ส.ว.ชุดใหม่ Thailand-Select ประชาธิปไตยใน ‘ความเงียบ’

บทความในประเทศ

 

ส.ว.ชุดใหม่

Thailand-Select

ประชาธิปไตยใน ‘ความเงียบ’

 

นับถอยหลังเหลือเวลาไม่ถึง 10 วัน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดปัจจุบัน 250 คน ซึ่งมีที่มาจากกระบวนการสรรหาและคัดเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามบทเฉพาะกาล รัฐธรรมนูญ 2560 จะหมดวาระลงในวันที่ 10 พฤษภาคม หลังดำรงตำแหน่งครบวาระ 5 ปี

จากนั้น เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดใหม่ ขั้นตอนตามกฎหมายจะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือก เพื่อเฟ้นหา ส.ว. 200 คน จาก 20 กลุ่มอาชีพ ผ่านระบบการเลือกกันเอง 3 ระดับ คือ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ

เมื่อรัฐธรรมนูญออกแบบให้ผู้สมัคร ส.ว.ต่างคัดเลือกกันเอง ด้วยเหตุนี้ “ประชาชน” จึงไม่มีสิทธิเลือก ทำได้แค่เพียงเป็นผู้สังเกตการณ์ และช่วยตรวจตราความผิดปกติ การกระทำที่เข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายเท่านั้น

เช่นเดียวกับผู้สมัคร การแข่งขันชิงเก้าอี้สภาสูงในครั้งนี้ รัฐธรรมนูญ ระเบียบและกฎหมายต่างๆ ได้วางกฎ กติกา คุมผู้สมัครไว้อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการห้ามหาเสียง ห้ามพูดขอคะแนนหรือแลกคะแนน หรือรวมกลุ่มจัดตั้งเด็ดขาด

นอกจากนี้ ยังกำหนดห้ามไม่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ทำได้แค่เพียงพรีเซนต์แนะนำประวัติและคุณวุฒิ ประสบการณ์การทำงานของตัวเอง ผ่านช่องทางตามที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น

ฉะนั้น การเลือก ส.ว.ครั้งนี้ จึงค่อนข้างมีความสำคัญ เพราะเป็นการเลือกกันเอง ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 วางกติกาไว้ เท่ากับว่าเป็นการใช้ระบบนี้เป็นครั้งแรกของประเทศไทย

 

ด้วยขั้นตอนที่ซับซ้อน เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ “สื่อ” จึงมีบทบาทสำคัญที่จำเป็นต้องช่วยเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจให้กับผู้สมัคร ส.ว. รวมทั้งประชาชนที่ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด

บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จึงผุดแคมเปญ มติชน : ส.ว.ชุดใหม่ Thailand-Select เกิดจากความร่วมมือของสื่อในเครือ ได้แก่ มติชน, มติชนทีวี, มติชนสุดสัปดาห์, ข่าวสด, ศูนย์ข้อมูลมติชน หรือ MIC ร่วมกับกองบรรณาธิการสื่อออนไลน์ Way Magazine

รวมทั้งพันธมิตรนักวิชาการชั้นนำจากภาคปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และคณะรัฐศาสตร์ ม.เชียงใหม่ นอกจากนี้ ยังมีทีมงานสื่อ Khaosod English ร่วมแปลข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษเพื่อกระจายสู่สากล โดยได้จัดแถลงข่าวเปิดตัวแคมเปญอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่อาคารข่าวสด เพื่อหวังเป็นกระบอกเสียงให้การเลือก ส.ว.ครั้งนี้ เสียงดังที่สุด

ทั้งนี้ การแถลงข่าว นอกจากคิกออฟแผนงานตั้งแต่เริ่มต้น จนกระทั่งเห็นโฉมหน้า 200 ส.ว.ชุดใหม่แล้ว

อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญของงานดังกล่าว คือ การเปิดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนทัศนะภายใต้หัวข้อ ประวัติศาสตร์การเมืองไทย 200 ส.ว.ชุดใหม่ เลือกกันเอง! เชิญกูรูผู้เชี่ยวชาญ พร้อมด้วยว่าที่ผู้สมัคร ส.ว.ชุดใหม่ มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

 

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นค่อนข้างอึดอัดมาจาก กกต.ฝ่ายเดียวหรือไม่ ต้องแก้ตัวแทนว่า ไม่ใช่ เขาทำตามกรอบกฎหมายต่างๆ พอสมควร ลองไล่ดูประการแรก 1.กรอบรัฐธรรมนูญ 2.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา พอไล่ลงมาจะเหลือเป็นอำนาจของ กกต. ที่มีหน้าที่ออกระเบียบต่างๆ ออกมา ตอนนี้มี 2 ฉบับ ได้แก่ 1.ระเบียบการเลือก ส.ว. ออกมาตั้งแต่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ส่วน 2 คือ ระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร ส.ว. ออกมาเมื่อวันที่ 26 เมษายน มีผลบังคับใช้วันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา ระเบียบแรกกล่าวถึงทุกเรื่อง ตั้งแต่การรับสมัคร เจ้าหน้าที่ทำงานอย่างไร การเลือกตั้งและขั้นตอน ตั้งแต่อำเภอ จังหวัด และแบบฟอร์มต่างๆ

นายสมชัยระบุต่อว่า แบบฟอร์มที่สำคัญ คือ ส.ว.2 ส.ว.3 และ ส.ว.4 โดย ส.ว.2 คือ รูปแบบใบสมัครที่ประชาชนไม่เคยเห็น อยู่ที่ กกต.เท่านั้น แบบฟอร์ม ส.ว.3 แบบแนะนำตัว หน้าเดียว ประวัติ การศึกษา เขียนได้ 3 บรรทัด และเขียนประสบการณ์การทำคุณความดีของท่านได้ 5 บรรทัด แบบฟอร์ม ส.ว.3 สำคัญที่สุด จะเป็นแบบฟอร์มที่เผยแพร่ถึงผู้สมัครด้วยกัน ดังนั้น ต้องเรียบเรียงให้ดี แนะนำอย่าเขียนด้วยลายมือ พิมพ์ดีที่สุด แบบฟอร์ม ส.ว.4 เป็นแบบรับรองว่าประกอบอาชีพอยู่ในกลุ่มที่สมัครหรือไม่ มีบุคคลที่ไปรับรอง 1 คนก็พอ

นายสมชัยกล่าวอีกว่า ระเบียบแนะนำตัวนี้ มีผลแนะนำตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน คือ วันรุ่งขึ้นหลังจากประกาศ และใช้กับผู้ที่ประสงค์จะสมัครด้วย แต่จะใช้ข้อ 1-10 แต่ข้อ 11 จะใช้หลังจากออกกฤษฎีกา อย่างที่ 1 ให้เขียนประวัติผลงานประสบการณ์ 2 หน้ากระดาษ A4 ถ้าท่านประสงค์ลงผู้สมัคร ต้องลงแบบฟอร์มตามนี้เท่านั้น ถามว่าถ้าท่านเขียน 2 หน้าครึ่งผิด 2.ใช้แนะนำตัวสำหรับผู้สมัครเท่านั้น ลงเฟซบุ๊กมีความผิด จะกลายเป็นถูกหาเรื่องได้ ใครเป็นตัวเก็งทั้งหลายโดนเลย นี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นที่สามารถตีความเคร่งครัดได้ขนาดนั้น และสามารถเอา 2 หน้า A4 เผยแพร่ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่ระหว่างผู้สมัครด้วยกัน

“ประเด็นยังมีระเบียบข้อ 11 คาดว่ากฤษฎีกาจะออกมาตอนวันที่ 11-12 พฤษภาคม ต้องไปดูข้อ 11 ให้ดี อีกประเด็นคือ ห้ามผู้สมัครให้สัมภาษณ์กับสื่อ อยู่ในระเบียบข้อ 11 สมมุติถ้าสมัครแล้วมีคนมาสัมภาษณ์ให้ความคิดเห็นเรื่อง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ก็ไม่ได้ เพราะมีการเผยแพร่หน้าตัวเองออกไป ตรงนี้เป็นระเบียบที่แย่ที่สุด ทำให้ผู้สมัครไม่รู้จักอะไรกับใครเลย ทำให้การเลือกดังกล่าวเป็นการเลือกกันในที่มืด รู้จักกันเพียงแค่ 5 บรรทัดเท่านั้นเอง” นายสมชัยทิ้งท้าย

 

ด้าน รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง ม.เกริก กล่าวว่า ขอบคุณผู้บริหารมติชนที่กล้าหาญจัดเวทีนี้ขึ้นมาเพื่อเปิดหูเปิดตาประชาชน และเปิดปากว่าที่ผู้สมัคร ส.ว.

เพราะเป็นการเลือก ส.ว.ที่กติกาวิปริตและยังวังเวง เงียบๆ ไม่ต้องบอกว่า จะเข้าไปทำอะไร อาจจะบอกได้อย่างเดียวว่า ได้เป็นแล้วจะไปดูงานตลอดเวลาหรือเปล่า

ไม่รู้ว่าเลือก ส.ว.หรือสัปเหร่อ เพราะมันเงียบมาก ให้บอกแค่ประวัติตัวเอง คงต้องใช้ญาณวิเศษว่าจะสื่อสารกับใคร แต่เป็นกติกาที่คุมอนาคตประเทศ

เราจึงต้องเข้าไปในกติกานี้ เพื่อเปลี่ยนโฉม

 

ส่วนนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวว่า ไม่ว่าความสำคัญของ ส.ว.จะมีมากขนาดไหน ดีไม่ดี ในครั้งนี้อาจจะสำคัญมากกว่า ส.ส.ด้วยซ้ำ

แต่ปัจจุบันนี้บรรยากาศการมีส่วนร่วมแทบไม่มีเลย ไม่รู้เป็นใครบ้าง คิดว่าการเลือก ส.ว. คือการให้ผู้เชี่ยวชาญไม่กี่คนที่ไม่รู้ว่าตนเองเป็นผู้เชี่ยวชาญได้มาร่วมสมัครด้วย ทั้งนี้ กกต.พยายามออกแบบระบบมา เพื่อเป็นระบบแบบปิดๆ

ในวันเลือก ก็เลือกกันแบบปิดๆ ระบบนี้เอื้อให้คนไม่กี่คน คนที่มีอำนาจในการแต่งตั้ง เพื่อให้ความสามารถในการเรียกคนไปแอบประชุมในที่ลับ โดยเฉพาะพี่ๆ ที่ได้มีการประกาศตัวมาแล้วมีผู้ติดต่อ มีการติดต่อให้ไปกินข้าว ให้ประชุมกัน ให้ไปนั่งกลุ่มไลน์ และหน้าที่ของ กกต.ควรไปตรวจสอบสิ่งเหล่านั้นมากกว่าการที่ห้ามให้พูดต่อที่สาธารณะ อยากให้ทุกคนมีพื้นที่อย่างเท่าเทียมกัน

“ดีใจมากที่บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ลงสนามนี้ ด้วยการเห็นความสำคัญ และเป็นสื่อที่ยืนหยัดขึ้นมา ในวันที่เขาอยากให้เราเงียบ เมื่อพระราชกฤษฎีกาบังคับใช้ ทุกอย่างก็จะเงียบลง ทราบว่ากติกาครั้งนี้แปลกๆ เพี้ยนๆ งงๆ รู้ว่า ส.ว.สำคัญกับประเทศชาติอย่างยิ่ง” ผู้จัดการไอลอว์ระบุ

อย่างไรก็ดี การเลือก ส.ว.ในครั้งนี้ ด้วยกฎ กติกาที่ถูกออกแบบมาด้วยความซับซ้อน ประชาชนไม่มีสิทธิเข้าไปยุ่ง เพราะเป็นการเลือกระบบปิด เฉพาะผู้สมัครลงแข่งขันเท่านั้น

แต่ทว่า…หากทุกฝ่ายร่วมกันเปลี่ยนวิกฤต ช่วยทำให้ให้การเลือก ส.ว.ที่เงียบที่สุด มาเป็นเสียงดังที่สุด

เชื่อว่าท้ายที่สุด เราจะได้ ส.ว.ที่มีคุณภาพเข้าไปทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนได้