นโยบายซอฟต์เพาเวอร์ ของรัฐบาลเพื่อไทย ม้านอกสายตาที่ทะยานขึ้นมาเป็นเรือธง

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit
แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และรองประธานคณะกรรมการซอฟท์พาวเวอร์

นโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์เพาเวอร์ หรือ OFOS เป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทยที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยเริ่มต้นจากดราม่าเกี่ยวกับนิยามความหมายของคำเมื่อนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช กล่าวถึงเรื่องนี้ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมคนใหม่ ซึ่งผมได้เขียนถึงเรื่องนี้เอาไว้ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับที่แล้วว่าคำจำกัดความไม่ใช่ประเด็นหรือสาระสำคัญของข่าวนี้ หากแต่คือความเป็นไปได้ของโครงการหรือนโยบายต่างหากที่น่าสนใจมากกว่า ตามลิงก์ https://www.matichonweekly.com/column/article_712980

แต่คล้อยหลังไปไม่นาน ความสนใจของสาธารณชนก็หันมาสู่เรื่องการประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์แห่งชาติ จำนวน 29 คน โดยมีบุคคลสำคัญดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการชุดนี้มากมาย

เช่น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊ง หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เป็นรองประธานกรรมการ นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ กุนซือคู่ใจของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษาและกรรมการ และนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือหมอเลี้ยบ แกนนำกลุ่มแคร์ (CARE) เป็นกรรมการและเลขานุการ พร้อมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ เข้ามาเป็นคณะกรรมการจำนวนมาก

ในขณะเดียวกันก็ปรากฏรายชื่อบุคคลที่มีชื่อเสียงในหลายแวดวงต่างๆ เข้ามาร่วมด้วย เช่น คุณชายอดัม ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล จากวงการภาพยนตร์ เชฟชุมพล แจ้งไพร จากวงการอาหาร นายจรัญ หอมเทียนทอง จากวงการหนังสือและสิ่งพิมพ์ นายดวงฤทธิ์ บุนนาค จากวงการสถาปนิกและการออกแบบ น.ส.กมลนาถ องค์วรรณดี จากวงการแฟชั่น นางชฎาทิพ จูตระกูล จากวงการธุรกิจ ฯลฯ

ตามข่าว “เปิด 29 ชื่อ กก.ซอฟต์เพาเวอร์แห่งชาติ ‘เชฟ-ผกก.ดัง-ดวงฤทธิ์’ ร่วมด้วย” 

 

จากรายชื่อและอำนาจหน้าที่ตามประกาศ แสดงให้เห็นได้ชัดว่านี่คือนโยบายที่รัฐบาลเพื่อไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่ง หรือกล่าวได้ว่านี่คือนโยบายที่เป็น “เรือธง” (flagship) ของรัฐบาลเลยก็ว่าได้

ทำให้เสียงค่อนขอดปรามาสเมื่อสัปดาห์ก่อนเบาบางจางลงอย่างเห็นได้ชัด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขานุการคณะกรรมการได้เดินสายชี้แจงแนวคิดและรายละเอียดอย่างชัดเจนผ่านสื่อมวลชนต่างๆ หลายสำนัก

ไม่ว่าจะเป็นรายการกรรมกรข่าวคุยนอกจอ รายการเจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ไทยแลนด์ รายการ ซึ่งในรายการนี้ได้ระบุวันเปิดตัวหรือวันแถลงรายละเอียดนโยบายด้วยว่าเป็นวันที่ 3 ตุลาคม 2566 รวมทั้งรายการ Talking THAILAND ทาง Voice TV เป็นต้น

นอกจากรวบรวมบุคคลสำคัญจากหลากหลายกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาอย่างพร้อมเพรียงกันแล้ว การเข้ามารับตำแหน่งสำคัญในคณะกรรมการชุดนี้ของแพทองธาร ชินวัตร ยังเป็นประจักษ์พยานอันบ่งชี้สถานะของนโยบายนี้ว่ามีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของรัฐบาลเลยทีเดียว

ซึ่งในโอกาสนี้แพทองธารได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ส่วนที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองประธานซอฟต์เพาเวอร์นั้น ตนตื่นเต้นมาก อยากจะเริ่มทำงานเพราะโครงการนี้เราคิดเป็นนโยบาย ก่อนออกแคมเปญเลือกตั้ง ซึ่งทำการบ้านเรื่องนี้มาเป็นปี ถ้าได้ทำเมื่อไหร่ เราจะทำอย่างเต็มที่ ทั้งทีมงานและที่ปรึกษา มีการเตรียมกันมากพอสมควร เมื่อฟอร์มทีมเรียบร้อยจะเริ่มทำงานทันที หากเริ่มคิกออฟแมตช์แรกเมื่อไหร่ก็พร้อมทำงานทันที” ตามข่าว “แพทองธาร เผยตื่นเต้นมาก! ได้รอง ปธ.ซอฟต์เพาเวอร์ พร้อมตอบปมหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนต่อไป” 

นอกจากนี้ แพทองธารยังอธิบายถึงที่มาของการใช้คำว่าซอฟต์เพาเวอร์ในนโยบายนี้ว่า

“ซอฟต์เพาเวอร์ไม่เท่ากับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แต่ซอฟต์เพาเวอร์ครอบคลุมทั้งการพัฒนาคนที่มีทักษะสูง เศรษฐกิจสร้างสรรค์ การเมืองประชาธิปไตย และการต่างประเทศ ที่เรียกว่าการทูตเชิงวัฒนธรรม (Cultural Diplomacy) ซอฟต์เพาเวอร์จึงไม่ใช่แค่มิติเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือมิติทางการเมืองระหว่างประเทศ แต่จะต้องทำงานอีกหลายด้านเพื่อให้เกิดการพัฒนา จนสามารถส่งออกวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ หรือคุณค่าไปสู่นานาประเทศ และกลายเป็นผู้นำในระดับโลกต่อไป”

ตามข่าว “ยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์ เพื่อไทยจับมือเอกชน มุ่งพาไทยสู่ประเทศรายได้สูง”

 

สําหรับแนวความคิดเบื้องต้นนั้น สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ได้อธิบายถึงที่มาว่าเริ่มคิดและปล่อยนโยบายมาตั้งแต่ตุลาคม 2564 แล้วในการประชุมใหญ่ที่ขอนแก่น โดยมีแนวนโยบายคู่ขนานไปพร้อมกันทั้ง OFOS ที่มุ่งส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพในระดับครัวเรือนกับ THACCA ที่เน้นการปลดล็อกกฎหมายและสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์

รวมทั้งยังมีการออก พ.ร.บ.รองรับ THACCA เพื่อแก้ปัญหาเดิมที่มีในองค์การมหาชน อย่างเช่น สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) คือมีอำนาจหน้าที่อย่างจำกัดและขาดแคลนงบประมาณ

การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพในระดับครัวเรือนตามนโยบาย OFOS นั้นเปิดกว้างหลากหลายอาชีพมาก เช่น อาชีพนักกีฬาโดยเฉพาะอย่างยิ่งมวย อาชีพนักเขียน อาชีพทำอาหาร อาชีพนักออกแบบ อาชีพนักร้องนักแสดง เป็นต้น

ส่วน THACCA นั้นจะลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จัดตั้งกองทุน บริหารจัดการเงินงบประมาณที่แยกกันอยู่อย่างกระจัดกระจายให้มีทิศทางเดียวกันตามยุทธศาสตร์ รวมทั้งออกกฎหมายและแก้ระเบียบข้อบังคับต่างๆ เพื่อให้เกิดความสะดวกคล่องตัวต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์จนยกระดับออกสู่นานาชาติได้

ซึ่งทั้ง OFOS และ THACCA นั้น ทางพรรคเพื่อไทยได้ประชาสัมพันธ์รายละเอียดเอาไว้ในหน้านโยบายของพรรคแล้วในเว็บไซต์ https://ptp.or.th

 

ทิศทางเช่นนี้ระบุไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรในประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ เช่นกันว่า

“ด้วยรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือซอฟต์เพาเวอร์ของประเทศ เพื่อเป็นแนวทางสำคัญที่จะยกระดับและพัฒนาความสามารถด้านความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยให้สร้างมูลค่าและสร้างรายได้เพื่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตลอดจนส่งเสริมบทบาทความเป็นผู้นำของประเทศไทยในเวทีโลกซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ”

เนื้อหาที่ครอบคลุมประเด็นคำถามอันค้างคาใจใครหลายคนในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นนิยามของคำ แนวทางในการทำงาน ใครเป็นผู้รับผิดชอบงาน ตลอดจนกรอบเวลาในการปฏิบัติ จึงน่าจะยุติลงได้เมื่อมาถึงจุดนี้

นโยบายที่เกี่ยวกับวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของรัฐบาลไทยรักไทยในอดีตได้สร้างคะแนนความนิยมให้กับทั้งพรรคและผู้นำพรรคอย่างทักษิณ ชินวัตร มาแล้วหลายครั้ง

ไม่ว่าจะเป็นครัวไทยสู่ครัวโลก กรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ การตั้งกระทรวงวัฒนธรรม OKMD TCTD Museum Siam TK Park เป็นต้น

ในขณะที่บางนโยบายก็เป็นข่าวขึ้นมา แต่ก็หยุดชะงักและเลือนหายไปในที่สุด เช่น โครงการจัดตั้งสถาบันหนังสือแห่งชาติหรือสถาบันการเรียนรู้แห่งชาติ แนวคิดเรื่องการสร้างสมิธโซเนียนเมืองไทย เป็นต้น

เพราะฉะนั้น สำหรับประชาชนทั่วไป จึงเหลือเพียงเฝ้าจับตามองต่อไปอย่างใกล้ชิดว่านโยบายที่แต่เดิมถูกมองเป็นม้านอกสายตา และบัดนี้ได้กลายมาเป็นดั่งเรือธงที่เดิมพันอนาคตของรัฐบาลเพื่อไทยเอาไว้ในกำมือ ว่าจะสามารถพลิกวิกฤตศรัทธาครั้ง “จับมือลุง” ไปสู่โอกาสเรียกกระแสนิยมกลับคืนมาได้หรือไม่

หากนโยบายนี้ประสบความสำเร็จดังเช่นหลายนโยบายของรัฐบาลไทยรักไทยในอดีต สถานะเดิมที่เคยได้รับก็อาจพลิกฟื้นกลับมาก็ได้

แต่หากไม่สำเร็จ รัฐบาลเพื่อไทยจะมีชะตากรรมอย่างไรในการเลือกตั้งครั้งหน้า?

 

เมื่อมองในทางหนึ่งนี่คือความท้าทายที่น่าตื่นเต้น แต่อีกทางหนึ่งก็เป็นความคาดหวังอย่างสูงที่สร้างแรงกดดันลึกๆ ในใจของผู้รับผิดชอบ ซึ่งทำให้นายแพทย์สุรพงษ์กล่าวในช่วงท้ายของรายการ Talking THAILAND ว่า “การเมืองในวันนี้เป็นการเมืองที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน จริงๆ อาจจะเคยเห็นมาบ้างแล้วในอดีต แต่ว่ามีหลายอย่างที่อาจจะมากกว่าเดิม เป็นอะไรที่มันท้าทาย เพราะฉะนั้น ผมก็บอกกับตัวเองว่าที่มาทำอย่างนี้ เรื่องซอฟต์เพาเวอร์ เรื่อง 30 บาทเนี่ย ไม่ต้องไปสนใจการเลือกตั้งครั้งหน้า ทำสิ่งที่เรามีโอกาสได้ทำให้ดีที่สุด มันดีแล้วมันจะทำให้ผลเลือกตั้งครั้งหน้าเป็นยังไงช่างมัน ไม่ต้องไปสนใจ เรามีโอกาสก็ทำให้ดีที่สุด”

ผลลัพธ์สุดท้ายของนโยบายนี้จะสำเร็จหรือไม่ และผลการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นอย่างไร แน่นอนว่าหากถามในวันนี้

คงมีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่รู้