ไม่ตาย ‘ผึ้งหึ่ง’ จำศีลอยู่ใต้น้ำ ได้เป็นสัปดาห์

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ | ป๋วย อุ่นใจ

 

ไม่ตาย

‘ผึ้งหึ่ง’ จำศีลอยู่ใต้น้ำ

ได้เป็นสัปดาห์

 

บนโลกนี้มี “ผึ้ง” กว่า สองหมื่นชนิด แทบทุกชนิดมีประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ

ในฐานะนักผสมเกสร ผึ้งมีอิทธิพลอย่างมากต่อความยั่งยืนของระบบนิเวศน์ของโลก และการทำเกษตรกรรมของมนุษย์ แต่ทว่าในยุคปัจจุบัน ที่ปัญหาโลกร้อน โลกรวน โลกเดือดกำลังอยู่ในขั้นวิกฤต ผึ้งเป็นอีกหนึ่งกลุ่มของสิ่งมีชีวิตที่มีจำนวนประชากรลดลงอย่างฮวบฮาบจนอยู่ในขั้นน่ากังวล

อย่างไรก็ตาม ภาวะภูมิอากาศแปรปรวนไม่ใช่สิ่งเดียวที่ประหัตประหารมวลหมู่ประชากรผึ้งจนสูญหายไปไวจนน่าตกใจ เพราะอีกหนึ่งปัจจัยที่มีส่วนอย่างมากในการลดโอกาสในการอยู่รอดของมวลหมู่ผึ้ง ก็คือ “มนุษย์”

ด้วยขนาดจำนวนประชากรมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นทบเท่าทวีคูณ ทำให้ความต้องการที่อยู่และอาหารเพิ่มสูงมากยิ่งขึ้น เมื่อมีอุปสงค์ก็ย่อมต้องมีอุปทาน การขยายขนาดของสังคมมนุษย์ทำให้เกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็วของชุมชนเมืองและพื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร และโอกาสการดำรงอยู่ของ “ผึ้ง”

ถิ่นที่อยู่ที่เคยเป็นผืนป่าที่ยึดโยงติดกันเป็นผืนใหญ่ก็ถูกแทรกจนแยกกระจัดกระจายเป็นผืนเล็กผืนน้อยด้วยป่าคอนกรีต พืชพรรณดอกไม้ป่าที่เคยมีอย่างอุดมก็ถูกแผ้วถางจนเป็นพื้นที่สำหรับผลิตอาหารมนุษย์

แน่นอน ผึ้งหลายชนิดปรับตัวจนสามารถเปลี่ยนมาใช้พืชสวนพืชไร่เป็นอาหารแทนในการดำรงชีวิตและขยายเผ่าพันธุ์

ซึ่งก็น่าจะพอกล้อมแกล้มให้พวกมันเอาตัวรอดอยู่ได้

ผึ้งหึ่ง (Common eastern bumblebee) ภาพโดย Ryan Hodnett via Wikimedia Commons under CC BY-SA 4.0 DEED

แต่โลกแห่งความเป็นจริงนั้นโหดร้าย ในการทำการเกษตร เพื่อให้ผลผลิตออกมาสวยงาม ขายได้ราคาดี เกษตรกรจำนวนมากเลือกที่จะใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และนักผสมเกสรชั้นดีอย่างผึ้งก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งมีชีวิตโดนหางเลขจากสารกำจัดศัตรูพืชพวกนี้เข้าไปเต็มๆ

และถ้าดูสถิติการใช้สารกำจัดศัตรูพืชในระดับโลกแล้ว ต้องบอกว่าตัวเลขนั้นใหญ่โตมโหฬารจนน่าตกใจ เพราะจากการประมาณการของแองเกต ชาร์มา (Anket Sharma) นักพฤกษศาสตร์จาก มหาวิทยาลัยคุรุ นานัค เดฟ (Guru Nanak Dev University) ในอินเดียและทีม

แค่ในปี 2019 ปีเดียว การใช้สารกำจัดศัตรูพืชนั้นก็มากถึงราวๆ 2 ล้านตันไปแล้ว และยังเพิ่มสูงยิ่งขึ้นไปในปีต่อๆ มา จนไปแตะระดับที่ 3.5 ล้านตันในปี 2021

สิ่งที่น่าตกใจก็คือ แนวโน้มในการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชนั้น ไม่มีวี่แววว่าจะลด มีแต่จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ความต้องการอาหารของมวลมนุษย์ยังคงทวีจำนวนเพิ่มขึ้น

