‘ตัก’ อย่าคิดว่าไม่สำคัญ (2)

ญาดา อารัมภีร
“พลายแก้วมาหานางพิมที่ไร่ฝ้าย” จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี จิตรกรผู้วาดภาพ เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖

‘ตัก’ อย่าคิดว่าไม่สำคัญ (2)

 

คนที่ใช้ตักของตัวเองคุ้มเกินคุ้ม ไม่มีใครเกินพระเอกในวรรณคดีไทย ดีที่นางเอกรูปร่างอ้อนแอ้นกะทัดรัด น้ำหนักตัวไม่มาก เพราะพระเอกมักอุ้มนางเอกนั่งตัก ทำให้ฝ่ายหญิงเขินอาย ทำอะไรไม่ถูก เป็นนาทีทองที่ฝ่ายชายจะกอดจูบลูบไล้เป็นเวลานานๆ ถ้านางเอกตัวหนัก บทรักลักษณะนี้คงไปไม่รอด

บทละครรำเรื่อง “อิเหนา” ภายในวิหารพระปฏิมาท่ามกลางความมืด เป็นโอกาสดีของอิเหนาเข้าประชิดตัวนางบุษบาต่อหน้าต่อตามะเดหวี แม่เลี้ยงของนาง

“ไฟดับมืดมนอนธการ ในวิหารหาเห็นกันไม่

พระจึงค่อยย่องคลาไคล ออกไปยังองค์พระบุตรี

โอบอุ้มนงลักษณ์ใส่ตักไว้ ลูบไล้ปทุมทองผ่องศรี

นาสาสูบรสสุมาลี หอมกลิ่นเทวีฟุ้งขจร”

ต่อมาอิเหนาเตรียมการลักพาเจ้าสาวของคนอื่นในวันอภิเษกของจรกากับนางบุษบา ให้ทหารปลอมตัวปล้นเมือง เผาโรงมหรสพฉลองงาน ขณะผู้คนกำลังชุลมุนดับไฟ อิเหนาปลอมเป็นจรกาเชิญรับสั่งไปรับตัวนางบุษบา

“เมื่อนั้น พระสุริยวงศ์พงศ์อสัญแดหวา

อุ้มองค์นงลักษณ์ใส่ตักมา ดังได้ฟากฟ้าสุราลัย”

 

อิเหนาพานางไปยังถ้ำที่เตรียมไว้ล่วงหน้าเป็นที่พัก พลันเมื่อความแตกว่าเป็นอิเหนาไม่ใช่จรกา นางบุษบาต่อว่าสารพัด อิเหนาก็ลดเลี้ยวแก้ไขไปในทางที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง

กระบวนใช้ ‘ตัก’ หรือ ‘เพลา’ แทนเบรกรถได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใครเล่าจะเทียบอิเหนา เมื่อรุกถึงตัวแต่สาวถอยห่าง ช่วงเข่าถึงโคนขาก็เป็น ‘ตัวช่วยชั้นดี’ ที่หยุดการเคลื่อนไหวของอีกฝ่ายอย่างได้ผล

“ว่าพลางทางถดเข้าหา จะถอยหนีพี่ยาไปข้างไหน

พระเพลาทับเพลานงเยาว์ไว้ ฉวยฉุดชายสไบไขว่คว้า”

เข้าทำนองน้องถอยหนี พี่เขยิบเข้าใกล้ ใช้เข่าและโคนขาทับกันไว้ไม่ให้หนีไปไหนได้ เล้าโลมด้วยวาจาและท่าทีจนฝ่ายหญิงอ่อนใจและใจอ่อนในที่สุด

“ขวัญเอยขวัญตา อนิจจาใจจริงทุกสิ่งสม

ไม่ลวงล่อโลมเลียมให้เกรียมตรม อย่าปรารมภ์หฤทัยเทวี

ซึ่งทำการหาญหักเพราะรักใคร่ จนได้ถูกถือถึงมือพี่

พึ่งจะสมปรารถนาครานี้ สุดที่จะเงือดงดอดใจ

ถึงชีวิตจะเจียนจากร่าง จะอิงแอบแนบนางให้ได้

ว่าพลางโอบอุ้มอรไท ขึ้นไว้เหนือตักสะพักชม”

เริ่มจาก ‘ตัก’ ก็ต่อไปที่ลึกล้ำกว่านั้น

“เอนองค์ลงแอบแนบน้อง เชยปรางพลางประคองสองสม

คลึงเคล้าเย้ายวนสำรวลรมย์ เกลียวกลมสมสวาดิไม่คลาดคลาย”

‘คนเจนจัด’ อย่างอิเหนาจึงต้องปลอบ ‘คนไม่เคย’ อย่างบุษบาให้คลายความหวาดหวั่นเพื่อความรื่นรมย์ร่วมกัน

“กรกอดประทับแล้วรับขวัญ อย่าตระหนกอกสั่นนะโฉมฉาย

ฤดีดาลซ่านจับเนตรพราย ดังสายสุนีวาบปลาบตา

ฟ้าลั่นครั่นครื้นคำรนเสียง ก้องสนั่นสำเนียงในเวหา

ชอุ่มคลุ้มดวงพระสุริยา เมขลาล่อแก้วแววเวียน

รามสูรขว้างขวานทะยานไล่ ว่องไวเลี้ยวลัดฉวัดเฉวียน

หมายมิ่งชิงช่วงดวงวิเชียร หันเหียนเวียนวิ่งเป็นสิงคลี

พระพิรุณร่วงโรยโปรยต้อง มณฑาทองทิพรสสดศรี

ขยายแย้มผกาสุมาลี ภุมรีภิรมย์ชมชิด

สององค์ปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ ดังได้เสวยสวรรค์ชั้นดุสิต

ต่างแสนเสนหากว่าชีวิต สมคิดเพลิดเพลินเจริญใจ”

 

‘ตัก’ ใช่จะเป็นที่นิยมของ ‘พระเอกในวัง’ เท่านั้น ‘พระเอกนอกวัง’ ซึ่งเป็นสามัญชนก็ไม่ต่างกัน ขนาดกลางวันแสกๆ กลางไร่ฝ้าย มีบ่าวไพร่อยู่ไม่ไกล เพียงลับตาผู้คน เณรแก้วที่สึกชั่วคราวมาหาสาวก็ไม่ยอมเสียเวลา ดังที่เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” บรรยายว่า

“พลางกอดน้องประคองขึ้นบนตัก จะแพลงผลักพลิกเลื่อนลงไปไหน

แล้วเปลื้องปลดลดชายให้คลายใจ นางฉวยฉุดยุดไว้ไม่วางมือ”

พอสาวจนมุมอยู่บนตัก มือไม้พลายแก้วก็ไม่อยู่เฉย ฉวยชายสไบเลื่อนหลุดจนนางพิมพิลาไลยต้อง ‘ฉวยฉุดยุดไว้’ พยายามใช้ไม้อ่อนอ้อนวอนฝ่ายชายให้อดใจไม่รุกล้ำก้ำเกินไปกว่านั้น

“นางก้มอยู่กับตักซบพักตรา เฝ้าวอนว่าไหว้พลางพ่อวางพิม”

พูดถึงขนาดนี้ พลายแก้วก็ใจอ่อนและนัดว่าจะไปหาคืนนี้ที่เรือน แต่ยังร่ำไรไม่จากไปโดยง่าย

“ช้อนคางพลางจูบประคองชม แนบเนื้อแนบนมเจ้าผ่องใส

พวงพุ่มตูมตั้งยังเป็นไต อาลัยลูบโลมทั้งกายา

จับมือถือนิ้วเจ้าพิมชม สวยสมสิบนิ้วเสน่หา

ซบพักตร์อยู่กับตักไม่เจรจา พี่จะลาแล้วแม่ผินมาดีดี”

ขณะนั้นบ่าวไพร่เก็บฝ้ายเสร็จแล้วเดินกลับมา ส่งเสียงร้องเพลงอย่างเบิกบาน นางสายทองพี่เลี้ยงนางพิมพิลาไลยซึ่งคอยดูต้นทาง ร้องเอะเอะส่งสัญญาณให้รู้ นางพิมถึงกับยกมือไหว้ขอให้พลายแก้วรีบไปก่อนมีใครเห็น ขนาดสาวเร่งยิกๆ หนุ่มยังโอ้เอ้สั่งลา

“เจ้าพลายกอดพิมประทับไว้กับตัก เสียดายนักมิใคร่วางนางลงได้

เสียงบ่าวข้ามากระชั้นก็จนใจ ลุกขึ้นบังต้นไม้แล้วหลีกมา”

วันนี้ขอปิดท้ายด้วยทำนองเพลง “จูบ” ใครร้องได้ ร้องเลยนะ

‘ตัก’ อย่าคิดว่าไม่สำคัญ ตักของเธอและฉัน ทำหัวใจสั่นดังฟ้าสะเทือน

อุ้มสาวนั่งตัก สุขใดใครเหมือน

รสสัมผัสไม่อาจลบเลือน คะนึงคิดถึงไม่วาย •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร