โบราณวัตถุศักดิ์สิทธิ์ในพิพิธภัณฑ์สาธารณ์ : ข้อสังเกตว่าด้วยการสร้างสมดุลทางความหมาย (1)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

โบราณวัตถุศักดิ์สิทธิ์ในพิพิธภัณฑ์สาธารณ์

: ข้อสังเกตว่าด้วยการสร้างสมดุลทางความหมาย (1)

 

กิจกรรม “มหาคณปติบูชา” เนื่องในเทศกาลคเณศจตุรถีและวันพิพิธภัณฑ์ไทย ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ 16-19 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา มีความน่าสนใจมากในทัศนะผม และชวนให้คิดถึงปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่เริ่มปรากฎให้เห็นมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

นั่นก็คือ โบราณวัตถุบางชิ้นเริ่มเปลี่ยนความหมายจากศิลปวัตถุในพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณ์ (profane space) มาสู่การเป็นวัตถุหรือรูปเคารพทางศาสนาในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แทน (sacred space)

ไฮไลต์หนึ่งของงาน “มหาคณปติบูชา” คือ การเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะขอพรประติมากรรมหินรูปองค์พระคเณศ 4 กร ศิลปะชวาตะวันออก อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 15-16 ที่ตั้งแสดงอยู่ในห้องศรีวิชัย อาคารมหาสุรสิงหนารถ

ในโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์งาน เขียนเชิญชวนไว้น่าสนใจว่า “เปิดเทวาลัยชั่วคราว ณ ห้องศรีวิชัย…” โดยผู้มาสักการะต้องแต่งกายสุภาพ

ซึ่งในการสักการะสามารถนำดอกไม้และขนมแห้งที่เก็บอยู่ในภาชนะปิดมิดชิดมาถวายได้

การจัดวางเครื่องสักการบูชาประติมากรรมหินรูปองค์พระคเณศ 4 กร ศิลปะชวาตะวันออก ในกิจกรรม “มหาคณปติบูชา” ภายในห้องศรีวิชัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ที่มา : เพจ Education.National Museum Bangkok เที่ยวพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

การเลือกใช้คำว่า “เปิดเทวาลัยชั่วคราว” สื่อความตรงตัวว่า ณ ช่วงเวลาการจัดงาน พื้นที่ในห้องศรีวิชัยได้เปลี่ยนสถานะจากพื้นที่จัดแสดงโบราณวัตถุมาสู่เทวสถานอันศักดิ์สิทธิ์

แม้อาจดูไม่ใช่เรื่องแปลก โดยเฉพาะหากมองไปที่พื้นที่จัดแสดงหลายแห่งในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (และในพิพิธภัณฑ์แห่งอื่นบางแห่ง) ที่มีความหมายคาบเกี่ยวเหลื่อมซ้อนกันอย่างแยกไม่ออกระหว่างการเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์กับพื้นที่จัดแสดงโบราณวัตถุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ภายในพระที่นั่งพุธไธสวรรย์ที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์

แต่หากลองคิดให้ดีก็จะพบว่า ความหมายหลักของพระที่นั่งองค์นี้ไม่เคยมีสถานะของการเป็นพื้นที่สาธารณ์ที่ใช้จัดแสดงศิลปวัตถุแต่อย่างใด แต่คือพระที่นั่งโบราณที่มีสถานะศักดิ์สิทธิ์มาโดยตลอด

ส่วนองค์พระพุทธสิงหิงค์ก็ไม่เคยถูกมองว่าเป็นวัตถุทางศิลปะเพียงอย่างเดียว แต่ยังคงมีสถานะของพระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์สำหรับการสักการบูชาไปพร้อมกัน

การเลือกใช้คำว่า “ประดิษฐาน” มากกว่าคำว่า “จัดแสดง” ในกรณีของพระพุทธสิหิงค์ คือหลักฐานที่สะท้อนนัยยะนี้อย่างชัดเจน

 

กรณีของพระที่นั่งพุทไธสวรรย์มีลักษณะที่ไม่ต่างกันมากนักจากวัดวาอารามเก่าแก่ทั้งหลายที่มีการใช้งานสืบเนื่องมาโดยตลอดไม่ขาดสาย ที่ทำให้รูปเคารพบูชาภายในวัดเหล่านั้นมีความหมายของการเป็นทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์และศิลปวัตถุควบคู่กันในเวลาเดียวกัน เช่น พระพุทธชินราช พระแก้วมรกต พระศรีศาสดา ฯลฯ

