ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ฟื้นฟูบินไทยทำรายได้แสนล้าน แง้มแผนสกัดนักการเมือง ทำเจ๊งซ้ำรอยเดิม

การประกาศตัวเลขรายได้ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) อย่างเป็นทางการเมื่อสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา พร้อมรายงานผลการดำเนินงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่าในไตรมาส 2 ของปี 2566 การบินไทย และบริษัทย่อยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 37,381 ล้านบาท

เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 74% และมีกำไรจากการดำเนินงาน 8,576 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 760% กำไรสุทธิ 2,273 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 171%

ถือเป็นกำไรจากการดำเนินงานสูงสุดในรอบ 20 ปี

ผลรวมของตัวเลขเหล่านี้หากมองย้อนกลับไป ต้องยกให้เป็นผลงานของคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย ที่มี “ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” ทำหน้าที่ประธานคณะผู้บริหารแผนดังกล่าว ร่วมกับอีกสองคน คือ ชาญศิลป์ ตรีนุชกร (ดีดีการบินไทย) และ พรชัย ฐีระเวช (ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง) ร่วมลงแรงบริหารจัดการจนพ้นวิกฤตสามารถกลับมามีกำไร ก้าวสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้ง

ซึ่งปิยสวัสดิ์ฟันธงว่าไม่ใช่ยิ่งใหญ่ธรรมดา แต่จะยิ่งใหญ่และมีกำไรมากกว่าเดิม

สําหรับประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ ผู้นี้ “ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” ปัจจุบันอายุ 70 ปีบริบูรณ์ จึงต้องพ้นจากทุกตำแหน่งในบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) จากเดิมที่เป็นกรรมการอิสระ ประธานกรรมการและประธานกรรมการอิสระ ยังคงรับหน้าที่ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย เพียงอย่างเดียว หลังจากบอร์ดการบินไทยมีมติเมื่อ 25 พฤษภาคม 2563 นับเป็นการกลับสู่การบินไทยอีกครั้งของชายผู้นี้

สองปีเศษที่ผ่านมา การกอบกู้วิกฤตในการบินไทยไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องงัดทุกกลยุทธ์ที่มีออกมาใช้อย่างเคร่งครัดและเอาจริงเอาจัง เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในแต่ละขั้นตอน

ดร.ปิยสวัสดิ์ เท้าความว่าเข้ามาเป็นผู้ทำแผน และเป็นกรรมการบริษัทหนึ่งวันก่อนรัฐบาลจะยื่นขอทำแผนฟื้นฟู เช้าวันนั้น ครม.มีมติให้การบินไทยขายหุ้นให้วายุภักษ์ 2% ทำให้การบินไทยหมดสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ

กระทั่งต่อมาเดือนกันยายน 2563 ศาลล้มละลายกลางจึงเห็นชอบให้ตั้งผู้ทำแผนฟื้นฟูฯ เมื่อทำแผนเสร็จแล้วได้ยื่นต่อศาล ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และศาลให้ความเห็นชอบวันที่ 15 มิถุนายนปีเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม กว่าจะพ้นขั้นตอนนี้มีการเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้กันพอสมควร ทุกอย่างจึงเป็นที่ยอมรับ

ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย มีการกำหนดรายชื่อบุคคลที่ทำหน้าที่เป็น “ผู้บริหารแผน” 5 ราย ได้แก่ ดร.ปิยะสวัสดิ์, พรชัย ฐีระเวช, ชาญศิลป์ ตรีนุชกร, ศิริ จิระพงษ์พันธ์ และไกรสร บารมีอวยชัย โดยเลือก ดร.ปิยสวัสดิ์ เป็นประธานผู้บริหารแผน จากนั้นทั้งหมดเริ่มลงมือทำงาน กระทั่งดำเนินการไปได้ระยะหนึ่ง ผู้บริหารแผนเห็นว่ามีความจำเป็นต้องแก้ไขแผนเดิม เนื่องจากมีความไม่เหมาะสมบางอย่างเกี่ยวกับตัวเลขจำนวนเงินที่ต้องนำมาเพิ่มเติมในการดำเนินงาน

กล่าวคือ ตามแผนเดิมต้องการวงเงินเพิ่มเข้ามาอีก 50,000 ล้านบาท โดยเป็นเงินจากภาครัฐ 25,000 ล้าน เป็นเงินกู้หรือรัฐสนับสนุนให้กู้ก็ได้ และจากเอกชนอีก 25,000 ล้าน

