ได้เวลาปฏิรูปตำรวจแล้ว! | สุรชาติ บำรุงสุข

วันนี้ เหตุการณ์ “คดีกำนันนก” ที่เกิดการสังหาร พันตำรวจตรี ศิวกร สายบัว และยังนำไปสู่การปลิดชีพตนเองของพันตำรวจเอก วชิรา ยาวไทยสงค์ นั้น เป็นคดีที่ส่งผลสะเทือนในสังคมอย่างมาก ไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในทางคดีจะเป็นเช่นไรก็ตาม แต่สิ่งที่สังคมมีความรู้สึกร่วมกันประการหนึ่ง และมีความรู้สึกร่วมมานานคือ อยากเห็น “การปฏิรูปตำรวจ” เกิดขึ้นจริงๆ เพื่อทำให้ตำรวจเป็น “ผู้พิทักษ์สันติราษฏร์” ดังส่วนหนึ่งของเพลงมาร์ชตำรวจที่กล่าวว่า “เราอยู่ไหน ประชาอุ่นใจทั่วกัน…”

อย่างไรก็ตาม ถ้าการปฏิรูปตำรวจมีโอกาสเกิดขึ้นได้จริงในอนาคต ก็จะต้องไม่ใช่ปฏิรูปตามแนวทางของคณะรัฐประหาร 2557 และกลุ่ม ส.ว. ฝ่ายขวา ที่ชอบโฆษณาในเรื่องการปฏิรูปตำรวจ แต่สุดท้ายแล้ว ไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้นจริงจัง ดังจะเห็นได้ว่า 9 ปีของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา การปฏิรูปตำรวจกลายเป็นเพียงการ “ซื้อเวลา-ยื้อปัญหา” ของผู้นำรัฐประหารเดิมเท่านั้นเอง

ภาวะเช่นนี้จึงกลายเป็นการเปิดโอกาสอย่างดีให้ผู้นำรัฐประหาร 2 คน หมุนเวียนผลัดกันเข้ามาควบคุมองค์กรตำรวจ โดยใช้อำนาจผ่าน “คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ” (ก. ตร.) พร้อมกับการออกฎหมายที่เอื้อให้ผู้นำทหารมีอำนาจในการควบคุมตำรวจ ดังจะเห็นได้ว่า องค์กรตำรวจในยุคหลังรัฐประหาร 2557 นั้น เป็นองค์กรที่ถูกพันธนาการด้วยอำนาจของคณะรัฐประหารอย่างชัดเจน มิใยที่ต้องกล่าวถึงการแสวงหาผลประโยชน์จากการแต่งตั้งโยกย้ายที่เกิดขึ้น จนเป็นเรื่อง “อื้อฉาว” (scandal) หนึ่งของสังคมไทย เพราะเชื่อกันในส่วนหนึ่งว่า การหาประโยชน์นอกลู่นอกทางนั้น เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว และเป็นใช้จ่าย “ค่าตำแหน่ง” ในการโยกย้ายตำรวจ

แต่ผลพวงจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากบทบาทของตำรวจและทหารในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องการปฏิรูปตำรวจเกิดคู่ขนานกับการปฏิรูปกองทัพ แม้มิติของการปฏิรูปใน 2 ส่วนนี้อาจจะแตกต่างกันในบริบทขององค์กร ตามเงื่อนไขของบทบาทและภารกิจ แต่โดยหลักการของการปฏิรูปหน่วยงานความมั่นคงทั้ง 2 นั้น มีทิศทางที่ไม่ได้แตกต่างกันแต่อย่างใด

ถ้าการปฏิรูปกองทัพต้องการสร้าง “ทหารอาชีพ” (professional soldier) เช่นไร การปฏิรูปตำรวจก็ต้องการสร้าง “ตำรวจอาชีพ” (professional police) เช่นนั้น … เป้าหมายหลักของการปฏิรูปองค์กรทั้งสองจึงไม่ได้แตกต่างกัน กล่าวคือ สร้างทหารให้มี “ความเป็นวิชาชีพ” (professionalism) เช่นไร ก็ต้องสร้างตำรวจให้มีความเป็นวิชาชีพเช่นนั้นด้วย

