ดราม่าเรื่องซอฟต์เพาเวอร์ ตามนโยบาย OFOS ของพรรคเพื่อไทยและกระทรวงวัฒนธรรม

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

หลังจากที่เห็นโฉมหน้าคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลเศรษฐา 1 อย่างเป็นทางการไปแล้ว รัฐมนตรีแต่ละคนก็เริ่มเปิดตัวด้วยการชูนโยบายต่างๆ ประจำกระทรวงของตัวเอง

แต่ที่เกิดดราม่าขึ้นตั้งแต่แรกก็คือกระทรวงวัฒนธรรมในยุคของเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช จากพรรคเพื่อไทย อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยที่ใช้ชีวิตหลังเกษียณอายุราชการทำงานให้กับพรรคเพื่อไทยมาอย่างยาวนาน

ดราม่าในเรื่องนี้คือนิยามของคำว่า “ซอฟต์เพาเวอร์” (soft power) ซึ่งรัฐมนตรีเสริมศักดิ์ได้ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวในวันที่ 5 กันยายน ว่า

“หลังจากประชุม ครม.แล้ว จะเข้าไปที่กระทรวงวัฒนธรรม โดยจะเน้นไปที่นโยบายซอฟต์เพาเวอร์ และเป็นนโยบายหลักที่จะแก้จนให้พี่น้องประชาชน เดิมแล้วกระทรวงวัฒนธรรมเป็นเรื่องของสังคม แต่ตอนนี้เราต้องทำให้กระทรวงวัฒนธรรมมาเน้นในเรื่องเศรษฐกิจ ฉะนั้น จึงเป็นนโยบายสำคัญของพรรคเพื่อไทยที่บอกว่า หนึ่งครอบครัว หนึ่งซอฟต์เพาเวอร์ จึงเป็นกระทรวงหนึ่งที่ควบคู่ไปกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อเติมเงินในกระเป๋าให้แต่ละครอบครัวมีรายได้ถึง 20,000 บาท”

หลังจากนั้นก็เกิดดราม่าขึ้นตามโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเพจ “Drama-addict” ที่มีผู้เข้ามาแสดงความเห็นกันอย่างล้นหลาม เนื่องจากไม่เข้าใจว่าความหมายของซอฟต์เพาเวอร์ในบริบทนี้หมายถึงอะไรกันแน่ และนิยามที่ถูกนำมาใช้นี้ถูกต้องตรงกับความหมายดั้งเดิมหรือไม่

ตามลิงก์ข่าว “ชาวเน็ตถกหนักมาก ‘หนึ่งครอบครัว หนึ่งซอฟต์เพาเวอร์’ ที่รัฐมนตรี วธ.พูดคือ? หวังคำตอบชัดๆ”

 

ในวันต่อมา 6 กันยายน เมื่อรัฐมนตรีเสริมศักดิ์ตอบข้อสงสัยนี้ในรายการเจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ทยแลนด์ โดยพยายามอธิบายว่าซอฟต์เพาเวอร์ดังกล่าวเป็นโครงการต่อเนื่องหรือต่อยอดจาก “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” (One Tambon One Product) หรือ “OTOP” ของรัฐบาลไทยรักไทยสมัยก่อน เพื่อยกระดับศักยภาพในการหารายได้ของครัวเรือนทั่วประเทศให้ขึ้นไปถึง 20,000 บาทต่อครอบครัวเป็นอย่างน้อย

ตามนโยบาย “OFOS” หรือ ในชื่อภาษาไทยว่า “หนึ่งครอบครัว หนึ่งซอฟต์เพาเวอร์” (One Family One Soft Power) ที่พรรคเพื่อไทยได้รณรงค์หาเสียงไว้ในช่วงเลือกตั้งนั่นเอง

ซึ่งคำอธิบายในเรื่องนี้อันที่จริงแล้วได้ประชาสัมพันธ์อยู่ในเว็บไซต์ของพรรคเพื่อไทย รวมทั้งปรากฏบนเวทีหาเสียงของพรรคมาอย่างต่อเนื่องร่วมสองปีแล้ว เนื่องจากนโยบายนี้เป็นจุดขายสำคัญของการรณรงค์หาเสียงของพรรค ดังที่ได้ให้คำจำกัดความเอาไว้ใน http://ptp.or.th หน้านโยบายหลัก ดังนี้