“ที่ต้องแก้ไขแผนเดิม เพราะเมื่อดำเนินงานไปแล้วระยะหนึ่งสถานการณ์ดีขึ้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องกู้เงินจำนวนมากขนาดนั้น เลยขอลดวงเงินลงมาเหลือ 25,000 ล้าน ซึ่งจริงๆ ผมคิดว่าไม่ต้องกู้เลยสักบาทเดียวก็ได้ เพราะว่าแผนนี้เลื่อนการคืนหนี้ออกไป หนี้ธนาคารและหนี้หุ้นกู้ถูกเลื่อนออกไป 6 ปีพร้อมดอกเบี้ย 1-1.5% ขณะเดียวกันกิจการการบินก็ดีขึ้น เงินก็ไหลเข้ามา เมื่อไม่มีการจ่ายคืนดอกเบี้ย ไม่มีการจ่ายคืนเงินต้น การจะไปกู้เงินเพิ่มเอีก 50,000 ล้าน หรือแม้แต่ 25,000 ล้าน ไม่มีความจำเป็นแล้ว” ดร.ปิยสวัสดิ์กล่าว

และว่า เหตุการณ์ตอนนั้นถกเถียงกันในกลุ่มผู้บริหารแผน มีกลุ่มหนึ่งคิดว่าควรจะกู้เงินจำนวนมากมาดำเนินการ แต่ส่วนหนึ่งเห็นว่าไม่ต้องกู้อีก ความเห็นที่ขัดแย้งกันเช่นนี้ทำให้คณะผู้บริหารแผนท้ายสุดมีคนลาออกไป จึงเหลือผู้บริหารแผนเพียง 3 คน นอกจาก ดร.ปิยสวัสดิ์แล้ว มีพรชัย และชาญศิลป์

“ซึ่งผมว่าสามคนทำงานกันได้ค่อนข้างดี การตัดสินใจต่างๆ ก็รวดเร็ว”

 

สําหรับ “แผนฟื้นฟูฉบับใหม่” นี้ ดร.ปิยสวัสดิ์บอกว่ามีส่วนแตกต่างจากของเดิมตรงที่เจ้าหนี้หุ้นกู้กับสถาบันการเงินมีสิทธิ์แปลงหนี้เป็นทุน 24.5% ในราคา 2.5452 บาท ซึ่งทุกคนเห็นว่าเป็นราคาที่เหมาะสม ส่วนคนที่ให้กู้เงิน 25,000 ล้าน ก็มีสิทธิ์จะเปลี่ยนเงินกู้เป็นทุนเหมือนกัน ในราคาเดียวกัน หรือจะแปลงหนี้เดิมเป็นทุนก็ได้ ดังนั้น ขั้นตอนของการทำให้ฐานะทางการเงินการบินไทยมีความมั่นคง คือ แปลงหนี้และดอกเบี้ยตั้งพัก เป็นทุนหมายถึงดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายแต่ตั้งพักเอาไว้ และต้องออกหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิมในราคาที่สูงกว่า 2.5452 บาท ซึ่งถ้าทำทั้งหมดตามแผนนี้ทุนการบินไทยจะกลับมาเป็นบวก

“เป็นเงื่อนไขทางการเงินที่สำคัญมากหากจะออกจากแผนฟื้นฟูฯ อย่างน้อยทุนต้องเป็นบวก ไม่เช่นนั้นบริษัทไม่มีความมั่นคง อันนี้แตกต่างจากแผนเดิม ในแผนเดิมไม่มีเรื่องของทุนเป็นบวกเลย จะออกจากแผนทั้งๆ ที่ทุนเป็นลบซึ่งอันตรายมาก”

อธิบายเพิ่มเติมได้ว่าการจะออกจากแผนฟื้นฟูฯ ได้ ประกอบด้วย 1.ทุนเป็นบวก ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญ 2.อีบิตด้า (EBITDA) ในรอบ 12 เดือนเกิน 20,000 ล้านบาท ซึ่งมาถึง ณ วันนี้การบินไทยทำได้แล้ว

ขณะที่ ดร.ปิยสวัสดิ์บอก “ยังไม่ได้กู้เงินเลยสักบาทเดียว” พร้อมกล่าวต่อว่า “ผมเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องกู้เงินด้วย แต่ว่าเพื่อให้เป็นไปตามแผนที่เราต้องทำต่อไป คือ แปลงหนี้เป็นทุน และออกหุ้นเพิ่มทุนซึ่งจะทำให้ทุนกลับมาเป็นบวก เมื่อทุนเป็นบวกเราสามารถจะออกจากแผนฟื้นฟูฯ ได้ โดยตามแผนไม่ว่าการแปลงหนี้เป็นทุน การออกหุ้นเพิ่มทุน ต้องทำให้เสร็จสิ้นภายในปีหน้าคือ 31 ธันวาคม 2567

“ตามแผนที่กำหนดไว้ทุนจะเป็นบวกภายในสิ้นปีหน้า (2567) หลังจากนั้นเราจะยื่นออกจากแผนฟื้นฟูฯ ได้ เมื่อยื่นออกจากแผนแล้ว ศาลคงต้องดูงบการเงิน ถึงแม้ทุนเป็นบวกแล้วศาลก็ยังต้องดูหลักฐาน จึงอาจใช้เวลาระยะหนึ่ง ดังนั้น จึงใช้เวลาระยะหนึ่ง ผมคิดว่าจะออกจากแผนฟื้นฟูฯ ได้ น่าจะเป็นปลายปี 2567 หรือต้นปี 2568 จากนั้นจึงกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้อีกครั้ง”

 

เมื่อถามว่าความแตกต่างระหว่างการเข้ามาทำหน้าที่ในการบินไทยเมื่อปี 2551 ที่ประสบปัญหาขาดทุนอย่างมากเป็นประวัติการณ์ กับตอนนี้ที่มาเป็นประธานคณะผู้บริหารแผน มีความต่างกันอย่างไร

ปิยสวัสดิ์กล่าวตอบรวดเร็วว่าปี 2551 ทุนการบินไทยยังเป็นบวกถึงแม้จะขาดทุนมาก ซึ่งมาจากราคาน้ำมันที่สูงมาก เมื่อเข้าไปบริหารจัดการสามารถมีกำไรขึ้นมา แต่คนที่มาทำงานต่อหลังจากนั้นคงเพิ่มค่าใช้จ่าย จึงกลับไปเหมือนเดิม เริ่มขาดทุนใหม่

ดังนั้น ความแตกต่าง คือ ฐานะการเงินของการบินไทยตอนนั้นดีกว่าตอนนี้มาก ครั้งนี้ทุนติดลบแล้วและมีหนี้เต็มไปหมด ซ้ำเติมด้วยโรคโควิดส่งผลให้เครื่องบินบินไม่ได้ รายได้ตก ฉะนั้น การปรับโครงสร้างลดค่าใช้จ่ายจึงลดอย่างมโหฬาร

“ผมปรับเอาคนออก 15,000 คนเท่ากับ 50% ลดค่าตอบแทนสวัสดิการต่างๆ มากมาย ครั้งนี้คนที่ออกได้รับเพียงเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน และบวกไปอีก 1 เดือน แล้วไม่ใช่จ่ายทีเดียว ทยอยจ่าย ขณะที่คนออกไปก่อนหน้านี้ได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานแต่บวกเพิ่มอีก 1-2 ปี จึงแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง”

“ตอนแรกที่เข้ามา ผมติดตามสถานะการเงินของบริษัทมาตลอด เห็นแล้วลำบากมากเพราะทุนติดลบอยู่แล้ว ไม่มีโควิดก็ติดลบ ตอนแรกไม่แน่ใจว่าจะทำได้ไหม เพราะฐานะการเงินบริษัทแย่มาก ต้องเจรจากับเจ้าหนี้ เจรจากับสถาบันการเงิน เจ้าหนี้หุ้นกู้ แล้วก็เจ้าหนี้เช่าเครื่องบิน เครื่องบินเก่าที่เราไม่ต้องการก็ยกเลิกแฮร์คัตไปเลย 83% คืนเครื่องบินไป เขาก็ไม่พอใจ แต่เราไม่มีทางเลือก เราเก็บเอาไว้เฉพาะเครื่องบินที่เราต้องการเป็นชุดที่ใหม่ที่สุด มี 787, 350, 777-300 ER, 320 ที่เป็นปัญหาอยู่ก็มีแต่เครื่อง 380 ที่เจรจากับเจ้าหนี้ไม่รู้เรื่องเพราะค้ำประกันโดย ECA ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ เขาไม่พูดภาษานักธุรกิจ เขาพูดภาษาราชการ เลยต้องยกเลิกการเช่า และคืนเครื่องบินไป แต่ในที่สุดเขาเห็นว่า 380 ไม่มีค่าเลยยกให้เรา แต่เราต้องจ่ายหนี้เพิ่มขึ้น”

คู่สนทนาแย้งเบาๆ ว่าปัญหาวิกฤตทั้งหลายดูเบาบางลงไปแล้วปีหน้า (2567) ตั้งเป้ารายได้ไว้ 130,000 ล้าน ใช่หรือไม่? อดีตดีดีการบินไทยบอกทันควัน “ปีนี้สิ ปีนี้ แสนสามหมื่นล้านได้อยู่แล้ว ปีหน้าต้องมากกว่านั้น”

