาที่ไม่สังกัดพรรคการเมืองและเป็นอิสระจาก “การเมือง”

เราได้องค์กรอิสระที่เราเชื่อว่าจะใช้เพื่อ “เชือด” นักการเมืองเลวๆ

เราได้กติกาที่กำหนดว่า แคนดิเดต ส.ส.ต้องจบปริญญาตรีขึ้นไป ซึ่งเท่ากับกีดกันคนไทยร้อยละ 90 ออกจากการได้เป็นแคนดิเดต ส.ส.

เราได้องค์กรที่เป็นเครื่องไม้เครื่องมือของตุลาการภิวัฒน์

และกลับกลายเป็นว่า ปัญญาชนหัวก้าวหน้าไทย พากันเชิดชู ยกย่อง คนแบบ อานันท์ ปันยารชุน ผู้เป็นนายกฯ คนนอก แต่กลับเหยียดหยา คนอย่าง บรรหาร ศิลปอาชา ว่าเป็นนักการเมืองท้องถิ่นที่น่าเย้ยหยัน เรียกสุพรรณบุรีว่า “บรรหารบุรี”

และที่น่าขันขื่นคือ รัฐธรรมนูญที่ปัญญาชนเหล่านี้ชื่นชมกลับคลอดออกมาในรัฐบาลบรรหาร

 

ความพยายามแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างผ่านการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ให้ถูกใจปัญญาชนหัวก้าวหน้ากลับกลายเป็นผลไม้พิษต่อระบอบประชาธิปไตย

แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประเทศไทยได้จริงกลับเป็นนโยบายของรัฐบาลพลเรือนที่ชนะการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศ นั่นคือนโยบาย “ประชานิยม” ของรัฐบาลไทยรักไทยของทักษิณ ชินวัตร

นโยบายอะไรบ้างของไทยรักไทยที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง?

– พักชำระหนี้ 3 ปีชาวนา

– 30 บาทรักษาทุกโรค

– กองทุนหมู่บ้าน 60,000 แห่ง

– One stop service

– กระจายอำนาจ

– ส่งเสริม OTOP และวิสาหกิจชุมชน และ SMEs

ที่สำคัญคือ ทักษิณทำสิ่งเหล่านี้ภายในปีแรกที่เป็นรัฐบาล!

มันเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอย่างไร?

นโยบายเหล่านี้ทำให้ประชาชนพ้นจากสภาพผู้รอการสงเคราะห์จาก “ราชการ” ให้กลายเป็นประชาชนที่มีข้าราชการเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการดำเนินกิจกรรม ธุรกรรม

พวกเขาได้เลือกนายกฯ อบต. ได้เลือกนายกฯ เทศบาลตำบล, เทศบาลเมือง

พวกเขาได้บริหารกองทุนหมู่บ้าน เป็นเจ้าของโครงการ

พวกเขาไม่ได้เป็นเพียงชาวนา เกษตรกร แต่ได้กลายเป็นผู้ประกอบการ

พวกเขาไม่ได้เป็นคนไข้อนาถา แต่เป็นผู้ใช้สิทธิการรักษาพยาบาลถ้วนหน้า ไม่ต้องขายไร่นาเพื่อนำมาจ่ายค่ารักษาพยาบาล

ภายใน 4 ปีแรกของรัฐบาลไทยรักไทย ทำให้เกิดประชาธิปไตยกินได้ และประชาธิปไตยกินได้ ทำให้ประชาชนเกิด self esteem เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง

เมื่อคนปลดหนี้ได้ ตั้งกิจการร้านค้าได้ ส่งลูกเรียนหนังสือได้ เข้าโรงพยาบาลได้เมื่อเจ็บป่วย ซื้อรถยนต์ รถกระบะไว้ใช้สอยได้

สิ่งที่ตามมาคือศักดิ์ศรี และตัวตนในฐานะประชาชนผู้กล่าวได้ว่า “รัฐบาลนี้ฉันเลือกมากับมือ”

 

สําหรับฉัน นี่คือการเปลี่ยนแปลง “เชิงโครงสร้าง” และหากกระบวนการนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องผ่านประชาธิปไตยระบบตัวแทนผ่านการเลือกตั้ง จะเกิดพลวัตในอำนาจการต่อรองระหว่างประชาชนกับนักการเมือง ท้ายที่สุด ประชาธิปไตยจะเข้มแข็ง

ซึ่งแปลว่า อำนาจของประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจทางการเมืองจะเข้มแข็งขึ้น นักการเมืองที่ไม่มีผลงาน นักการเมืองที่โกงกินจะค่อยๆ ถูกคัดออกผ่านการเลือกตั้ง

สถาบันอำนาจเชิงประเพณีใดๆ เมื่อประชาชนเข้มแข็งขึ้น มีศักดิ์ศรีขึ้น

กระบวนการต่อรองอำนาจ การเปลี่ยนผ่านอำนาจจะเกิดขึ้นโดยการกำหนดและออกแบบของ “ประชาชน” เอง

ไม่ใช่เกิดขึ้นหรือเปลี่ยนแปลง และยกเลิก เพราะ “พรรคการเมือง” ถือธงนำ แต่ประชาชนจะวาง “วาระ” นั้นต่อพรรคการเมืองเอง

แต่น่าเสียดายที่ท้ายที่สุดแล้ว เป็น “ปัญญาชนห้วก้าวหน้า” และ “สื่อหัวก้าวหน้า” และ “นักวิชาการ” ที่รวมหัวกันส่งผ่าน “เรื่องเล่า” ว่าด้วยนักการเมืองชั่ว ประชาธิปไตยกินได้ กลายเป็น “ประชานิยมอันชั่วร้าย”

และ “ผีทักษิณ” ก็ถูกสร้างขึ้นมาสอดรับ “วาระ” ของ “ชนชั้นนำประเพณี” ที่เริ่มรู้สึกว่าความนิยมของทักษิณเปนภัยคุกคาม สิ่งที่เราได้มาคือ รัฐประหาร 2549 และผ่านรัฐประหาร 2557 ด้วยพล็อตที่ไม่ต่างจากเดิม

อยู่กับประยุทธ์ จันทร์โอชา มา 9 ปี เรากลับไม่เรียนรู้อะไรเลย และวันนี้ ปัญญาชนหัวก้าวหน้า กำลังใช้วาทกรรมดั้งเดิมบั่นทอนความชอบธรรมของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งอีกครั้ง

นั่นคือ “รัฐบาลผสมนำโดยพรรคเพื่อไทย” สนใจแต่ปัญหาปากท้องแต่ไม่ยอมแก้ปัญหาโครงสร้าง

ส่วนพรรคก้าวไกล อ้างว่าตัวเองคือพรรคที่แก้ปัญหาโครงสร้าง แต่ความจริงมันคือวาทกรรมของปัญญาชนสายปฏิรูปสำนักเดียวกับอานันท์ ประเวศ วะสี สร้างความเป็นอื่นให้กับพรรคการเมืองอื่นๆ ว่าเป็นนัการเมืองชั่ว มีแต่ก้าวไกลเท่านั้นเป็นพลังบริสุทธิ์ เป็นการเมือง “ใหม่”

สำหรับฉัน การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างคือการทำประชาธิปไตยกินได้ ประชาชนมีกิน มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี

ส่วนอื่นๆ ที่เหลือ ให้ประชาชนเขาวาง “วาระ” นั้น ผ่านการเลือกตั้ง โดยไม่จำเป็นต้องขุดรากถอนโคนวันนี้ เดี๋ยวนี้ ถึงจะเรียกว่า “เปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง”