ปั้นเมฆ ตุ๊กตาเปลือยศักดิ์สิทธิ์ ในพิธีกรรมขอฝนดึกดำบรรพ์สุวรรณภูมิ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ในพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระราชพิธี 12 เดือน” ของรัชกาลที่ 5 กล่าวถึง “พระราชพิธีพรุณศาสตร์” เดือนเก้า ซึ่งถ้าดูแต่เฉพาะแค่ชื่อของพิธีก็จะเข้าใจว่าเป็นพิธีกรรมขอฝนอย่างพราหมณ์เท่านั้นนะครับ

แต่ในรายละเอียดได้มีพิธีการอย่างพุทธแทรกแซมอยู่บ้าง ซึ่งก็มีประวัติว่าเรื่องเพิ่มเติมเข้าไปในภายหลังเมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 แล้ว

ส่วนที่น่าสนใจจนผมอยากเอามาชวนคุยในที่นี้ก็คือ ในพิธีพราหมณ์ (ชมพูทวีป?) ที่ว่า กลับมีการตั้งโต๊ะบูชา เอารูปตุ๊กตาคนเปลือยทั้งชายหญิง ปั้น “เมฆ” ขึ้นจาก “ดินเหนียว” ดังความพระราชนิพนธ์ดังกล่าวที่ว่า

“…ตรงหน้าสระ (ที่ขุดขึ้นเฉพาะในพระราชพิธีพรุณศาสตร์) ออกไปปั้นเป็นรูปเมฆสองรูป คือปั้นเป็นรูปบุรุษสตรีเปลือยกายแล้วทาปูนขาว การที่จะปั้นนั้นต้องตั้งกำนล ปั้นพร้อมกันกับที่พิธีสงฆ์ มีบายศรีปากชามแห่งละสำรับ เทียนหนักเล่มละบาทแห่งละเล่ม เงินติดเทียนเป็นกำนลแห่งละบาท เบี้ย 3303 เบี้ย ข้าวสารสี่สัด ผ้าขาวของหลวงจ่ายให้ช่างปั้นช่างเขียนนุ่งห่ม ช่างเหล่านั้นจะต้องรักษาศีลในวันที่ปั้น…”

รัชกาลที่ 5 ตรัสถึงพิธีการดังกล่าวในพระราชนิพนธ์ทำนองว่า “…อยู่ข้างจะเร่อร่าหยาบคาย…” เข้าใจว่าในยุคของพระองค์ ความเข้าใจเรื่องตุ๊กตาปั้นเมฆที่ว่านี้ก็สูญไปจากความทรงจำเสียสิ้นแล้ว

 

พระยาอนุมานราชธน เป็นอีกผู้หนึ่งที่กล่าวถึงตุ๊กตารูปบุคคลเปลือยที่พบที่อุษาคเนย์ ในหนังสือของท่านที่มชื่อว่า “การศึกษาเรื่องประเพณีของไทย” โดยท่านได้อ้างว่า ในช่วงเรือน พ.ศ.2500 เศษ นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันท่านหนึ่งชื่อ ดร.โรเบิร์ต เท็กเตอร์ (Robert Texter) ได้ส่งรูปเกี่ยวกับชีวิตชาวชนบทในไทยมาให้ท่านดู ในจำนวนนี้มีรูปตุ๊กตาดินเหนียวจากบางชัน มีนบุรี ปั้นเป็นรูปชายหญิงขนาดเท่าคนจริงๆ เปลือยกายก่ายกันในท่าทางที่เจ้าคุณฯ ท่านเรียกว่า “อนาจาร” รวมอยู่ด้วย

ท่านจึงได้สอบถามจากบรรดาผู้เฒ่าผู้แก่ที่อาศัยอยู่ในเขตจังหวัดต่างๆ ในภาคกลางมาแต่เล็ก พบว่า รูปปั้นด้วยดินเหนียวอย่างนี้มีอยู่ทุกจังหวัด ขนาดเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ยืนบ้าง นอนบ้าง แล้วแต่ผู้ปั้นสมัครใจ ปีใดถ้าแล้งจัดฝนมาล่าช้าจะพบรูปปั้นอย่างนี้อยู่ตามข้างทางเดิน และหัวคันนา บางแห่งก็ปั้นหลายรูปวางเป็นระยะๆ ไป แต่ส่วนใหญ่นั้นผู้ปั้นมักจะไม่ทราบว่ารูปปั้นอย่างนี้เรียกชื่อว่าอะไร ในที่สุดจึงไปได้ความจากชาวอ่างทองผู้หนึ่งว่าเรียก “ปั้นเมฆ” ทั้งยังได้ทราบด้วยว่าเวลาปั้นต้องว่ามนต์กำกับ ดังนี้

