ทุนนิยมเจ้าเอย จะอยู่กันอย่างไร | คำ ผกา

คำ ผกา

เป็นเรื่องที่ดีมากที่สังคมไทยมีความตื่นตัวเรื่อง “ทุนใหญ่” และพูดเรื่อง “ทุนผูกขาด” กันมากขึ้น และเรียกร้องให้รัฐบาลมีนโยบาย “ทลายทุนผูกขาด”

ถามว่าทุนผูกขาดคืออะไร?

ฉันนึกถึงคำว่า “นายทุน ขุนศึก ศักดินา” ที่เราต้องเข้าใจให้ตรงกันในเบื้องต้นว่า พัฒนาการการเมืองการปกครองจากสยามมาสู่ไทยนั้นเราสามารถแบ่งหยาบๆ ได้เป็นสามช่วงใหญ่ๆ

นั่นคือ สยามก่อนรัชกาลที่ 5 ปกครองด้วยระบอบมูลนาย บริหารราชการในระบบที่เรียกว่าการกินเมือง การนั่งเมืองรายได้เกิดจากการเก็บส่วย เกณฑ์แรงงาน

ในระบบนี้ อำนาจที่แท้จริงมักอยู่ในมือของขุนนางที่ทรงอิทธิพล และใช้อำนาจแสวงหารายได้เข้าตนเอง

หลายครั้งขุนนางมีอำนาจจนคุกคามหรือบั่นทอนอำนาจของกษัตริย์ได้

 

ในสมัยรัชากาลที่ 5 ภายใต้การปฏิรูประบบราชการที่เราเรียกว่า “การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงประเทศให้ทันสมัย”

ทำให้มีการเลิกทาส ยกเลิกระบบไพร่แบบเดิม

ใช้ระบบการบริหารราชการที่ปรับมาจากการบริหารเมืองในอาณานิคม

เริ่มมีการจ่ายค่าแรง ค่าจ้าง เงินเดือนข้าราชการ

ริบอำนาจจากขุนนางในระบบมูลนายมาที่ระบบราชการที่มีอำนาจสูงสุดเป็นของพระมหากษัตริย์

เราเรียกการปกครองนี้ว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์

 

ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ถือเป็นปฐมบทของการเข้าสู่รัฐชาติสมัยใหม่ที่ตัวชี้วัดคือ “ชาติเป็นของประชาชน, ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย”

เปลี่ยนการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยระบบรัฐสภา มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง

จากตรงนี้ที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนไปด้วยนั่นคือ เราเปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจ “ผูกขาด” ในยุคก่อนหน้านี้มาเป็นเศรษฐกิจ “ทุนนิยม”

ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่เพิ่งก่อร่างสร้างตัวนี้มีรายละเอียดที่ทำให้เราเห็นสยามในยุคเปลี่ยนผ่านเยอะมาก ซึ่งต้องอาศัยการอ่านหนังสือหลายเล่มประกอบกัน

เช่น การอ่านหนังสือ “ปฏิวัติที่ปลายลิ้น” ของ ชาติชาย มุกสง จะทำให้เราเห็นการปรับเปลี่ยนนวัตกรรม เทคโนโลยี การเกษตร การโภชนาการ ที่รองรับอุตสาหรรม และเศรษฐกิจ “ใหม่” หลังการเปลี่ยนแปลงอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

อีกทั้งการเกิดขึ้นของผู้ประกอบการราย “จิ๋ว” ผ่านการส่งเสริมของรัฐบาล

เช่น การสนับสนุนให้มีร้านชำหรือร้านโชห่วยในชุมชนหน่วยย่อยๆ การส่งเสริมให้คนไทยเปิดร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านข้าวแกง ฯลฯ

พร้อมๆ กับการอ่านหนังสือ งานวิจัยที่เกี่ยวกับการเกิดขึ้นของทุนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ อุตสาหกรรมที่รัฐเข้าไปลงทุนเอง เช่น อุตสาหกรรมเครื่องหนังไทยในยุคแรก

ในขณะที่หนังสือประวัติศาสตร์นายทุนไทย ของ พรรณี บัวเล็ก จะทำให้เราเห็นการก่อตัวของทุนชาวจีนโพ้นทะเล และการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มทุนชาวจีนด้วยกันเอง กับอำนาจ “ราชการ” และกับทุนต่างชาติ พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของทุนท้องถิ่น

อันจะทำให้เราเห็นว่าพัฒนาการของ “นายทุน” ในไทยนั้นไม่สามารถลดทอนความซับซ้อนแค่การพูดง่ายๆ ว่า “ทุนใหญ่ ทุนผูกขาดเพราะรัฐเอื้อประโยชน์ ดังนั้น เราต้องมีรัฐบาลที่พร้อมจะทลายนายทุนปรสิต”

 

จุดเปลี่ยนที่น่าสนใจคือการหมดอำนาจลงของฝ่ายคณะราษฎรหลังการขึ้นสู่อำนาจของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พร้อมๆ กับการกลับมาเรืองอำนาจของฝ่ายขวาไทยภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกาในยุคสงครามเย็น

ทำให้เกิดพันธมิตรของทุนสามฝ่ายคือ ทหาร ชนชั้นนำ และพ่อค้า อันนำมาสู่คำว่า “นายทุน ขุนศึก ศักดินา”

ทุนผูกขาด ทุนสัมปทานจึงสัมพันธ์กับความเป็นประชาธิปไตยหรืออำนาจของประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ

เพราะฉะนั้น ในเวลาที่เราพูดเรื่อง “ทุนใหญ่” เราต้องแยกระหว่าง “นายทุน” ที่สร้างกำไรจากการผูกขาด และการได้สัมปทานยาวนานไร้คู่แข่ง

กับ “ทุนใหญ่” ที่เติบโตมาในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่ ในการเมืองประชาธิปไตยเสรีนิยม

การทลายทุนสองประเภทนี้มีลักษณะหนีเสือปะจระเข้อยู่ด้วยตัวของมันเอง

เช่น เมื่อมีรัฐบาลประกาศให้ privatized ทุนสัมปทาน หรือทุนที่รัฐและรัฐวิสหากิจเป็นเจ้าของ ก็จะมีเสียงต่อต้านว่า “รัฐกำลังจะเอื้อนายทุน”

หากทุกอย่างไปอยู่ในมือของนายทุนเอกชน จะไม่สามารถตรึงหรือควบคุมราคาสินค้าหรือบริการนั้นได้ นายทุนจะแสวงหากำไร และราคาสินค้า บริการจะผันผวนตามราคาตลาด

 

ฉันเดาเอาว่าในการเรียกร้องให้ “ทลายทุนผูกขาด” ที่เราพูดถึงกันอยู่ตอนนี้ ไม่ใช่ทุนสัมปทานเท่ากับที่หมายถึงทุนผูกขาดอันเกิดจากความได้เปรียบจากระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ เช่น เราพูดถึง “เจ้าสัว” ที่ทำธุรกิจทางการเกษตร อาหารสัตว์ เมล็ดพันธุ์พืช เกษตรพันธสัญญา ไปจนถึงการค้าปลีกในทุกระดับแทรกซึมอยู่ในทุกจังหวะย่างก้าวของชีวิตเรา

แต่นี่คือความจริงอันโหดร้ายของโลกทุนนิยม เพราะเรามีทางเลือกสองทางในระบบเศรษฐกิจ

คือ เราจะอยู่ในระบบทุนนิยมที่ควบคุมด้วยกลไกตลาดหรือเราจะอยู่ในโลกทุนนิยมที่รัฐเข้าไปแทรกแซงควบคุมมีอำนาจเหนือกลไกตลาด?

