เทศมองไทย : สารพัด “น้ำ” กับ ความอ้วนของคนไทย

ผ่านตาเรื่อง “สงครามน้ำตาล” ของไทย ใน นิกเกอิ เอเชียน รีวิว โดย มาริมิ คิชิโมโตะ ในตอนแรกเข้าใจเอาว่าเป็นรายงานความเคลื่อนไหวในเชิงเศรษฐกิจทั่วไป

เอาเข้าจริงข้อเขียนเรื่องนี้กลับทำให้ได้ตระหนักเป็นครั้งแรกว่า “น้ำตาล” เกี่ยวพันกับสารพัดเรื่องกว้างขวางมากขนาดนี้

ต้นเรื่องก็คือเรื่องภาษี ที่คิชิโมโตะหยิบเอามาเป็นต้นเรื่อง

สืบเนื่องมาจากการตัดสินใจของรัฐบาลไทยที่จะนำภาษีสรรพสามิตมาใช้เป็นเครื่องมือในการโน้มน้าวให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มหลากชนิดหลายรูปแบบ ลดการใช้น้ำตาลในการผลิตลง ที่ส่งผลกระทบไกลไปถึงสหรัฐอเมริกา

ถึงกับกระทรวงเกษตรของสหรัฐต้องจัดทำรายงานประเมินผลกระทบในทางลบของกรณีนี้ออกมา

ด้วยเหตุที่ว่าแนวโน้มดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นกับไทยเพียงประเทศเดียว หากแต่เป็นแนวโน้มของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งภูมิภาค

เหตุผลก็เพราะยิ่งนับวันคนในภูมิภาคนี้กลายเป็น “โรคอ้วน” มากขึ้นทุกที

การปรับขึ้นภาษีของทางการไทยเมื่อ 16 กันยายนที่ผ่านมา ถือเป็นการขึ้นภาษีที่มีแนวคิดน่าสนใจมากเรื่องหนึ่งทีเดียวครับ

 

เดิมที เครื่องดื่มจำพวก “ซอฟต์ดริ๊งก์” เจือความหวานทั้งหลายเขาคิดภาษีสรรพสามิตกันครั้งเดียวครับ คือคิด 20 เปอร์เซ็นต์จาก “ราคาขายส่ง”

แต่นับตั้งแต่มีประกาศใหม่ออกมา จะคิดเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นภาษีสรรพสามิต คิด 14 เปอร์เซ็นต์จากราคา “ขายปลีก” หลังจากนั้นแล้วก็คิดเพิ่มอีกส่วนหนึ่ง เรียกว่า “ภาษีน้ำตาล” ที่คิดตามอัตราส่วนของความหวานของเครื่องดื่ม

ตามการเปลี่ยนแปลงใหม่นี้ คิชิโมโตะบอกว่า ทำให้น้ำดื่มรสผลไม้, ผักต่างๆ ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นตั้งแต่ขวดละ 0.06 บาทไปจนถึง 0.54 บาท

ส่วนเครื่องดื่มประเภท “ชูกำลัง” ทั้งหลาย ซึ่งมีปริมาณน้ำตาลเจือปนอยู่สูง ต้องจ่ายภาษีเพิ่มตั้งแต่ 0.32 บาทไปจนถึง 0.9 บาท

ส่วนเครื่องดื่มประเภท “ชา” และ “กาแฟ” ทั้งหลายได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะแต่เดิมไม่ต้องเสียภาษี แต่ตอนนี้ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นราว 1-2 บาทต่อขวด

โดยต้องการกระตุ้นให้ผู้ผลิตลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มของตนลง ด้วยการจัดเก็บภาษีระดับต่ำเป็นเวลา 2 ปี

 

แน่นอน เสียงบ่นเกิดขึ้นตามมา ไม่เฉพาะแต่ผู้บริโภค แต่ยังลามไปถึงผู้ผลิต คิชิโมโตะบอกว่า กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา จัดทำรายงานที่ใช้ตัวเลขอ้างอิงจากการคาดการณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มระดับโลกของสหรัฐอเมริกา อย่าง โคคา-โคล่า และ เป๊ปซี่โค ระบุว่า การขึ้นภาษีของทางการไทยครั้งนี้ ส่งผลกระทบทำให้บริษัทอเมริกันต้องแบกรับภาระภาษีเพิ่มขึ้นจากเดิมตั้งแต่ 20 เปอร์เซ็นต์ถึง 30 เปอร์เซ็นต์

คิดเป็นมูลค่าสินค้าออกของสหรัฐอเมริการาว 9 ล้านดอลลาร์ หรือราว 293 ล้านบาทเลยทีเดียว

 

แต่มันคงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่นั้น เพราะว่าแนวโน้มเรื่องนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ไทยเพียงประเทศเดียว หลายประเทศเริ่มหันมาให้ความสำคัญเรื่องนี้กันเป็นทิวแถว

สิงคโปร์กำหนดออกมาแล้วว่า บรรดาผู้ผลิตเครื่องดื่มทุกประเภท รวมทั้งโคคา-โคลา ต้องจำกัดปริมาณน้ำตาลลงให้เหลือเพียงไม่เกิน 12 เปอร์เซ็นต์ให้ได้ภายในปี 2020 ถ้าหากต้องการขายในสิงคโปร์ต่อไป อินโดนีเซีย ตลาดใหญ่อีกตลาด ก็มีแผนจะบัญญัติกฎหมายใหม่ในปีหน้า โดยมีเป้าหมายหลักคือการลดปริมาณน้ำตาล, เกลือและไขมันในเครื่องดื่มและสินค้าบริโภคจำพวกของกินเล่นต่างๆ ลง ส่วนในมาเลเซีย ซึ่งเดิมเคยส่งเสริมน้ำตาล ด้วยการให้การอุดหนุนทางการเงิน ก็เตรียมยกเลิกการอุดหนุนจากภาครัฐดังกล่าวในปี 2013 ที่จะถึงนี้

ประเทศเพื่อนบ้านไทยอื่นๆ ที่เหลือก็เล็งๆ จะออกกฎหมายในทำนองเดียวกับไทยเหมือนกัน คิชิโมโตะบอก

 

ทั้งหมดมีเหตุผลอย่างเดียวกันก็คือ “โรคอ้วน” ที่กำลังระบาดอยู่ในภูมิภาคนี้ ยิ่งเลิกทำงานใช้แรง หันมาทำงานนั่งโต๊ะกันมากขึ้น ออกกำลังน้อยลง ก็ยิ่งอ้วนขึ้น

สำหรับในประเทศไทย ตัวเลขขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) บอกว่า ผู้ชาย 26 เปอร์เซ็นต์ กับผู้หญิงอีก 33 เปอร์เซ็นต์ เป็นโรคอ้วนในปี 2014 เพิ่มขึ้นจากเมื่อ 10 ปีก่อนหน้านี้ ราว 7-8 เปอร์เซ็นต์

ในเดือนมีนาคม ธนาคารเพื่อการพัฒาเอเชีย (เอดีบี) ประเมินว่า โรคอ้วนส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยในทุกๆ ด้าน รวมแล้วคิดเป็นมูลค่าสูง 404 ล้านดอลลาร์ หรือราว 12,000 ล้านบาทต่อปี จำแนกต่อไว้ด้วยว่า ในจำนวนนี้ 46 เปอร์เซ็นต์เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาพยาบาลของทั้งผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยในรวมกัน ส่วนที่เหลืออีก 54 เปอร์เซ็นต์ เป็นความสูญเสียทางอ้อม ตั้งแต่การลางาน เรื่อยไปจนถึงการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรนั่นเอง

ดูๆ แล้ว การขึ้นภาษีครั้งนี้ที่ต้องปรับตัวก็มีแต่ผู้ผลิตกับผู้บริโภค แต่ก็มีข้อดีอยู่ในตัว ในแง่ของผู้ผลิตเองก็น่าจะมีข้อดีตรงที่ต้นทุนลดลง ส่วนผู้บริโภคก็จะสุขภาพดีขึ้น เว้นแต่คนที่ “ติดหวาน” ก็คงต้องจ่ายแพงขึ้นเพราะผู้ผลิตไม่มีวันแบกรับภาระภาษีไว้เองแน่นอน

ส่วนรัฐบาลนั้นไม่ต้องพูดถึงครับ ว่ากันว่า ตามมาตรการภาษีใหม่นี้ แต่ละปีรัฐบาลน่าจะได้ภาษีจาก “ความหวาน” เพิ่มขึ้นถึง 2,500 ล้านบาทเลยทีเดียว