E-DUANG : วิกฤต อันเนื่องแต่ อยู่บำรุง สะท้อน ตอกย้ำ “บ้านใหญ่”

ไม่ว่าจะเป็นท่าทีอันมาจาก นายเศรษฐา ทวีสิน ไม่ว่าจะเป็นท่าทีอันมาจาก นายภูมิธรรม เวชยชัย สะท้อนให้เห็นว่า”ปฎิกิริยา”อันมาจากตระกูล”อยู่บำรุง”ทรงความหมาย

ไม่เพียงทรงความหมายต่อพรรคเพื่อไทย หากแต่ยังทรงความหมายต่อ”รัฐบาลพิเศษ”อย่างแหลมคม

เพราะความหมายของ”ตระกูลอยู่บำรุง”นั้นเองความรู้สึกของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง จึงได้รับความสนใจ กลายเป็นข่าวพาด หัว นำไปสู่คำถามแสดงความต่อเนื่อง

สังคมอยากรู้ว่า นายเศรษฐา ทวีสิน คิดอย่างไรและจะบริหารจัดการอย่างไร สังคมอยากรู้ว่าแกนนำสำคัญพรรคเพื่อไทยจะสะสาง”ศัสตรา”ให้กลายเป็น”แพรพรรณ”ได้อย่างไร

เช่นนี้เอง นายภูมิธรรม เวชยชัย จึงยืนยันว่าจะไปเยี่ยมยามถึงบางบอน ต้องการสนทนาไม่ว่าจะเป็น ร.ต.อ.เฉลิม อยุ่บำรุง ไม่ ว่าจะเป็น นายวัน อยู่บำรุง

เด่นชัดยิ่งว่าไม่ต้องการให้ปัญหาอันเนื่องแต่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เกิดสภาวะบานปลาย ยากแก่การควบคุมไม่ให้กลายเป็นกรณีเหมือนกับของ นายจตุพร พรหมพันธุ์

จำเป็นต้องใช้แนวทางการทูต แนวทางประนอมประโยชน์

 

ถามว่า”ปฎิกิริยา”อันมาจาก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง คืออะไร ตรงนี้ มิได้เป็นความลับ ตรงนี้มิได้เป็นมูลเชื้อที่ยากแก่การทำความเข้าใจ

ไม่ว่าจะมองจาก”ชั้น 14”แห่งโรงพยาบาลตำรวจ ไม่ว่าจะมองจากสำนักงานใหญ่”พรรคเพื่อไทย”

ก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ก็สำแดงเจตจำนงในทางการเมืองของตนว่าคืออะไร โดยพื้นฐานคือต้องการให้เห็นความสำคัญ

เป็นความสำคัญในระดับเดียวกันกับ”บ้านใหญ่”ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น”บ้านใหญ่”ทางภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็น”บ้านใหญ่”ทาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พลันที่ปรากฏสถานการณ์อย่างที่เรียกว่า”เขาเล่าว่า”ก็ต้องดำเนินการจากจุดอันเป็นตัวทุกข์ ตัวปัญหาจึงจะนิโรธได้

 

ความจริง ปัญหาของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง มิได้ซับซ้อน หากวัดจากประสบการณ์และความจัดเจนของพรรคเพื่อไทยอันสืบเนื่อง มาแต่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน

นั่นก็คือ ผลประโยชน์ และการประนอมให้”บ้านใหญ่”พึงใจ

พรรคไทยรักไทยมีบทเรียนมามากมาย พรรคพลังประชาชน ก็มีบทเรียน แม้ในยุคพรรคเพื่อไทย ก็เคยบริหารจัดการได้ด้วยความราบรื่น

เว้นแต่เพียงว่า”บ้านใหญ่”ที่ใหญ่กว่ามีเป้าหมายใดในทาง การเมืองเกิดขี้นในสถานการณ์”รัฐบาลพิเศษ”เท่านั้น

นั่นก็หมายความว่าต้องปล่อย”อยู่บำรุง”ให้หลุดลอยไป