การลงโทษเผด็จการที่ดีที่สุด คือการจดจำ | คำ ผกา

คำ ผกา

จากเหตุการณ์ที่มีคนไทยซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นเชฟของร้านอาหารร้านหนึ่งที่ประเทศไอซ์แลนด์ได้ถ่ายคลิปตนเองขับรถเพื่อเดินทางไปที่ร้านหลังจากทราบว่า “หมอพรทิพย์ โรจนสุนันท์” อยู่ที่ร้านในฐานะลูกค้า

คนไทยผู้นี้กล่าวในคลิปว่า ต้องการไปไล่หมอพรทิพย์ออกจากร้าน ไม่ต้องให้บริการ และในความเกลียดชังนี้ อยากจะขับรถชนเสียด้วยซ้ำ

และเมื่อไปถึงร้านก็พบว่าหมอพรทิพย์อยู่ที่ร้านจริงๆ คนไทยผู้นี้ได้ตะโกนขับไล่

ฉันซึ่งดูคลิปและพยายามจะฟังเหตุผล หรือสาเหตุแห่งความเกลียดชังอันรุนแรงนี้ว่ามาจากไหน คนไทยผู้นั้นก็ไม่ได้บอกหมอพรทิพย์อย่างชัดเจนว่า ทำไมถึงเกลียด เกลียดจากการกระทำอะไร รู้แต่ว่าเธอเป็น ส.ว. (และพูดผิดหลายครั้งว่าเป็น ส.ส.) เธอทำร้ายประเทศไทย ฉันจึงเกลียดเธอ

เมื่อคลิปนี้ถูกเผยแพร่ออกไปก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง บ้างก็บอกว่า สะใจ และดูเหมือนว่าสำหรับคนกลุ่มหนึ่ง คนไทยผู้นี้ได้กลายเป็นฮีโร่ในชั่วข้ามคืน

เรื่องนี้ทำให้ฉันนึกถึงอีกเหตุการณ์หนึ่ง นั่นคือเหตุการณ์ที่ชายคนหนึ่งเดินไปชกที่หน้า ศรีสุวรรณ จรรยา โดยไม่ได้พูดอะไรมาก ชกเสร็จก็รอการถูกดำเนินคดีตามขั้นตอน เหตุผลที่เดินไปชกก็เพราะไม่พอใจที่บทบาท “นักร้อง” ของศรีสุวรรณ ที่ทำตัวเป็นลูกอีช่างร้อง ลูกอีช่างฟ้อง และหลายเรื่องที่ร้องก็เหมือนจะเป็นการกลั่นแกล้งหรือบั่นทอนการทำงานของนักการเมืองและมีส่วนทำให้ประชาธิปไตยในประเทศนี้อ่อนแอ

 

เมื่อเอาสองเหตุการณ์นี้มาเปรียบเทียบกัน ตัวฉันเองไม่เห็นด้วยกับการที่เราจะเดินไปชกใครหรือทำร้ายร่างกายของใครเพียงเพราะเราไม่ชอบ ไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมของเขา

แต่กรณีไปชกคุณศรีสุวรรณ ฉันกลับสามารถเข้าใจความโกรธของคนที่เดินไปชกได้ และไม่ได้รู้สึกว่า คนที่เดินไปชกอยากดัง อยากมีซีน หรืออยากเป็นฮีโร่ แค่โกรธมากๆ และพร้อมยอมรับผลแห่งการกระทำของตนเองที่ตามมา

แต่กรณีของคนไทยที่ไอซ์แลนด์ ฉันกลับไม่เข้าใจว่า จริงๆ แล้วคนไทยผู้นั้นเขาโกรธหมอทิพย์เรื่องอะไรกันแน่ เพราะเขาก็ไม่สามารถอธิบายมันออกมาได้นอกจากคำพูดกว้างๆ ว่า “ทำร้ายประเทศ”

และในขณะที่ไม่สามารถอธิบายเหตุแห่งความเกลียดชังได้ชัด สิ่งที่ชัดคือ “อารมณ์” เล่นใหญ่ ที่แสดงออกมาตามแพตเทิร์นของคนที่เราเรียกพวกเขาว่าพวก woke หรือ “ผู้ตื่นรู้”

ฉันคิดว่า การรับรู้เรื่องการเมืองผ่านชุดคำสำเร็จรูป เช่น “ตระบัดสัตย์” “ชนะการเลือกตั้งแต่ไม่เป็นนายกฯ” “ชนะที่หนึ่งแต่ไม่ได้เป็นนายกฯ” “ทุกคนกลัวก้าวไกลเป็นรัฐบาลเพราะจะโกงกินไม่ได้อีกต่อไป” “นายกฯ พิธา นายกฯ ของประชาชน” ฯลฯ พูดซ้ำๆ แบบไม่สนใจบริบท จนสะสมเป็นความโกรธรวมหมู่จนคล้ายอุปทานหมู่ จากนั้นก็แข่งกันแสดงความโกรธ หรือแข่งกันว่าใครด่าลงติ๊กต็อกได้เจ็บที่สุดคนนั้นเริ่ด คนนั้นเก๋

เหมือนสมัยหนึ่งที่ใครไม่ด่านายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คือไม่เก๋ ใครไม่เป่านกหวีดคือไม่เก๋ ใครไม่ติดริบบิ้นธงชาติ คือไม่เก๋ แล้วก็มาแข่งกันเก๋ลงโซเชียลมีเดีย ตื่นรู้แบบงูๆ ปลาๆ

ฉันอาจจะผิด แต่นี่คือสิ่งที่ฉันรู้สึกหลังจากดูคลิป

และทั้งหมดนี้ ฉันไม่ได้ฟอกขาวให้หมอพรทิพย์

 

ไม่มีใครลืมมหากาพย์เรื่องหมอพรทิพย์กับจีที 200

ไม่มีใครลืมว่า หมอพรทิพย์ถูกกล่าวหาเป็นลูกไล่เผด็จการ

ไม่มีใครลืมว่า หมอพรทิพย์ได้ดิบได้ดี ได้ตำแหน่งเพราะเป็นสลิ่ม

ไม่มีใครลืมว่า หมอพรทิพย์คือกลุ่มคนที่ถูกมองว่าสนับสนุนรัฐประหาร สนับสนุนการปล้นอำนาจประชาชน

และทั้งหมดนี้ชนชั้นกลางทั้งหลายโปรดอย่าลืมว่า ภาวะ “คลั่งไคล้ตัวบุคคล” และไหลตามกันเหมือนอึในฤดูอหิวาห์ตกโรคระบาด

นั่นคือสันดานคนชั้นกลางไทยสมัยนี้ที่เคยแห่กันซื้อหนังสือ “สืบจากศพ”

“สื่อ” นี่แหละ ที่ปั้นคนอย่างหมอพรทิพย์เป็นเซเลบ เป็นอินฟลูฯ ของสังคม เหมือนที่เคยปั้นพระยันตระ เคยปั้นพระ ว.วชิรเมธี ไม่ได้ต่างอะไรจากที่มานั่งปั้น “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ให้คนอึไหลตามกันไปอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้

เห็นแล้วก็สงสาร “สลิ่ม” ชีวิตวนเวียนอยู่กับการใช้ “อารมณ์” คลั่งไคล้คนไปเรื่อยๆ จากชุมนุมพันธมิตร นำไปสู่การเกลียดเสื้อแดง ไปไล่อีปูว์ ไปเป่านกหวีด คลั่งสถาบัน รักประยุทธ์ แล้วก็มาเกลียดประยุทธ์ แล้วก็เทิร์นเป็นสุดขั้วเป็นคนอยากยกเลิก 112 มีพรรคก้าวไกล มีรังสิมันต์ โรม มีวิโรจน์ ลักขณาอดิศร มีพิธาเป็นไอดอล แข่งผลิตคำด่าคำสาปแช่งกันในกลุ่มแล้วก็ฟินกันเอง

จากนั้นก็มองคนที่เห็นต่างจากตัวเองว่าเป็นพวกประชาธิปไตยปลอม พวกสู้ไปกราบไป แล้วก็เฮโลสาระพากันไปเป็นศาลเตี้ย เดี๋ยวแบนธุรกิจ ส.ว. ประเดี๋ยวจะไปไล่ตามตบ ส.ว.

คำถามของฉันคือ การไปไล่ตามตบ หรือไล่ ส.ว.ออกจากร้านอาหาร ช่วยทำให้เรากลายเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นอย่างไร?

 

ข้อเท็จจริงเรียบๆ ง่ายๆ คือ เรามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ดีๆ ก็มีคนกลุ่มหนึ่งออกมาไล่ พอเขายุบสภาให้มีเลือกตั้งใหม่ ก็พากันไปปิดคูหา ไม่ให้เลือกตั้ง กกต.ก็ไม่พยายามที่ทำให้การเลือกตั้งนั้นสำเร็จ และอีกหลายร้อยแท็กติกที่ทำให้เกิดสิ่งที่เป็น “ทางตัน” ทางการเมือง เสนอทางออกนั้นก็ไม่เอา ทางออกนี้ก็ไม่เอา มีสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเทวดาประจำใจ จนในที่สุดเกิดรัฐประหารมี 2557

อำนาจ ส.ว. ที่มีหมอพรทิพย์อยู่ในนั้น อันมีส่วนในการขัดขวางประชาธิปไตย ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่ออายุอำนาจให้ประยุทธ์ ก็ล้วนเป็นผลผลิตของการรัฐประหารปี 2557

ดังนั้น สลิ่มคนไหนที่อยากตบหน้าหมอพรทิพย์ ก็ช่วย “ตบหน้า” ตัวเองแรงๆ หรือด่าตัวเองแรงๆ ก่อนออกมาตบ ส.ว. เพราะ ส.ว.ชุดนี้คือ “เทวดา” ที่สลิ่มอย่างพวกคุณสร้างขึ้นมากับมือ ก่อนจะมาชี้นิ้วด่าคนอื่นตระบัดสัตย์ เป็นประชาธิปไตยปลอม

ลองสำรวจอดีตตัวเองดีว่าก่อนมีพิธาเป็นแก้วตาดวงใจนั้น แก้วตาดวงใจดวงเดิมชื่อ สุเทพ เทือกสุบรรณ กับพุทธะอิสระ หรือเปล่า?

 

ส่วนนักวิชาการที่พยายามอธิบายเรื่อง “จุดอ้างอิงเชิงอำนาจ” ว่า สิ่งนี้ยอมรับได้ เพราะผู้กระทำเป็นเพียงประชาชนที่ไร้อำนาจ ในขณะที่หมอพรทิพย์เป็น ส.ว. มีอำนาจเหนือกว่าทุกทาง และยังเป็น ส.ว.ที่อิงแอบอยู่กับเผด็จการ นี่คือราคาที่คนอย่างหมอพรทิพย์ต้องจ่าย

สำหรับฉัน จุดอ้างอิงทางอำนาจที่ว่านั้นค่อนข้างคลุมเครือในกรณีของหมอพรทิพย์

ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าหลังการรัฐประหารปี 2557 มีใครสักคนเดินดุ่ยๆ เข้าไปประชิดตัวประยุทธ์แล้วชกที่หน้า การชกของบุคคลผู้นั้นถือว่าเล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับการรัฐประหารที่ประยุทธ์ทำ การชกหน้าเป็นอาชญากรรมที่เทียบไม่ได้กับการรัฐประหาร ที่สำคัญ ประยุทธ์ยังมีอำนาจเต็ม มีกฎหมาย มีอำนาจรัฐ การไปชกหน้าประยุทธ์จึงเป็นการ “ท้าทายอำนาจที่ไม่ชอบธรรม” บนความเสี่ยงของปัจเจกบุคคลหนึ่งที่เปราะบาง ไร้อำนาจ (powerlessness)

และหากวันนี้เรายังไม่มีการเลือกตั้ง ยังเป็นรัฐบาลจากการรัฐประหาร เราไม่มีเสรีภาพที่จะด่ารัฐบาลเลยโดยสิ้นเชิง และ ส.ว.อย่างหมอพรทิพย์ก็ทำการต่ออายุให้กับอำนาจรัฐประหาร เถลิงอำนาจกันอย่างบ้าคลั่งภายใต้มาตรา 44

สมมุติว่า วันนี้สถานการณ์ประเทศไทยเป็นเช่นนี้ แล้วเราเจอหมอพรทิพย์เดินเข้ามาในร้านของเราแล้วอยากไล่ตะเพิดไปให้พ้นๆ จากร้าน สิ่งนี้ก็ถือได้ว่าชอบธรรม

แต่สถานการณ์ไม่ได้เป็นเช่นนั้น

 

เรามีการเลือกตั้ง สิ่งเดียวที่ไม่เป็นไปตามที่เราอยากจะเห็นคือพรรคอันดับหนึ่งที่ได้ 151 เสียง ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ เพราะ ส.ว.ไม่โหวตให้ ทำให้พรรคอันดับสอง จัดตั้งรัฐบาลแทน และตั้งรัฐบาลสำเร็จ

หากจะเถียงว่า เป็นเพราะ ส.ว. ทำให้พรรค 151 เสียงตั้งรัฐบาลไม่ได้ แต่ก็อย่าลืมว่า ต่อให้ไม่มี ส.ว. 151 เสียง ก็ไม่อาจรับประกันว่าจะตั้งรัฐบาลสำเร็จ และถ้าไม่มี ส.ว. พรรคเพื่อไทยจะไม่ไปทำ MOU กับพรรคก้าวไกลตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ

สุดท้ายการเลือกตั้งปี 2566 มันคือการรวมกันของพรรคการเมือง 11 พรรค ตั้งรัฐบาลและล็อบบี้ให้ ส.ว.ที่เป็นผลผลิตของรัฐบาลประยุทธ์ยกมือให้แคนดิเดตของพรรคอันดับสองได้เป็นนายกฯ

จะชอบมันหรือไม่ชอบมัน ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐบาลนี้ไม่ได้ใช้กลไกนอกรัฐสภาในการขึ้นสู่อำนาจ พรรคที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลเป็นพรรคที่มีเสียงอันดับสอง ไม่ใช่อันดับห้าหรือหก แหวกม่านประเพณีขึ้นมาครองอำนาจรัฐ

จะข้ามขั้วอย่างไรก็ไม่ออกนอกกติกาของประชาธิปไตยรัฐสภาสากลโลก

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ รัฐบาลพลเรือน และการสิ้นสุดลงของอำนาจประยุทธ์ ประวิตร วงษ์สุวรรณ อนุพงษ์ เผ่าจินดา โดยสิ้นเชิง และ ส.ว.ที่เป็น “ลูก” ของการรัฐประหารก็จะหมดวาระไปในเร็วๆ นี้

ในสถานการณ์ที่ประชาธิปไตยกำลังจะเข้ารูปเข้ารอย อยู่ใน track ที่เราพึงมองว่า ประชาธิปไตยคือ endless process คือการเรียนรู้ คือพลวัต และไม่มีสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

สิ่งที่สังคมต้องเร่งปฏิสังขรณ์ขึ้นมาคือ “ภราดรภาพ” ระหว่างประชาชนด้วยกัน

และหากวันนี้เรามองว่า ประชาชนได้มีชัยชนะเหนือประยุทธ์ ประวิตรไปแล้ว ผู้ชนะอย่างเราพึงมีขันติธรรม ไม่สถาปนาตัวเองเป็นศาลเตี้ยต่อผู้ที่เคยเป็นศัตรูกับเรา

และสิ่งใดที่ใครก็ตามเคยลงมือทำอันนับเป็น “อาชญากรรม” สิ่งนั้นควรเป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมที่จะเอาคนผิดมาลงโทษตามกระบวนการ มากกว่าจะสถาปนาตัวเองเป็นศาลเตี้ยเที่ยวล่าแม่มด ลุแก่อำนาจใส่คนที่ไม่ได้มีอำนาจอะไรอยู่ในมือแบบหมอพรทิพย์

หรือจริงๆ แล้วที่กล้าทำกับหมอพรทิพย์ ก็เพียงเพราะว่า หมอพรทิพย์คือตัวไร้พิษสงที่สุดของห่วงโซ่เผด็จการ ไม่ต่างอะไรจากการไปดักตีลูกน้องตัวหางแถว เพราะไม่กล้าหือกับ “หัวหน้า” ตัวจริง

 

เรามีสิทธิที่จะไม่ต้อนรับคนที่เราไม่ชอบได้หรือไม่?

คำตอบคือได้ แต่การไม่ต้อนรับ กับการขับไล่ไสส่ง ด่าทอ พร้อมถ่ายคลิปประจาน ทำได้หรือไม่ ควรทำหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ฉันคิดว่า เราสามารถประกาศจุดยืนที่จะไม่ขายสินค้า ไม่ต้อนรับ ไม่ให้บริการแก่ทรราช แก่คนที่ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ โดยประกาศเป็นนโยบายของร้านอย่างเปิดเผย และสามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องสร้าง “ซีน” ให้โฉ่งฉ่าง

ฉันจินตนาการว่า ถ้าฉันเปิดร้านอาหารแล้วสุเทพ หรืออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้ามาที่ร้านฉันจะทำอย่างไร?

คิดว่าคงไม่ปรากฏตัวแล้วให้เขาใช้บริการเหมือนลูกค้าคนอื่นๆ แต่จะไม่เข้าไปทักทาย ถ่ายรูป ไม่ทำให้เขาคิดว่าเขาเป็นคนสำคัญ ปฏิบัติต่อเขาเหมือน “ลูกค้าคนหนึ่ง”

น่าจะแค่นั้น

และถึงที่สุดการลงโทษลิ่วล้อเผด็จการที่ดีที่สุดคือการ “จดจำ” ไม่ร่วมสังฆกรรมการบิดเบือนประวัติศาสตร์ และไม่หวนไป “อวยยศ” คนเหล่านั้นในภายหลังราวกับคนความจำสั้นอย่างที่สังคมไทยชอบทำ

ซึ่งฉันก็หัวเราะหึ หึ เสมอ เวลาเห็น “คนหัวก้าวหน้า” ไปอวยคนแบบอานันท์

หึ หึ