ถ้าเราเลือกอย่างที่สอง ทุน “เจ้าสัว” อาจถูกคุมกำเนิดโดยรัฐ และรัฐอาจมีกำหนดว่าในหนึ่งจังหวัดห้ามมีร้านสะดวกซื้อเกินกว่า 2 ร้าน

หากเป็นเช่นนี้ สิ่งที่เราต้องแลกคือ เราต้องอยู่กับรัฐมีมีอำนาจค่อนข้างมาก และมากจนเข้าก้าวก่ายชีวิตและเสรีภาพของเรา

และการที่ “ทุนใหญ่” ถูกคุมกำเนิดก็ต้องแลกมากับการที่เราต้องบริโภคสินค้าและบริการจาก “ทุนเล็ก” ซึ่งไม่ได้ทำอุตสาหกรรมครบวงจรเหมือนทุนใหญ่ ก็ทำให้เรา ผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าในราคาที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน

การทำอุตสาหกรรมครบวงจรของ “ทุนใหญ่” ที่เรารังเกียจนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันทำให้เราได้บริโภคเนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ ผัก ฯลฯ ในราคาที่ถูกลงมาก

คนมีรายได้น้อยสามารถเข้าถึง “อาหาร” ในราคาถูกลง เพราะสเกลการผลิตอันใหญ่โตมโหฬารนั้น

 

โครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลที่หลายคนตั้งคำถามว่าจะเอื้อทุนใหญ่ ทุนเจ้าสัว ฉันไม่แน่ใจว่าคนเหล่านี้ได้รู้จักวิถีชีวิตของประชาชนทั่วไปในสังคมไทยแค่ไหน

เท่าที่ฉันรู้ ตลาดนัด ร้านตูบกาด โชห่วยแถวบ้านฉันนั้นคือการผสมผสานสินค้าทั้งที่มาจากเกษตรกรรายย่อย และสินค้าจำนวนมาก พ่อค้าแม่ค้าก็ไปซื้อมาจากร้านค้าปลีกของทุนใหญ่หรือทุนเจ้าสัวทั้งสิ้น เพราะราคาขายส่งถูกกว่า

ถ้าคุณเปิดร้านอาหารแม้จะเป็นร้านเล็กๆ ฉันถามว่าถ้าคุณขายคอหมูย่าง คุณจะไปซื้อคอหมูวันละสิบกิโลกรัม ยี่สิบกิโลกรัมที่ไหนถ้าไม่ใช่แม็คโคร โลตัส

เพราะถ้าคุณไปซื้อที่เขียงหมูของรายย่อย หมูหนึ่งตัวก็มีคางหมูหนึ่งอัน มีหัวใจหนึ่งหัวใจ มีไส้ตันหนึ่งพวง ไม่สามารถตอบสนองธุรกิจร้านอาหารได้เลย

การที่ใครสักคนบอกว่าฉันจะอุดหนุนรายย่อย ไปกินอาหารอีสานร้านชาวบ้าน ก็อย่าลืมว่าชาวบ้านก็ไปซื้อวัตถุดิบจากร้านของ “เจ้าสัว” นั่นแหละ

เพราะฉะนั้น มันเป็นไปไม่ได้ที่ในระบบทุนนิยมนี้เราจะหนีไปจากเจ้าสัวพ้น

ร้านอาหรออร์แกนิกส์ ร้านเพื่อสุขภาพ หลายร้านที่ฉันรู้จักหลังฉากก็ไม่เห็นมีใครหนีพ้นไปซื้อของจากห้าง “เจ้าสัว”

เพราะลำพังใช้ของเกษตรกรรายย่อยอย่างเดียว มันไม่พอขาย และต้นทุนสูง ควบคุมคุณภาพ ปริมาณไม่ได้

เว้นแต่จะทำร้านอินดี้ ทำเอาชื่อเสียง ทำเอาสังคม เพราะบ้านมีอันจะกินอยู่แล้ว หรือก็ต้องเป็นระดัลเชฟเทเบิล ที่ชาวบ้านร้านถิ่นก็ไม่มีปัญญาไปกิน

หรือในทางกลับกัน ปัจจุบัน “ทุนใหญ่” ก็เข้าไปเทกโอเวอร์ธุรกิจที่เคยเป็นทุนเล็ก ทุนอิสระ กิจการร้านค้าที่หากมองด้วยตาเปล่า เราจะเข้าใจว่าคือธุรกิจอันสนับสนุนเกษตรกร คนตัวเล็ก การบริโภคทางเลือก สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน “ทุนใหญ่” ทำในสิ่งเหล่านี้เพื่อเป็น CSR ของบริษัท

ส่วนเจ้าของธุรกิจก็สมผลประโยชน์ว่าปั้นแบรนด์สำเร็จแล้ว ขายได้แล้ว ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงอีกเมื่อทุนใหญ่ซื้อไปบริหาร

เพราะฉะนั้น การที่เราเข้าไปซื้อ หรือไปกิน ไปอุดหนุนผัก อาหารเกษตรอินทรีย์ ก็ไม่ได้เท่ากับว่าเรากำลังสนับสนุนทุนรายย่อยเสมอไป เพราะทุนใหญ่ก็ยังคงใช้ชื่อแบรนด์ดั้งเดิมของกิจการนั้นๆ

 

ดังนั้น ฉันเองก็ไม่แน่ใจว่าการอยู่ในเศรษฐกิจทุนนิยม ควรเป็นเรื่องของการทลาย เจ้าสัว หรือทุนผูกขาด

หรือควรเป็นเรื่องของการ empower ให้สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้แก่ “ทุนเล็ก” กันแน่?

รัฐบาลที่ไม่ขายฝันเรื่องความเท่าเทียม เสมอภาค ไม่ฝันเปียกๆ กับลัทธิมาร์กซ์ ลัทธิสังคมนิยม ไม่ขาย buzzword ของฝ่ายซ้าย จึงนำเสนอนโยบายที่ไม่เป็นศัตรูกับทุนใหญ่ไปพร้อมกับการอุดหนุน empower ทุนของรายย่อย การตั้งธนาคาร SMEs สนับสนุนสินค้าโอท็อป พยายามทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กเข้าถึงแหล่งทุน มาตรการลดหย่อนภาษี สร้างแรงจูงใจทางภาษี การยกเลิกค่าธรรมเนียมที่ไม่จำเป็นในการทำธุรกิจ ลดขั้นตอนของระบบราชการ ยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากิน

หรือแม้แต่การทำให้ “ทุนเจ้าสัว” ครองตลาดสินค้าแมส แล้วส่งเสริมให้ทุนเล็ก ทุนรายย่อย ครองตลาดสินค้าที่เป็นงานคราฟต์ ทำน้อย ได้มาก เบียร์ทุนใหญ่ขวดละร้อย คราฟต์เบียร์ขวดละสามร้อย ก็ต้องแย่งกันซื้อ เสื้อผ้าของทุนใหญ่ผลิตเยอะ ราคาถูก เสื้อผ้าของทุนรายย่อย ผลิตน้อย เป็นงานแฮนด์เมด ขายได้แพงกว่าร้อยเท่าพันเท่า เป็นต้น

ในการอยู่กับทุนนิยม ทุนใหญ่คือแหล่งของการ “จ้างงาน” ขนาดมหึมา และตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญมากในระดับชาติและนานาชาติ

ขณะเดียวกันเราจำเป็นต้องมีผู้ประกอบการรายย่อยที่เข้มแข็ง และทั้งสองส่วนนี้ต่างมีหน้าที่พยุงเศรษฐกิจระดับมหภาคอย่างที่ขาดอันใดอันหนึ่งไปไม่ได้

 

สิ่งที่เราต้องเรียกร้องจากรัฐไม่ใช่การเห็นทุนใหญ่เป็นสิ่งที่กำจัดออกไป

แต่คือการสร้างระบบนิเวศน์ ทุนใหญ่ได้เปรียบเพราะสายป่านยาว ผลิตได้ครบวงจร แต่จะทำอย่างไรให้ทุนเล็ก ทุนรายย่อย สามารถเติบโต สง่างาม

ในเมืองท่องเที่ยวหนึ่งๆ เราต้องการทั้งโรงแรมหกดาว ห้าดาวในเครือของทุนใหญ่ ขณะเดียวกันโรงแรมเล็กๆ ที่มีเอกลักษณ์ มีบุคลิกเฉพาะตัวของผู้ประกอบการรายย่อยก็เป็นเสน่ห์ดึงดูดที่สำคัญของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

สิ่งที่อยากเรียกร้องจากรัฐบาลคือการรักษาสมดุลของทั้งทุนใหญ่และและธุรกิจของผู้ประกอบการรายย่อยมากกว่าการมองว่าทุนใหญ่คือศัตรูตัวแสบแสนชั่วต้องทำลาย

ลองจินตนาการถึงร้านข้าวเหนียวหมูปิ้งข้างทาง หน้าตลาดสดพวกเขาซื้อหมูจากไหน? ซื้อข้าวเหนียวจากไหน? ซื้อน้ำปลา ซอส ไม้เสียบหมูปิ้ง น้ำตาล จากไหน?

ส่วนมาก ร้านข้าวเหนียวหมูปิ้งอาจจะรับหมูปิ้งที่ผลิตมาโดยโรงงานของทุนใหญ่ที่ทำหมูปิ้งรสชาติมาตรฐานเดียวกันจากโรงงานของทุนใหญ่นั่นแหละ ส่งขายทั่วประเทศแล้วรายย่อยก็รับมาปิ้งขายอีกที

ตรงกันข้าม ข้าวเหนียวพันธุ์พื้นเมืองหายาก กับหมูปิ้งที่เป็นหมูอินทรีย์ กินน้ำหมักชีวภาพ กินอาหารผสมที่ปราศจากยาปฏิชีวนะ เนื้อหมูมีกลิ่นหอมสมุนไพรเป็นพิเศษ เหล่านี้ขายในร้านอาหารของเชฟชื่อดัง

หมูปิ้งจากโรงงานเจ้าสัวคืออาหรของคนจน แต่หมูปิ้งจากหมูอินทรีย์สุดพิเศษ ก็เป็นอาหาร “คราฟต์” ที่บางทีมีแค่เงินก็อาจจะไม่ได้กิน เพราะไม่รู้จัก เข้าไม่ถึง

 

ฉันไม่อยากตัดสินว่าอะไรดีกว่ากัน แต่มั่นใจว่า การมีทั้งสองแบบให้เลือก รายเล็กอยู่ได้ รายใหญ่ก็มีที่ทางในแบบของมัน สิ่งเดียวที่เราจะให้รัฐเข้ามาแทรกแซงคือ แทรกแซงเพื่อตลาดให้มี diversity หรือความหลากหลายทั้งในแง่ของผู้ประกอบการและผู้บริโภคมากที่สุดเท่าที่จะมากได้

ทำไมเราจะเอนจอยทั้งเบียร์ของทุนใหญ่ และคราฟต์เบียร์ในต่างกรรมต่างวาระไม่ได้

ทำไมเราจะเอนจอยทั้งไวน์ไทยและไวน์อีกจากหลายประเทศทั่วโลกไปพร้อมๆ กันไม่ได้

ทำไมเราจะกินทั้งเคเอฟซี และไก่ทอดหาดใหญ่ไม่ได้

และเราไม่ต้องท่องคำว่า ทุนใหญ่ ทุนผูกขาดไปเรื่อยๆ พร้อมๆ กับกดสั่งอาหารเดลิเวอรี่ ที่เปิดไปกี่ยี่ห้อก็ทุนผูกขาดที่เพิ่งทวีตด่าเขาไปนั่นแหละ