ไฉนคำว่า ‘ปฏิรูป’ จึงกลายเป็น ‘ของแสลง’ ของรัฐบาลนี้? | สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

ถ้าฟังคำแถลงของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ในหลายๆ โอกาส, อาจจะต้องสรุปว่า ต่อแต่นี้ไปรัฐบาลชุดนี้จะไม่ใช้คำว่า “ปฏิรูป”

แต่จะใช้คำว่า “พัฒนา” หรือ “ร่วมพัฒนา” แทน

นี่เป็นหนึ่งในหลายเรื่องที่สร้างความสับสนในการสื่อสารภาษาการเมืองหลังเลือกตั้ง

ตั้งแต่ “ผนังทองแดง, กำแพงเหล็ก”

ที่ละลายกลายเป็น “การเมืองสลายความขัดแย้ง”

ตามมาด้วย “การเมืองกลืนเลือด”

ที่มาพร้อมกับ “การเมืองตระบัดสัตย์”

คั่นด้วย “เทหมดหน้าตัก”

อยู่ดีๆ คำว่า “ปฏิรูป” ก็กลายเป็น “ของแสลง” สำหรับรัฐบาลใหม่โดยเฉพาะตั้งแต่นายกฯ และรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ คุณสุทิน คลังแสง นัดกินข้าวกับผู้นำเหล่าทัพ

จากวันนั้นเป็นต้นมาเราก็ได้รับทราบว่าจะไม่ใช้คำว่า “ปฏิรูป” กับกองทัพอีกต่อไป

เหตุผลหนึ่งที่คุณสุทินใช้อธิบายกับสภาในวันแถลงนโยบายก็คือรัฐบาลนี้ยังมีเป้าหมายเกี่ยวกับกระทรวงกลาโหมอย่างมุ่งมั่น

แต่จะใช้วิธีการแบบ “ประนีประนอม”

ไม่เหมือนพรรคก้าวไกลที่แม้จะมีเป้าหมายมุ่งมั่นเหมือนกัน แต่ใช้วิธี “ชูธงบดขยี้”

ซึ่งคุณสุทินบอกว่าวิธีหลังนี้ล้มเหลวมาแล้ว

นายกฯ เศรษฐาอธิบายในเวลาต่อมาในการให้สัมภาษณ์ The Standard ว่า

“ผมไม่เคยชอบคำว่าปฏิรูป ผมใช้คำว่าพัฒนา”

และอธิบายว่าเรื่องสำคัญคือการบรรลุเป้าหมาย และท่านเชื่อว่าการร่วมพัฒนาจะให้ถึงเป้ามากกว่าปฏิรูป

ที่ผมบอกว่ารัฐบาลชุดนี้ทำให้คำว่า “ปฏิรูป” เป็น “ของแสลง” เพราะคล้ายกับว่าคำนี้จะทำให้เกิดปัญหาของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ

พจนานุกรมบอกว่า “แสลง” หมายถึงของที่กินแล้วทำให้โรคกำเริบหรือสิ่งที่ไม่ถูกกับโรค

ซึ่งดูเหมือนจะเป็นอาการที่รัฐบาลเศรษฐาสำแดงออกมาในช่วงนี้

ซึ่งสร้างความแปลกใจให้กับผู้พบเห็นยิ่งนัก

สิ่งแรกที่ผมทำคือไปย้อนดูแผนงานของกระทรวงกลาโหมในเรื่องนี้

เอกสารทางการทั้งหมดของกระทรวงก็ใช้คำว่า “ปฏิรูป” อย่างเต็มรูปแบบและภาคภูมิใจ

ไม่ได้มีนัยอะไรที่จะส่อไปในทางที่จะบอกว่าคนในกองทัพมีปัญหากับคำว่า “ปฏิรูป” แต่อย่างไรเลย

ตรงกันข้าม ดูเหมือนกระทรวงกลาโหมก็ต้องการให้ประชาชนคนไทยได้รับรู้ว่ากองทัพก็ไม่ได้อยู่กับที่ พยายามจะมีแผนการ “ปฏิรูป” กองทัพตลอดเวลาเช่นกัน

ส่วนจะปฏิรูปถึงระดับที่น่าพอใจสำหรับสังคมทุกภาคส่วนหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ขณะเดียวกัน ทุกพรรคการเมือง (รวมถึงพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำรัฐบาลขณะนี้) ก็ใช้คำว่า “ปฏิรูปกองทัพ” ในการหาเสียงอย่างเข้มข้นมาตลอดเช่นกัน

ไม่มีพรรคการเมืองไหนนำเสนอต่อประชาชนว่าจะ “ร่วมพัฒนา” กับกองทัพในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ประเทศชาติคาดหวัง

เพราะคำว่า “ปฏิรูป” มีความหมายเห็นภาพชัดเจนถึงความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นกว่าเดิมมากกว่า “ร่วมพัฒนา”

“พัฒนา” หมายถึงการทำให้ดีขึ้นตามลำดับ

“ปฏิรูป” สื่อความหมายไปในทางการวางเป้าหมายที่จะแก้ไขในสิ่งที่เป็นปัญหาหรือเป็นอุปสรรคขัดขวางความก้าวหน้าขององค์กรนั้นๆ

“ปฏิรูป” จึงสะท้อนความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะ “แก้ไขในสิ่งผิด” ขณะที่ “พัฒนา” สื่อว่าจะทำให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องมีการพุ่งเป้าไปในจุดที่เป็นเครื่องกีดขวางการรื้อโครงสร้างเดิมที่สกัดกั้นความก้าวหน้าขององค์กรนั้นๆ

 

“ปฏิรูป” เบากว่า “ปฏิวัติ” แต่ชัดเจนกว่า “พัฒนา” ในเป้าหมายและวิธีการ

แต่ที่ผ่านมารัฐบาลใช้คำ “ปฏิรูป” ฟุ่มเฟือยจนทำให้น้ำหนักและความเข้มข้นเจือจางลงไปมาก

และถูกใช้ในเกือบจะทุกกิจกรรมที่ต้องการจะสื่อให้ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลกำลังจะทำอะไรให้ดีขึ้นกว่าเดิม

“พัฒนา” ไม่พอ ต้อง “ปฏิรูป” จึงจะทำให้เกิดความ “ขลัง”

แต่ก็เป็นเพียงความ “ขลัง” บนกระดาษเท่านั้น

ไม่ได้ทำให้ความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะรื้อของเก่าที่เน่าเฟะให้หมดไปและสร้างสิ่งใหม่ๆ มาทดแทน

ไม่ว่าจะทดแทนแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือยกเอาของเก่าออกไปเลย

ในกรณีข้อเสนอของพรรคการเมืองในช่วงหาเสียงนั้น ส่วนใหญ่คำว่า “ปฏิรูป” คือการปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้น สอดคล้องกับการเป็น “กองทัพอาชีพ” ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ไม่ใช่ข้อเสนอยกเครื่องครั้งใหญ่ในลักษณ์ “รื้อทิ้งของเก่าเพื่อเอาของใหม่มาทดแทน”

ทั้งๆ ที่หลายๆ กรณีของระบบราชการ (ไม่เฉพาะกองทัพเท่านั้น) การ “ค่อยทำค่อยไป” หรือ “ร่วมพัฒนา” หรือ “ขอความร่วมมือ” นั้นจะไม่มีวันแก้ปัญหาที่ฝังรากลึกมายาวนานได้เลย

 

ลําดับความเข้มข้นของการสร้างความเปลี่ยนแปลงนั้นมีตั้งแต่

พัฒนา development

ปฏิรูป reform

และรื้อสร้างใหม่ reinvent

(แต่การเปลี่ยนแปลงแบบร้อนแรงฉับพลันแบบ coup หรือ “รัฐประหาร” เป็นเรื่องที่น่ารังเกียจและก่อความเสียหายต่อชาติบ้านเมืองอย่างยิ่ง)

ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีกำลังสร้าง “ความป่วน” ให้กับทุกวงการนั้น กองทัพก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น

ดังนั้น กองทัพต้องใช้ทุกวิถีทางที่จะแก้ไขปรับปรุงและยกเครื่องตัวเองเพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงและสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความท้าทายอย่างมากในทุกๆ มิติ

การ “พัฒนากองทัพ” เป็นกระบวนการปกติที่ต้องทำอยู่แล้ว แต่ไม่เพียงพอ

จึงต้อง “ปฏิรูป” ซึ่งเท่ากับเป็นการยกระดับของการสร้างความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างและกรอบวิธีคิดหรือ mindset ซึ่งมีความสำคัญอันดับต้นๆ

เพราะถ้าหากไม่ปรับวิธีคิดแล้ว การ “พัฒนา” ก็จะไม่เกิด

การจะปรับเปลี่ยน mindset ต้องมีการ “ปฏิรูป” ด้านยุทธศาสตร์และยุทธวิธี

ในหลายกรณี “ปฏิรูป” ก็ไม่พอสำหรับการเขย่าให้เกิดความตื่นตัวในกองทัพที่ต้องทำงานประสานกับหน่วยงานอื่นๆ ในรัฐบาลและเอกชน

หลายมิติของความเปลี่ยนแปลงต้องรื้อโครงสร้างและแผนงานรวมถึงการฝึกทักษะสำหรับบุคลากรในกองทัพ

นั่นคือความจำเป็นที่ต้อง reinvent อันหมายถึงสร้างสิ่งใหม่มาทดแทนสิ่งเก่า

บางอย่างต้องรื้อทิ้ง บางอย่างต้องสร้างใหม่ และอีกบางอย่างก็ต้องผสมผสานของเก่ากับของใหม่

อย่างกรณีที่ต้องใช้เทคโนโลยี AI หรือ “ปัญญาประดิษฐ์” ในการเสริมความแข็งแกร่งของกองทัพ

เพียงแค่ “พัฒนาร่วม” กับเอกชนและผู้เชี่ยวชายด้านเทคโนโลยีจะไม่มีทางบรรลุเป้าหมายร่วมกันได้เลย

เพราะหากไม่มีการจัดโครงสร้างภายในกองทัพใหม่ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในระบบสากล, การ “พัฒนา” หรือแม้ “ปฏิรูป” ภายในก็ไม่อาจจะตอบโจทย์ของยุคสมัยได้

จึงจำเป็นต้องเข้าสู่โหมดของการคิดใหม่ทำใหม่ในสิ่งที่ไม่เคยต้องคิดไม่เคยต้องทำ

นั่นคือการ reinvent ทั้งคนทั้งระบบทั้งกรอบวิธีคิดของคนทั้งองค์กร

และหมายถึงต้องทำกันทั้งประเทศ

 

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจเหลือหลายที่นายกฯ เศรษฐาบอกว่าจะไม่ใช้คำว่า “ปฏิรูป” กับการพัฒนากองทัพให้ทันสมัยและให้เปิดเผยโปร่งใสให้เข้ากับกระบวนการประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมที่แท้จริง

เพราะส่วนของกองทัพที่คิดถึง “กองทัพในยุคดิจิตัล” นั้นได้คิดไกลไปเกิน “ปฏิรูป” ด้วยซ้ำ

รัฐบาลพลเรือนที่ต้องการจะทำงานร่วมกับกองทัพที่ต้องการเป็นที่ยอมรับของประชาชนต้องสร้างความมั่นใจให้กับคนในกองทัพที่ต้องการเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์และเป็นรูปธรรม

รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยต้องมุ่งมั่นในการยกระดับมาตรฐานของกองทัพ

มิใช่เกรงใจบางส่วนของกองทัพที่ยังต้องการรักษา “สถานภาพเดิม” เพื่อปกปักรักษาผลประโยชน์หรือ “ความคุ้นเคย” ของตน

เพราะคนรุ่นนี้ย่อมตระหนักว่าหากเราเน้นแค่ “พัฒนาร่วม” แต่ไม่ “ปฏิรูป” อย่างจริงจัง ความก้าวหน้าก็ไม่เกิด องค์กรก็จะตกอยู่ในภาวะล้าหลัง

และหากอยู่ในสภาพ “นิ่งเฉย” ถูกประเทศอื่นทิ้งห่างและประชาชนสิ้นหวัง ประเทศใดที่ไม่ “ปฏิรูป” ก็อาจจะถูก “ปฏิวัติ” (revolt ไม่ใช่ coup) โดยพลังอื่นๆ ในสังคมที่หนักหน่วงและรุนแรงเกินกว่าที่จะต้านได้

นั่นคืออันตรายของการเห็น “ปฏิรูป” เป็น “ของแสลง” อย่างที่เห็นอยู่วันนี้