ปั้นเมฆเสกคาถา เอาผ้าบังคน

ปั้น…ปั้น…. ฝนก็เทลงมา เทลงมา

โดยสรุปแล้ว เจ้าคุณอนุมานฯ อธิบายว่า การปั้นเมฆเป็นพิธีที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ (Fertility rites) เพราะสร้างขึ้นด้วยความเชื่อที่ว่าตุ๊กตาเหล่านี้จะช่วยให้ฝนเทลงมามากๆ ทำไร่ ทำนาจะได้ผลผลิตงอกงามนั่นเอง

 

แต่การ “ปั้นเมฆ” ไม่ได้มีเฉพาะรูปบุรุษสตรีเปลือยกาย ที่เน้นอวดอวัยวะเพศขนาดใหญ่ หรือการประกบให้มีกิริยาคล้ายสมสู่กันเท่านั้น บางที่ก็ปั้นเป็นเฉพาะรูปอวัยวะเพศขนาดใหญ่จากดินเหนียว (ส่วนมากมักเป็นของเพศชาย ภาคกลางเรียก “ขุนเพ็ด” หรือที่อีสานเรียกว่า “บักแบ้น”) ตั้งไว้กลางนา หรือกลางที่สาธารณะ เพื่อให้ผี แถน เทวดาบนฟ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ก็ตามมองเห็นกันได้ถนัดๆ ตา

ถึงแม้ว่าในงานของเจ้าคุณอนุมานฯ เรียกตุ๊กตาเหล่านี้ว่า ตุ๊กตาปั้นเมฆเหมือนกันทั้งหมด ดังเช่นความตอนหนึ่งท่านอ้างว่า ที่อุบลราชธานีถ้าปีใดฝนแล้งจัด ชาวบ้านแต่ละตำบลจะนำ “ตุ๊กตาปั้นเมฆ” ประจำของแต่ละชุมชนมารวมกันแล้วแห่เวียนไปรอบชุมชน กระบวนแห่มีทั้งกลองยาวกลองเถิดเทิง ชายหญิงเซิ้งกันไปอย่างสนุกสนาน แต่อันที่จริงแล้วตุ๊กตาทำนองนี้ก็มีอยู่โดยทั่วไป และถือเป็นประเภทเดียวกันนั่นแหละนะครับ แต่เรียกตามภาษาที่ต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น

พิธีการอย่างที่ว่า ดูคล้ายกับการแห่บั้งไฟที่มักจะปั้นรูปตุ๊กตาเปลือย บางทีก็ปั้นเป็นชายหญิงก่ายเกี่ยวกันอย่างสุขสมอารมณ์หมาย ตุ๊กตาพวกนี้ก็คงเป็นตุ๊กตาปั้นเมฆเช่นเดียวกัน พระยาอนุมานฯ เองท่านก็ว่าตุ๊กตาเหล่านี้เทียบได้กับรูปปั้นเมฆ

และเมื่อยิ่งเป็นใช้ในพิธีการที่เกี่ยวกับการขอฝน ซึ่งก็คือพิธีที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ด้วยแล้ว ก็ยิ่งชวนให้มั่นใจได้ยิ่งขึ้น

ตุ๊กตาปั้นเมฆสำริด อายุราว 2,500 ปี พบที่บ้านเขาบ่อพลับ ต.ม่วงหัก อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์

“บักแบ้น” และตุ๊กตาเชิงสังวาส ในประเพณีบุญบั้งไฟ รวมถึงอากัปกิริยาสนุกสนานที่ดูทะลึ่งตึงตังต่างๆ ในกระบวนแห่ของประเพณีบุญบั้งไฟ ถูกสังคมปัจจุบันพิจารณาว่า “นอกแบบ” ทั้งที่เป็นแบบแผนที่มีมาก่อนตามประเพณีและความเชื่อดั้งเดิม จนดูเหมือนว่าส่วนสำคัญในประเพณีบุญบั้งไฟคือ การจุดบั้งไฟขึ้นไปขอฝนจากแถนบนฟ้ามาแต่เดิม

ลักษณะเช่นนี้ยิ่งถูกตอกย้ำมากยิ่งขึ้นเมื่อนักวิชาการหลายท่านพยายามอธิบายว่า ประเพณีบุญบั้งไฟ ที่มีการจุดบั้งไฟเป็นส่วนสำคัญ มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ ที่เกี่ยวข้องกับเพศ และความอุดมสมบูรณ์

แถมบางท่านยังแทบจะอธิบายว่า บั้งไฟคือสัญลักษณ์ของอวัยวะเพศชาย ที่เชื่อมดิน (หญิง) กับฟ้า (ชาย) แล้วทำให้เกิดฝนตก และความอุดมสมบูรณ์ โดยมีตุ๊กตาปั้นเมฆประเภทต่างๆ เป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น

แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันดีว่า “ดินปืน” ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของการผลิตบั้งไฟถูกค้นพบในจีนมาแล้ว ตั้งแต่ในช่วงสมัยราชวงศ์ฉิน-ต้นราชวงศ์ฮั่น ราว พ.ศ.322-400 ดังนั้น บั้งไฟจึงไม่ควรจะมีกำเนิดมาก่อนหน้าปีศักราชดังกล่าว