“ส่งเสริมผลักดันซอฟต์เพาเวอร์ไทยไปทั่วโลกโดยเริ่มต้นจากการพัฒนาคน โดยจะเฟ้นหาศักยภาพของคนไทยทุกครอบครัว อย่างน้อยครอบครัวละ 1 คน เพื่อนำมาส่งเสริมบ่มเพาะศักยภาพผ่านศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์ที่จะมีในทุกระดับตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ไปจนถึงระดับประเทศ ให้ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะสร้างสรรค์ของตัวเองในทุกด้าน ไม่ว่าทักษะด้านการทำอาหาร ร้องเพลง ออกแบบ ศิลปะ กีฬา และอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดนี้จะไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อสร้างแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน ที่มีรายได้อย่างน้อย 200,000 บาทต่อปี”

และ “สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง เพื่อรองรับแรงงานทักษะสูง โดยจะสนับสนุนทุกอุตสาหกรรมซอฟต์เพาเวอร์ ผ่านการปลดปล่อยเสรีภาพ ปลดล็อกกฎหมาย ทลายทุกอุปสรรค สนับสนุนเงินทุน ขยายการส่งออกผ่านนโยบายต่างประเทศ โดยมี THACCA (Thailand Creative Content Agency) ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จและงบประมาณที่เพียงพอทำหน้าที่สร้างระบบนิเวศทั้งหมดเพื่อสร้างอุตสาหกรรมซอฟต์เพาเวอร์ไทยให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด”

จะเห็นได้ว่านโยบายในเว็บจะระบุถึงรายได้รายหัวต่อปี ในขณะที่เสริมศักดิ์กล่าวถึงรายได้รายครอบครัวต่อเดือน นอกเหนือจากนี้ก็ไม่ได้มีอะไรแตกต่างกัน

เสริมศักดิ์อาจไม่ได้ชี้แจงแถลงไขเรื่องนี้ได้กระจ่างนัก ซึ่งเป็นไปได้ว่าเพราะนโยบายนี้เกิดขึ้นมาก่อนการวางตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม คือทีมคิดนโยบายดังกล่าวเป็นทีมงานชุดหนึ่งที่ดำเนินการมาตั้งแต่สมัยที่รณรงค์หาเสียงเลือกตั้งนานนับปี

ในขณะที่รัฐมนตรีเป็นผู้ปฏิบัติที่ได้รับมอบหมายโจทย์ในการทำงานภายหลังจากการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีลงตัวเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

พูดง่ายๆ ก็คือ ในกรณีนี้คนคิดนโยบายกับคนนำนโยบายไปปฏิบัติน่าจะเป็นคนละคนกัน

 

ดูเหมือนว่าความหมายของซอฟต์เพาเวอร์ที่พรรคเพื่อไทยนำมาใช้กับกระทรวงวัฒนธรรมนั้น หากจะผิดก็ผิดตั้งแต่ต้นทางแล้ว เพราะโดยนิยามของซอฟต์เพาเวอร์แต่ดั้งเดิมนั้น โจเซฟ นาย จูเนียร์ (Joseph S. Nye Jr.) นักรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้เขียนอธิบายไว้ในหนังสือเรื่อง “Soft Power: The Means To Success In World Politics” ว่าคือ

“ความสามารถในการทำได้สิ่งที่ต้องการด้วยการดึงดูดใจแทนที่การบังคับหรือจ่ายเงินแลกมา อันเป็นผลมาจากเสน่ห์ดึงดูดใจในทางวัฒนธรรม อุดมคติทางการเมือง และนโยบายของประเทศ” (It is the ability to get what you want through attraction rather than coercion or payments. It arises from the attractiveness of a country’s culture, political ideals, and policies.)

ซึ่งเป็นการแผ่ขยายอิทธิพลของประเทศหนึ่งไปสู่อีกประเทศหนึ่งเพื่อครองความเหนือกว่า และได้รับสิ่งที่ตนต้องการโดยไม่ได้ใช้กำลังบังคับ

โจเซฟ นาย มองว่า “อำนาจก็คือความสามารถในการมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของผู้อื่นเพื่อให้ได้รับสิ่งที่ตนต้องการ” (Power is the ability to influence the behavior of others to get the outcomes one wants.) แต่การจะได้สิ่งที่ต้องการนั้นสามารถทำได้หลากหลายวิธี หากใช้กำลังบังคับหรือใช้เงินทองซื้อมานั้นเรียกว่าเป็นการใช้ “อำนาจแข็ง” (Hard Power) ในขณะที่ “อำนาจอ่อน” (Soft Power) นั้นจะทำให้ได้สิ่งที่ต้องการมาอย่างแนบเนียนและผู้ให้มอบมาด้วยความสมัครใจ ดังนั้น จึงยั่งยืนกว่าและไร้แรงต่อต้าน

ความหมายของซอฟต์เพาเวอร์แต่เดิมจึงไม่ได้มุ่งเน้นไปที่เรื่อง “เศรษฐกิจ” เป็นหลัก แต่เน้นหนักไปที่ “การเมืองระหว่างประเทศ” เสียมากกว่า

นอกจากนี้ ซอฟต์เพาเวอร์ยังมีนัยไปถึงอำนาจประเภทหนึ่ง มิใช่ “ผลิตภัณฑ์” (product) แบบที่แสดงให้เห็นเป็นชิ้นเป็นอันให้ปรากฏชัดๆ ได้อย่างในโครงการโอท็อป

กล่าวคือ สินค้าและผลิตภัณฑ์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของซอฟต์เพาเวอร์ หาใช่ซอฟต์เพาเวอร์โดยตัวของมันเอง

ทว่าต่อมาคำนี้ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในเรื่อง “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” (Creative Economy) ผ่านการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรม ไปสู่การแปลงคุณค่าของทรัพยากรทางวัฒนธรรม เพื่อนำไปสู่การสร้างและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และสร้างโอกาสในการแสวงหารายได้แบบใหม่ อย่างที่พรรคเพื่อไทยนำมาใช้ในนโยบาย OFOS

รวมทั้งรัฐบาลก่อนหน้านี้ที่หยิบยกมาใช้ในความหมายนี้ประมาณสองปีแล้วใน “โครงการ 5F” ได้แก่ อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) และ เทศกาลประเพณีไทย (Festival)

ตามข่าว “โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ส่งเสริมการขับเคลื่อนโครงการ 5F ผลักดันผลิตภัณฑ์และวัฒนธรรมไทยเป็นสินค้าส่งออกให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก สร้างโอกาสจาก Soft Power”

 

การที่ความหมายของคำนี้เลื่อนไหลไปตามการใช้ในประเทศไทย ได้ส่งผลให้ผู้คนเกิดความสับสนและงุนงงว่าอันที่จริงแล้วหมายความว่าอย่างไรกันแน่ รวมทั้งเกิดความเบื่อหน่ายที่ศัพท์ทางรัฐศาสตร์และการเมืองระหว่างประเทศถูกนำมาใช้อย่างพร่ำเพรื่อจนเฝือ กระทั่งกลายเป็น “Buzz Word” แต่ท้ายที่สุดไม่ว่านิยามของคำนี้จะกลายเป็นอะไรไปแล้วก็ตาม

ประเด็นที่ควรสนใจและ “ไปต่อ” ก็คือเราได้ประโยชน์อะไรจากนโยบายนี้?

หรือกล่าวให้ชัดก็คือ

(1) นโยบายนี้เป็นนโยบายที่ดีหรือไม่

และ (2) นโยบายนี้เป็นไปได้จริงแค่ไหนในทางปฏิบัติ

ประเด็นแรก นโยบายนี้ดีหรือไม่ แน่นอนว่าคำตอบคือ “ดี” เพราะหากสามารถนำต้นทุนทางวัฒนธรรมไปเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้กับประชาชนในทุกครัวเรือนได้ก็ย่อมเป็นเรื่องที่ดีแน่ๆ

คำตอบของคำถามนี้จึงน่าจะเป็นฉันทามติที่ยากจะมีผู้ใดเห็นแย้ง

ดังนั้น ปัญหาที่น่าสนใจก็คือประเด็นที่สองเรื่อง “ความเป็นไปได้ของนโยบาย” เสียมากกว่า ว่ามีโอกาสทำได้จริงมากน้อยเพียงใด เพราะการยกระดับและแปลงทุนทางวัฒนธรรมให้เป็นรายได้ไม่ใช่เรื่องง่าย และการทำเช่นนั้นให้บรรลุผลจริงได้ก็ยากมากหากต้องทำทุกครอบครัว

ตามข้อมูลที่ปรากฏในข่าว “เสริมศักดิ์เล็งผุดศูนย์ซอฟต์เพาเวอร์มีอุ๊งอิ๊ง หน.ครอบครัว พท.นั่งประธาน” ได้ระบุว่าจะมีการตั้ง “ศูนย์ซอฟต์เพาเวอร์” ขึ้นเพื่อขับเคลื่อนนโยบายนี้ โดยมีกลไกสำคัญก็คือ THACCA ซึ่งปรากฏอยู่ในหน้านโยบายหลักของเว็บไซต์พรรคเพื่อไทย

และคาดเดาว่าได้รับแบบอย่างมาจาก KOCCA ของเกาหลีใต้ แต่แปลง Korea มาเป็น Thailand

ในขณะเดียวกันที่ชวนให้คิดถึงชื่อ Thaksin ด้วย แน่นอนว่าการที่ทักษิณ ชินวัตร มีเครดิตในเชิงบวกจากการนำนโยบายไปปฏิบัติได้สำเร็จเมื่อครั้งอดีต ก็ย่อมส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของ OFOS และ THACCA ด้วย

 

เนื่องจากพื้นที่อันจำกัด บทความนี้จึงยังไม่ได้ลงไปวิเคราะห์ในรายละเอียดของทั้งตัวนโยบายและโครงการนี้ว่ามีโอกาสเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ได้แต่แสดงความเห็นกว้างๆ ว่า

หนึ่ง นโยบายนี้เป็นแนวคิดที่ดีแต่ทำได้ยาก ซึ่งการทำได้ยากก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำไม่ได้

สอง นโยบาย OFOS ที่รัฐมนตรีเสริมศักดิ์พูดโดยเนื้อแท้แล้วคือการส่งเสริมอาชีพในครัวเรือนนั่นเอง เพียงแต่จำกัดขอบเขตลงมาที่ทักษะอาชีพที่เกี่ยวกับ 5F เช่น การทำอาหารชนิดต่างๆ เป็นต้น แทนที่จะไปส่งเสริมทักษะอาชีพแบบกว้างๆ อย่างที่เคยเป็นมา

และ สาม การดำเนินนโยบายนี้อาศัยแนวทางการใช้เจ้าหน้าที่รัฐและกลไกรัฐจากกระทรวงต่างๆ ลงไปสำรวจข้อมูลของครัวเรือนในพื้นที่ทั่วประเทศ แล้วค่อยนำข้อมูลนั้นมาวิเคราะห์เพื่อหาทางส่งเสริมและพัฒนาอาชีพต่อไป ดังนั้น จึงจำเป็นต้องใช้ทั้งกำลังคน ระยะเวลา และงบประมาณเป็นจำนวน หากรัฐบาลนี้มีอายุสั้นก็ย่อมสุ่มเสี่ยงที่โครงการนี้จะล่มไปด้วย

เพราะฉะนั้น เมื่อนโยบายนี้เป็นสิ่งที่ดีแต่มีความเป็นไปได้ไม่มาก ความน่าสนใจและชวนติดตามของเรื่องนี้จึงไม่ได้อยู่ที่คำแปลหรือความหมายของคำ แต่อยู่ที่ “ผลลัพธ์สุดท้ายของโครงการ” เสียมากกว่า ว่าจะสำเร็จสัมฤทธิผลดังที่ประกาศเอาไว้หรือไม่ เพราะอะไร และด้วยวิธีการอย่างไร

ส่วนคำว่าซอฟต์เพาเวอร์ที่มีความหมายลื่นไหลไปเรื่อยในสังคมไทยอาจเป็นเรื่องชวนปวดหัวในวงวิชาการอยู่บ้างก็จริง

แต่ในส่วนของประชาชนทั่วๆ ไปที่ทำมาหากินนอกวงวิชาการ เรื่องนี้คงไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายสำหรับพวกเขา