อย่าอวดสูงกว่าพ่อแม่ อย่าอวดแก่กว่าอาจารย์

อยฯ่าอวฯดสูงกวฯ่าพํ่อฯแม่ อยฯ่าอวฯดแก่กวฯ่าอาจาร์ยฯ

 อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “อย่าอวดสูงกว่าป้อแม่ อย่าอวดแก่กว่าอาจ๋าน”

คำว่า “สูง”ในที่นี้แปลว่า ทำตัวสูงส่ง หรือเหยียบย่ำ

คำว่า “แก่” มิได้หมายถึงอายุมาก แต่แปลว่า แก่กล้า อวดเก่ง อวดดี อะไรทำนองนั้น

โดยรวมสำนวนนี้สอนว่า ให้รู้จักเคารพพ่อแม่และครูบาอาจารย์ ให้นอบน้อมต่อความมีอาวุโส ตลอดจนรวมความไปถึงต้องมีความกตัญญูรู้คุณที่พ่อแม่ได้เลี้ยงดูและครูบาอาจารย์ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้

สังคมไทยเป็นสังคมตะวันออก ได้รับอิทธิพลมาจากทั้งชมพูทวีป จีน และขอม นอกจากจะรับวัฒนธรรมมาจากอินเดียแล้ว ยังมีอิทธิพลของทั้งศาสนาพุทธ ฮินดู และลัทธิขงจื๊อด้วย ทำให้คนไทยมีกฎเกณฑ์ทางมารยาทแบบประนีประนอม ผู้น้อยเคารพผู้ใหญ่ตามประเพณี มีลำดับอาวุโส บิดามารดาอยู่ในสถานะสูงกว่าบุตร ครูบาอาจารย์อยู่สูงกว่าศิษย์

สังคมไทยสอนกันแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร ในสังคมล้านนาก็ไม่เว้น ดังคำสอนล้านนาข้างต้นเป็นตัวอย่างอันหนึ่ง

สิงฯโตเถั้าหัลฯวฯกเนิ่อฯ
สิงโตเถ้าหลวักเน่อ
แปลว่า สิงโตแก่ฉลาดนะ

เรามีนิทาน หรือชาดกที่สอนคนรุ่นก่อนหน้าหลายเรื่องเกี่ยวกับความกตัญญู ซึ่งจะให้ผลดีและเป็นเกราะป้องกันภัยให้ตัวลูกหลานเป็นอย่างดี และถูกเล่าสอนสืบๆ ต่อกันมา เช่น เรื่องปลาบู่ทอง เรื่องสิงโตเฒ่าเจ้าปัญญา เรื่องของนก ไก่ หงส์ ยอดกตัญญู ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ ชาดกเรื่องสุวรรณสาม ท้าวรถเสนกับนางสิบสอง รวมทั้งทรพีทรพา เป็นต้น

จะลองฟื้นความทรงจำสักเรื่อง สิงโตเฒ่าเจ้าปัญญา

สิงโตฝูงหนึ่งอยู่ในทุ่งกว้าง สิงโตเฒ่าทำหน้าที่สอนสิงโตรุ่นหลังรู้จักหาอาหาร ต่อสู้ปกป้องฝูง รวมทั้งรู้จักกตัญญู ต่อมาเมื่อสิงโตเฒ่าชราลง สิงโตหนุ่มขึ้นมารับตำแหน่งหัวหน้าฝูงแทน มันจึงขับสิงโตเฒ่าให้ออกจากฝูงไปอยู่ตามลำพัง

วันหนึ่งสุนัขจิ้งจอกจำนวนมากที่ร้ายกาจพาพวกมาล้อมฝูงสิงโตแล้วจะขับออกจากทุ่งหญ้านิวาสสถานเดิม ยกเว้นว่าฝูงสิงโตจะฟั่นเชือกจากขี้เถ้าได้ บรรดาสิงโตนึกไม่ออกว่าจะทำอย่างไร จึงไปหาสิงโตเฒ่า

สิงโตเฒ่าแนะนำว่า ให้เอาหญ้าแห้งมาฟั่นเป็นเชือก เสร็จแล้วจึงจุดไฟเผา ก็จะได้ขี้เถ้าเป็นรูปเชือกไปให้ฝูงสุนัขจิ้งจอก

เมื่อแก้ปัญหาได้ สิงโตหนุ่มสำนึกในพระคุณคำสอนของสิงโตเฒ่าจึงแสดงความกตัญญูโดยเชิญกลับเข้ามาอยู่ในฝูงตามเดิม

ที่จริงลูกหลานไทยถูกสอนให้เคารพบิดามารดา เคารพครูอาจารย์ตลอดมาเป็นพันปี แต่อยู่มาวันหนึ่งมีใครไม่รู้มากรอกหูซ้ำๆ ว่า พ่อแม่ทำให้ลูกเกิดมาเอง ลูกไม่ได้อยากมาเกิดสักหน่อย ไม่ต้องทดแทนพระคุณก็ได้ ส่วนครูก็ได้เงินเดือน ไม่ต้องเห็นแก่พระคุณครู ในที่สุดความคิดก็ก้าวร้าวเบี่ยงเบนไป กลายเป็นสังคมวุ่นวายแบบในปัจจุบันนี้

จึงต้องยกคำพูดของวอร์เรน บัฟเฟตต์ มาเป็นอุทาหรณ์ว่า

“ผมรู้สึกว่า พฤติกรรมของคนยุคนี้เหมือน tribal คือมักทำหรือคิดอะไรคล้อยตามคนอื่น เช่น เมื่อคุณรู้อยู่แล้วว่า 2+2 เป็นเท่าไร แต่เมื่อหลายๆ คนบอกว่า 2+2 เป็น 5 คุณก็เริ่มเชื่อ”

วอร์เรน บัฟเฟตต์ พูดถูก เรื่องความกตัญญูในสังคมไทยที่สั่งสมสั่งสอนกันมานาน แต่พอมีหลายๆ คนออกมาค้าน คนรุ่นใหม่ก็เริ่มมีความเชื่อที่ผิดเพี้ยนไป •

 

ล้านนาคำเมือง | ชมรมฮักตั๋วเมือง