ที่สำคัญก็คือในหนังสือ “ชื่ออู้จี้หยวน” ของเกาเฉิง ในสมัยราชวงศ์ซ่ง (ราว พ.ศ.1600-1750) ได้บันทึกว่า”มาจวิน” เป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวรัฐเว่ย ในสมัยสามก๊ก (คือ “วุยก๊ก” ตามหนังสือ สามก๊ก สำนวนฉบับเจ้าพระยาพระคลัง [หน]) ได้นำเอากระดาษมาห่อดินปืนแล้วยิงขึ้นฟ้า กลายเป็นทั้ง พลุ และประทัด ของเล่นเพื่อความบันเทิงในยุคนั้นเป็นครั้งแรก

“บั้งไฟ” ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็น “พลุพันธุ์ทาง” นั้นก็คงจะรับเอาเทคโนโลยีจากทางจีน ที่ลุ่มน้ำหวงเหอ (หรือที่มักเรียกด้วยสำเนียงแบบไทยๆ ว่า แม่น้ำฮวงโห) มาอีกทอดหนึ่ง

ถ้าเชื่อตามหนังสือโบราณสมัยราชวงศ์ซ่งเล่มนี้ ก็หมายความว่า อะไรที่เรียกว่า “บั้งไฟ” นั้น ก็ควรจะกำเนิดขึ้นเมื่อไม่เก่าไปกว่าสมัยสามก๊ก (ราว พ.ศ.765-823) เท่านั้นเอง

 

การจุดบั้งไฟจึงควรจะเป็นพิธีการส่วนที่ถูกผนวกเข้ามาในพิธีกรรมขอฝนอย่างดั้งเดิมที่มีมาก่อน ตุ๊กตาปั้นเมฆรูปแบบต่างๆ ซึ่งมีอยู่ในกระบวนแห่ของประเพณีบุญบั้งไฟ มีหลักฐานที่เก่าแก่กว่าคือ ตุ๊กตาปั้นเมฆสำริด จากบ้านเขาบ่อพลับ ต.ม่วงหัก อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ (ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ มิวเซียมท้องถิ่น วัดเขาไม้เดน ต.ท่าน้ำอ้อย อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากบ้านเขาบ่อพลับเพียง 5 กิโลเมตร) ที่กำหนดอายุได้ราว 2,500 ปีมาแล้ว

ดังนั้น ตุ๊กตาปั้นเมฆสำริดจากบ้านเขาบ่อพลับ จึงมีอายุเก่าแก่กว่าการประดิษฐ์พลุในจีนราว 700 ปี และนี่ก็หมายความด้วยว่า มีธรรมเนียมการใช้ตุ๊กตาเปลือย หรือที่เรียกว่า ตุ๊กตาปั้นเมฆ เพื่อใช้ในพิธีการขอฝนมาก่อนที่ชนชาวอุษาคเนย์จะนำเอาบั้งไฟมาจุดเพื่อขอฝนมากกว่า 700 ปีเป็นอย่างน้อย

ข้อมูลในงานของพระยาอนุมานฯ ที่กล่าวถึงประเพณีการแห่ตุ๊กตาปั้นเมฆ โดยไม่มีการจุดบั้งไฟที่อุบลราชธานี การแห่นางแมวไปพร้อมกับตุ๊กตาปั้นเมฆของทางภาคกลาง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา แม้กระทั่งพระราชพิธีพรุณศาสตร์เดือนเก้า ที่มีการตั้งรูปตุ๊กตาปั้นเมฆเป็นการเฉพาะ บ่งบอกถึงความเก่าแก่ และความศักดิ์สิทธิ์ที่มีมาแต่ดั้งเดิมกันอยู่เห็นๆ นะครับ

อันที่จริงแล้วอาจจะเรียกได้ว่า ในเกือบทุกวัฒนธรรมแนวคิดเรื่อง “เพศ” โดยเฉพาะ “การสังวาส” สัมพันธ์ และเป็นสัญลักษณ์ของ “การก่อกำเนิด” และ “ความอุดมสมบูรณ์” อยู่แล้ว น้ำฝนที่หยดลงมาจากฟ้า เหมือนกับเชื้อของพ่อ ที่พาให้พาให้แม่ตั้งครรภ์ แล้วออกลูกหลานเป็นผลผลิตทางการเกษตรนานาชนิด

“การปั้นเมฆ” จึงเป็นพิธีกรรมอย่างง่ายที่สุด ที่แสดงสัญลักษณ์ของความต้องการซึ่งผลผลิตโดยอาศัยการทำนาทางฟ้าตามอย่างวัฒนธรรมสุวรรณภูมิยุคดั้งเดิม โดยยังมีร่องรอยหลงเหลือให้เห็นในพิธีกรรมขอฝนต่างๆ ทั้งพิธีในราชสำนักอย่าง พระราชพิธีพรุณศาสตร์ หรือพิธีชาวบ้านอย่าง งานบุญบั้งไฟ นั่นเอง •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