รายละเอียด

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อน ผมกับ “โจ้” ธนา เธียรอัจฉริยะ ไปบรรยายพิเศษให้ “โบ้ท” ไผท ผดุงถิ่น และ “จั๊ก” กรกนก เชาว์ปรีปรีชา

ทั้งคู่กำลังจะเปิดหลักสูตร IX- Iconix Xperience

เป็นหลักสูตรของ “คนฝันใหญ่”

หลักสูตรทั่วไปจะนั่งฟังในห้องเรียน แต่หลักสูตรนี้พาไปดูโครงการจริงๆ ของ “นักสร้างฝัน”

แล้วให้ “นักฝัน” เล่าเรื่องราวแนวคิดและเรื่องราวของโครงการ

…น่าสนใจมาก

เขาให้ผมกับ “โจ้” ไปเล่าเรื่องเคล็ดลับของหลักสูตร ABC ที่เราทำและเพิ่งปิดตำนานไปเรียบร้อยแล้วในรุ่นที่ 14

ก่อนไปพูด ผมนั่งทบทวนถึงวิธีคิดและรายละเอียดต่างๆ ของ ABC

ที่ผ่านมา เราทำไปเรื่อยๆ เจอปัญหาก็ปรับแก้

คิดอะไรใหม่ได้ก็ใส่ลงไป

ไม่ได้นั่งทบทวนอย่างจริงจัง

พอจะต้องไปพูด ผมก็นั่งคิดและสรุปเรื่องราวทั้งหมด

โห…พิมพ์ได้ตั้ง 4-5 หน้า

แต่สรุปเป็นคำสั้นๆ

“รายละเอียด คือ พระเจ้า”

เพราะเราคิดทุกขั้นตอนอย่างละเอียด ใส่ใจในสิ่งที่หลายคนไม่เคยสนใจ

เราทำให้ ABC คือ “การเดินทาง”

จัดวางประสบการณ์ให้นักเรียนในแต่ละช่วงเวลาตั้งแต่เริ่มต้นจนจบหลักสูตร

ครั้งหนึ่ง “พล หุยประเสริฐ” ผู้อยู่เบื้องหลังการจัดคอนเสิร์ตดังๆ ในเมืองไทยเคยมาบรรยาย

เขาพูดถึงคำว่า “มวลอารมณ์”

แต่ละช่วงของคอนเสิร์ต คนดูจะรู้สึกอย่างไร

เขาจะนำพา “มวลอารมณ์” ของคนดูให้เดินทางไปตามที่เขาวางแผนไว้

และจบลงด้วยความประทับใจ

 

ผมกับ “โจ้” ใช้หลักคิดนี้ในการทำหลักสูตร ABC

ตั้งแต่ในห้องเรียน จนถึงกิจกรรมหลังเรียน

คิดเหมือนเป็น “โชว์” มากกว่าการเรียน

ทุกโชว์ให้นักเรียน “ว้าว” เป็นระยะๆ

แล้วเอามาจัดเรียงกันจนถึงวันจบ

วันนั้น ผมเล่า “รายละเอียด” ต่างๆ ที่หลายคนนึกไม่ถึง

เช่น เรื่องอาหารกลางวัน

แค่เปลี่ยนจากอาหารบุฟเฟ่ต์ทั่วไป เป็น “ซุ้มอาหาร” จากร้านสตรีตฟู้ดอร่อยๆ ที่จอดรถยากๆ

ใช้เงินน้อยกว่า แต่อร่อยกว่ากันเยอะ

หรืออุปกรณ์ในห้องน้ำ แทนที่จะมีแค่ “ทิชชู่”

ในห้องน้ำชายหรือหญิง เราทำชั้นพิเศษที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์ที่คุณนึกไม่ถึงว่าจะใส่ใจ “รายละเอียด” ขนาดนี้

จากนั้น พอเราปักธงเรื่อง “รายละเอียด” มากเข้า คนทำงานก็จะครีเอตงานต่างๆ ขึ้นมา

“แม่บ้าน” ก็คิดเองได้

อย่างเช่น เราจะมี “ลูกอม” หลายอย่างวางไว้บนโต๊ะเรียน ช่วงพักเบรก เธอจะเข้ามาดูแล้วเพิ่มลูกอมใหม่ลงไป

