เมื่อกบฏรีพับลิกัน ปลดประธานสภาฯ กลางอากาศ

การเมือง บางทีก็กลายเป็นเรื่อง “ตลกร้าย” ไปอย่างคาดไม่ถึง เหมือนกรณีที่เกิดขึ้นกับเควิน แมคคาร์ธี ส.ส.รีพับลิกันจากรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่คร่ำหวอดในแวดวงการเมืองอเมริกันมานานหลายสิบปี จนได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนล่าสุด

แล้วก็กลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองที่นั่น เมื่อแมคคาร์ธีกลายเป็นประธานสภาฯ คนแรกที่ถูกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงมติถอดถอนจากตำแหน่งระหว่างวาระ

ประเด็นที่เป็นตลกร้ายก็คือ ปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนครั้งนี้ เกิดขึ้นได้เพราะ ส.ส.เอียงขวาในฟากของรีพับลิกันเพียง 8 คนเท่านั้นเอง เสียงส่วนใหญ่ยังคงหนุนแมคคาร์ธี

 

ทั้ง 8 ส.ส.รีพับลิกัน เป็นกลุ่มนักการเมืองปีกขวาที่หลายคนเรียกกันว่าเป็นสาวกของโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีที่พ่ายการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แล้วมีคดีความติดตัวนัวเนียอยู่มากมายในเวลานี้

8 เสียง ส.ส.ไม่ถือว่ามากมายกระไร กระนั้นภายใต้องค์ประกอบของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน 8 เสียงที่ว่านี้กลับมีอิทธิพลสูงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะไม่ว่าจะในเรื่องใดๆ ที่ต้องใช้เสียงข้างมากชี้ขาด

ที่เป็นเช่นนั้นเป็นเพราะโครงสร้างของสภาอเมริกันหลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา พรรครีพับลิกันมีจำนวน ส.ส.มากกว่าเดโมแครตอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น คือในจำนวน ส.ส.ทั้งหมด 435 คน เป็นรีพับลิกันเสีย 221 คน ส่วนเดโมแครตเป็นฝ่ายค้านหรือพรรคเสียงข้างน้อยก็จริง แต่มี ส.ส.อยู่มากถึง 212 คน (อีก 2 คนเป็น ส.ส.ไม่สังกัดพรรค)

8 เสียง ส.ส.รีพับลิกันจึงมีความหมายชี้เป็นชี้ตาย เมื่อใดก็ตามที่ ส.ส.กลุ่มนี้โหวตสวนมติพรรค หรือไม่เห็นด้วยกับแนวทางของประธานแม็คคาร์ธี เสียงของรีพับลิกันจะหลงเหลือเพียง 213 เสียง มีปัญหาขึ้นมาในทันที

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ส่วนหนึ่งหรือทั้งหมด 8 คนดังกล่าวหันไปลงมติในแนวทางเดียวกับฝ่ายตรงกันข้าม ก็จะทำให้พรรคเดโมแครตกลายเป็นเสียงข้างมากขึ้นมาในทันที เหมือนในกรณีการถอดถอนประธานสภาฯ ในครั้งนี้

 

แกนนำคนสำคัญของ ส.ส.อเมริกันกลุ่มนี้ก็คือ แมตต์ เกตซ์ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มยื่นญัตติถอดถอนแม็คคาร์ธีในครั้งนี้

กลุ่ม 8 ส.ส.เคยสำแดงเดชมาตั้งแต่เมื่อครั้งลงมติเลือกตั้งประธานสภาฯ เมื่อต้นปี 2023 จนเป็นเหตุให้การเลือกตั้งประธานสภาฯ ต้องทำซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่า

จนในที่สุด แม็คคาร์ธีต้องหาทางประนีประนอม โดยการให้สัญญาว่า หากการทำหน้าที่ของตนไม่เป็นที่พอใจ สมาชิกพรรครีพับลิกันเพียงรายเดียวก็สามารถยื่นญัตติถอดถอนตนออกจากตำแหน่งได้ ไม่จำเป็นต้อง “เข้าชื่อ” กันยื่นญัตติเหมือนก่อนหน้านี้

ผู้สันทัดกรณีการเมืองอเมริกันเชื่อว่า การเคลื่อนไหวถอดถอนนายแม็คคาร์ธีครั้งนี้ เกิดจากความไม่พอใจของกลุ่ม 8 ส.ส. ต่อการที่นายแม็คคาร์ธีไปตกลงรอมชอมกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน จนได้มาตรการจัดสรรงบประมาณชั่วคราว 45 วันมา เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิด “ชัตดาวน์” ขึ้นกับภาครัฐในสหรัฐอเมริกา

