อุษาวิถี (47) อุษาวิถีในวัฒนธรรมไทย (ต่อ)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (47)

อุษาวิถีในวัฒนธรรมไทย (ต่อ)

 

ข. สถาบันทางการเมืองและขนบจารีต

จากพัฒนาการที่มีร่องรอยหลักฐานนับแต่สมัยทวารวดีผ่านรัฐอยุธยา มาจนถึงการเกิดขึ้นมาของรัฐธนบุรีในช่วงสั้นๆ ก่อนที่จะมาเป็นรัฐกรุงเทพฯ นั้น แต่ละยุคสมัยของรัฐเหล่านี้ได้ก่อรูปสถาบันทางการเมืองและขนบจารีตที่รับมาจากอินเดียขึ้นมาอย่างช้าๆ

การเปลี่ยนแปลงของกลุ่มอำนาจภายในสยามประเทศไม่ว่าจะเป็นระหว่างรัฐต่างๆ ด้วยกันเอง หรือแม้แต่ภายในรัฐนั้นๆ ไม่อาจทำลายความมั่นคงของสถาบันทางการเมืองและขนบจารีตลงไปได้

และจากความต่อเนื่องที่ว่านี้มาจนถึงช่วงต้นของรัฐกรุงเทพฯ เป็นอย่างน้อย ก็สามารถแยกอธิบายโครงสร้างของสังคมสยามประเทศโดยสังเขปว่า ประกอบไปด้วยสถาบันใดบ้าง และแต่ละสถาบันมีขนบจารีตมากำกับอย่างไรบ้าง ดังนี้

 

1.กษัตริย์ จัดเป็นสถาบันที่อยู่บนยอดสุดของโครงสร้าง แนวคิดที่มากำกับสถาบันนี้

เริ่มจากความเชื่อเรื่อง “เทวราช” อันเป็นความเชื่อที่มีรากฐานมาจากศาสนาพราหมณ์ จนเมื่อรับเอาความเชื่อจากศาสนาพุทธเข้ามาแล้วจึงเปลี่ยนความเชื่อมาเป็น “สมมติราช” หรือ “ธรรมราชา” แทน

กษัตริย์ไม่เพียงจะเป็นประมุขของอาณาจักรเท่านั้น หากยังมีอำนาจเหนือทุกชีวิตในสังคมเสมือนหนึ่งเป็น “เจ้าชีวิต” อีกด้วย

ดังนั้น กษัตริย์จึงเป็นเจ้าของไปในแทบทุกเรื่อง ตั้งแต่กฎหมายไปจนถึงที่ดิน กษัตริย์จึงเป็น “พระเจ้าแผ่นดิน” ไปด้วย ฐานะเช่นนี้ของกษัตริย์จึงส่งผลให้มีบทบาทเป็นผู้นำหรือศูนย์รวมจิตใจในทางสังคม

ทั้งนี้ โดยมีฐานะของการเป็นองค์ศาสนูปถัมภกให้แก่พุทธศาสนา เป็นผู้ปฏิบัติและรักษาขนบจารีตอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง

ขนบจารีตเหล่านี้มีตั้งแต่พิธีเฉพาะส่วนของกษัตริย์เอง เช่น พิธีราชาภิเษก เป็นต้น พิธีที่เกี่ยวกับสวัสดิภาพและความอุดมสมบูรณ์ เช่น พิธีจรดพระนังคัล เป็นต้น

พิธีที่เป็นประโยชน์ในการซักซ้อม และตรวจตราความพร้อมเพรียงในด้านกำลังคนและความรู้ความสามารถของพนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น พิธีออกสนาม เป็นต้น และพิธีที่เกี่ยวกับศาสนาและประเพณี เช่น พิธีสงกรานต์ เป็นต้น

กษัตริย์จึงมีบารมีสูงสุดที่จะครอบครองสิ่งของที่ “ศักดิ์สิทธิ์” ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสูงอย่างเครื่องราชูปโภค พระราชวัง พระพุทธรูปที่มีชื่อเสียง และช้างเผือก เป็นต้น

ฐานะเช่นนี้ของกษัตริย์มีความต่อเนื่องทั้งในทางทฤษฎีและการปฏิบัติสืบมา ตราบจนปัจจุบันที่สังคมได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้วนั้น ฐานะเช่นนี้แม้จะได้เปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนตามก็คือ การเป็นสถาบันที่มีพลังในทางวัฒนธรรมอย่างยิ่งยวดในสยามประเทศ

 

2.เจ้านาย เป็นกลุ่มคนที่สัมพันธ์กับกษัตริย์ในทางสายเลือดหรือที่เรียกว่า “พระบรมวงศานุวงศ์” ฉะนั้น เจ้านายจึงถูกจัดเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันกษัตริย์ และด้วยเหตุนี้ เจ้านายจึงเป็นชนชั้นที่มีเกียรติยศและอภิสิทธิ์

จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับยศชั้นของแต่ละคน ซึ่งแบ่งได้เป็นสองประเภทคือ สกุลยศ อันเป็นยศที่เจ้านายได้รับมาแต่กำเนิดอันประกอบไปด้วยเจ้าฟ้า พระองค์เจ้า และหม่อมเจ้า ตามลำดับชั้นประเภทหนึ่ง

กับอิสริยยศ อันเป็นยศที่เจ้านายได้รับจากกษัตริย์ เนื่องจากรับราชการแผ่นดินหรือช่วยงานกษัตริย์ หลังกลางรัฐอยุธยาเรื่อยมาจนถึงรัฐกรุงเทพฯ อิสริยยศจะอยู่ในรูปของ “การทรงกรม” เป็น กรมหมื่น กรมขุน กรมหลวง เป็นต้น

จากอิสริยยศนี้ทำให้เจ้านายมีอำนาจอยู่ในระดับหนึ่ง และมีขนบจารีตที่ต้องถือปฏิบัติลดหลั่นกันไปตามชั้นของอิสริยยศนั้น

 

3.ขุนนาง หากกล่าวตามนัยปัจจุบันแล้ว ขุนนางก็คือข้าราชการ ฉะนั้น ขุนนางจึงมียศศักดิ์ลดหลั่นกันเป็นชั้นๆ ไป ซึ่งย่อมหมายความว่า ขุนนางจะมีอำนาจ อภิสิทธิ์ และเกียรติยศเฉพาะตนตามยศศักดิ์นั้นไปด้วย

โดยทั่วไปแล้วขุนนางเป็นผู้มีกำเนิดมาจากสามัญชน นั่นคือ เป็นชนชั้นไพร่ที่บวชเรียนแล้วเข้ารับราชการ หรือมีความดีความชอบจนได้รับแต่งตั้งให้เป็นขุนนาง

แม้จะเป็นเช่นนั้นก็ตาม แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงในอีกซีกหนึ่งก็คือว่า ขุนนางยังเป็นตำแหน่งที่มีการสืบทอดฝากฝังกันได้ด้วย เช่น ตัวขุนนางอาจจะถวายลูกหลานของตนเข้ารับใช้กษัตริย์ตั้งแต่ยังเล็ก

จากนั้นเมื่อเติบโตและมีความดีความชอบก็จะเลื่อนยศชั้นของตนสูงขึ้นเรื่อยๆ

ฉะนั้น ที่มาของขุนนางจึงมีสองแหล่งคือ จากสามัญชนโดยตรงแหล่งหนึ่ง กับจากเครือญาติที่เป็นขุนนางอยู่แต่เดิมอีกแหล่งหนึ่ง หากพิจารณาในแง่นี้ก็ย่อมเข้าใจได้ว่า แหล่งที่มาจากเครือญาติที่เป็นขุนนางจะมีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยมากกว่า เนื่องจากมีโอกาสเรียนรู้งานได้ง่ายกว่าและมากกว่า

 

อย่างไรก็ตาม ขุนนางมีหน้าที่ที่ชัดเจนเป็นของตนเองที่พอสรุปได้ดังนี้

หนึ่ง ควบคุมดูแลไพร่พลในกรมกองที่ตนเป็นผู้บังคับบัญชา

สอง จัดเก็บภาษีอากรจากไพร่พลของตนและจากที่อยู่ในบังคับบัญชาของกรมที่ตนสังกัด

สาม พิพากษาอรรถคดีต่างๆ ที่อยู่ในอำนาจของกรมกองที่ตนบังคับบัญชา

และ สี่ รายงานแก่กษัตริย์ทันทีที่ได้รู้ได้เห็นการเคลื่อนไหวสิ่งหนึ่งสิ่งใด ในอันที่จะเป็นผลร้ายต่อกษัตริย์ เช่น การกบฏ การยักยอกทรัพย์ของกษัตริย์ การลักลอบติดต่อกับนางสนมของบุคคล เป็นต้น

จากหน้าที่นี้ทำให้ขุนนางมีสิทธิต่างๆ ที่พอสรุปได้ดังนี้

หนึ่ง ขุนนางพร้อมครอบครัวบริวารไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงาน

สอง ไม่ต้องเสียภาษี

สาม มีไพร่ในสังกัดเพื่อควบคุมตามความสูงศักดิ์

สี่ ไม่ต้องไปศาลเอง แต่มีสิทธิใช้ทนายไปให้การในศาลแทน

ห้า มีสิทธิเข้าเฝ้ากษัตริย์ตามลำดับยศศักดิ์

หก มีสิทธิใช้เสมียนทนายมาติดตามรับใช้ใกล้ชิด จำนวนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนศักดินา

และ เจ็ด ได้รับเครื่องยศที่แสดงถึงยศศักดิ์ของตนจากกษัตริย์ แต่ต้องถวายคืนหลังจากถึงแก่กรรมหรือออกจากราชการ เป็นต้น

โดยหน้าที่และสิทธิเหล่านี้จะมีเฉพาะตน ไม่ตกทอดไปยังลูกหลาน อีกทั้งห้ามมีหรือทำเกินกว่ายศศักดิ์หรือศักดินาที่ถืออยู่ หาไม่แล้วจะถูกลงโทษ