ซึ่งเป็นที่อะไรที่ย้อนแย้ง เพราะรายงาน The Pollination of Cultivated Plants : A Compendium for Practitioners – Vol. 1. ขององค์การอาหารและการเกษตรของสหประชาชาติ (Food and Agricultural Organization of the United Nations, FAO) เผยว่าการสูญเสียไปของนักผสมเกสรอย่างผึ้งอาจส่งผลกระทบมากต่อผลผลิตพืชพันธุ์ธัญญาหารในอุตสาหกรรมเกษตรมากถึง 35 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

เรียกว่าต่อให้กำจัดศัตรูพืชได้ แต่ถ้าผึ้งหาย ระบบนิเวศน์เพี้ยน ท้ายที่สุด ปริมาณผลผลิตที่ได้จะทิ้งดิ่งตามลงไปด้วยอยู่ดี

 

และนั่นคือสาเหตุที่ทำให้นักวิจัยมากมายเริ่มระดมสมองเพื่อหากลไกเพื่อปกปักรักษาความหลากหลายของเผ่าพันธุ์ผึ้งในธรรมชาติเอาไว้ให้มากที่สุด

ตั้งแต่การเก็บรักษาน้ำเชื้อผึ้งโดรนแช่แข็งเอาไว้ เผื่อว่าจำเป็นต้องเอามาใช้ผสมพันธุ์ผึ้งกลับมาใหม่ในอนาคต

ไปจนถึงการออกแบบวัคซีนเพื่อต้านการติดเชื้อตัวอ่อนเน่าในผึ้ง (American Foulbrood Disease) ที่เพิ่งได้รับการอนุมัติใช้ไปหมาดๆ ในสหรัฐอเมริกาเมื่อต้นปี 2023

พอพูดถึงการเก็บรักษาน้ำเชื้อผึ้ง หรืออสุจิผึ้ง ในระหว่างที่เขียนเรื่องนี้ ผมก็คลิกไปเปิดคลิปดูเทคนิคการรีดน้ำเชื้อผึ้งในยูทูบ ซึ่งทำให้ผมรู้สึกประหลาดพิสดารมาก

คือในทุกสเต็ปของการรีดน้ำเชื้อ ความรู้สึกมันเหมือนกับเวลาดูคลิปบีบสิวอักเสบที่หลายๆ คนชอบดูกันก่อนยุคคัลเลนกับพี่จองยังไงยังงั้น

ในการเก็บอสุจิผึ้ง จะต้องเก็บจาก “ผึ้งโดรน” ซึ่งเป็นผึ้งตัวผู้ที่ไม่มีบทบาทอะไรในรัง เหล็กไนก็ไม่มี น้ำหวานก็ไม่เก็บ เกสรก็ไม่เอา มิชชั่นเดียวของพวกมันก็คือการพลีชีพเพื่อให้ได้สืบพันธุ์กับผึ้งราชินี

“พวกมันคืออวัยวะสืบพันธุ์บินได้” แบรนดอน ฮอปกินส์ (Brandon Hopkins) นักกีฏวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐวอชิงตัน (Washington State University) ในเมืองพูลแมน (Pullman) นักแสดงหลักในคลิป เผย “สิ่งเดียวที่พวกมันทำได้ก็คือผสมพันธุ์”

“ง่ายๆ เลย สิ่งที่คุณต้องทำก็คือบีบ แล้วสิ่งนั่นก็จะปลิ้นออกมา” แบรนดอนอธิบาย และสิ่งนั้นในความหมายของแบรนดอน ก็คือน้ำเชื้อของผึ้ง!

 

ในคลิป แบรนดอนจับที่ก้นของผึ้งโดรนอย่างแผ่วเบา ก่อนที่จะใช้นิ้วสองข้างของเขาบีบลงไปที่ท้องของผึ้งโดรน จนอวัยวะสืบพันธุ์ของผึ้งปลิ้นออกมานอกก้น และพอเขาบีบอีกทีน้ำเชื้อของผึ้งที่มีลักษณะเป็นของเหลวสีขาวขุ่นก็จะไหลทะลักออกมา (เหมือนหัวสิวไหลออกมาจากรูไม่มีผิด) ให้เขาเก็บ…

แบรนดอนบรรจงดูดน้ำเชื้อของผึ้งเก็บทีละนิด ก่อนที่จะส่งไปเก็บรักษาไว้ที่ห้องปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อการเก็บรักษาทรัพยากรทางพันธุกรรมของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA Agricultural Research Service National Laboratory for Genetic Resources Preservation) ในโคโลราโด

เผื่อว่าสักวันในอนาคต ถ้าผึ้งใกล้จะหมดไปจากโลกจริงๆ จะได้ละลายออกมาผสมกับราชินีเพื่อฟื้นชีพเผ่าพันธุ์ของพวกมันกลับมาจากการสูญพันธุ์

แต่ในขณะที่นักวิจัยผึ้งส่วนใหญ่รวมทั้งแบรนดอนด้วย มักจะให้ความสำคัญกับ “ผึ้งพันธุ์” หรือที่บางคนเรียกว่า “ผึ้งน้ำหวาน (honey bee)” เพราะมีอิทธิพลมากในเชิงเศรษฐกิจ

แต่ซาบรินา รอนโด (Sabrina Rondeau) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยกวัฟล์ (Guelph) กลับสนใจศึกษาผึ้งอีกชนิดที่เรียกว่า “ผึ้งหึ่ง (Bumblebee)”

 

ผึ้งหึ่ง คือผึ้งที่มีลักษณะตัวอ้วนและใหญ่ สีเหลืองสลับดำ เวลาบินมักจะได้ยินเสียงหึ่งๆ ฟังดูอันตราย บินไปตรงไหน วงแตกที่นั่น เพราะตัวใหญ่และน่ากลัว

แต่สิ่งที่ซาบรินาสนใจนั้นกลับเป็นพฤติกรรมสุดพิลึกของพวกมัน นั่นก็คือ เพื่อหนีหนาวในฤดูเหมันต์อันหนาวเหน็บ ราชินีผึ้งหึ่งจะขุดโพรงในดินเพื่อจำศีล

แต่ถ้ามีการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชเยอะ การตกค้างในดินก็น่าจะเยอะตาม เธอก็เลยอยากรู้ว่าสารเคมีตกค้างพวกนี้จะส่งผลกระทบอะไรกับราชินีผึ้งหึ่งจำศีลอยู่ในพื้นดินบริเวณนั้นหรือไม่

และเพื่อให้ราชินีผึ้งหึ่งจำศีล ซาบรินาจับเอาราชินีผึ้งใส่หลอดทดลอง ใส่ดิน แล้วเอาไปแช่ไว้ในตู้เย็น

และแล้ววันหนึ่ง เธอก็จะหยิบหลอดราชินีผึ้งมาใช้ สิ่งที่เธอพบทำให้เธอตกใจ คือในบางหลอด ไอน้ำจากตู้เย็นควบแน่นกลายเป็นหยดน้ำไหลลงไปก้นหลอด ที่สำคัญ ราชินีผึ้งที่เธอเฝ้าทะนุถนอมนั้นจมอยู่ใต้น้ำไปสี่ตัว

ซาบรินามั่นใจว่าราชินีผึ้งหึ่งทั้งสี่ของเธอนั้นคงจะจมน้ำตายไปนานแล้ว ตั้งแต่อยู่ในตู้เย็น… ด้วยความไม่คาดหวัง ซาบรินาค่อยๆ ดึงเอาตัวของราชินีออกมาจากหลอด

แต่เธอก็ต้องแปลกใจอีกครั้ง เมื่อราชินีที่ถูกกู้ขึ้นมาจากน้ำเริ่มที่จะขยับดุกดิกอีกครั้ง

พวกมันยังไม่ตาย…

 

สําหรับบางคน นี่คือเรื่องของความโชคดี ราชินียังไม่ตาย การทดลองยังไม่ถึงกับล่ม แต่สำหรับซาบรินานี่คือโจทย์วิจัยข้อใหม่ที่น่าสนใจ บางทีนี่อาจจะเป็นหนึ่งในกลไกการอยู่รอดที่ผ่านการวิวัฒนาการมาแล้วเนิ่นนานก็เป็นได้ ซาบรินาไม่เชื่อว่าการรอดชีวิตของราชินีทั้งสี่จะเป็นเรื่องฟลุก

เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผลที่เธอเห็นนั้นเป็นจริง ซาบรินาตัดสินใจใช้จำนวนราชินีผึ้งหึ่งที่มากขึ้นกับการทดลองครั้งใหม่ของเธอ คราวนี้ ซาบรินาเติมราชินีผึ้งเข้าไปแบบจัดเต็ม 143 ตัวใส่ดิน ใส่ตู้เย็นให้จำศีล ก่อนที่จะแบ่งเป็นกลุ่มๆ กลุ่มเหนือน้ำ กลุ่มแช่น้ำ 8 ชั่วโมง กลุ่มแช่น้ำ 24 ชั่วโมง และกลุ่มแช่น้ำ 1 สัปดาห์

ผลปรากฏว่าราชินีผึ้งหึ่งจากทุกกลุ่มรอดแบบสบายๆ และถ้าเทียบระหว่างกลุ่มเหนือน้ำ กับกลุ่มแช่น้ำ 1 สัปดาห์ที่ดูจะเอ็กซ์ตรีมที่สุดนั้น อัตราส่วนของผึ้งรอดชีวิตไม่ต่างกัน ซึ่งก็คือเกิน 80 เปอร์เซ็นต์ทั้งคู่

 

“ผึ้งหึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนดิน ร่างกายของพวกมันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้อยู่ใต้น้ำ” ไนเจล เรน (Nigel Raine) นักวิจัยในทีมของซาบรินาจากมหาวิทยาลัยกวัฟล์กล่าว “นี่เป็นอะไรที่เซอร์ไพรส์มาก”

แต่ถ้ามองในแง่วิวัฒนาการ นี่คือการจำลองการจำศีลหน้าหนาว ที่ราชินีผึ้งจะฝังตัวนิ่งๆ อยู่ใต้ดิน ไม่ทำอะไรเลย ลดการหายใจ ลดเมตาโบลิซึ่ม เพื่อให้อยู่รอดให้ได้นานที่สุด เพื่อรอเวลาฤดูใบไม้ผลิที่พวกมันจะกลับออกมาเริ่มรังใหม่

แม้ว่าการฝังตัวจำศีลนิ่งๆ อยู่ใต้ดินนั้นจะช่วยให้ราชินีผึ้งหึ่งนั้นปลอดภัยจากภยันตรายต่างๆ ทั้งจากผู้ล่า และจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแบบสุดขั้วได้

แต่ภัยธรรมชาติหนึ่งที่คุกคามพวกมันได้เวลาอยู่ใต้ดินก็คือ “น้ำท่วม”

แต่ดูเหมือนว่าน้ำท่วมอาจจะไม่ใช่ปัญหาที่เราต้องกังวลมากสำหรับราชินีผึ้งหึ่ง อย่างน้อยก็สปีชีส์ที่ซาบรินาทดลอง…

“ยังมีอะไรอีกมากที่เราต้องเรียนรู้” การค้นพบครั้งนี้ “ทำให้เราตระหนักได้ว่าเรารู้เกี่ยวกับวงจรชีวิตของผึ้งหึ่งน้อยเพียงไร” อลิซาเบธ โครน (Elizabeth Crone) นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส กล่าว

คำถามต่อไปที่ต้องถามก็คือ “แล้วผึ้งหึ่งสปีชีส์อื่นๆ ล่ะ สามารถทนน้ำท่วมได้เหมือนผึ้งหึ่งชนิดนี้มั้ย” และที่สำคัญกลไกอะไรกันแน่ที่อยู่เบื้องหลังการป้องกันการจมน้ำตายของพวกมัน

 

นี่เป็นอะไรที่น่าสนใจมาก

เพราะหนึ่งในสามของสปีชีส์ของผึ้งหึ่งในโลกกำลังอยู่ในช่วงขาลง

เพื่อที่จะช่วยอนุรักษ์เผ่าพันธุ์ของผึ้งหึ่ง (และผึ้งอื่นๆ) เราต้องรู้ว่าปัจจัยอะไรบ้างที่เป็นภัยคุกคามพวกมันในสภาวะที่ภูมิอากาศแปรปรวนเช่นนี้ อย่างน้อยตอนนี้ก็ขีดฆ่าปัญหาน้ำท่วมทิ้งไปได้หนึ่งอย่างสำหรับ “ผึ้งหึ่ง” อย่างน้อยก็ในสปีชีส์ที่ใช้ในการทดลองนี้…

ถ้ามองย้อนกลับไป การทดลองนี้เกิดขึ้นจากความผิดพลาด (ในการเก็บราชินีของซาบรินา)… แต่ความช่างสังเกตและการคิดนอกกรอบ ทำให้ซาบรินาสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส พลิกความผิดพลาดให้เป็นการค้นพบองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ช่วยให้เราเข้าใจโลกใบนี้ได้ดีขึ้น (อย่างน้อยก็เข้าใจผึ้งหึ่งแหละ)

ว่าแต่วันนี้ คุณคิดนอกกรอบแล้วหรือยัง?