แต่ในกรณีของประติมากรรมพระคเณศนั้นแตกต่างออกไป ตัวองค์พระถูกขนย้ายออกจากบริบทของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในชวาตะวันออกมายาวนานร่วมร้อยปี และถูกนำมาจัดแสดงในอาคารที่ได้รับการออกแบบโดยตรงเพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์ (สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.2510) กระบวนการทั้งหมดได้ทำให้องค์พระคเณศกลายความหมายมาสู่การเป็นโบราณวัตถุโดยสมบูรณ์

กระบวนการนี้เป็นปรากฏการณ์สากลของการเปลี่ยนผ่านทางความหมายที่เกิดขึ้นกับวัตถุศักดิ์สิทธิ์ทั่วโลกเมื่อถูกเคลื่อนย้ายมาจัดแสดงในพื้นที่อย่างใหม่ที่เรียกว่าพิพิธภัณฑ์

เมื่อเราเดินชมโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เกือบทั้งหมดล้วนแล้วแต่เคยเป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์หรือรูปเคารพภายในศาสนสถานแห่งใดแห่งหนึ่งมาก่อนแทบทั้งสิ้น หรือหากไม่ใช่รูปเคารพ ของชิ้นนั้นก็ต้องเคยเป็นองค์ประกอบส่วนใดส่วนของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีคนกราบไหว้บูชายาวนานหลายร้อยปี แต่เราทั้งหลายก็ไม่เคยยกมือไหว้โบราณวัตถุเหล่านั้นแต่อย่างใด

แต่กิจกรรม “มหาคณปติบูชา” กลับดำเนินไปในทิศทางตรงข้าม เพราะเป็นกิจกรรมที่ดึงศิลปวัตถุชิ้นนี้ให้ย้อนกลับไปสู่การเป็นรูปเคารพศักดิ์สิทธิ์ในบริบททางศาสนาอีกครั้ง แม้จะเป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก็ตาม

 

ในความเป็นจริง ประติมากรรมพระคเณศองค์นี้ได้เริ่มย้อนกลับมามีสถานะศักดิ์สิทธิ์มาสักระยะหนึ่งแล้ว ดังจะเห็นได้จากการถูกพูดถึงความศักดิ์สิทธิ์ของประติมากรรมชิ้นนี้ที่กระจายในกลุ่มคนทั่วไปมากขึ้นๆ จนนำมาสู่การเดินทางมากราบไหว้และพยายามถวายพวงมาลัยและดอกไม้ ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์ก็อนุโลมมาโดยลำดับ และการจัดกิจกรรม “มหาคณปติบูชา” ในครั้งนี้ก็เป็นอีกก้าวสำคัญของกระบวนการเปลี่ยนผ่านย้อนกลับทางความหมายดังกล่าว

ไม่เพียงแค่กรณีนี้เท่านั้นนะครับ ปรากฏการณ์ที่โบราณวัตถุเริ่มมีนัยยะศักดิ์สิทธิ์นั้นเราจะเริ่มมองเห็นตัวอย่างเพิ่มขึ้นในหลายกรณีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เช่น การนำศิลาจารึก (รวมถึงโบราณวัตถุประเภทคัมภีร์โบราณ) มาทำพิธีสักการบูชาโดยอธิบดีกรมศิลปากรเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

หรือกรณีที่พิพิธภัณฑ์บางแห่งออกข้อกำหนดห้ามถ่ายภาพเซลฟี่กับโบราณวัตถุ (บางชิ้นเป็นของจำลองด้วยซ้ำ) เป็นต้น

แม้จะมิได้มีการอธิบายเหตุผลในการห้าม แต่เราก็เข้าใจได้ไม่ยากว่า คงเป็นเหตุผลเรื่องความไม่เหมาะสมทางความรู้สึกบางอย่างในเชิงนามธรรมที่อธิบายไม่ได้ของผู้มีอำนาจ

ความรู้สึกดังกล่าว หากให้ลองอธิบายก็คงเป็นอะไรบางอย่างทางความรู้สึกแบบบางๆ และจางๆ ในการมองว่าศิลปวัตถุเหล่านั้นว่าเป็นสิ่งที่มีสถานะคล้ายๆ จะเป็นของสูง กึ่งๆ ศักดิ์สิทธิ์ จนทำให้ภาพจากการเซลฟี่ (ที่ถูกให้ความหมายในสังคมไทยว่าเป็นกิริยาที่อาจไม่ค่อยเหมาะสมหรือไม่ให้ความเคารพที่มากเพียงพอ) กลายเป็นการกระทำที่เข้าไปทำลายหรือลดทอนสถานะ กึ่งๆ การเป็นของสูงอันศักดิ์สิทธิ์ให้ลดน้อยถอยลง

ไม่เพียงแค่โบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์ เรายังเห็นปรากฏการณ์ที่สืบเนื่องกันอีกก็คือ การเข้าไปเปลี่ยนพื้นที่โบราณสถานให้กลับกลายมาเป็นพื้นที่ที่มีนัยยะของความศักดิ์สิทธิ์อีกครั้ง

 

กรณีการสร้าง “พระพุทธลวบุรารักษ์” พระพุทธรูปสมาธิปางนาคปรกจากหินทรายเขียวสูง 3 เมตร เพื่อนำไปประดิษฐานภายในวิหารหลวง วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี เมื่อปี พ.ศ.2563 คือตัวอย่างที่ชัดเจน

แน่นอนนะครับว่า ก่อนหน้าการประดิษฐานพระพุทธรูป วิหารหลังนี้ก็มิได้ปราศจากนัยยะของการเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เสียทีเดียวนัก แต่ก็ต้องยอมรับเช่นกันว่า สถานะของการเป็นพื้นที่โบราณสถานในเชิงของการเป็นสถานที่ศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคดีและการเป็นสถานที่ท่องเที่ยว คือความหมายหลักของพื้นที่นี้

แต่ภายหลังการประดิษฐาน “พระพุทธลวบุรารักษ์” นัยยะของการเป็นศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ก็เริ่มกลับมามีพลังทางความหมายมากขึ้นเรื่อยๆ

ยังไม่รวมถึงโบราณสถานอีกหลายแห่งที่เริ่มมีกลุ่มคนเดินทางมาด้วยวัตถุประสงค์ในการสักการบูชาและประกอบพิธีกรรมทางศาสนามากกว่าเป้าหมายเพื่อการศึกษาหรือท่องที่ยว

กระแสนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ และบางแห่งถึงขนาดที่มีการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนสถานะของพื้นที่โบราณสถานให้กลับมาเป็นศาสนสถานที่มีชีวิตอีกครั้ง

 

ควรกล่าวไว้ก่อนนะครับว่า ปรากฏการณ์ย้อนกลับไปให้ความสำคัญกับนัยยะศักดิ์สิทธิ์ของศิลปวัตถุในพิพิธภัณฑ์ (รวมถึงโบราณสถาน) มิใช่เกิดขึ้นเฉพาะในสังคมไทย แต่เป็นปรากฏการณ์สากลที่พบได้มากขึ้นทั่วโลก แม้ว่าจะไม่มากเท่าที่เกิดขึ้นในสังคมไทยก็ตาม

จากงานศึกษาของ Crispin Paine นักวิชาการที่ศึกษาวิจัยอย่างยาวนานในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างมิติทางศาสนาและพื้นที่ในพิพิธภัณฑ์ ให้ความเห็นไว้น่าสนใจว่า หากมองย้อนกลับไปราว 20 ปีก่อน พิพิธภัณฑ์ทั้งหลายในโลกต่างละเลยและไม่สนใจประเด็นทางศาสนาหรือสถานะของการ (เคย) เป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์ของโบราณวัตถุทั้งหลายในพิพิธภัณฑ์

แทบทั้งหมดล้วนจัดการวัตถุเหล่านี้ในฐานะของการเป็นศิลปวัตถุหรือโบราณวัตถุที่เป็นหลักฐานของอารยธรรม หลักฐานในการศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์โบราณดี และการเป็นตัวแบบในการศึกษาสุนทรียภาพของงานช่างโบราณเท่านั้น

แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์หลายแห่งเริ่มหันมาสนใจความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างการเป็นวัตถุจัดแสดงแบบสมัยใหม่กับความหมายดั้งเดิมในฐานะศาสนวัตถุอันศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น บางแห่งถึงขนาดที่ยอมผ่อนปรนให้มีการแสดงความเคารพและสักการะโบราณวัตถุได้ ซึ่งขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับแนวคิดดั้งเดิมของพิพิธภัณฑ์

อะไรคือเหตุผลของความเปลี่ยนแปลง ปรากฏการณ์นี้เหมือนและต่างกันอย่างไรกับที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ตลอดจนมีผลกระทบในเชิงบวกและลบอย่างไรบ้างเมื่อเทียบกันระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นในไทยกับที่อื่น ทั้งหมดเราจะมาว่ากันในสัปดาห์ต่อไป