ส่วนการกลับเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่สลับซับซ้อน จะซับซ้อนบ้างเป็นขั้นตอนการแปลงหนี้เป็นทุน ตามด้วยการเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิม/และหรือพนักงาน/และหรือนักลงทุนเฉพาะเจาะจง ถ้าผู้ถือหุ้นเดิมเอาหุ้นไว้ทั้งหมดก็ไม่มีเหลือให้พนักงานกับนักลงทุนเฉพาะเจาะจง ซึ่งคิดว่าราคาขายต่อหุ้นต้องสูงกว่า 2.5452 บาท แต่ยังไม่รู้ราคาแน่นอนว่าเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับผู้ลงทุนและผลประกอบการจากวันนี้ไปจนถึงปลายปีหน้า (2567)

“ดูจากสภาพการเงินถ้าได้ 5 บาทก็เก่งแล้ว” ปิยสวัสดิ์กล่าว

 

ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เกียรตินิยมอันดับ 1 กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ปีหน้า (2567) จะเริ่มทยอยใช้หนี้ซึ่งยังมีหนี้ระยะยาวเหลืออยู่แสนหกหมื่นล้านบาท ต้องจ่ายหนี้บัตรโดยสารให้หมดภายใน 31 มีนาคม 2567 ซึ่งทยอยใช้ไปแล้ว จะมีหนี้ที่เป็นของลูกหนี้การค้าที่ต้องทยอยจ่าย ส่วนหนี้สถาบันการเงินมี 40,000 ล้านบาท และหนี้หุ้นกู้ประมาณ 70,000 ล้าน แต่ทั้งสองส่วนนี้ถูกขยับออกไปอีก 6 ปี จึงยังมีเวลา

“ดังนั้น เมื่อดูจากสถานการณ์นี้แล้ว เงินกู้เพิ่มเติมอีก 25,000 ล้านบาทที่บอกตอนแรก คิดว่าไม่ต้องกู้เลย เพราะมีเงินสดเวลานี้ 60,000 ล้าน ตอนนี้คิดว่าเอ๊ะ…จะเอาเงินไปฝากที่ไหนดี…” (หัวเราะชอบใจ)

จากปัญหาที่สั่งสมและหมักหมมมาอย่างยาวนานในการบินไทยต้องยอมรับว่า “การเมือง” และ “นักการเมือง” เข้ามามีส่วนไม่น้อย หากต้องการให้การบินไทยพ้นวิกฤตอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน สิ่งสำคัญที่สุดคือ การเมืองต้องไม่เข้ามาแทรกแซง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดซื้อ-จัดจ้าง, ระบบการขายตั๋ว ฯลฯ

เมื่อถามศิษย์เก่าออกซ์ฟอร์ดว่าจะจัดการปัญหานี้อย่างไร?

ปิยสวัสดิ์กะพริบตาปริบๆ “ไม่พูดเรื่องนี้ เอาเป็นว่าสองปีที่ผ่านมาตั้งแต่แผนฟื้นฟู เห็นชอบด้วยแผน มีผู้บริหารแผนแล้ว การเมืองเข้ามายุ่งไม่ได้ เพราะผู้บริหารแผนมีอำนาจเหนือทั้งผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัท

“แนวทางในการป้องกันเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผู้บริหารการบินไทยต้องคิดอยู่แล้วว่าจะทำยังไง จึงจะไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยเดิม เพราะคนที่จะมาซื้อหุ้นเพิ่มทุนเขาคงถามคำถามนี้เช่นกัน ถ้าเผื่อเหตุการณ์กลับไปเหมือนเดิม เขาคงไม่ซื้อหุ้น ถูกไหม? เรื่องนี้ยังคิดอยู่เป็นอะไรที่ยากมาก ยังคิดไม่จบ ยังมีเวลาอีกปีกว่า ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับบอร์ดซึ่งมีข้อหนึ่งเขียนไว้ในแผนฟื้นฟู คือ ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจก็จะตัดขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลไปได้พอสมควร แต่ถ้ากระทรวงการคลังยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ก็ยังแทรกแซงได้อยู่ดี” ดร.ปิยสวัสดิ์กล่าว

เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อว่า การบินไทยเมื่อออกจากแผนฟื้นฟูฯ จะแข็งแกร่งและอยู่ได้อย่างยั่งยืน เป็นสายการบินที่ทุกคนภูมิใจ หรืออยู่ในสภาพอ่อนแอปวกเปียกแล้วกลับไปขาดทุนเหมือนเดิม