อุษาวิถี (50) อุษาวิถีในวัฒนธรรมไทย (ต่อ)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (50)

อุษาวิถีในวัฒนธรรมไทย (ต่อ)

 

ภิกษุสงฆ์หรือพระภิกษุได้นำเอาศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเข้ามาถึงหมู่บ้านและในราชสำนัก จนทำให้วัดกลายเป็นดินแดนตรงกลางที่วัฒนธรรมของทั้งสองที่ได้พบปะแลกเปลี่ยนกันตลอดมา

เป็นที่ที่สามารถดึงดูดเอาทั้งเจ้าขุนมูลนายและไพร่เข้าไปบวชเรียนร่วมกัน ผ่านภาษาบาลีที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นภาษา “สากล” ในขณะนั้น และก็ด้วยเหตุนี้ ขนบจารีตของพระภิกษุจึงมีลักษณะ “สากล” ตามไปด้วย

จากลักษณะนี้จึงเท่ากับว่า วัดกับพระภิกษุได้นำเอาวัฒนธรรมมูลนายมาสู่วัฒนธรรมเฉพาะท้องถิ่นของไพร่ไปด้วยในตัว

ภายใต้ปฏิสัมพันธ์ที่ว่านี้ พระภิกษุในศาสนาพุทธจึงมีบทบาทสำคัญในการลดความตึงเครียดที่แฝงอยู่ในรูปของความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น อันมีพื้นฐานมาจากศาสนาพราหมณ์ให้แก่สังคมสยามไปด้วย

การที่พระภิกษุมีอิสระเช่นนี้ได้ในด้านหนึ่งจึงมาจากหลักคำสอนของศาสนาเอง ที่เน้นในเรื่องของความหลุดพ้น และไม่ยุ่งเกี่ยวกับทางโลกเกินกว่าความจำเป็น

ในขณะเดียวกัน อิสระเช่นนี้ก็ทำให้พระภิกษุมีความใกล้ชิดกับไพร่ จนไม่อาจเป็นที่ไว้วางใจของกษัตริย์และมูลนายไปด้วยในบางครั้ง

ด้วยเหตุนี้ พระภิกษุจึงถูกสถาบันทางการเมืองดึงเข้ามาให้อยู่ใกล้ตัว จนกลายเป็นพันธมิตรกับกษัตริย์ไปในที่สุด

แต่กระนั้น การเป็นพันธมิตรก็ไม่ได้บั่นทอนสายสัมพันธ์ที่พระภิกษุมีต่อไพร่อย่างแนบแน่นลงไปด้วย พระภิกษุยังคงเป็นสื่อกลางให้แก่ขนบจารีตของไพร่ได้เป็นอย่างดี เท่าๆ กับที่เป็นให้แก่กษัตริย์และมูลนาย

และทำให้ไพร่กับมูลนายได้มีโอกาสพบปะสังสรรค์กัน

 

7.ชาวจีน จากการที่มีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติมาช้านาน ดินแดนที่เป็นสยามประเทศจึงประกอบไปด้วยชนหลายชาติหลายภาษา ในบรรดาชนเหล่านี้นับว่าชาวจีนมีมากกว่าชาติใดๆ ก็ว่าได้ เพราะมีหลักฐานว่าเข้ามายังสยามประเทศมาเป็นเวลานับพันปีแล้ว

กล่าวเฉพาะในสมัยที่รัฐอยุธยาเจริญรุ่งเรืองแล้ว ชาวจีนได้กระจายกันอยู่ตามบริเวณชายทะเลตะวันออกแถบบางปลาสร้อยของชลบุรี จันทบุรี ทางภาคใต้ในแถบสงขลาและปัตตานี

ประมาณกันว่าในพุทธศตวรรษที่ 23 มีชาวจีนอาศัยอยู่ในสยามประเทศราว 10,000 คน

การที่มีชาวจีนเข้ามาอาศัยอยู่มากมายเช่นนี้ อาจจะแยกอธิบายถึงสาเหตุได้สองประการ

ประการแรก เป็นผลมาจากการค้าในระบบบรรณาการระหว่างสยามกับจีนที่มีมาอย่างต่อเนื่อง และทำให้เศรษฐกิจของสยามประเทศในสมัยรัฐอยุธยาและรัฐกรุงเทพฯ ตอนต้นเจริญรุ่งเรืองมากกว่าการค้ากับชาติอื่นๆ

โดยเฉพาะเมื่อสยามได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าจากจีน อันเนื่องมาจากการค้าในระบบที่ว่านั้น

ประการที่สอง เป็นเพราะภัยธรรมชาติและการขาดแคลนที่ดินทำกินของชาวจีนในแผ่นดินใหญ่ รวมทั้งการผ่อนคลายนโยบายการห้ามออกนอกประเทศของชาวจีนในช่วงปลายราชวงศ์ชิง