แมตต์ เกตซ์ โจมตีแม็คคาร์ธีว่า “ไม่อนุรักษนิยมพอ” และถึงกับเคยยื่นคำขาดให้ประธานสภาฯ เลือกเอาระหว่างการ “ชัตดาวน์” กับการพ้นจากตำแหน่ง

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ทำไม ส.ส.พรรคเดโมแครตถึงไม่เลือกที่จะลงมติเข้าข้างเพื่อช่วยเหลือให้แม็คคาร์ธีอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ แต่กลับเลือกที่จะลงมติถอดถอนตามไปด้วย

 

บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวเอพีระบุว่า ก่อนหน้าการลงมติมีการประชุมกลุ่มย่อยภายในพรรคเดโมแครต สิ่งที่ถูกหยิบมาถกกันมากก็คือพฤติกรรมที่ผ่านมาของแม็คคาร์ธี ซึ่งนอกจากจะเออออห่อหมกไปกับบรรดาปีกขวาภายในรีพับลิกันมาตลอดในการดำรงตำแหน่งที่ผ่านมาแล้ว ยังแสดงออกถึงการสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีทรัมป์มาอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

ส.ส.เดโมแครตส่วนหนึ่งชี้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เป็นสิ่งที่แม็คคาร์ธีสร้างขึ้นมาด้วยตัวเองตั้งแต่แรกเริ่ม ด้วยการยอมให้ ส.ส.ที่เป็นสมาชิกพรรคเพียงรายเดียวยื่นถอดถอนได้ และทั้งหมดเป็นเรื่อง “ภายใน” ของพรรครีพับลิกัน ไม่เกี่ยวกับเดโมแครตแต่อย่างใด

แม็คคาร์ธีเองก็เลือกที่จะ “ไม่คุย” กับเดโมแครต ในตอนเช้าวันที่ 3 ตุลาคมอันเป็นวันลงมติ แม็คคาร์ธีบอกกับผู้สื่อข่าวว่า เขาอยากเผชิญหน้ากับการถอดถอนมากกว่าที่จะไปยอมตกลงใดๆ กับเดโมแครตเพื่อรักษาเก้าอี้ของตนเอาไว้

ผลลัพธ์ก็คือ ตอนนี้สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา หนึ่งในสถาบันหลักตามระบอบประชาธิปไตยอเมริกัน ตกอยู่ในสภาพ “ไร้หัว” แถมในพรรครีพับลิกันยังแตกแยกกันเองอย่างหนัก และในเวลาเดียวกัน การพูดคุย เจรจาต่อรองระหว่างพรรคเพื่อทำงานหรือแก้ปัญหาร่วมกันก็แทบไม่หลงเหลืออยู่ให้เห็น

 

โครงสร้างของสภาฯ และความแตกแยกที่มี ทำให้การเลือกประธานสภาฯ คนใหม่ ไม่มีทางเกิดขึ้นโดยเร็วได้

ทั้งๆ ที่ปัญหาในระดับวิกฤตของประเทศชาติยังคงอยู่

รัฐบาลและรัฐสภา ต้องเผชิญกับปัญหา “ชัตดาวน์” อีกรอบในราวกลางเดือนหน้า แต่ยังไม่มีฝ่ายไหนบอกได้ว่าจะลงเอยกันอีหรอบไหน ถ้าเกิด “ชัตดาวน์” ขึ้นมาจริงๆ ไม่เพียงจะเกิดโกลาหลอลหม่านขึ้นเท่านั้น ยังจะส่งผลกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐอเมริกา ที่ส่อจะถูกดาวน์เกรดลง ซึ่งหมายถึงอัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้

เศรษฐกิจของประเทศที่กำลังผงกหัวขึ้น อาจตกกลับไปสู่ภาวะถดถอยเอาได้ง่ายๆ เพราะอาจเกิดวิกฤตหนี้ขึ้นตามมาในสหรัฐอเมริกา

งบประมาณเพื่อให้การช่วยเหลือทางทหารต่อยูเครน ยังมืดมนไม่มีทางออก ทำให้ยูเครนอาจตกเป็นเหยื่อตามไปด้วยกลายๆ

จับตาดูไว้ให้ดี ความวุ่นวายในวอชิงตัน อาจทำให้ทั้งโลกพลอยว้าวุ่นตามไปด้วยได้ไม่ยากนัก