ถ้ากองทัพไม่เป็น “ทหารอาชีพ” แล้ว ภารกิจของการป้องกันประเทศมักจะถูกเบี่ยงเบนออกไปสู่การมีบทบาททางการเมือง เช่นภาพของกองทัพในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ที่ภารกิจของการป้องกันประเทศถูกปรับเป็นการแทรกแซงทางการเมือง และเมื่อการป้องกันประเทศไม่ถูกนิยามให้เกิดความชัดเจนแล้ว บทบาททหารก็กลายเป็นการสร้างอำนาจของผู้นำทหาร โดยอาศัยกองทัพเป็นเครื่องมือหลักในการแทรกแซงทางการเมือง ดังเช่นที่ปรากฏให้เห็นมาแล้วในหมู่ประเทศโลกที่ 3 ซึ่งรวมทั้งในไทยด้วย

ในทำนองเดียวกัน ถ้าตำรวจไม่เป็น “ตำรวจอาชีพ” แล้ว การรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย คำขวัญของ “แก๊งตำรวจเทา” เหล่านี้จึงไม่ใช่ “พิทักษ์สันติราษฎร์” ดังเช่นที่เราเห็นบทบาทของตำรวจเช่นนี้ในการให้ความคุ้มครองแก่บรรดา “กลุ่มผู้มีอิทธิพล” หรือเช่นที่เกิดในกรณีของ “กลุ่มจีนเทา” มาแล้ว เป็นต้น พฤติกรรมเช่นนี้ทำให้ “ต้นทุนทางสังคม” ของสถาบันตำรวจในสังคมไทย ลดต่ำลงจนแทบจะ “ล้มละลาย” ทั้งที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังมีตำรวจที่ทำหน้าที่ “พิทักษ์สันติราษฎร์” ให้แก่สังคมอีกเป็นจำนวนมาก และคำล้อเล่นที่เจ็บปวดสำหรับตำรวจที่ดีคือ คำกล่าวว่า “ตำรวจที่ดีมีคนเดียวคือ ตำรวจที่อนุสาวรีย์พิทักษ์สันติราษฎร์” …

ฉะนั้น ถ้าจะต้องแก้ปัญหาขององค์กรตำรวจแล้ว การปฏิรูปตำรวจเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นในตัวเอง ไม่ว่าการปฏิรูปตำรวจจะสามารถเปลี่ยน “วัฒนธรรมองค์กร” ของตำรวจสำเร็จหรือไม่ก็ตาม แต่อย่างน้อย การเริ่มต้นการปฏิรูปคือ จุดเริ่มของการสร้างความเปลี่ยนแปลง อันเป็นความหวังในการ “เพิ่มต้นทุนทางสังคม” ให้แก่องค์กรตำรวจ เนื่องจาก องค์กรตำรวจวันนี้ตกอยู่ใน “วิกฤตศรัทธาใหญ่” ที่มีภาวะ “ขาดทุนทางสังคม” อย่างน่าเป็นห่วง … จากปัญหาแก๊งจีนเทา การเปลี่ยนความเร็วรถมหาเศรษฐีที่พุ่งชนตำรวจ สู่ปัญหากำนันนก บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าถึงเวลาต้องปฏิรูปตำรวจแล้ว

การปฏิรูปตำรวจต้องเริ่มด้วยหลักการพื้นฐานว่า ตำรวจเป็น “ผู้รักษากฎหมาย” และตำรวจก็จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายด้วย การเป็นผู้รักษากฎหมายไม่ใช่ปัจจัยที่อนุญาตให้ตำรวจมีอำนาจเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือมีอำนาจที่จะดำเนินการนอกกรอบทางกฎหมายได้ ดังนั้น การปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องถูกกำกับด้วย “ประมวลจริยธรรมและธรรมาภิบาลของวิชาชีพตำรวจ” และประมวลนี้จะเป็นตัวกำหนดนิยามของความเป็น “ตำรวจอาชีพ” เพื่อกำหนดอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ในสังคม รวมถึงกำหนดสิ่งที่ตำรวจไม่ควรกระทำ และไม่อนุญาตให้กระทำด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ดำเนินการบนหลักการสำคัญว่า ตำรวจจะต้องทำหน้าที่ด้วยความเป็น “ตำรวจอาชีพ” และมี “ธรรมาภิบาล” … การกล่าวเช่นนี้อาจดูเป็นอุดมคติ แต่ถ้าไม่ยึดทิศทางเช่นนี้แล้ว การปฏิรูปตำรวจจะเป็นเพียงกระพี้ เช่น ข้อเสนอให้มีการปรับเปลี่ยนอำนาจการสอบสวนในยุครัฐบาลรัฐประหาร เป็นต้น

หากแต่การปฏิรูปตำรวจ ต้องมุ่งแก้ปัญหาหลัก 5 ประการ คือ 1) การแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม 2) ส่วยและการแสวงหาผลประโยชน์นอกระบบ 3) สวัสดิการของตำรวจชั้นผู้น้อย 4) การพัฒนาบุคลากรและการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และ 5) การจัดวางระบบงานตำรวจเพื่อรองรับต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมและปัญหาอาชญากรรมในอนาคต

แน่นอนว่า การปฏิรูปตำรวจไทยภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองและวัฒนธรรมองค์กรในแบบปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน เราคงต้องยอมรับความจริงว่า ผลประโยชน์จาก “กลุ่มสีเทา” ทั้งหลายยังมีอิทธิพลอย่างสูงในองค์กรตำรวจ ฉะนั้น การปฏิรูปทั้งตำรวจจึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายรัฐบาลปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการที่นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก. ตร.) โดยตรงนั้น ทำให้ปัญหาขององค์กรตำรวจกองอยู่บนโต๊ะทำงานของท่านนายกฯ อย่างหนีไม่พ้น จึงอยากขอให้ท่านนายกฯ ได้หันมาพิจารณาเรื่องนี้จากข้อเสนอเชิงนโยบาย 4 ประการในข้างต้น เพราะการขับเคลื่อนสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ในการกำกับของท่านโดยตรงแล้ว และนายกฯ เศรษฐากับการปฏิรูปตำรวจจะเป็นอีกเรื่องที่สังคมเฝ้าติดตามดู

ฉะนั้น ในความรู้สึกของสังคม จึงน่าจะถึงเวลาที่ต้องปฏิรูปตำรวจจริงๆแล้ว … ได้เวลาสร้างตำรวจอาชีพจริงๆแล้ว อย่างน้อยจะต้องทำให้การเสียชีวิตของนายตำรวจทั้ง 2 ไม่สูญเปล่า … การเสียชีวิตที่เกิดขึ้นจะต้องไม่ใช่ความว่างเปล่า อีกทั้ง ความสำเร็จของการปฏิรูปจะทำให้สังคมได้ตำรวจกลับคืนมาในฐานะ “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” และทำให้เราสามารถฟังเพลงมาร์ชตำรวจด้วยความมั่นใจและเชื่อมั่นใน “เกียรติตำรวจไทย”

อยากชวนหลายท่านเปิดยูทูปฟัง “เพลงมาร์ชตำรวจ” สำหรับการจบบทความนี้ครับ!

– หมายเหตุ: ผู้เขียนในฐานะอดีต ก. ตร. ขอแสดงความเสียใจอย่างมากกับการสูญเสียที่เกิดแก่ครอบครัวของนายตำรวจทั้ง 2 … ขอเป็นกำลังใจและขอแสดงความชื่นชมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายๆ นายที่ปฎิบัติงาน “พิทักษ์สันติราษฎร์” ให้แก่สังคมด้วยความเป็น “ตำรวจอาชีพ” / 15 กันยายน 2566