แทนที่จะหยิบลูกอมอะไรใส่ลงไปก็ได้

เธอจะดูก่อนว่าคนที่นั่งตรงนั้นกินลูกอมแบบไหนไป

เพราะส่วนใหญ่จะทิ้งซองลูกอมไว้ที่โต๊ะ

ชอบกินอะไร เธอจะเติมลูกอมนั้นลงไป

เก็บ “รายละเอียด” ทุกเม็ด

 

หลังจากนั้นไม่กี่วัน ผมมีโอกาสเป็นพิธีกรสัมภาษณ์คุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

“ต๋อย” ประณต เป็นเพื่อนตั้งแต่สมัยเรียนที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตอนนี้เพื่อนใหญ่โตอยู่ที่ “ไทยรัฐทีวี”

เดือนที่แล้ว “ต๋อย” โทร.มาเชิญ…

ไม่ใช่สิ ต้องบอกว่ามันโทร.มาสั่ง

บังคับขู่เข็ญให้ผมมาเป็นผู้ดำเนินรายการ

ด้วยเหตุผลที่น่ารักมาก

เพื่อนเริ่มต้นด้วยการเช็กคิวก่อนว่าวันนั้นว่างหรือไม่ พอรู้ว่าว่างก็ทาบทามแบบตรงไปตรงมา

“ตอนแรกกูชวน…มาเป็นคนสัมภาษณ์” เพื่อนเอ่ยชื่อคนหนึ่ง

“แต่เขาไม่ว่าง มึงมาเป็นให้หน่อย”

พูดจบก็วางหู

ผมเคยสัมภาษณ์คุณเศรษฐามาหลายครั้งบนเวที “มติชน” และ “ประชาชาติธุรกิจ”

แต่ตอนนั้นเขายังไม่ได้เป็น “นายกรัฐมนตรี”

หัวข้อของการสนทนาคือ “Future Perfect เปิดมุมคิด พลิกอนาคต”

เน้นเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก

แต่สถานการณ์ในวันนี้ยังไงก็ต้องถามเรื่อง “การเมือง” ด้วย

จะแทรกตรงไหน จังหวะไหน

แค่คิดคำถาม และวิธีการถามก็สนุกแล้วครับ

จะเริ่มต้น และลงท้ายอย่างไร

ถือเป็นความท้าทายส่วนตัว

ผมเชื่อว่าคนดูส่วนใหญ่น่าจะอยากรู้ว่ารัฐบาลจะทำอะไรบ้าง

และผมอยากให้คนได้รู้วิธีคิดและวิธีทำงานของคุณเศรษฐา

เนื่องจากผมเคยสัมภาษณ์บนเวทีและอ่านเรื่องราวของนายกฯ คนใหม่มาตั้งแต่ตอนทำ “แสนสิริ”

พออ่านทางได้

แต่มีบางเรื่องก็เหนือความคาดหมาย

 

ช่วงแรก คุณเศรษฐาเล่าถึงเรื่อง “วีซ่าฟรี” ให้นักท่องเที่ยวชาวจีน

ไม่ต้องขอวีซ่า เดินทางมาเที่ยวเมืองไทยได้เลย

เหมือนกับเราไม่ต้องขอวีซ่าไปญี่ปุ่น

เขาตั้งใจทำช่วงนี้ เพราะไตรมาสสุดท้ายเป็นไฮซีซั่น

รายได้จากการท่องเที่ยว เป็นการหารายได้ที่เร็วที่สุด

คุณเศรษฐาตั้งเป้าว่าสิ้นปีจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 35,000 ล้านบาท

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ วิธีการทำงาน

คุณเศรษฐาไม่ได้ลงทุนอะไรใหม่เลย

เพียงแค่ปรับระบบการจัดการใหม่ให้เร็วขึ้น สะดวกขึ้น

และประทับใจ

คงคล้ายๆ กทม.ลอกท่อให้น้ำระบายเร็วๆ

เขาคิดแบบใส่รองเท้า “นักท่องเที่ยว” ตั้งแต่เดินทางเข้าประเทศไทย

ช่องตรวจคนเข้าเมืองเป็นอย่างไร

ก้าวแรกที่เข้ามาต้องประทับใจ

คุณเศรษฐาสั่งให้เพิ่มช่องตรวจ ในช่วงนักท่องเที่ยวแน่นๆ

รอกระเป๋านานเท่าไร

บางครั้งรอเป็นชั่วโมง

ถ้าผ่านช่องตรวจเร็ว แต่มารอกระเป๋านาน นักท่องเที่ยวก็จะบ่นอีก

ผู้ว่าการการท่าฯ อธิบายว่าทำไมถึงต้องรอนาน แต่คุณเศรษฐาไม่ยอม

“ผมบอกท่านว่าผมเข้าใจ แต่ไม่ยอมรับ ต้องแก้ไขมา”

คุณเศรษฐาชมผู้ว่าการการท่าฯ คนนี้มาทำงานดีมาก

ทุกอย่างปรับแก้อย่างรวดเร็ว

หรืออย่างเรื่องสนามบินภูเก็ต

แกร็บเข้าไม่ได้ เพราะคนที่รับสัมปทานรถแท็กซี่สนามบินไม่ยอม

นักท่องเที่ยวต้องลากกระเป๋า 700 เมตรกว่าจะถึงถนนใหญ่

คุณเศรษฐาสั่งให้เจรจากับคนรับสัมปทาน

ตอนนี้แก้ไขได้แล้ว

ความประทับใจครั้งแรก สำคัญที่สุด

 

อีกเรื่องหนึ่ง คือ นักท่องเที่ยวอินเดีย

คุณเศรษฐาบอกว่ามีคนตั้งคำถามว่าทำไม “วีซ่าฟรี” เฉพาะนักท่องเที่ยวจีน

“อินเดีย” ก็ประเทศใหญ่ ทำไมไม่ให้ “วีซ่าฟรี” บ้าง

เขาอธิบายว่าขั้นตอนการขอวีซ่าของนักท่องเที่ยวอินเดียใช้เวลาไม่นานเหมือนที่จีน

และเล่าต่อว่า นักท่องเที่ยวอินเดียที่มาเมืองไทยมีกำลังซื้อสูง

โดยเฉพาะเขาชอบจัดงานแต่งงานในเมืองไทย

“คนอินเดียอัตราการหย่าร้างต่ำ และเขาถือว่างานแต่งงานเป็นหน้าเป็นตา ใช้เงินจัดงานเป็นสิบล้านบาท”

แต่มีปัญหาเล็กๆ เรื่องเครื่องเพชรที่เอาเข้ามาใช้ในงาน

ต้องเสียภาษี

“ตอนนี้กำลังคิดว่าจะยกเลิกการจัดเก็บได้ไหม”

นี่คือ 2 ตัวอย่างที่หลายคนอาจจะฟังแบบผ่านๆ

แต่สำหรับ “คนทำงาน” ฟังเรื่องนี้แล้วรู้เลยว่าคุณเศรษฐาลงรายละเอียดจริงๆ

เหมือนตอนทำโครงการหมู่บ้านจัดสรร

เขาเคยเล่าว่าคนส่วนใหญ่ชอบตัดหญ้าที่สนามในโครงการวันศุกร์

เพราะเสาร์-อาทิตย์ ลูกค้าจะมาดูโครงการเยอะ

แต่วิธีการนี้ผิด

เพราะตัดวันศุกร์ เสาร์-อาทิตย์ หญ้าจะสั้นแต่เหลือง

ต้องตัดวันจันทร์หรืออังคาร

พอวันเสาร์-อาทิตย์ หญ้าจะเขียวสวย

“รายละเอียด” คือ “พระเจ้า” จริงๆ •

 

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ | หนุ่มเมืองจันท์

www.facebook.com/boycitychanFC