ผ้านุ่งครัวไบ

ผ้านุ่งระฯค฿วฯไบ

ผ้านุ่งครัวไบ อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ผ้านุ่งคัวไบ” หมายถึง เครื่องนุ่งห่ม สิ่งที่ใช้ปกปิดร่างกาย เช่น เสื้อ ผ้า กางเกง ซิ่น เฉพาะคำว่า “ไบ” เป็นคำที่กร่อนมาจากคำว่า สไบ

ในล้านนา ประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย เช่น ไทยลื้อ ไทยเขิน ไทยยอง เม็ง หรือมอญ ขมุ และชนเผ่าอื่นๆ แต่ละท้องถิ่นก็มีวัฒนธรรมการแต่งกายหลากหลายเช่นกัน

ผ้านุ่งครัวไบ ของชาวล้านนา จึงมีหลายประเภท เริ่มตั้งแต่เป็นผ้า แล้วตัดเย็บเป็นเสื้อ ขึ้นรูปเป็นเตี่ยว (กางเกง) เป็นสิ้น (ซิ่น) และอื่นๆ เช่น ถง (ถุง หรือย่าม), เกิบ (รองเท้า) ลักษณะการนุ่ง การใช้ ก็แล้วแต่ประเพณีของท้องถิ่นนั้นๆ

ทั้งนี้ ผ้านุ่งครัวไบ เริ่มจาก “ผ้า” คือสิ่งที่ได้จากฝ้าย ไหม ขนสัตว์ โดยการทอหรืออัดให้เป็นผืนแผ่น แล้วนำมาตัดเย็บเป็นผ้าขนาดต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ในการใช้ ซึ่งจะมีชื่อเฉพาะ เช่น ผ้าเคียนหัว ใช้โพกศีรษะ, ผ้าต่อง ผ้าหัว ผ้าขี้โป้ ใช้เป็นผ้าขาวม้า, ผ้าต้อย เป็นผ้านุ่ง หรือโจงกระเบน, ผ้าตุ๊ม คือผ้าคลุม, ผ้าต้วบ คือผ้าห่ม, ผ้าตุ่น คือผ้าที่ทอด้วยฝ้ายมีสีน้ำตาลอ่อนโดยธรรมชาติ, ผ้าต๋าโก้ง หรือผ้าตาแสง คือผ้าลายตาราง, ผ้าเต้ส คือผ้าต่างประเทศ เป็นผ้าอย่างดี, ผ้าสะหว้ายแหล้ง ผ้าห่มเฉวียงบ่า เหมือนผ้าสไบ, ผ้าสักกะโต๋ คือผ้าสักหลาด

ผ้าสี่แจ่ง คือผ้าเช็ดหน้า

 

“เสื้อ” เครื่องสวมร่างกายท่อนบน ทำด้วยผ้าฝ้ายหรือผ้าไหม เสื้อของชายล้านนายุคแรกเป็นเสื้อคอกลม แขนสั้นหรือยาวต่อแขนต่ำ ผ่าหน้าตลอด ผูกเชือกหรือผ่าครึ่ง ติดกระดุมสองเม็ด มีกระเป๋าหรือไม่มีก็ได้ เย็บด้วยผ้าสีตุ่น หรือย้อมสีม่อห้อม ต่อมานิยมสวมเสื้อ “มิสสคี”

ส่วนของผู้หญิงคล้ายกับเสื้อผู้ชาย มีแบบเอวลอยเป็นเสื้อลำลอง เสื้อกงเฮง หรือเสื้อกุยเฮง เสื้อคอกลมผ่าอกตลอด ใช้เชือกผูก ใช้กระดุม ย้อมด้วยมะเกลือหรือครามเรียกว่า เสื้อม่อห้อม เสื้อก้อม เสื้อบ่าห้อย เป็นเสื้อชั้นใน เสื้อคอกระเช้า, เสื้อแขนบอก เสื้อแขนกระบอก ลำตัวสั้นเสมอบั้นเอว แขนยาวเข้ารูป, เสื้อป้าย คือเสื้อติดกระดุมหรือผูกเชือกด้านข้างของลำตัว ซึ่งมักเป็นด้านซ้าย, เสื้อปั๊ด คือเสื้อชนิดรัดรูป เอวลอย แขนยาว มีสาบหน้าติดกระดุมหรือผูกเชือกด้านข้าง, เสื้อมิสสคี เป็นเสื้อผ้าป่านบาง ผ่าครึ่งอก ติดกระดุมสองเม็ด มีกระเป๋าที่ชายเสื้อด้านหน้าหรือไม่มีก็ได้, เสื้อยันต์ ได้แก่ ผ้ายันต์ที่เป็นรูปเสื้ออย่างหลวมๆ สวมป้องกันอาวุธยามออกศึก, เสื้อรัด เป็นเสื้อรัดทรงของสตรี, เสื้ออุ่น คือเสื้อกันหนาว

และเสื้อแอวลอย ก็คือเสื้อเอวลอย เสื้อที่มีชายแค่สะเอว

พ่อฯชายฯใส่ผ้าฅยฯรห฿วฯ นุ่งผ้าต้อฯยฯ แม่ยิงฯ ใส่เสิ้อฯอแขนฯบอฯก นุ่งสิ้นฯก่านฯ
ป้อจายใส่ผ้าเคียนหัว นุ่งผ้าต้อย แม่ญิงใส่เสื้อแขนบอก นุ่งสิ้นก่าน
ผู้ชายใส่ผ้าโพกหัว นุ่งโจงกระเบน ผู้หญิงใส่เสื้อแขนกระบอก นุ่งซิ่นก่าน

“เตี่ยว” หมายถึง กางเกง เตี่ยวก้อม ได้แก่ กางเกงขาสั้น กางเกงชั้นใน มีสายรูดที่ขอบเอว, เตี่ยวลิง เตี่ยวใน คือกางเกงชั้นใน, เตี่ยวหลอง ได้แก่ กางเกงในมีขา มักทำด้วยผ้าบาง ไม่มีกระเป๋า ใช้สายรูดมัด, เตี่ยวขาโล่ง คือกางเกงขาก๊วย, เตี่ยวสามดูก เตี่ยวเมือง เตี่ยวเปา เป็นกางเกงเป้าหย่อนแบบพื้นบ้าน คล้ายกางเกงขาก๊วย มักย้อมเป็นสีคราม, เตี่ยวสะดอ เป็นกางเกงเป้าหย่อนแบบขาก๊วย ขายาวครึ่งแข้ง, เตี่ยวโย้ง คือกางเกงเป้ายาน ขายาวถึงตาตุ่ม และเตี่ยวลัด ได้แก่ กางเกงขาสั้น หรือกางเกงขารัดอย่างกางเกงของนักเรียนชาย

“สิ้น” หมายถึงผ้าซิ่น หรือผ้าถุง คือผ้าที่เย็บเป็นถุงสำหรับผู้หญิงนุ่ง จะมีขนาดสั้นยาวและกว้างแคบต่างๆ กันไป ขึ้นอยู่กับรูปร่างของผู้นุ่ง และวิธีการนุ่ง โครงสร้างของผ้าซิ่นโดยทั่วไปจะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนเอวหรือหัวซิ่น ส่วนตัวซิ่น และส่วนตีนซิ่น มีหลายประเภท เช่น สิ้นก่าน สิ้นตา สิ้นตีนต่อ สิ้นปล้อง สิ้นตีนจก ฯลฯ เป็นต้น

ปัจจุบันผ้านุ่งครัวไบของชาวล้านนาได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการออกแบบตัดเย็บให้ทันสมัย สวยงาม อย่างไรก็ตาม การที่จะแต่งกายแบบใด ใช้เครื่องประกอบอย่างใด ขึ้นกับโอกาส เวลา และสถานที่ ที่เหมาะสมและเหมาะกับบุคลิกของแต่ละบุคคล เพื่อรักษาวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของชาวล้านนาสืบต่อไป •

 

ล้านนาคำเมือง | ชมรมฮักตั๋วเมือง