ชาวจีนที่เข้ามาในสยามประเทศมีชีวิตที่ค่อนข้างอิสระและปลอดพ้นจากระบบไพร่ ชาวจีนจึงสามารถเดินทางไปไหนต่อไหนได้ และทำให้สามารถแต่งงานอยู่กินกับชาวสยามจนผสมกลมกลืนกันไป

อย่างไรก็ตาม บทบาทของชาวจีนที่มีเรื่องของการค้าอย่างเป็นด้านหลักนั้น ได้ถูกแสดงออกอย่างชัดเจนในสมัยรัฐกรุงเทพฯ ตอนต้น ที่สำคัญก็คือ การเข้ามาเป็นแรงงานให้แก่รัฐด้วยจำนวนที่มหาศาลนับเป็นแสนคน

นอกจากนี้ ยังมีชาวจีนอีกจำนวนหนึ่งที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นขุนนางในราชสำนัก โดยมีหน้าที่หลักคือ การเก็บภาษีอากรและการปกครองควบคุมชาวจีนด้วยกันเอง จากความเป็นจริงเช่นนี้ยังผลให้ชาวจีนสามารถรักษาขนบจารีตเดิมของตนเอาไว้ได้ส่วนหนึ่ง

โดยส่วนที่เหลือก็คือ การผสมผสานเข้ากับขนบจารีตของชาวไทยในสยาม

 

ปรากฏการณ์นี้ในด้านหนึ่งได้สะท้อนให้เห็นว่า ขนบจารีตเดิมของชาวจีนมีบางส่วนที่ไปด้วยกันได้กับขนบจารีตของชาวไทย และสามารถเอื้อประโยชน์ให้แก่กันและกันได้

จะเห็นได้ว่า สถาบันทางการเมืองและขนบจารีตที่คู่เคียงกันไปของสังคมสยามจากที่ได้กล่าวมานี้ มีพัฒนาการมาจากกระแสอินเดียอย่างเป็นด้านหลัก การที่กระแสนี้คงอยู่ได้ก็เพราะศาสนาพราหมณ์เอื้อต่อกันจัดระบบการเมืองการปกครองให้เป็นไปอย่างมีระเบียบ

ในขณะที่ศาสนาพุทธกลับเอื้อต่อการทำให้สังคมสยามกลายเป็นสังคมที่เปิดกว้าง และสามารถเข้ากันได้กับวิถีชีวิตของประชาชนระดับล่าง โดยที่ชนชั้นสูงก็มิอาจปฏิเสธความสำคัญในแง่นี้ของศาสนาพุทธไปได้

อย่างไรก็ตาม ถึงที่สุดแล้วทั้งศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธก็ถูกผสมผสานจนเป็นหนึ่งเดียว โดยเฉพาะในแง่ของขนบจารีตแม้จะเห็นได้ชัดว่าเป็นของศาสนาใดก็ตาม แต่ก็เป็นขนบจารีตที่ถูกยึดถือปฏิบัติไปในเวลาเดียวกันและพร้อมๆ กัน

ท่ามกลางสถาบันทางการเมืองและขนบจารีตของสังคมสยามดังกล่าว จะมีก็แต่ชาวจีนเท่านั้นที่เป็นอิสระจากสถาบันทางการเมืองและขนบจารีตเกือบจะทั้งหมด

แต่สิ่งที่ชาวจีนต้องแลกเปลี่ยนให้กับรัฐสยามก็คือ บทบาททางการค้าที่เอื้อให้ฐานะทางเศรษฐกิจของรัฐสยามบังเกิดความมั่งคั่งร่ำรวยขึ้นมา ซึ่งแน่นอนว่า ส่วนหนึ่งของความมั่งคั่งร่ำรวยนี้ย่อมตกอยู่แก่ชาวจีนด้วยเช่นกัน

และส่วนหลังนี้เองที่เมื่อรวมเข้ากับขนบจารีตที่ชาวจีนถือปฏิบัติผ่านลัทธิขงจื่อแล้ว ก็ได้กลายเป็นพื้นฐานที่ดีให้แก่การเข้ามามีบทบาททางการเมืองของชาวจีนอย่างช้าๆ ตั้งแต่ในสมัยรัฐกรุงเทพฯ ด้วยเช่นกัน

การเข้ามามีบทบาททางการเมืองนี้มีตั้งแต่การได้รับแต่งตั้งให้เป็นขุนนาง (ซึ่งมีมาตั้งแต่ในยุคที่อยุธยาเรืองอำนาจ) เท่านั้น หากยังมาจากการที่ชาวจีนสามารถแต่งงานอยู่กินกับชาวไทยอีกด้วย ซึ่งมีทั้งชาวไทยชั้นสูงและชั้นล่างจนกลืนกลายกันไป

จนเคยมีคำถามล้อกันว่า มีคนไทยคนใดที่สามารถระบุได้ว่าตนมีเชื้อไทยที่บริสุทธิ์บ้างให้ยกมือขึ้น???!!!!